IPPS in last year
Contact us
Site Map
Homepage
หน้าแรกHomepageAbout IPPSAbout IPPSPublicationPublicationArticleDemocracy MonitoringDemocracy MonitoringSocial ReformActivities
 
บทความ (Thai)
ขออยู่ร่วมกันอย่างสงบ

นิปุณ แก้วเรือน


      ผมเป็นอดีตนักเรียนมัธยม ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปี 1 น้องใหม่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำลังทำหน้าที่ของตนคือการศึกษาเล่าเรียน หวังว่าวันหนึ่งจะเติบโตไปเป็นพลเมืองที่ดี และนำทักษะความรู้ไปพัฒนา “บ้าน” ของตนเอง ครั้งแรกที่ผมระลึกได้ถึงหน้าที่นี้ ก็น่าจะราวรุ่นมัธยมต้น ตั้งแต่นั้นผมก็เริ่มตระหนักถึงความเป็นไปของสิ่งรอบตัวต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ตามวัย ตั้งแต่บ้าน โรงเรียน ชุมชนรอบตัว และขยายกรอบการรับรู้ออกไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจเรียกได้ว่า “ปีกกล้าขาแข็ง” พอสมควร

      ผมมีความกล้าและได้รับโอกาสอันดี ให้เปลี่ยนบทบาทจากผู้รับรู้ เป็นผู้แสดงออก บทความนี้ แน่นอนว่าเป็นมุมมองผ่านกรอบการรับรู้แคบๆ ของผม แต่ในห้วงเวลานี้ ย่อมเป็นมุมมองที่กว้างที่สุดที่ผมสามารถมองเห็นและสื่อสารออกมาได้ ผมจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าค้นหา และคุ้มค่าที่จะอ่านต่อเพื่อสำรวจลงไปในมุมมองที่อาจจะเหมือน หรือแตกต่างกับมุมมองผ่านกรอบสารพัดรูปร่างและขนาดของผู้อ่านทุกท่าน

      ตลอดห้วงการรับรู้ที่ผ่านมา ผมได้เห็นความขัดแย้งก่อตัวขึ้นในสังคมไทยหลายรูปแบบ โดยความเข้มข้น และความชัดเจนนั้นแตกต่างกันไปตามขนาดของกรอบการรับรู้ของผม ในกรอบของผมตอนนี้ ความขัดแย้งที่รุนแรงคือการปะทะกันโดยใช้ความรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม กับกลุ่มผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ความขัดแย้งที่ผมมองว่ารุนแรงและจะส่งผลกระทบฝังรากลึกลงในสังคมไทยมากที่สุด คือความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ หรือ “ความจริง” ของแต่ละบุคคลที่มีต่อการเมืองและสังคมไทย ซึ่งมีผลมาจาก “การยอมรับ” ที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล เนื่องจากความคิดนำไปสู่การกระทำ ดังที่มีคำกล่าวที่ว่า “ความคิดเป็นบิดาของการกระทำ” การมีความคิดที่ขัดแย้ง และรุนแรงย่อมนำไปสู่การกระทำที่รุนแรงอย่างเช่นที่สังคมไทยกำลังประสบ หรืออาจรุนแรงยิ่งกว่านั้นก็ได้

      บุคคลมีความคิดและความเชื่อที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติและเป็นธรรมชาติ เพราะความแตกต่างและความหลากหลายเป็นธรรมชาติของโลก แต่เมื่ออยู่ในบริบทของการยอมรับความแตกต่างและการอยู่ร่วมกัน รวมไปถึงบริบททางการเมือง พลเมืองต้องเข้าใจว่าระบบสังคมและการเมืองเป็นระบบความเชื่อ เราต้องไม่ใช้ความคิดและความเชื่อของตนมาตัดสินความถูกต้องในการกระทำและการแสดงออกของผู้อื่น หากแต่ต้องใช้หลักการ เหตุผล และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มาอธิบายทำความเข้าใจกัน ด้วยความสุภาพและสันติผ่านมุมมองของเหตุผลและวิทยาศาสตร์ สิ่งที่หล่อหลอมมุมมองและความเชื่อของบุคคลต่อสิ่งต่างๆ คือสิ่งที่แวดล้อมบุคคลนั้นและความคิดในการรับสารของตนเอง ความคิดในการรับสารที่มีอคติหรือความเอนเอียง (Bias) มีโอกาสนำไปสู่ความขัดแย้ง คือ ความเอนเอียงในกระบวนการคิด (Cognitive bias) กล่าวโดยรวมคือ ความเอนเอียงในการเฟ้นหาและเลือกรับแต่ข้อมูลและหลักฐานที่สนับสนุนแต่ความเชื่อเดิมของตน โดยไม่เลือกรับ

      ข้อมูลที่แสดงความเห็นขัดแย้ง หรือตีความหมายข้อมูลใดๆ ที่ได้รับให้เอนเอียงไปทางความเชื่อฝ่ายตนทำให้ไม่เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองกับบุคคลอื่นที่มีความเห็นแตกต่าง จึงไม่นำไปสู่การยอมรับความเห็นนั้น และเมื่อบุคคลรับข้อมูลด้านเดียวมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มความสุดโต่งในความคิดของตนมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้ง เมื่อบุคคลเหล่านี้ออกมาปราศรัยถ่ายทอดข้อมูลด้านเดียวนี้ในวงกว้าง โดยเฉพาะเมื่อถ่ายทอดด้วยภาษาที่รุนแรงและไม่สร้างสรรค์ ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งในความคิดและการกระทำระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลต่างความเชื่อ จน นำไปสู่ความรุนแรงไม่สิ้นสุด

      ในสภาพสังคมปัจจุบัน ข้อมูลที่บุคคลได้รับมีผลโดยตรงต่อมุมมองของบุคคลต่อสังคมรอบตัว จากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในหัวข้อเรื่อง “พฤติกรรมการรับข่าวสารและความเชื่อมั่นต่อสื่อมวลชน” พบว่า ทุกวันนี้คนไทยรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลนฺ หรือ โซเชียลมีเดีย มากที่สุด ซึ่งเป็นสื่อที่มีความรวดเร็วและมีปริมาณข้อมูลมาก จึงยิ่งเป็นตัวเร่งให้เรารับข้อมูล ส่งต่อ แสดงออกได้รวดเร็วขึ้น และยังเป็นช่องทางให้มีการแพร่กระจายข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอม (Fake news) จากผลสำรวจของนิด้าโพล พบว่า ร้อยละ 27.59 ระบุว่า เคยหลงเชื่อในข่าวปลอม และร้อยละ 25.59 ระบุว่า เคยแชร์ข่าวปลอม และด้วยขั้นตอนวิธี (Algorithm) ในการจัดสรรข้อมูลข่าวสารของสื่อสังคมออนไลน์ ที่จะจัดสรรข้อมูลให้ใกล้เคียงและสอดคล้องกับความชอบและความสนใจของผู้ใช้งานมากที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใช้งานมากและเป็นเวลานานที่สุด โดยไม่ได้สนใจคัดกรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือของข้อมูล และไม่ได้เสนอแหล่งข้อมูลที่รอบด้านจำเป็นต่อการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองและสังคม ทำให้ผู้บริโภคการรับข้อมูลด้านเดียวได้อย่างง่ายดาย เมื่อรวมกับการมีอคติและเลือกรับข้อมูลของผู้บริโภคเอง ก็ยิ่งเพิ่มความสุดโต่งและความรุนแรงของความคิดที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น

      ในส่วนของการแสดงออกทางการเมืองผ่านสื่อต่างๆ นอกจากการแสดงออกด้วยความคิดที่มีความเอนเอียงแล้ว สิ่งที่พบเห็นได้บ่อยคือ ปรากฏการณ์ ดันนิง-ครูเกอร์ (The Dunning-Kruger effect) ซึ่งอธิบายว่า การที่บุคคลยิ่งไร้ความสามารถเท่าไรจะยิ่งเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ และหากบุคคลมีความสามารถที่แท้จริงมากเท่าไร ยิ่งจะสงสัยในความสามารถของตัวเองมากเท่านั้น สามารถกล่าวได้กับเรื่องการรับรู้และการแสดงออกทางการเมืองและสังคมในทุกช่องทางไม่เพียงแต่ในสื่อสังคมออนไลน์ จะเห็นได้จากกรณีบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในการเมืองและสังคมน้อย ออกมาแสดงความคิดเห็นและ “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับประเด็นการเมืองอย่างมั่นใจเต็มที่ โดยมากมักตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสุดโต่ง และมักได้รับความสนใจและการตอบรับอย่างสุดโต่งจากคนจำนวนมากในวงกว้าง น่าสนใจที่การขาดความรู้ความเข้าใจในการเมืองและสังคมของสมาชิกในสังคม เป็นผลโดยตรงมาจากการศึกษาในโรงเรียน นอกเหนือไปจากการปลูกฝังให้เยาวชนมีมุมมองที่ปราศจากอคติและพร้อมจะใช้ชีวิตในสังคมแล้ว โรงเรียนเป็นสถาบันหลักที่สอนความรู้ความเข้าใจในระบอบระบบการเมือง สังคม และกฎหมายพื้นฐานให้กับเยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นสมาชิกของสังคม แต่จากเหตุการณ์การแสดงออกข้างต้น เราก็ได้ทราบว่า ยังมีสมาชิกของสังคมที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการเมืองและสังคมอยู่อีกมาก

      ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและความเชื่อทางการเมืองในสังคมไทย ผมมองว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยสองฝ่ายหันหน้าเข้าพูดคุยกันทันที ด้วยบริบทที่ขาดการเปิดใจยอมรับของสังคมในขณะนี้ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันด้วยชุดความเชื่อตรงข้าม และกรอบการรับรู้ที่บิดเบี้ยวไปในรูปทรงที่แตกต่างกันนั้น ไม่สามารถนำคนไทยออกจากความขัดแย้งได้ และยังจะนำมาซึ่งความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก เราจึงควรเริ่มแก้ไขโดยเริ่มจากตัวเราสำรวจกรอบการรับรู้ของตนเอง แล้วใช้ขั้นตอนต่อไปนี้ขยายกรอบการรับรู้ออกไป ท่านทั้งหลายอาจตระหนักว่าตนมีกรอบการรับรู้ที่กว้างไกล แต่หากท่านมุ่งขยายกรอบของท่านออกไปเพียงด้านหน้า ท่านก็ไม่สามารถมองเห็นด้านหลัง ด้านขวา และด้านซ้ายของท่านได้ ท่านอาจเริ่มมีความคิดที่อยากจะขยายกรอบของท่านให้รอบด้าน

      ท่านอาจมองภูเขาที่ตระหง่านอยู่ด้านหน้าท่าน แล้วถามตัวท่านเองอย่างตรงไปตรงมาว่า “ตอนนี้ ฉันกำลังมองภูเขาทั้งลูกอยู่ใช่หรือไม่” หากท่านรับรู้ว่าทิวทัศน์ที่ท่านเห็นเป็นเพียง “ภูเขาครึ่งลูก” (แน่นอนว่าหาก ท่านเคยถามเรื่องภูเขาทั้งลูกกับตัวเองเป็นครั้งแรก ทิวทัศน์ที่ท่านตระหนักหลังจากถามคำถามย่อมต้องเป็นภูเขาไม่เต็มลูกเสมอไป) จึงถามต่อไปอีกว่า “แล้วอะไรเล่าบดบังภูเขางดงามนั้นอยู่” “เป็นเมฆหมอกหรือเปล่า” “เป็นภูเขาสูงใหญ่อีกลูกหรือไม่” “หรือว่าเป็นเส้นผมของตัวเอง” ลองสำรวจมุมมองของท่านที่มีต่อสังคมรอบตัว แล้วชี้ชัดอคติทุกข้อที่ท่านมีในมุมมองเหล่านั้นด้วยความคิดที่เปิดกว้างและยอมรับข้อผิดพลาดของตนเอง

      เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ท่านจึง “ออกเดินเท้า” เพื่อเปลี่ยนทิวทัศน์ของท่านให้สามารถเห็นภูเขาจากมุมมองที่ท่านไม่เคยมอง และขยายกรอบการรับรู้ของท่านออกไป แล้วถ้าฟ้าเป็นใจ ท่านอาจเห็นภูเขาได้ทั้งลูก แต่ทั้งนี้ การออกเดินเท้าย่อมไม่ใช่สิ่งที่สะดวกสบายสำหรับท่านหรือใครก็ตาม การยอมรับข้อผิดพลาดและเปลี่ยนมุมมองของตนนั้นย่อมขัดกับความรู้สึก และความมั่นใจในตัวท่านเอง อีกทั้งยังต้องใช้พลังใจสูง ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่มีพลังใจต่ำ แต่กลับมีความมั่นใจในตนเองสูง เช่น เมื่อผมอ่านบทวิเคราะห์จากสำนักข่าวที่ตนเอง “ไม่ชอบ” ก็มีความรู้สึกต่อต้านอยู่ลึกๆ และนั่นก็เปรียบเสมือน “เมฆหมอกหนาทึบ” ที่จำกัดกรอบการรับรู้ของผมจากเนื้อความจริงๆ ของบทวิเคราะห์ที่ผมอ่าน และนี่เป็นสิ่งที่ผมและทุกท่านต้องหลีกเลี่ยง เพราะเหตุนี้ ท่านและผมจึงต้องถามตัวเองเรื่องภูเขาทั้งลูกอยู่เสมอ และขั้นสุดท้ายคือการแสดงออกอย่างสุภาพให้ตัวท่านและผู้อื่นได้รับรู้กระบวนการขยายกรอบการรับรู้ของท่าน ตั้งแต่การตั้งคำถาม “ภูเขาทั้งลูก” ไปถึงการออกเดินเท้า และแสดงมุมมองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวท่านที่เปลี่ยนแปลงไป

