![]() ![]() ![]() |
![]() |
![]() ![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() มกราคม 2560 : “ในหลวง ร.10” ทรงอวยพรปีใหม่คนไทย
“ในหลวง ร.10” ทรงอวยพรปีใหม่คนไทย พร้อมสืบสานพระราชปณิธาน “ในหลวง ร.9” เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้พระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในวาระดิถีวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2560 แก่ประชาชนชาวไทย เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ความสรุปว่า "ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีเพื่ออำนวยพรแก่ท่านทั้งหลายทั่วกัน และขอขอบใจท่านเป็นอย่างมากที่มีไมตรีจิตสนับสนุนข้าพเจ้าในภารกิจทุกอย่างเสมอมา ในปีที่แล้วบ้านเมืองของเรามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จสวรรคตเมื่อเดือนตุลาคม กล่าวได้ว่า นำความโศกเศร้าอาดูร และนับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวไทยทั้งประเทศ ข้าพเจ้ารู้สึกตื้นตันและประทับใจที่ได้เห็นประชาชนทุกเพศทุกวัยถ้วนหน้า มีจิตจงรักภักดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ พรั่งพร้อมกันมาถวายสักการะพระบรมศพอย่างต่อเนื่อง ในปีใหม่นี้ ขอให้ชาวไทยทุกคนตั้งใจให้แน่วแน่ที่จะรักษาคุณสมบัตินี้ให้เหนียวแน่น และทำความคิดจิตใจให้แจ่มใสด้วยปัญญาที่กระจ่าง พิจารณาทุกสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงโดยปราศจากอคติ ให้มีความมุ่งมั่นมีกำลังใจในอันที่จะร่วมกันปฏิบัติสรรพกิจน้อยใหญ่ในภาระหน้าที่ตามแนวพระบรมราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ให้งานทุกอย่างสำเร็จผล เป็นความดีความเจริญทั้งแก่ตนเอง แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ เป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในการนี้ ข้าพเจ้าขอปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับประชาชนชาวไทยโดยเต็มกำลังความสามารถเพื่อสืบสานพระราชปณิธานเช่นกัน ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวไทย อีกทั้งพระบารมีแห่งสมเด็จพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต มีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นอาทิ จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคนให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย ให้มีความสุขกายสุขใจ และประสบแต่สิ่งที่พึงปรารถนาตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน" โปรดเกล้าฯ รธน.ชั่วคราว แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นําความในมาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาใช้บังคับ” มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสิบเอ็ดของมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน “เมื่อนายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้าประกอบกับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้นและประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง และแก้ไขเพิ่มเติมคําปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ เมื่อนายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป” โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระราชโองการ ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ คือ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้นําร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงพิจารณานั้น ต่อมาคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 จึงจําเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญนี้ กรธ. เผย 4 หลักการ ทำ กม.วิธีพิจารณาคดีนักการเมือง นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) สำหรับร่าง พ.ร.ป.วิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นวิธีและขั้นตอนที่จะนำไปใช้ในการพิจารณาของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มีประเด็นสำคัญ คือ 1. แนวปฏิบัติที่ชัดเจนของการใช้ระบบไต่สวน ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้กำหนดคณะพิจารณาสำรอง กรณีที่องค์คณะที่มีอยู่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 2. การทำคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีข้อเสนอให้มีเครื่องมือช่วยพิจารณาคดี คือใช้กลไกของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เช่น พนักงานคดีช่วยรวบรวมพยานกรณีที่คดีเข้าสู่ศาลแล้ว แต่ทางอนุกรรมการฯ เห็นว่าการมีคณะทำงานจากภายนอกมาช่วยทำคดีนั้น ต้องมีความน่าเชื่อถือและทำงานที่รวดเร็ว