IPPS in last year
Contact us
Site Map
Homepage
หน้าแรกHomepageAbout IPPSAbout IPPSPublicationPublicationArticleDemocracy MonitoringDemocracy MonitoringSocial ReformActivities
 
ปฏิรูปการเมือง
ภาคพลเมืองกับการสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง

       เมื่อวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2561 สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ร่วมกับ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พี-เน็ต) ได้ร่วมมือกันจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การให้การศึกษาทางการเมือง เพื่อพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมือง” ที่โรงแรมเรย์ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ การจัดงานร่วมกันครั้งนี้ นอกจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นตามหัวข้อดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการกำหนดทิศทางการทำงานของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งล้วนเป็นผู้นำจากสหอาชีพ มีทั้งนักวิชาการ ข้าราชการ นักธุรกิจ สื่อ และเกษตรกร เพื่อพัฒนาบทบาทการทำงานของภาคพลเมืองในพื้นที่การทำงานของตนในแถบจังหวัดอีสานใต้

      การสัมมนาเชิงปฏิบัติการได้เริ่มประเด็นความสำคัญของการพัฒนาพลเมืองกับการเมืองที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งสังคมไทยคาดหวังว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในไม่ช้า ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ วิทยากรที่นำการสัมมนาในช่วงนี้ คือ คุณสมชาติ เจศรีชัย นักวิชาการอิสระ และเป็นอดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ตั้งประเด็นคำถามเพื่อการถกเถียงก่อนการเลือกตั้งว่า 1) เราคาดหวังอะไรจากการเลือกตั้ง 2) แล้วจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร 3) การไปลงคะแนนเสียงต้องพิจารณาจากอะไร 4) เราจะเป็นผู้ลงคะแนนเสียงที่มีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยได้อย่างไร ซึ่งทั้ง 4 คำถามได้มีการแบ่งกลุ่มถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาล้วนมีประสบการณ์ตรงจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองมาแล้ว การได้อภิปรายถกเถียงกันครั้งนี้จึงนำไปสู่การแก้โจทย์และการออกแบบการเมืองการเลือกตั้งไทยให้เดินไปสู่แนวทางประชาธิปไตย ซึ่งภาคพลเมืองจะต้องช่วยกันให้มาก นอกจากนี้ วิทยากรยังได้นำประสบการณ์จากต่างประเทศซึ่งได้ศึกษามายาวนานและกลายเป็นทฤษฎีในเรื่องวัฒนธรรมการเมืองกับพลเมืองว่า ประเทศต่างๆ ล้วนอยู่ในเส้นทางเดียวกันในเรื่องความสนใจของพลเมือง คือผู้ที่จะเป็นพลเมืองที่กระตือรืนร้น (Active Citizen) เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องนั้นมีจำนวนไม่มาก ส่วนที่ 2 คือ สนใจการเมืองแต่ไม่ต่อเนื่อง และอาจเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นครั้งคราว ส่วนที่ 3 คือ ไม่สนใจเลย เพียงแค่ใช้ชีวิตทำมาหากินไปตามปกติ สนใจแต่เรื่องปากท้องของตัวเอง ไม่สนใจการเมืองเรื่องสาธารณะ และคอยทำตามอย่างเดียว ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากในทุกประเทศที่จะให้คนทั้งประเทศเกาะติดการเมืองและเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างเข้าใจและต่อเนื่อง ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มแรกยังคงเป็นพลเมืองที่แข็งขัน สนใจ ติดตาม และเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังต้องพยายามกระตุ้นกลุ่มที่ 2 ให้มีความสนใจต่อเนื่องและเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากขึ้นกว่าเดิม ส่วนกลุ่มที่ 3 ก็พยายามให้การศึกษาและความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมืองอย่างจริงจังให้เป็นวัฒนธรรมของชีวิตว่าการเมืองเกี่ยวกับชีวิตทุกคนและเป็นความรับผิดชอบของทุกคนทั้งสังคมอีกด้วย เพื่อให้เขายกระดับความคิดและความสามารถในการติดตามข่าวสารทางการเมือง และมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากขึ้น แม้การไปหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นการไปเลือกเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม-ประเทศชาติ ไม่ใช่เลือกเพื่อคนที่รักและรู้จักกันเป็นการส่วนตัว หรือเลือกพรรคตามกระแสสังคมหรือตามภูมิภาคนิยม เป็นต้น