      หลังจากได้ขยายกรอบการรับรู้ อาจเริ่มจากการพูดกับคนใกล้ตัว เพื่อน หรือครอบครัว แล้วค่อยขยายแนวคิดที่เป็นกลางนี้ออกไปสู่สมาชิกของสังคมคนอื่นๆ ที่เราได้พบ การสื่อสารกับตนเองทำให้เกิดการยอมรับตนเองมากขึ้น การสื่อสารกับผู้อื่นด้วยมุมมองที่เปิดกว้าง ทำให้เรายอมรับความต่างของกันและกันมากขึ้น หลังจากนี้เท่านั้น คนไทยที่มีความคิดต่างกันจึงจะสามารถหันหน้าเข้าคุยกันได้อย่างสันติและสร้างสรรค์ แต่การเปลี่ยนแปลงระดับบุคคลไปสู่ระดับประเทศนี้ พลเมืองจะต้องระลึกไว้เสมอว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะเร่งรัดและทำด้วยความคิดอย่างสุดโต่งไม่ได้ หากแต่ต้องดำเนินการไปตาม “กฎแห่งความช้า”1 ซึ่งเป็นไปตามที่ท่านอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ให้ข้อคิดไว้เป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของท่าน ที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งของคนไทยได้อย่างดี กฎแห่งความช้า กล่าวว่า “ในธรรมชาติของเรา ความช้าเป็นธรรมชาติ และความเร็วเป็นข้อยกเว้น” (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2557, หน้า 4) เมื่อจะแก้ปัญหาใดๆ เราต้องดูว่าปัญหานั้นสามารถแก้ด้วยความช้าหรือความเร็ว เช่น ปัญหาการสื่อสารและถ่ายทอดข้อมูลที่ล่าช้า เราก็แก้ปัญหาโดยสร้างระบบการสื่อสารที่รวดเร็วและจุข้อมูลได้ครั้งละมากๆ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ แต่ด้วยกฎแห่งความช้า กล่าวว่า “ยิ่งเราต้องการความเร็วมากเท่าใด เราจะได้ความช้ากลับมาเป็นปฏิภาคกัน” (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, หน้า 6) เราจึงเห็นปัญหามากมายในสังคมที่เกิดจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์

      ในกรณีแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและความเชื่อทางการเมืองในสังคมไทย เราต้องแก้ด้วยความช้า การเปลี่ยนแปลงความคิดและขจัดการใช้ความเชื่อที่นำมาซึ่งความขัดแย้งของสมาชิกในสังคมต้องดำเนินไปอย่างเป็น “วิวัฒนาการ” ไม่ใช่ “การปฏิวัติ” โดยใช้กระบวนการเปลี่ยนจากภายในตัวบุคคล ไปสู่กลุ่มบุคคล สู่องค์กร สู่ชุมชน แล้วจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนอย่างช้าๆ ไปสู่ระดับประเทศ หากเราเร่งรัดที่จะแลกเปลี่ยนความคิดโดยใช้ความเชื่อและอคติทมีอยู่ในตัวเรา หรือแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ที่มีอคติ รากฐานที่เราพยายามสร้างก็จะกลับพังทลายลงมาใหม่ และมีแต่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นทำได้ช้า และยิ่งยากขึ้น

      สุดท้ายนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การกระทำที่รุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจะยุติลงอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะถึงแม้ความรุนแรงนี้จะไม่ได้หยั่งรากลึก แต่ก็เป็นอันตรายถึงชีวิต น่าเศร้าที่กฎแห่งความช้าก็ยังครอบคลุมถึงสถานการณ์ความรุนแรงนี้ การจะยุติความรุนแรงนั้นจึงต้องดำเนินไปภายใต้ความช้า เนื่องด้วยการกระทำเป็นผลของความคิด เมื่อมีความคิดที่ขัดแย้งและรุนแรง การกระทำก็รุนแรงตามไปด้วย หากจะยุติความรุนแรง คนไทยทุกคนต้องปรับเปลี่ยนความคิดของตนเอง และเปิดใจยอมรับความแตกต่าง แต่หากผู้ใดละทิ้งกฎแห่งความช้า แล้วยุติความขัดแย้งด้วยความรุนแรงที่ยิ่งกว่า ความขัดแย้งอาจยุติลงโดยเร็ว แต่ผลที่ตามมาย่อมมีแต่ความเสียหายและพังพินาศทุกฝ่าย และการพัฒนายอมจะไม่เกิดขึ้นกับสังคมประชาธิปไตยของไทย

------------------------------------------------------------
1 ชัยอนันต์ สมุทวณิช. กฎแห่งความช้า. (กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา), 2557.
 


Print Version