IPPS in last year
Contact us
Site Map
Homepage
หน้าแรกHomepageAbout IPPSAbout IPPSPublicationPublicationArticleDemocracy MonitoringDemocracy MonitoringSocial ReformActivities
 
ปฏิรูปการเมือง
ระบบเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม - Social Market Economy : การก่อรูปของแนวคิด (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

      ดังได้กล่าวไว้ในฉบับที่แล้วว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเยอรมันมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมากภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้เพียงช่วงทศวรรษเศษ นอกจากนี้ ระบบการเมืองและสังคมในเวลาเดียวกันนี้ก็มีความมั่นคง สังคมเยอรมันมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นอย่างยิ่ง เรียกได้ว่า แม้จะเพิ่งพ้นจากความพังพินาศทั้งประเทศจากพิษภัยมหาสงครามโลกที่ตนเองเป็นผู้ก่อ แต่กลับสามารถที่จะลุกขึ้นมาผงาดอย่างองอาจชนิดที่พลิกความคาดหมายของชาติมหาอำนาจผู้ชนะสงครามในซีกฝั่งเยอรมันตะวันตก

      และยังเป็นช่วงเวลาของการสร้างรากฐานของเยอรมันใหม่ที่ทั้งมั่นคง มั่งคั่งและยังทอดระยะตามมาอย่างยืนยาวถึงยุคปัจจุบัน นับว่าเป็นความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ค้นพบ และสร้างขึ้นโดยชาวเยอรมัน และเพื่อแผ่นดินเยอรมันในช่วงสถานการณ์อันยากลำบากที่สุดในขณะนั้น

      เพียงระยะเวลา 15 ปี หลังสงครามโลกสิ้นสุดนี้เอง ประวัติศาสตร์เยอรมันและของโลกจึงจารึกว่า เป็น “ยุคเศรษฐกิจมหัศจรรย์” (Economic Miracle Era) ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้นำเยอรมันยุคใหม่ นามว่า คอนราด อาเดนาวร์ (Konrad Adenauer) ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันถึง 3 สมัย ซึ่งมาจากพรรคคริสเตียนเดโมแครต (Christian Democrat Union- CDU) อันเป็นพรรคเก่าแก่และครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศเยอรมันมากที่สุด จวบจนถึงปัจจุบัน ยุคสมัยของเขาได้รับการจดจำและยกย่องว่าเป็น “ยุคของอาเดนาวร์” (Adenauer Era) ด้วยเช่นกัน

      ประเทศเยอรมันตะวันตก ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จึงถูกกอบกู้ประเทศขึ้นมาใหม่ด้วยการเปลี่ยนแนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศ เพื่อแก้ไขความล้มเหลว ความผิดพลาด และความหายนะ ทั้งที่เกิดขึ้นกับตนเองและต่อมนุษยชาติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา
  • สำหรับด้านการเมือง ประเทศเยอรมันที่เคยตกอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จของระบอบนาซี ที่นำโดยฮิตเลอร์นั้น เยอรมันได้ถือเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่ต้องจดจำ คนเยอรมันรุ่นใหม่หลังสงครามโลกจึงเลือกทางเดินในระบอบที่ปฏิเสธการผูกขาดอำนาจ หรือเผด็จการทางรัฐสภา เข้าสู่การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) ด้วยการส่งเสริมการใช้เสรีภาพอย่างมีความรับผิดชอบของพลเมืองในการกำหนดชะตากรรมของประเทศร่วมกัน เพื่อสร้างสังคมที่สันติและมีความสามัคคี
  • ด้านการศึกษานั้น ในยุคของอาเดนาวร์ ก็ส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) เพื่อให้พลเมืองให้มีส่วนร่วมในทางการเมือง และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมประเทศชาติ ไม่ให้พลเมืองเฉื่อยทางการเมืองและหวลกลับไปสู่การครอบงำในทางการเมือง เช่นที่เกิดขึ้นในยุคนาซีอีก การจัดการศึกษาในยุคเริ่มต้นของการสร้างชาตินี้ จึงมุ่งปลดแอกจากพันธนาการทางการศึกษา การเรียนรู้ และการกล่อมเกลาในแบบสังคมเดิม เป็นการปฏิเสธการครอบงำและการชี้นำทางความคิดโดยสิ้นเชิง ระบบการศึกษาใหม่นี้ จึงใช้การศึกษาผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่ส่งเสริมเสรีภาพการแสดงออก การคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผล และสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสำคัญ ด้วยระบบใหม่นี้จึงสร้างพลเมืองเยอรมันใหม่ขึ้นมาอีกเช่นกัน
  • ด้านเศรษฐกิจ ก็เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่อาจกล่าวได้ว่าประเทศเยอรมันภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น เป็นประเทศที่สิ้นเนื้อประดาตัว เพราะในยุคของนาซี เยอรมันสร้างพลังทางเศรษฐกิจที่มุ่งไปสู่การสร้างสงคราม รัฐบาลนาซีใช้เงินในการสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ การบริหารเศรษฐกิจช่วงนี้เป็นการรวมศูนย์จากรัฐบาลกลาง มีสภาพการจ้างงานเต็มที่เพื่อผลิตอาวุธ แต่ด้านการตลาดสินค้าอื่นๆ มีคุณภาพต่ำ และเกิดตลาดสีเทา (grey market) และตลาดมืด (black market) อยู่ทั่วไป