ต่อเนื่อง 3. กรณีการให้ผู้ต้องคดีมีสิทธิอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาได้ ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติกำหนดสิทธิให้อุทธรณ์ได้ แต่ไม่ได้เขียนรายละเอียดที่ชัดเจนว่าสามารถทำได้ทั้งกรณีมีพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่ หรือพบประเด็นข้อกฎหมายใหม่ ดังนั้นในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องเขียนรายละเอียดดังกล่าวให้ชัดเจน โดยเบื้องต้นอนุกรรมการฯ เห็นว่าการอุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวควรให้สิทธิเฉพาะข้อกฎหมายเท่านั้น เพราะหากให้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงอาจทำให้มีความล่าช้าได้ 4. กรณีไต่สวนของศาล หลังผู้ถูกกล่าวหาไม่ปรากฏตัวต่อศาลระหว่างดำเนินการ ซึ่งมีข้อเสนอว่า ให้คดีที่เข้าสู่ศาลสามารถยืดอายุความ หรือ ไม่นับอายุความ แต่ในทางปฏิบัติอาจเป็นปัญหาได้ โดยเฉพาะการจดจำรายละเอียดของพยาน ดังนั้นในแนวทางเบื้องต้นอนุฯ จะเสนอให้ เมื่อมีการฟ้องผู้กล่าวหาและในชั้นการไต่สวนของศาล หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ปรากฏตัวต่อศาล ให้ศาลนั้นสามารถพิจารณาพยานหลักฐานต่างๆ ไปได้ อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวอาจมีข้อโต้แย้งว่าขัดต่อหลักอำนวยความยุติธรรม แต่ในประเทศไทยที่นักการเมืองซึ่งทำผิดแล้วหลบหนีคดี จำเป็นต้องหาทางแก้ไข ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นไทยตกลงจากอันดับที่ 76 มาอยู่อันดับที่ 101 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เผยผลการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี 2559 ของ 175 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าไทยอยู่อันดับ 101 ร่วงลงจากอันดับ 76 เมื่อปี 2558 โดยคะแนนลดลงเหลือ 35 จากปีก่อนที่ได้ 38 คะแนน และดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นถูกนำไปเชื่อมโยงกับการเมือง เพราะการปิดกั้นของภาครัฐ การขาดการตรวจสอบดูแลที่เป็นอิสระ และสิทธิที่เสื่อมถอยลง ล้วนบั่นทอนความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทย ขณะที่ประเทศที่ได้อันดับ 1 คือนิวซีแลนด์และเดนมาร์ก ซึ่งได้คะแนนเท่ากันคือ 90 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 รองลงมาคือฟินแลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา ส่วนอันดับ 10 มี 3 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก และอังกฤษ งบฯ ปี 61 วงเงิน 2.9 ล้านล้าน ขาดดุล 4.5 แสนล. เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 2,900,000 ล้านบาท โดยโครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 2,146,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 74% ของวงเงินงบประมาณรวม, รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ในปีงบประมาณ 2561 ไม่มีรายการที่เสนอตั้งงบประมาณ, รายจ่ายลงทุน 667,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23% ของวงเงินงบประมาณ, รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 89,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3% ของวงเงินงบประมาณรวม, รายได้สุทธิ 2,450,000 ล้านบาท, งบประมาณขาดดุล 450,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ครม. ไฟเขียวต่อมาตรการภาษีส่งเสริมการลงทุน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบต่อมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2560 โดยปรับปรุงจำนวนการหักรายจ่ายจาก 2 เท่า เหลือ 1.5 เท่า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลังมากเกินไป ทั้งนี้ การต่อมาตรการดังกล่าว กระทรวงการคลังคาดว่าจะช่วยให้การลงทุนภาคเอกชนและเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยมองว่าผู้ประกอบการจะมีการลงทุนในปี 2560 เพิ่มขึ้นประมาณกว่า 8,000 ล้านบาท และอาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลรวม 800 ล้านบาท โดยทยอยสูญเสียในจำนวนที่ไม่เท่ากันเป็นระยะเวลา 20 ปี โดยอาจส่งผลให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ 2560 ไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับการลงทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2560 กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย กำหนดเงินช่วยบ้านเสียหาย 3 ระดับ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการช่วยเหลือประชาชนที่บ้านเรือนได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมทางภาคใต้ โดยได้แบ่งเกณฑ์การพิจาณาความเสียหายไว้ 3 ส่วน 1. บ้านเสียหายทั้งหลังคือเสียหาย ประมาณ 60 - 100 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลจะช่วยเหลือหลังละไม่เกิน 230,000 บาท 2. บ้านเสียหายมาก คือเสียหายประมาณ 30 - 60 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือไม่เกินหลังละ 70,000 บาท 3.