![]() ![]() ![]() |
![]() |
![]() ![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() มองอนาคตอย่างไรให้เป็นวิทยาศาสตร์และปราศจากหมอดู1
อนาคตมักถูกให้คำจำกัดความว่าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการกระทำจากอดีตและปัจจุบันของตน หรือเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้จากผู้ที่มีพลังเหนือมนุษย์ มุมมองดังกล่าวนี้ทำให้เรามองว่าปัจเจกบุคคลมีอำนาจในการจัดการอนาคตน้อยมากโดยสามารถทำได้แค่เพียงจัดการตนเองในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้เรามองการทำความเข้าใจอนาคต โดยเฉพาะในระดับมหภาค ว่าเป็นสิ่งที่ไกลตัวหรือแทบไม่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของเรา และหันไปให้ความสนใจกับการพยากรณ์ ทำนายที่ไม่ได้อิงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ทว่าภัยโควิดที่สร้างความเสียหายต่อสังคมมนุษย์ในแทบทุกมิติ ช่วยให้เรารับรู้ว่าการศึกษาอนาคตอย่างมีแบบแผนและเป็นหลักการเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในโลกที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกัน และมีการบันทึกใช้ข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ การตัดสินใจตั้งแต่ในระดับส่วนตัวไปจนถึงระดับประเทศมักส่งผลกระทบและให้ผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ ในระบบสังคมและธรรมชาติ การขาดความตระหนักรู้ในความสัมพันธ์นี้ไม่เพียงแต่สร้างความไม่มั่นคง แต่ยังทำให้เราสูญเสียความสามารถในการควบคุมความผันผวนของเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและเสียเปรียบในการวางแผนกลยุทธ์สำหรับการปรับตัวที่ดีอีกด้วย ยิ่งโลกเราซับซ้อนมากขึ้นเท่าไหร่การตีความเพื่ออนาคตอย่างลึกซึ้งและเชื่อมโยงจากหลากหลายมิติยิ่งจำเป็น ซึ่งในปัจจุบันศาสตร์องค์ความรู้ที่ชื่อว่า “อนาคตศึกษา (Futures Studies)” สามารถช่วยตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ อนาคตศึกษามองว่าอนาคตมีความซับซ้อนและสิ่งที่มากำหนดอนาคตไม่ได้มีแค่ผลจากการกระทำในอดีต โจเซฟ โวโรส นักอนาคตศึกษาชาวออสเตรเลียระบุว่า เราสามารถทำความเข้าใจอนาคตได้ง่ายๆ ตามรูปทรงกรวย ซึ่งมีเวลาเป็นตัวตัดสินในการพิจารณาความเป็นไปได้ของการเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในอนาคต ![]() จากภาพแสดงข้างต้น เราจะเริ่มสังเกตเห็นจาก Preponsterous Futures ที่หมายถึงอนาคตที่เป็นไปไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การดับของดวงอาทิตย์ก่อนปี พ.ศ. 2600 หรือการยกเลิกการใช้ภาษาไทย เป็นภาษาราชการของประเทศไทยในอีก 1 ปีข้างหน้า เป็นต้น Possible Futures หรืออนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้แต่มักถูกมองว่ามีโอกาสต่ำเพราะไม่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์สภาพความเป็นไปหรือองค์ความรู้ที่มีในปัจจุบัน เช่น การสูญพันธ์ของมนุษย์จากโรคระบาด หรือการยกเลิกเงินยูโรเป็นหนึ่งในสกุลเงินกลางของโลก Plausible Futures หรืออนาคตที่มองว่าเกิดขึ้นได้เมื่อทำการวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผลจากข้อมูลและองค์ความรู้ที่มีในปัจจุบัน) เช่น การเกิดการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส (COVID-19) ระลอกที่สองในประเทศไทย Projected Futures หรืออนาคตที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเพราะเป็นผลกระทบโดยตรงจากการกระทำในปัจจุบัน เช่น การฟื้นตัวของตลาดหุ้นในกลุ่มบริษัทการบินหลังจากการยกเลิกมาตราการปิดประเทศทั่วโลก หรือการตื่นตัวมากขึ้นด้านการจักการสิ่งแวดล้อมหลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ Probable Futures หรืออนาคตที่ประเมินว่าจะเกิดขึ้นโดยอิงจากการใช้สถิติคำนวณตามโอกาสของการเกิดขึ้นและการคาดคะเนของแนวโน้มที่มีอยู่ในปัจจุบัน) เช่น โอกาสที่จะได้แต้มเป็นเลขคู่ในการทอยลูกเต๋า 1 ลูก 1 ครั้ง หรือ การประเมินความเสี่ยงเพื่อการลงทุน และ Preferable Futures หรืออนาคตที่พึงประสงค์ หรืออนาคตที่ต้องการให้เกิดขึ้น) เช่น การกำหนดผลกำไรจากการประกอบการ หรือการตั้งเป้าหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองปลอดมลพิษ กรวยแห่งอนาคตของโวโรสช่วยให้เราเห็นได้ว่าอนาคตที่สมควรได้รับการพิจารณาต่อยอด เพื่อการวางแผนนั้นคืออนาคตรูปแบบไหนบ้าง ทว่าหากเราต้องการตีความให้กระจ่างมากขึ้นเพื่อการตัดสินใจอย่างเป็นรูปธรรม อนาคตที่ควรให้ความสำคัญคืออนาคตในหลัก 3P (Possible Futures, Probable Futures, และ Preferable Futures) โดยควรจัดลำดับการเลือกพิจารณาชนิดของอนาคตที่จะศึกษาในหลักการนี้ ตามการวิเคราะห์ถึงความซับซ้อนของบริบทที่รายล้อมองค์กร และความรวดเร็วในการเคลื่อนไหว (พลวัต) ขององค์กรที่มาจากการทำความเข้าใจในพลกำลังและทรัพยากรที่หน่วยงานหรือบุคคลหนึ่งมีและสามารถนำมาใช้เพื่อควบคุมจัดการทิศทางอนาคต ตามกรอบระยะเวลาที่ตั้งไว้ได้ ทั้งนี้ เราควรประเมินความซับซ้อนของบริบทที่รายล้อมองค์กรผ่านการพิจารณาตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับองค์กรว่ามีหลายชนิดหรือไม่, มีความสามารถในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากหรือน้อย, ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเป็นอย่างไร, โอกาสที่จะเกิดตัวแปรใหม่มีสูงหรือต่ำแค่ไหน, ระดับความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร, การเปลี่ยนแปลงผันผวนเร็วหรือไม่, แต่ละตัวแปรสามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนได้บ้าง องค์กรที่ขับเคลื่อนอยู่ในบริบทที่มีความซับซ้อนน้อย กล่าวคือ ตัวแปรอยู่ในมิติที่จำกัด ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่ำ แต่ตัวแปรมีอิทธิพลในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงลึกในการเปลี่ยนแปลงที่มักเกิดขึ้นบ่อย และมักมีตัวแปรใหม่เกิดขึ้นสม่ำเสมอในทุกการเปลี่ยนแปลง (highly disrupted with limited areas of drivers in highly changed environment) อาจเริ่มจากการทำความเข้าใจ Possible Futures หรือ/และ Probable Futures แล้วจึงค่อยมองหา Preferable Futures เนื่องจากองค์กรเหล่านี้ตั้งอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและต้องเจอกับความท้าท้ายสูงในกำหนดทิศทางขององค์กร นักอนาคตศึกษาเรียกวิธีการมองแบบนี้ว่าการสำรวจอนาคต โดยให้ผลลัพธ์คือ อนาคตเชิงสำรวจ (Explorative Futures) เครื่องมือที่ตอบโจทย์กับการวิเคราะห์อนาคตดังกล่าวคือ เครื่องมือในการคาดการณ์ล่วงหน้า (Forecasting Tools) เช่น Trend Impact Analysis, Explorative Scenarios, General Morphological Analysis, Wild Cards, Systems Thinking กล่าวแบบสรุปอย่างกระชับคือ ลักษณะการมองภาพอนาคตดังกล่าวเป็นวิธีการมองจากข้างนอกเข้ามายังข้างใน (Outside-In Approach) หรือเข้าใจเขาเพื่อที่จะสร้างเรา ตัวอย่างองค์กรที่ใช้วิธีการนี้คือ บริษัทโนเกีย และฟิลิปป์ ซึ่งเป็นบริษัทที่เน้นการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเพิ่มขีดความสามารถเฉพาะทางของตนเองในการแข่งขันกับตลาดทางเทคโนโลยีที่มีมักมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ในทางกลับกัน หากเป็นองค์กรที่อยู่ท่ามกลางบริบทที่มีความซับซ้อนสูง กล่าวคือ มีชนิดตัวแปรมากและหลายมิติ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสูง ตัวแปรมีอิทธิพลในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงกว้างในการเปลี่ยนแปลงที่มักเกิดขึ้นยาก และมีตัวแปรใหม่เกิดขึ้นน้อย (scarcely disrupted with diverse drivers in slowly changing environment) อีกทั้งมีความสามารถในการกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวขององค์กรได้อย่างหลากหลาย ควรมองอนาคตจากการศึกษา Preferable Futures อนาคตที่พึงประสงค์ขององค์กรแล้วจึงมองกลับออกไปข้างนอกเพื่อหา Possible Futures และ Probable Futures เนื่องจากองค์กรเหล่านี้มีความสามารถในการปรับตัวสูง มีศักยภาพในการต่อรองกับตัวแปรต่างๆ เพื่อการกำหนดทิศทางขององค์กรให้ตอบรับกับจุดแข็ง จุดอ่อน และจุดยืน ภายในองค์กรได้ นักอนาคตศึกษาเรียกอนาคตจากการมองดังกล่าวว่า อนาคตเชิงบรรทัดฐาน (Normative Futures) ที่หมายถึงอนาคตที่มาจากการทำความเข้าใจความต้องการ ความเชื่อ มุมมอง และค่านิยมที่กำหนดความต้องการภายในองค์กร เครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาอนาคตในรูปแบบนี้คือ เครื่องมือในการคาดการณ์ถอยหลัง (Backcasting Tools) เช่น Vision building, Normative Scenarios, Futures Workshop กล่าวคือการมอง อนาคตเชิงบรรทัดฐานนี้เป็นการมองจากข้างในไปสู่ข้างนอก (Inside-Out Approach) เข้าใจเรา เพื่อที่จะสร้างเขา โดย Royal Dutch Shell เป็นหนึ่งในบริษัทที่ใช้วิธีการนี้ในการศึกษาฉากทัศน์ขององค์กรในช่วงก่อนเกิดวิกฤตน้ำมันโลกในปี 1973 เพื่อวางแผนการสร้างแหล่งพลังงานทดแทน ใหม่จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน อนึ่ง สิ่งที่ผู้สนใจด้านอนาคตศึกษาควรระลึกเสมอคือ อนาคตไม่ควรและจะไม่ผูกติดกับรูปแบบอนาคตที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ เพราะอนาคตเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันที่เคลื่อนที่ในทิศทางที่หลากหลายภายใต้สังคมเชิงซ้อนและซับซ้อน (complex and complicated) ยิ่งเราเข้าใจมุมมองอนาคตและที่มาที่ไปของมุมมองนั้นจากผู้คนหรือองค์กรได้อย่างหลากหลายมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งมีองค์ความรู้ที่สามารถมาเชื่อมโยงและมองภาพอนาคตได้อย่างหลากหลายมากขึ้นเท่านั้น เวนเดล เบลล์ (Wendell Bell) นักวิจัยผู้วางรากฐานที่สำคัญของอนาคตศึกษาชี้ว่า “There are no past possibilities and there are no future facts“ อนาคตศึกษาจึงไม่ใช่องค์ความรู้เพื่อการทำนาย เพราะไม่ใช่องค์ความรู้แบบคงที่ แต่เป็นสิ่งที่มีพลวัตและถูกทำให้เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาจากตัวแปรต่างๆในสังคม นักอนาคตศึกษาจึงต้องมีความยืดยุ่น คล่องตัว และเปิดกว้าง ต่อการเปลี่ยนแปลงที่มักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เครื่องมือและองค์ความรู้ด้านอนาคตศึกษาสามารถเป็นตัวช่วยให้เราทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ความน่าจะเป็นและเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ในอนาคต ทั้งนี้ หากจะอธิบายถึงเครื่องมือของอนาคตศึกษาในบทความนี้ อาจจะทำให้ผู้อ่านใช้ระยะเวลาในการอ่านนานจนเกินไป จึงขออนุญาตอธิบายเครื่องมือและองค์ความรู้ที่นักอนาคตศึกษาใช้วิจัยและศึกษาเรื่องอนาคตในบทความต่อๆ ไป อนาคตศึกษากำลังเป็นหนึ่งในองค์ความรู้ทางด้านวิชาการที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ผู้อ่านหลายท่านอาจจะเริ่มคุ้นชินกับอนาคตศึกษาบ้างไม่มากก็น้อยผ่านบทความต่างๆ ทั้งในวารสารทางวิชาการและนิตยสารเสริมสร้างองค์ความรู้แขนงต่างๆ ฉบับออนไลน์หรือตีพิมพ์ ทว่าองค์ความรู้ทางด้านอนาคตศึกษาค่อนข้างซับซ้อนและยังเป็นสิ่งใหม่ในประเทศไทย การทำความเข้าใจจากพื้นฐานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้ในการต่อยอดองค์ความรู้ให้สอดรับกับบริบทของประเทศไทย บทความนี้มุ่งนำเสนอเรื่องราวความรู้เบื้องต้นที่เกี่ยวกับอนาคตศึกษาในภาษาที่เข้าใจง่ายจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่กำลังศึกษาด้านอนาคตศึกษาในประเทศฟินแลนด์ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับนักคิดนักวางแผนบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ
1พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน 101 world Bell, Wendell (1997) Foundations of futures studies: human science for a new era. Vol. 2 Transaction Publishers, New Brunswick, NJ, USA. Minkkinen, Matti (2019) Overview of the futures field [PowerPoint presentation]. FUTU1 Foundation of Futures Studies. Minkkinen, Matti (2019) Explorative futures studies [PowerPoint presentation]. FUTU1 Foundation of Futures Studies Minkkinen, Matti (2019) Normative futures studies [PowerPoint presentation]. FUTU1 Foundation of Futures Studies Vecchiato, Riccardo (2012) Environmental uncertainty, foresight and strategic decision making: An integrated study. Technological Forecasting & Social Change. Vol. 79, 436–447 Voros, Joseph (2003) A generic foresight process framework. Foresight. Vol. 5 (3), 10– 21. |
![]() |