![]() ![]() ![]() |
![]() |
![]() ![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ได้จัดสัมมนาทางวิชาการและเปิดตัวหนังสือ เรื่อง “ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนังสือเขียนโดย ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ได้ให้เกียรติร่วมสนทนากับผู้เขียน โดยมี คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร เป็นผู้ดำเนินรายการ การสัมมนาในหัวข้อดังกล่าว ผู้เขียนได้ให้ความสำคัญกับ “แนวคิด” เป็นแกนหลักในการชวนสนทนาตามหัวข้อหนังสือ เพื่อให้ผู้อ่านได้หลักคิดและแนวทางในการทำงานด้านกระบวนการยุติธรรม เมื่อมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นปัญหาที่เป็นผลพวงจากการเร่งรัดพัฒนาประเทศให้เป็นสมัยใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม ฐานการก่อรูปแนวคิดที่เป็นรูปธรรม กระทั่งสร้างบรรทัดฐานให้เกิดแนวทางในการปฏิบัติสู่การแก้ปัญหานั้น เกิดจากพื้นที่ในชุมชนที่ถูกเอาเปรียบจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่ทิ้งของเสียในประเทศสหรัฐอเมริกาที่กลายเป็นปัญหาและภาระ กระทั่งก่อโรคร้ายให้คนพื้นถิ่น โดยเฉพาะคนผิวสี สร้างความรู้สึกเหยียดเชื้อชาติทางสิ่งแวดล้อมไปด้วย จึงได้ข้อสรุปว่า เชื้อชาติเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญที่สุดในการสร้างความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้คำนึงถึงคนด้อยโอกาส ทำเลที่ตั้งโรงงาน โรงไฟฟ้า โรงกำจัดขยะ มักตกอยู่ในทำเลคนผิวสีหรือคนชายขอบ ซึ่งคนผิวขาวหรือคนระดับกลางไม่ได้ใส่ใจ กระทั่งมีการเคลื่อนไหวและประท้วง จึงมีการทำรายงานระดับชาติ และตั้งคณะกรรมการความยุติธรรมทางเชื้อชาติ มีการประชุมสุดยอดระดับชาติของผู้แทนคนผิวสีทั่วประเทศ และจัดทำหลักการความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมขึ้นสมัยรัฐบาลคลินตัน และได้ออกคำสั่งว่าด้วยการกระทำของรัฐบาลกลางในการให้ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมต่อประชากรที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังสร้าง 4 องค์กรหลักให้ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ คือ สำนักงานยุติธรรมสิ่งแวดล้อม สภาที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะทำงานระหว่างหน่วยสิ่งแวดล้อมและคณะกรรมการรัฐบัญญัติว่าด้วยนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทั้งหมดนี้เป็นการผลักดันนำสู่การปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมในสหรัฐอเมริกา และมีผลต่อมาจนถึงยุคโอบามา (แต่มาลดความสำคัญลงในยุคของทรัมพ์) อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ก็คือ การสะท้อนให้เห็นภาระหรือหนี้ทางนิเวศ ที่ต้องมีการชดใช้ ส่วนในทางสากลได้มีการพัฒนาหลักการใหม่เกิดขึ้น คือ ปฏิญญาแห่งกรุงริโอฯ ได้สร้างหลักการเรื่องหลักการรับผิดชอบของรัฐ ที่จะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของรัฐอื่น เป็นต้น ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ได้พูดถึงเรื่องความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ว่า ธรรมชาติมีวัฏจักรของเขาเอง เพราะสิ่งแวดล้อมสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ สิ่งที่อยากจะบอกคือ เราไม่เข้าใจธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นวัฏจักรของคลื่น หาด น้ำทะเล เขามีหมด เราไม่เข้าใจ แต่เราอยากได้ดังใจเรา จึงไม่ต้องไปเรียกร้องความยุติธรรมให้สิ่งแวดล้อม เราเอาความต้องการของมนุษย์ไปทับกฎธรรมชาติ ให้เขาเล่นเกมตามเรา ซึ่งเราฝืนไม่ได้เลย เพราะธรรมชาติมีกฎเกณฑ์ของเขา เมื่อเราไปยุ่ง ไปทำลาย กับธรรมชาติมาก ก็มีปฏิกริยาตอบกลับ เพราะเราอาศัยธรรมชาติ ไม่ใช่ธรรมชาติอาศัยเรา เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะได้ความยุติธรรม ก็ทำตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราจึงต้องรู้ เข้าใจ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับกฎของธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีอะไรยั่งยืน ซึ่ง ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ได้เสริมว่า ถ้าเราอยู่กับธรรมชาติ กับการเคารพธรรมชาติ ก็อยู่ได้ดีด้วย แต่มนุษย์คิดว่าตัวเองสามารถแก้และดัดแปลงได้ทุกเรื่อง ใช้สิทธิส่วนเกิน กระทั่งสิ่งแวดล้อมเสียหาย เมื่อมีกฎหมายเกิดขึ้น ก็ไปให้ค่าด้านกฎหมายมากเกินความจำเป็น ซึ่งอาจเขียนจากแนวคิดที่ไม่ชัดเจน ยึดติดกระบวนการ ไม่รู้เป้าหมายคืออะไร ก็ทำให้กฎหมายมีปัญหาและบังคับใช้ไม่ได้ ฉะนั้น ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ให้ทัศนะว่า เวลาเขียนกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ สิ่งที่จะประสบความสำเร็จคือ เขียนให้ใกล้ความจริงที่สุด เขียนโดยอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ซึ่งได้ยกตัวอย่างประกอบเรื่องสิทธิชุมชน ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ระบบกฎหมายไทยให้ค่า ให้ความชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย กับสิทธิชุมชน ซึ่ง ศ.