![]() ![]() ![]() |
![]() |
![]() ![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() พฤศจิกายน 2562 : ครม.รับรองถ้อยแถลงเรื่องสู้อาชญากรรมข้ามชาติ
ครม. รับรองถ้อยแถลงเรื่องสู้อาชญากรรมข้ามชาติ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติรับรองร่างเอกสารถ้อยแถลงผลการประชุม จำนวน 7 ฉบับ ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 13 ที่โรงแรมแบงค็อกแมริออท มาคีส์ ควีนส์ปาร์ค กทม. ระหว่างวันที่ 25 - 29 พฤศจิกายน ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นการประชุมพหุภาคีในภูมิภาคอาเซียน และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม เช่น การก่อการร้าย ลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การฟอกเงิน และการกระทำการอันเป็นโจรสลัด ประเทศไทยได้มอบหมายให้ พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมกับ รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอาชญากรรมข้ามชาติอาเซียน และผู้แทนจากผู้การเจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โรงเรียนประชารัฐชายแดนใต้ ได้งบฯ อุดหนุน 3.4 พันล้าน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการดำเนินโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ จ.ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และ 4 อำเภอ จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ, อ.เทพา, อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย ทั้งนี้ สืบเนื่องจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2560 ให้มีการปรับระดับโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในพื้นที่อำเภอละ 1 แห่ง ให้เป็นโรงเรียนประจำ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนที่ยากจน หรือนักเรียนที่ถูกทอดทิ้งไม่มีผู้อุปการะ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม และทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพชีวิตในคนในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน และมีโรงเรียนในโครงการ 64 โรงเรียน มีนักเรียน 5,049 คน คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ของบประมาณจาก ครม. วงเงิน 3,416.54 ล้านบาท แบ่งเป็นจ้างครูรายเดือน ซื้อสื่อการเรียนการสอน 132.81 ล้านบาท งบลงทุนในการก่อสร้างหอนอนและครุภัณฑ์ 1,031.37 ล้านบาท งบอุดหนุนเพื่อเป็นค่าอาหาร 3 มื้อ และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากงบฯ อุดหนุนรายหัว 2,252.36 ล้านบาท ครม. เห็นชอบ สามมาตรการกระต้นเศรษฐกิจปลายปี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2562 รวม 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการแรก โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก มี 3 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระดับหมู่บ้าน โดยจัดสรรเงินให้แก่กองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ A B และ C จำนวน 71,742 แห่ง แห่งละไม่เกิน 200,000 บาท ผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติภายใต้วงเงินรวม 14,348.4 ล้านบาท , โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี และโครงการพักชำระหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามความสมัครใจ มาตรการที่ 2 ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผ่านโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 ไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท และโครงการโดยสนับสนุนต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้เกษตรกรจากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2563 เนื่องจากมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตรมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนมาตรการสุดท้าย เป็นมาตรดารลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการ “บ้านดีมีดาวน์” เพื่อเป็นการลดภาระ และสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยภาครัฐสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back) จำนวน 50,000 บาท ต่อราย ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมมาตรการต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี ผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีอากรของกรมสรรพากร จำนวน 100,000 ราย และผ่านเกณฑ์ ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 – 31 มีนาคม 2563 โดยจะเปิดให้ลงทะเบียน 11 ธันวาคมนี้ รัฐบาลแพ้โหวต เรื่องตั้ง กมธ.