       วันรุ่งขึ้น เช้าวันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผอ.ร่วม สถาบันนโยบายศึกษา และ ดร.ปรีชา อุยตระกูล ผอ.ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อกาพัฒนา ได้ชวนคิดเรื่องวัฒนธรรมทางสังคมและวัฒนธรรมทางการเมือง ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

       ดร.ปรีชา อุยตระกูล ได้ใช้กระบวนการให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาช่วยกันคิดในมิติวัฒนธรรม ความคิด และความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในแนวปฏิบัติของสังคมไทย เพื่อทบทวน “ค่านิยมไทย” ที่อยู่ในวัฒนธรรมทางสังคม โดยให้ผู้เข้าร่วมเขียนเสนอ “ค่านิยม” ต่างๆ ของไทย แล้วให้ทุกคนเปิดอภิปรายแลกเปลี่ยนค่านิยมต่างๆ ที่นำเสนออย่างกว้างขวาง และยังให้จำแนกต่อไปอีกด้วยว่า ค่านิยมอะไรของสังคมที่ได้นำเสนอในที่ประชุมว่าสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย ซึ่งมีการอภิปรายกันอย่างคึกคักมากทำให้เกิดการตรวจสอบเชิงลึกในด้านวัฒนธรรมทางสังคมที่เชื่อถือและปฏิบัติกันมานานนั้น มีทั้งที่เป็นอุปสรรคและเกื้อหนุนในการทำให้สังคมเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไรอีกด้วย

       คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร ได้ร่วมเป็นวิทยากรในประเด็นดังกล่าวด้วย ได้ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมที่อยู่ในสังคมคือแกนรวมของมนุษย์ให้อยู่ด้วยกันได้วัฒนธรรมจึงเป็นลักษณะรวมของพฤติกรรมที่มาจากระบบรวมทั้งหมดของแนวคิดต่างๆ ที่มีอยู่ร่วมกันในสังคม วัฒนธรรมทางการเมืองจึงมีทั้งค่านิยมและพฤติกรรมที่แสดงออกในทางการเมือง วัฒนธรรมทางสังคมหนึ่งๆ จึงมีอิทธิพลต่อลักษณะหรือรูปแบบของวัฒนธรรมทางการเมือง และการทำให้เป็น “ประชาธิปไตย” ของสังคมอย่างมากด้วย การแสดงออกทางพฤติกรรมของคนไทย จึงเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมนั่นเอง ดังนั้นการตรวจสอบ “ค่านิยม” ของสังคมไทย แม้ใช้เวลาเพียงระยะสั้นในที่สัมมนานี้ ก็สะท้อนวัฒนธรรมทางการเมืองได้ไม่อยาก และจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องให้เวลาคิดและทบทวนเรื่อง “ค่านิยม” ของสังคมไทยให้มาก เพื่อที่จะแสวงหาหรือสร้าง “ค่านิยม” ที่สอดคล้องหรือเกื้อหนุนกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเพื่อหาทางออกจากวงจรอุบาทว์ทางการเมืองที่มีมาช้านานอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาตัวตนคนไทยและสังคมไทยจากประวัติศาสตร์และชุมชนของตนเอง มากกว่าการนำเข้า “ประชาธิปไตย” โดยปราศจากการรู้จัก เข้าใจในบริบทของตนเองอย่างถ่องแท้ อีกทั้งยังต้องทำความเข้าใจร่วมกันอีกด้วยว่า “การเลือกตั้ง” ไม่ใช่วิถีทางเดียวที่จะสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีวัฒนธรรม
 


Print Version