ดร.ปริญญา ได้กล่าวเสริมว่า เรื่องชุมชนของเรามีมานานแล้ว เป็นรากฐานของประเทศ คือ ข้อเท็จจริง และเป็นเรื่องที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักนโยบายและแผน กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค จะต้องทำงานให้เข้มแข็ง หลังจากนั้น ได้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาหลายท่าน ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมกับชุมชน อาทิ คุณวรินทร์ เทียมจรัส ได้กล่าวว่า ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม คือการที่ชุมชนส่งมอบมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติให้กับคนรุ่นต่อๆ มา ความเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมและมีความผูกพัน จึงเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม แต่การพัฒนาก็ทำลายมรดกธรรมชาติ และไม่รับผิดชอบต่อสังคมประเทศชาติ ซึ่งเกิดขึ้นหลายพื้นที่ จนเกิดกรณีการต่อสู้ของชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะชุมชนเขามีผลกระทบโดยตรง เช่น กรณีอ่าวมาหยา ที่มีทั้งยาเสพติดกับการท่องเที่ยว ทำลายความเป็นธรรมชาติ กระทั่งเป็นคดีขึ้นสู่ศาล ดังนั้น ความยุติธรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมจะต้องเป็นการมีส่วนร่วมของทุกคนที่ต้องทำ ซึ่งต้องพิจารณาในแง่มนุษยวิทยาให้มาก เพราะชุมชนมีวัฒนธรรมในการอยู่สืบทอดกันมาอย่างปกป้องรักษาท้องถิ่นของเขา ดร.แตงอ่อน มั่นใจตน แสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องกรณีคลองในกรุงเทพฯ ที่หลาย หน่วยงานไม่สามารถทำคลองให้สะอาดได้ ต้องมีการทวงสิทธิของความเป็นชุมชน ต้องมีการปฏิรูปขนานใหญ่ ตั้งแต่ในบ้านในเรื่องระบบน้ำเสีย บำบัดน้ำทิ้ง คลองทุกคลองใน กทม. เป็นคลองเน่า รับน้ำทิ้ง ไม่มีบทบาทเป็นที่พักผ่อนและการใช้ประโยชน์จากน้ำเลย แม้ประชาชนจะมีสิทธิฟ้องร้องได้ แต่ร้องไปเท่าไหร่ก็ไม่มีใครมาช่วย นี่ก็เป็นตัวอย่างของความไม่ยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม นายกรัฐมนตรีบอกว่า ต้องให้คลองแสนแสบใสใน 2 ปี วันนี้ก็ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะเดินอย่างไรให้น้ำใสได้ ผศ.ดร.บรเมศ วรรธนะภูติ กล่าวว่า ความยุติธรรมเป็นกิจกรรมของมนุษย์ สิ่งแวดล้อมคือธรรมชาติที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ เพราะมนุษย์อยู่กับธรรมชาติ ต่อเมื่อธรรมชาติลดลง จึงเกิดปัญหา เกิดภัยพิบัติต่างๆ มีผลต่อชุมชนในแต่ละพื้นที่ จึงต้องพัฒนาที่คนหรือมนุษย์ เพื่อที่จะปรับสมดุลให้รู้จักสร้างกิจกรรมในการอยู่และใช้ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมที่ให้ผลประโยชน์แก่มนุษย์และสังคมได้อย่างยาวนาน คุณพิชา พิทยจรวุฒิ อดีตข้าราชการกรมป่าไม้ และเป็นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมรุ่นแรก ได้แสดงทัศนะเห็นด้วยเรื่องอ่าวมาหยา และเห็นว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก ธรณีวิทยา ต้องใช้เวลานานมาก ไม่ว่าน้ำทะเลจะท่วมกรุงเทพฯ สูงมากในอนาคตที่วิตกกันอยู่ ต้องใช้เวลานานมากเป็นพันปีขึ้นไป และเมื่อเราพูดถึงสิ่งแวดล้อม เอาเราเป็นศูนย์กลางและนึกถึงที่แวดล้อมเราอยู่ มันคือสภาพแวดล้อม แต่เราไม่พูดถึงธรรมชาติ ซึ่ง ศ.ดร.ปริญญา พูดว่า มันเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง มีกฎเกณฑ์ของมัน เราไปบังคับไม่ได้ แต่มันบังคับเราได้ และไม่มีอะไรยั่งยืนอีกด้วย และมีอีกหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นในแนวทางที่เป็นห่วงสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และมีปัญหาในทางกฎหมายอีกมาก ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าต่างประเทศ และแม้ในชุมชนของประเทศไทย ซึ่งยังต้องทำความเข้าใจในเรื่อง “แนวคิด” ให้ตกผลึกในเรื่องการใช้ประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม จากกิจกรรมของมนุษย์ที่ละเมิดต่อมนุษย์ด้วยกันเอง และต่อธรรมชาติด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ ส่วนมากเป็นผู้ที่ทำงานด้านกระบวนการยุติธรรม และสิ่งแวดล้อม เช่น จากกระทรวงยุติธรรม ศาลปกครอง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นักกฎหมาย นักวิชาการ นักศึกษา และอนุกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และหลังจากเสร็จสิ้นงาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แสดงความจำนงขอหนังสือไปอีกเป็นจำนวนมากอีกด้วย |
![]() |