ศึกษา ม.44 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ซึ่งนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ หลังจากสมาชิกได้อภิปรายสรุปญัตติเรียบร้อยแล้ว ได้มีการลงมติว่า จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ หรือไม่ ผลปรากฏว่าที่ประชุมได้มติเห็นด้วยให้ตั้ง 234 ไม่เห็นด้วย 230 งดออกเสียง 2 เท่ากับว่าฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตเพียง 4 เสียง ทำให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ได้ขอให้มีการนับคะแนนใหม่ นายชวน จึงเรียกกรรมการนับคะแนน จาก ส.ส. ของแต่ละพรรค แต่ทางพรรคฝ่ายค้านไม่ได้ส่งรายชื่อมาให้และยังประท้วงอย่างต่อเนื่องก่อนพากันวอล์คเอ้าท์ ในที่สุดนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านฯ จึงเสนอให้มีการพักการประชุม ซึ่งนายชวน ก็อนุญาตให้มีการพักประชุมอย่างน้อย 15 นาที กก.วัตถุอันตรายพลิกมติ ยืดแบน 2 สาร คณะกรรมการวัตถุอันตรายพลิกมติเลื่อนแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ไปอีก 6 เดือน มีผล 1 มิถุนายน 2563 ส่วน “ไกลโฟเซต” ไม่แบน ให้จำกัดการใช้ “เสี่ยหนู” ยอมรับมติ แม้ผิดหวังแต่ทำสุดซอยแล้ว ยันไม่ทำให้เรือเหล็กรั่ว ด้าน “มนัญญา”ควันออกหู ถูกข้ามหน้า หลังปลัดเกษตรฯ –อธิบดีกรมวิชาการเกษตรดอดให้ “เฉลิมชัย”ลงนามเอกสารขยายเวลายกเลิก พร้อมผลรับฟังความเห็นเสนอที่ประชุมบอร์ดสารพิษ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประชุมเพื่อพิจารณาเกี่ยวการยกเลิกใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ว่าจะให้มีผลทันทีวันที่ 1 ธันวาคม 2562 หรือไม่ หลังใช้เวลาหารือประมาณ 3 ชั่วโมง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้แถลงผลการประชุมว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายมาร่วมประชุม 24 คน จากทั้งหมด 29 คน ได้มีมติเอกฉันท์ให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาบังคับใช้เลื่อนจาก 1 ธันวาคม 2562 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนไกลโฟเซต ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรฯ จัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้นำเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาภายในเวลา 4 เดือน นับจากวันที่มีมติ ครม. ผ่านหลักการผู้ดำรงตำแหน่งรูปแบบพิเศษ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์เรื่องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ... และร่างกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยการผ่อนผันผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป... รวม 2 ฉบับ ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบเพื่อดำเนินการต่อไป ครม. เห็นชอบ ชิม-ช้อป-ใช้ เฟส 3 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบ “ มาตรการชิมช้อปใช้ระยะที่3” ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยจะเปิดเพิ่มให้ลงทะเบียนในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 จำนวน 2 ล้านราย และจะกันสิทธิให้ผู้สูงอายุ 500,000 สิทธิ ลงทะเบียนในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 ในระยะที่ 3 จะไม่มีการแจก 1,000 บาท แต่จะให้ใช้สิทธิได้แค่กระเป๋าที่ 2 (Cash Back) เท่านั้น โดยเงินคืนแบ่งเป็นสองช่วง 1.15% จากยอด 30,000 บาทแรก และ 2.20% จากยอด 300,000-50,000 บาท รวมคืนสูงสุด 8,500 บาท เงินคืนจะได้กลางเดือนธันวาคม 2562 กลางเดือนมกราคม 2563 และคาดว่าจะมีรอบสุดท้ายกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พร้อมกันยังให้ขยายเวลามาตรการจากเดิมในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ออกไปเป็น 31 มกราคม 2563 และสามารถใช้สิทธิกับค่าใช้จ่ายแพ็คเกจท่องเที่ยว ที่พัก ค่าเดินทาง ตั๋วเครื่องบินในประเทศ และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง ครม. เห็นชอบ 1 ม.ค. 64 เลิกใช้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียว เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ในเรื่องการลดและเลิกใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยจะให้เลิกใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ รวม 43 ภาคี มีมติว่าในวันที่ 1 มกราคม 2563 จะมีการนำร่องงดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 100% ใน 43 ภาคี เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก และจะทุกร้านจะต้องเลิกแจกถุงพลาสติกในวันที่ 1 มกราคม 2564 43 ภาคี มีสัดส่วนร้อยละ 30 หรือประมาณ 13,500 ล้านใบ ของร้านที่แจกถุงพลาสติก แต่ยังมีกลุ่มร้านขายของชำ ตลาดสด ตลาดต่าง ๆ อีกร้อยละ 70 หรือประมาณ 30,000 ล้านใบ ที่จะต้องมีการรณรงค์ให้ร่วมการลดใช้ถุงพลาสติก โดยคาดว่าจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกได้ประมาณ 780,000 ตันต่อปี ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะได้ถึง 3,900 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะนี้ กรมควบคุมมลพิษกำลังดำเนินการผลักดันกฎหมายงดใช้พลาสติก เพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณา โดยกฎหมายฉบับนี้จะแบ่งพลาสติกเป็น 7 ชนิด คือ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม, พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่, พลาสติกผสมไมโครบีด, พลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน, กล่องโฟมบรรจุอาหาร, หลอดพลาสติก และแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยจะใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน รวมทั้งจะนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ กกต. ให้ อนค. ส่งเอกสารปมเงินกู้พรรค อนค. ใน 2 ธ.