IPPS in last year
Contact us
Site Map
Homepage
หน้าแรกHomepageAbout IPPSAbout IPPSPublicationPublicationArticleDemocracy MonitoringDemocracy MonitoringSocial ReformActivities
 
ปฏิรูปการเมือง
การสร้างผู้นำทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตย

ดร.วิชัย ตันศิริ


      ในบทความซึ่งตีพิมพ์ในวารสารปฏิรูปการเมือง-กระจายอำนาจ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2561 ได้กล่าวถึงการสร้างผู้นำในระบบราชการ ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่ไม่สลับซับซ้อนมากนัก แต่จะมีผลในการถ่วงน้ำหนักให้แก่ระบบการเมือง และธุรกิจ แต่การจะบรรลุเป้าหมายที่สำคัญทางการเมือง จำเป็นต้องมีกลวิธีในการสร้างผู้นำทางการเมือง ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะมีปัจจัยตัวแปรมากมาย แต่ก็ควรจะพยายามต่อไปอย่างไม่ลดละ

      สำหรับสังคมไทย ความยากลำบาก น่าจะเป็น 2 เท่าทวีคูณของสังคมตะวันตก ซึ่งคุ้นเคยกับการโต้แย้ง การต่อรอง รวมทั้งการต่อสู้ทางการเมืองมาเป็นเวลาหลายร้อยปี เช่น สังคมอังกฤษ จุดเริ่มต้นของระบบรัฐสภาของเขา เริ่มมาตั้งแต่ขุนนางเรียกร้องให้พระเจ้าจอห์นลงนามในมหากฎบัตร แม็คนา คาร์ตา (Magna Carta) ค.ศ. 1215 หรือ 803 ปีมาแล้ว และกว่ารัฐสภาจะมีอำนาจที่แท้จริง ก็ต้องใช้เวลาถึง 4 ศตวรรษ – ผ่านสงครามกลางเมือง 1 ครั้ง และการปฏิวัติของเหล่าขุนนาง อีก 1 ครั้ง (ค.ศ. 1688) ประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษ จึงเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับนักศึกษาเรื่องประชาธิปไตย ที่ยังธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์

      ฉะนั้น การบ่มเพาะผู้นำสังคมไทยในวิถีทางของประชาธิปไตย จึงสมควรทุ่มเทความพยายามที่อาจจะดูเกินสติปัญญาของเราชาวไทย แต่สังคมไทยดูจะไม่มีทางเลือกเสียแล้ว ประวัติศาสตร์การเมืองที่ขาดเสถียรภาพสลับฉากระหว่างระบบการเลือกตั้ง – การมีผู้แทนราษฎร กับระบบกึ่งเผด็จการทางทหาร ดูจะตามหลอกหลอนเราชาวไทยตั้งแต่เยาว์วัยจนเป็นหนุ่ม หนุ่มแล้วแก่ แก่แล้วก็ชราภาพ ก็ยังไม่หลุดพ้นไปจากวงจรอุบาทว์นี้ไปได้

      ประการแรก จะต้องสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ ประกอบด้วยหลายกระบวนการผ่านสถานศึกษา น่าจะเป็นทางเลือกที่ง่ายหรือตรงที่สุด ข้อเสนอก็คือ
  • ปฏิรูประบบการเรียนวิชาหน้าที่พลเมือง โดยในระดับมัธยมปลายควรสอนวิชา หลักรัฐธรรมนูญ (Constitutionalism) ซึ่งเป็นสากล มิใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่สอนให้ท่องจำ แต่สอนให้วิเคราะห์หลักรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็นสากล
  • ควรสอน ปรัชญาการเมือง (ฉบับเยาวชน) ให้แก่นักเรียนระดับมัธยมปลาย ขณะที่ในระดับมัธยมต้น ควรสอนกระบวนการคิดเชิงปรัชญา
  • ในวิชาประวัติศาสตร์ จะต้องให้ความสำคัญในยุคการล่าอาณานิคมสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ตลอดจนประวัติศาสตร์การเมืองหลัง พ.ศ. 2475 และความล้มเหลวของระบบการเมืองไทย อะไรคือสาเหตุ

      นอกจากนั้น ควรปรับกระบวนการเรียนการสอนให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอนในบางวิชาระดับมัธยมปลาย เช่น วิชาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผลที่คาดหวังคือ จะฝึกให้นักเรียนระดับนี้ สามารถค้นคว้าวิชาการผ่านภาษาอังกฤษในอนาคต (ระดับอุดมศึกษา)

      สำหรับระดับอุดมศึกษาจะไม่ขอพูดถึง เพราะได้กล่าวนำมาบ้างแล้วในบทความวันที่ 18 พฤษภาคม ส่วนการฝึกหัดครู แน่นอน จะต้องปรับหลักสูตรให้ครูสามารถมีความรู้พื้นฐานทางรัฐศาสตร์การปกครองที่สามารถเป็นผู้นำในกระบวนการเรียนรู้ในระดับมัธยมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นส่วนหนึ่ง แต่เป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษา แต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะยังจะต้องมีองค์ประกอบภาคปฏิบัติ กิจกรรมของนักเรียนและระบบการพัฒนาความคิดของนักเรียน จากการอ่านและวิเคราะห์วรรณกรรมเพิ่มเติม

