![]() ![]() ![]() |
![]() |
![]() ![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() เมื่อข้อมูลคือทรัพยากรแห่งอนาคต
โลกเปลี่ยนไปแล้ว หลายคนยอมรับว่าเราต้องปรับวิธีคิดและการใช้ชีวิตใหม่ หลายสิ่งหลายอย่างกำลังหายไป เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารยุคใหม่ ระบบอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ได้ขับเคลื่อนวิถีชีวติคนไปในรูปแบบใหม่ ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ พัฒนาการของโลกที่มีเทคโนโลยีล้ำนำหน้าทำให้เกิดวิธีคิดใหม่ๆ ที่ต้องยืดหยุ่นเป็น ปรับตัวให้เร็ว และมีประสิทธิภาพสูง จึงจะอยู่ได้และ “อยู่เป็น” ให้ถูกเวลา โลกกำลังหมุนอยู่ในห้วงเวลาที่เรียกว่า “สังคมดิจิทัล” โครงสร้างพื้นฐานของสังคมก็ย่อมเปลี่ยนไปสู่โหมด “ดิจิทัล” มีมูลค่าเพิ่มคือการเกิดโอกาสใหม่ๆ ที่ต้องการแหล่งทรัพยากรให้เป็นวัตถุดิบในการทำงานเป็นพื้นฐาน นั่นคือ “แหล่งข้อมูล” ทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลกใบนี้ ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน ธุรกิจหรือธุรกรรมข้ามชาติ ต้องการมีข้อมูลไว้ในครอบครองให้มากที่สุด และในบรรดาข้อมูลทั้งหลายที่ต้องการครอบครอง แลกเปลี่ยน กระทั่งแย่งชิงแข่งขันกันเพื่อการครอบครองนี้ ได้รวมไปถึง “ข้อมูลส่วนบุคคล” หรืออาจเรียกว่า “ข้อมูลส่วนตัว” อยู่ด้วย ด้วยการสื่อสารที่รวดเร็ว การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สะดวกและรวดเร็วเช่นกันในปัจจุบัน การสะสมข้อมูลไว้ครอบครองเพื่อประโยชน์ทั้งของรัฐและเอกชนก็มีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนของโลกสมัยใหม่ที่มีเศรษฐกิจนำ ทำให้ความต้องการครอบครองข้อมูลเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจมีมากขึ้น ในขณะที่ภาครัฐก็ต้องการข้อมูลนอกจากเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้ว ยังมีความจำเป็นอีกด้านคือความมั่นคง ข้อมูลส่วนบุคคล หรือเข้าใจให้ง่ายขึ้น คือ “ข้อมูลส่วนตัว” ของพลเมือง จึงเป็นฐานข้อมูลใหญ่ในทุกรัฐ ที่ประมวลข้อมูลพื้นฐานของตัวตนบุคคลไว้ทั้งหมด และอาจแปรผลไปเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาลอีกด้วย เมื่อธุรกิจรู้จักพฤติกรรมของเรามากขึ้นจากข้อมูลส่วนตัว ความเป็นส่วนตัวของเราก็จะน้อยลงอีกด้วย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ข้อมูลส่วนตัวจึงมีค่ามากขนาดเปรียบได้ว่าเป็น “สินทรัพย์” ที่สามารถนำไปสร้างประโยชน์ได้หลายต่อ หรือ ขายข้อมูลของตัวเองก็ได้ด้วยหากยินยอมให้ใช้ข้อมูลส่วนตัว “ข้อมูลส่วนตัว” จึงมีความสำคัญ เนื่องด้วยเป็นเรื่องของ “สิทธิในความเป็นส่วนตัว” อันเป็นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน และยังต้องการการคุ้มครองปกป้อง เรื่องนี้ต้องติดตาม เมื่อเราอยู่ในกระแสโลก และประเทศไทยก็ตื่นตามโลกไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ไปแล้ว สังคมไทยจะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด ประชาชนพลเมืองควรที่จะได้ติดตามสร้างความเข้าใจกับกฎหมายใหม่นี้ด้วย เพราะหากข้อมูลส่วนตัวของเราถูกใช้ ถูกขาย ถูกแชร์ โดยเราไม่รู้เรื่อง ไม่ยินยอม ใครจะรับผิดชอบ เราต้องตระหนักและดูแลข้อมูลของเราให้ได้ด้วยตัวเราเองด้วย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการ สถาบันนโยบายศึกษา |
![]() |