![]() ![]() ![]() |
![]() |
![]() ![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() การสร้างผู้นำในระบอบธรรมาธิปไตย
ดร.วิชัย ตันศิริ บทความในคอลัมน์ปรีชาทัศน์ ในหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2561 ได้กล่าวถึงแนวคิดของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่จัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ในยุคแรก และเคยเห็นตำราภาษาอังกฤษ ที่ใช้คำ “Moral Science” แปลคำว่า ธรรมศาสตร์ ฉะนั้น หากชื่อภาษาอังกฤษว่า “University of Moral Science and Politics” คงจะเท่พิลึก วันนี้จึงขอโอกาสหยิบยกประเด็นเรื่อง “ธรรมะ” ทางการเมือง ขึ้นมาอภิปรายในจังหวะที่วงการบริหารของศาสนาพุทธกำลังเข้าสู่สัญญาณอันตราย และเป็นโอกาสสำคัญที่จะโต้แย้งฝรั่งหัวแดงที่เขียนสกู๊ปเกี่ยวกับท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวารสารไทม์ อันโด่งดัง โดยจ่าหัวเรื่องที่หน้าปกว่า “Democrat หรือ “Dictator” – จะเป็นนักประชาธิปไตยหรือนักเผด็จการ ในหัวสมองฝรั่ง ดูจะมีเพียง 2 พยางค์นี้เท่านั้นในสารบบของเขา ประเทศคุณไม่เป็นประชาธิปไตย คุณก็เป็นเผด็จการ คุณไม่มีหนทางที่สาม – กึ่งกลางระหว่างประชาธิปไตย กับเผด็จการ ช่างเป็นแนวคิดอันคับแคบที่ฝรั่งมักจะนำมาใช้กับประเทศโลกที่สาม ตามข้อเท็จจริง ประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่ต่างกันแบบ ขาว กับ ดำ ขนาดนั้น อย่างอังกฤษ ท่านคิดว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบแล้วหรือ? แล้วทำไมจึงมีสภาขุนนาง ส่วนสหรัฐอเมริกา ทำไมจำนวนวุฒิสมาชิกของแต่ละมลรัฐจึงมีเท่าๆ กัน ทั้งๆ ที่แต่ละมลรัฐมีจำนวนประชากรไม่เท่ากัน ผู้เขียนไม่ต่อต้านประเด็นเหล่านี้ เพราะเห็นว่าในหลายๆ ประเด็นในระบอบประชาธิปไตยแบบสุดโต่ง ช่างไร้สาระเสียจริงๆ ตามสภาวะที่ควรจะเป็น แต่ละประเทศจึงควรออกแบบระบบการเมืองการปกครองที่เหมาะสมกับ “วัฒนธรรม” ของตนเอง หรือไม่ก็ต้องปรับวัฒนธรรมทางการเมืองให้เหมาะสมกับระบอบการปกครองที่ตนเองใฝ่หา แต่ผู้นำการเมืองไทยแทบทุกยุคทุกสมัย กลับมองไม่เห็นสัจจธรรมข้อนี้ จึงละเลยแนวทางการปฏิรูปที่สำคัญที่สุด คือการปฏิรูปวัฒนธรรม (การเมือง) ให้สอดคล้องกับระบอบการเมืองการปกครองที่ตนปรารถนา อย่างไรก็ตาม ดังได้กล่าวมาตั้งแต่เริ่มต้นของการเขียนในคอลัมน์ปรีชาทัศน์ให้แก่หนังสือพิมพ์แนวหน้า ผู้เขียนได้แนะนำนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา มีชื่อว่า Francis Fukuyama ผู้เสนอทฤษฎีการเมืองใหม่ ที่ให้ความสำคัญแก่สามมิติของการพัฒนาการเมือง ได้แก่ การสร้างและพัฒนาระบบรัฐให้เข้มแข็ง การพัฒนาระบบนิติธรรมรัฐ (Rule of Law) และการพัฒนาระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย (มีการเลือกตั้ง และรัฐบาลที่รับผิดชอบต่อประชาชน) หากพัฒนา 2 ระบบแรกให้เข้มแข็งในสังคมไทย ระบบที่สามจะง่ายต่อการพัฒนา แต่น่าเสียดาย ที่ยังไม่ปรากฏว่ามีคณะที่ปรึกษาฝ่ายใดได้เสนอแนวทางปฏิรูปการเมืองการปกครองด้วยความเข้าใจแนวคิดหลักของฟูกูยามา ยังไม่สายที่คณะปฏิรูปการศึกษาและวัฒนธรรมของรัฐบาลจะได้พุ่งเป้าไปสู่การพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมือง ซึ่งรวมถึงความรู้และความคิดที่จะส่งเสริมเพิ่มพลังให้กระบวนการประชาธิปไตยได้ฝังรากลึกในสังคมประชาธิปไตยของชาวไทย ข้อเสนอโดยเฉพาะของวันนี้ ก็คือ มุ่งแสวงหาปัจจัยทางบวกที่จะสร้างพลังทางสังคม และในความคิดของผู้เขียน คงไม่มีพลังใดจะเกินเลยพลังทางศาสนา (พุทธ) ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชากรส่วนใหญ่อยู่แล้ว เพียงแต่ปรับเป้าหมายทางการเมืองและการสร้างระบบจาก ระบอบประชาธิปไตย “แบบตะวันตก” ล้วนๆ ให้มีองค์ประกอบของวัฒนธรรมไทย ได้แก่ หลักธรรมและขนบธรรมเนียมทางศาสนา (พุทธ) และเชื่อแน่ว่าระบบที่พระคุณเจ้าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้เคยเรียกว่า “ธรรมาธิปไตย” น่าจะสอดรับกับสังคมไทยมากที่สุด รัฐบาลชุดนี้ ภายใต้การนำของ ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ ควรจะชูธงเรื่อง “ธรรมาธิปไตย” และถือโอกาสปฏิรูปการบริหารของสงฆ์ไทย ซึ่งกำลังเข้าขั้นโคม่า ให้กลับมาสู่ความบริสุทธิ์ ยกเครื่องระบบการบริหารในระบบปัจจุบันที่ขาดประสิทธิภาพ ควรแยกส่วนออกจากระบบสมณศักดิ์ในระดับหนึ่ง เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของการบริหาร ปฏิรูประบบการเงิน การคลังของวัด และของสงฆ์ทั้งมวล ให้มีศูนย์กลางของการบริหารทั้งการเงิน การคลัง และการศึกษาของสงฆ์และของประชาชน โดยเฉพาะให้มุ่งเป้าไปที่การสร้างวัฒนธรรม “ธรรมาธิปไตย” ให้แก่เยาวชน หนุ่มสาว เปิดโรงเรียนสอนหลักธรรมกับการเมือง /หลักธรรมกับการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่มีศรัทธาต่อศาสนา (ของตน) ดูตัวอย่างของศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ที่ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาของเยาวชน ทำไมองค์กรสงฆ์ไทยจะทำไม่ได้ และทำไมจึงมัวสนใจแต่ประเด็นที่เป็นกระพี้ แต่ไม่สนใจเยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศที่จะกลายเป็นชนชาติฝรั่งชั้นสองกันไปเกือบจะหมดแล้ว รัฐบาลของ ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาสู่หน้าประวัติศาสตร์ตามสถานการณ์ของประวัติศาสตร์ และกำลังสร้างคอริดอร์ “EEC” ในฝั่งตะวันออก ขอให้ท่านประสบผลสำเร็จในเรื่องนี้ แต่ถ้าจะก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริง ท่านต้องสร้างคอริดอร์ทางการเมือง ได้แก่ การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ในหมู่เยาวชนและหนุ่มสาวทั้งหลาย ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงการเมืองจากระบบการทุจริตซื้อเสียง ไปสู่ระบบการเลือกตั้ง ที่ผู้เลือกตั้งชาญฉลาดและมีคุณธรรม ที่จะเลือกว่าอะไรคือผลประโยชน์ที่แท้จริงของประเทศชาติ ที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าพรรคการเมืองที่ดีควรจะเป็นเช่นไร และคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็น ส.ส. ควรจะเป็นเช่นไร และจะหลุดพ้นจากระบบอุปถัมภ์ได้อย่างไร? การพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมือง ตามที่เข้าใจกันก็คือ การปรับทัศนคติ อุดมการณ์ วิสัยทัศน์ ที่สอดคล้องกับระบอบและวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย ซึ่งในบริบทใหม่ ควรจะเป็น“ธรรมาธิปไตย” ที่เน้น “การตัดสินใจด้วยปัญญา โดยมีเจตนาที่เป็นธรรม” (ตามนิยามศัพท์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)) การสร้างปัญญานั่นคือมิติของการสร้างความรู้เกี่ยวกับระบบสังคม การเมือง และการปกครองที่ควรจะเป็น ธรรมาธิปไตย ที่ผู้คนเสียสละเพื่อส่วนรวม รักความเป็นธรรม ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง และจุดเริ่มต้นในชุมชน หรือในหมู่บ้าน ก็คือ การรวมกลุ่มเพื่อจัดกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ การสร้างระเบียบวินัยบนท้องถนน และความสะอาดในหมู่บ้าน การประชุมปรึกษาหารือในปัญหาของส่วนรวม เป็นต้น ธรรมาธิปไตยไม่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย แต่จะส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยสายกลาง สอดรับกับวัฒนธรรมทางศาสนาของประเทศ โครงการนี้น่าจะเป็นโครงการที่ยิงกระสุนนัดเดียวได้นก 2 ตัว คือ ทั้งการปฏิรูประบบการบริหารการเงิน การคลังของสงฆ์ และการส่งเสริม หรือสร้างวัฒนธรรมการเมืองตามครรลองของธรรมาธิปไตย |
![]() |