      การปฏิรูปหลักสูตรกระบวรการเรียนการสอนวิชาหน้าที่พลเมืองทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาล จนกระทั่งถึงอุดมศึกษา น่าจะเป็นปัจจัยตัวแปรหลักที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระแสทัศน์และอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมือง จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน หากประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีก 2 ประการ

      ประการแรก คือ ส่งเสริมโดยนโยบายของรัฐ ให้หมู่บ้านได้มีอำนาจหน้าที่ปกครองตนเอง โดยให้มี “สภาหมู่บ้าน” ซึ่งจะมีหน้าที่อะไรบ้าง ก็ควรให้ชาวบ้านได้ลองคิดพิจารณาเป็นเบื้องตนเสียก่อน ในอนาคต โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการในระดับหมู่บ้าน ก็ควรจะต้องให้สภาหมู่บ้านรับทราบและเห็นชอบด้วย การรักษาความปลอดภัยและการพัฒนาอาชีพในหมู่บ้าน ก็ควรอยู่ในการพิจารณาของสภาหมู่บ้านเป็นเบื้องต้น

      ข้อเสนอดังกล่าวนี้ คงไม่ใช่ความเพ้อฝันจนเกินจะปฏิบัติได้ เพราะรัฐบาลได้ปฏิรูปการศึกษา จนกระทั่งให้โอกาสเยาวชนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน (12 ปี จาก ป.1-ม.6) ซึ่งพอเพียงที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับความเป็นพลเมืองดีได้แล้ว

      ระบบการเลือกตั้งสภาหมู่บ้านและระบบการปรึกษาหารือในสภาหมู่บ้านและสภาตำบล น่าจะให้บทเรียนทางการเมือง หรือเป็นพื้นฐานของความเป็นพลเมือง ที่รับผิดชอบในอนาคต สติปัญญาของชาวบ้านที่น่าจะเกิดจากการบ่มเพาะจากประสบการณ์ของการบริหารกิจการในหมู่บ้าน ก็น่าจะให้บทเรียนแก่ประชาชนระดับรากหญ้าในการเลือกผู้แทนราษฎรในระดับชาติ ทัศนคติดั้งเดิมที่รับเงินเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียง ก็น่าจะลดน้อยถอยลง เมื่อประชาชนระดับหมู่บ้านเข้าใจผลประโยชน์ที่แท้จริงของตนเอง

      นอกจากการส่งเสริมให้เกิดสภาหมู่บ้านและการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง รัฐก็ควรส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นสมาคม เพื่อประกอบภารกิจต่างๆ รวมทั้งกิจการสาธารณประโยชน์ และไม่ควรห้ามสมาคมเหล่านี้แสดงจุดยืนหรือทัศคติทางการเมือง จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) นักคิดคนสำคัญทางการศึกษาของสหรัฐ ได้ย้ำเตือนอยู่เสมอว่า สมาคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสหรัฐ เป็นองค์กรสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย และองค์กรเหล่านี้ ก็คือพลังที่เกื้อหนุนระบบพรรคการเมือง

      การจัดกิจกรรมของสมาคมผ่านการประชุมปรึกษาหารือ และการเลือกคณะกรรมการบริหาร ก็คือการฝึกวิถีทางของประชาธิปไตย ฉะนั้นรัฐควรส่งเสริม และไม่ควรห้ามแสดงความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง การรวมตัวภาคประชาชนเพื่อจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์เหล่านี้ หากมีจุดยืนทางการเมืองด้วย ก็จะเป็นพลังให้การเมืองระบบพรรค มีฐานที่มั่นคงในสังคม และมีเสถียรภาพ ตลอดจนสะท้อนปัญหาและความมุ่งหวังที่แท้จริงของประชาชน สังคมไทยน่าจะผิดพลาดในการห้ามมิให้สมาคมเหล่านี้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

      พรรคการเมืองที่ยึดโยงกับผลประโยชน์และอุดมการณ์ของสมาคมหรือชมรมต่างๆ เหล่านี้ ก็จะเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานเข้มแข็ง และการเลือกตั้งก็จะอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันทางความคิด อุดมการณ์ และผลประโยชน์ของส่วนรวม มากกว่าการแจกเงินเป็นรายหัว นักการเมืองก็จะแข่งขันกันในเชิงคุณภาพ และสภาวะผู้นำมากกว่าการแจกเงิน หรือใช้ระบบอุปถัมภ์

      การเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้นเช่นนี้ ก็จะนำไปสู่การสร้างนักการเมืองที่มีคุณภาพและรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
 


Print Version