ค. 62 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ส่งเอกสารที่เหลือเกี่ยวกับคดีเงินกู้ 191 ล้านบาทของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2562 เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากการที่มีผู้กล่าวหาว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กระทำความผิดมาตรา 66 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวน 191 ล้านบาท ซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามบุคคลบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปี ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งเอกสารบางส่วนให้ กกต. ไปแล้วแต่ขอขยายเวลาอีก 120 วัน ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ป.ป.ช. ได้เปิดเผยบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รองสอง จำนวน 80 คน จากทั้งหมด 500 คน ในกรณีเข้ารับตำแหน่ง 79 ราย และพ้นจากตำแหน่ง 1 คน ซึ่งนายธนาธร ได้แจ้งทรัพย์สินรวมทั้งของคู่สมรสว่ามีทั้งสิ้น 5,632,536,266 บาท หนี้สิน 683,303 บาท มีการปล่อยเงินกู้ 6 รายการ โดยมีสองรายการที่เป็นสัญญาเงินกู้ที่ทำไว้กับพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งหมด 191.2 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 โดยมีนายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรคอนาคตใหม่ ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้าพรรค (ผู้กู้) โดยการทำสัญญา ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า ธนาธรให้เงินกู้แก่พรรค อนค. 161.2 ล้านบาท โดยพรรค อนค. ยอมเสียดอกเบี้ยให้ธนาธร ในอัตรา 7.5% ต่อปี คิดจากจำนวนเงินต้น มีกำหนดส่งดอกเบี้ยทุกเดือน จนกว่าสัญญาจะสิ้นสุดลง หากผิดชำระหนี้ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม พรรค อนค. จะรับผิดในเบี้ยปรับวันละ 100 บาท ส่วนสัญญาที่สอง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 โดยธนาธรปล่อยกู้ 30 ล้านบาท ซึ่งมีการลงนามด้วยบุคคลเดียวกันกับสัญญาฉบับแรก โดยในวันทำสัญญา พรรค อนค. ได้รับเงิน 2.7 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 2% ต่อปีของเงินต้น และตกลงชำระภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 นายธนาธรได้ขึ้นเวทีบรรยายแก่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ในหัวข้อ “อะไรคืออนาคตของพรรคอนาคตใหม่” โดยช่วงหนึ่งได้ระบุถึงการบริหารการเงินว่า เพื่อให้พรรคสามารถเดินหน้าในช่วงการเลือกตั้งได้ ตนจึงให้เงินทางพรรคยืมไปแล้ว 110 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน น.ส. พรรณิการ์ วาณิช โฆษกพรรค อนค. ก็ได้ยืนยันว่า พรรคการเมืองสามารถทำสัญญากู้ยืมเงินได้ สำหรับเรื่องนี้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2550 และ 2560 เขียนไว้แตกต่างกัน คือ ฉบับปี 2550 มาตรา 53(7) กำหนดให้มีรายได้อื่น พรรคจึงอาจมีรายได้จากการกู้ยืมเงินได้ แต่ในฉบับปี 2560 มาตรา 62 ไม่มีบทบัญญัติเรื่องรายได้อื่น และมาตรา 87 ประกอบมาตรา 62 วรรคท้าย พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายจากเงินและทรัพย์สินของพรรคเท่านั้น ทั้งนี้ เงินหรือทรัพย์สินของพรรคมีที่มาจากรายได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ได้ทวีตข้อความ โดยระบุว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงลาออกจากการเป็นกรรมาธิการพิจารณางบประมาณปี 2563 ยืนยันไม่มีแรงกดดัน ไม่มีปัญหาในกรรมาธิการ แต่ต้องการออกมาทำงานรณรงค์ทางการเมืองกับประชาชน กทม. เดินหน้าโครงการท่อร้อยสายใต้ดิน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562. พลเอกประวิตรวงษ์ สุวรรณ รองประธานการประชุมคณะกรรมการร่างเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับโครงร่างอินเทอร์เน็ต โครงข่ายอินเทอร์เน็ต เครือข่ายประชารัฐ โครงการเพิ่มคุณสมบัติโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนการส่งเสริมเขตอุตสาหกรรม การส่งเสริมและนวัตกรรมดิจิทัลแห่งประเทศไทย และการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในพื้นที่ กทม. เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เกิดความสะอาดและสวยงาม |
![]() |