      ต่อเมื่อสิ้นสุดสงครามที่แพ้ย่อยยับ ไม่เพียงทำให้ชาวเยอรมันตายไปประมาณ 8 ล้านคน ประเทศถูกแบ่งแยก และถูกปกครองโดยชาติมหาอำนาจ คนเยอรมันจึงถูกแยกไปอยู่ตามโซนที่มหาอำนาจครอบครอง 18 ล้านคนอยู่ฟากเยอรมันตะวันออก และอีก 14 ล้านคนอยู่ฝั่งเยอรมันตะวันตก นับเป็นสภาพของบ้านแตกสาแหรกขาด บ้านที่อยู่อาศัยถูกทำลายยับเยิน โรงงานอุตสาหกรรม เส้นทางคมนาคมขนส่ง และการขนส่งทุกชนิดถูกทำลาย สภาพที่คนนับล้านเผชิญกับชะตาที่ขาดแคลน กดดัน และหิวโหย สิ่งที่พอหาได้ก็ต้องผ่าน “ตลาดมืด” ทั้งอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ฯลฯ

      สภาพย่ำแย่แบบนี้ ผลก็คือ การขาดความเชื่อมั่นในระบบเงินตรา และระบบเศรษฐกิจในขณะนั้น

      แผนปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ด้วยการปฏิรูประบบการเงินตามแผนการความช่วยเหลือภายหลังสงครามที่เรียกว่า แผนมาร์แชล (Marshall Plan) เพื่อฟื้นฟูเยอรมันจึงเริ่มขึ้นในปี 1947

      แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น แม้เยอรมันจะล้มตายไปมากถึง 8 ล้านคน แต่คุณภาพและทักษะของความเป็น “เยอรมัน” ไม่ได้ถูกทำลาย ทำให้ชาวเยอรมันที่เหลืออยู่สามารถที่จะจัดการกับตัวเองได้ภายใต้สภาพความขาดแคลนและยากลำบาก จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เยอรมันขณะนั้น เรียกได้ว่า “จน” (poor) แต่ขณะเดียวกัน ก็ถูกพัฒนา (developed) มาแล้ว

      กระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับในระหว่างการปฏิรูประบบการเงินและเศรษฐกิจ จึงได้รับการจัดการไปสู่การปฏิบัติที่สั่งสมความสำเร็จอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สู่การพัฒนาแนวคิดของระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่เรียกว่า “ระบบเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม”

      ฉบับหน้าจะได้รู้ว่าใครต้นคิด และใครร่วมคิดจนผลักดันสู่นโยบายของประเทศเยอรมันใหม่และใช้ต่อเนื่องจวบจนปัจจุบันได้สำเร็จ
 


Print Version