บ้านเสียหายน้อย คือเสียหายเล็กน้อยประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ลงมา รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือไม่เกินหลังละ 15,000 บาท ซึ่งทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ลงไปสำรวจพื้นที่ในทุกจังหวัดทางภาคใต้ที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยได้สรุปยอดบ้านที่เสียหายทั้งหลัง 272 หลัง บ้านเสียหายมาก 645 หลัง บ้านเสียหายเล็กน้อย 8,932 หลัง โดยงบประมาณให้ความช่วยเหลือดังกล่าวจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ แบบบ้านที่จะสร้างใหม่ทั้งหลังให้ประชาชนที่เดือดร้อนนั้น จะใช้แบบบ้านของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นมาตรฐานในการก่อสร้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร่งด่วนต่อไป ครม. ไฟเขียวลดหย่อนภาษีช่วยน้ำท่วม เร่งฟื้นฟู เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งทางการประกาศให้เป็นพื้นที่อุทกภัย แบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ 1. มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ โดยกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับตัวอาคารหรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร หรือในการซ่อมแซมห้องชุดในอาคารชุดหรือทรัพย์สินที่ติดตั้งในลักษณะถาวรกับห้องชุดในอาคารชุดที่ได้มีการจ่ายไประหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 - 31 พฤษภาคม 2560 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดไม่เกิน 1 แสนบาท และ 2. มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ โดยกำหนดให้มีการยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้มีการใช้จ่ายสำหรับการซ่อมแซมรถยนต์หรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือว่าด้วยการขนส่งทางบก ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 – 31 พฤษภาคม 2560 ตามจำนวนที่ได้มีการจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาท นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในภาคใต้ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 – 31 พฤษภาคม 2560 ประกอบด้วย 1.มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ โดยกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท และ 2. มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ สำหรับบุคคลธรรมดา ที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่วงเงินไม่เกิน 30,000 บาท ครม. ตั้งเป้า 5 ปี คนไทยใช้เวลาการอ่านเฉลี่ย 90 นาทีต่อวัน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบร่างแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560-2564 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเสนอ โดยสาระสำคัญของร่างแผนแม่บทฯ กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “คนทุกวัยในสังคมไทยมีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง และวางเป้าหมายภายใน 5 ปี คนไทยใช้เวลาในการอ่านที่มีคุณภาพมากขึ้นเฉลี่ย 90 นาทีต่อวัน จากเดิม 66 นาทีต่อวัน โดยการดำเนินงานจะใช้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ปลูกสร้างพฤติกรรมรักการอ่านที่เข้มแข็งให้กับคนทุกช่วงวัย 2. อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชนทั้งในชุมชนเมืองและภูมิภาค 3. ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านเพื่อการเรียนรู้ และ 4. สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สภา นร. ปี 2560 ยื่นข้อเสนอจัดการศึกษา 5 ประเด็น เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 สภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2560 ในโครงการสภานักเรียน เข้าพบ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อรับโอวาทในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2560 และนำเสนอข้อคิดเห็นของในการจัดการศึกษา โดย น.ส.สิรยา แตงดารารัตน์ ชั้น ม.5 โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม จ.กำแพงเพชร ในฐานะประธานสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2560 กล่าวว่า สภานักเรียนฯ ได้นำเสนอข้อคิดเห็นเพื่อขอให้ ศธ. พิจารณาดำเนินการ 5 ประเด็น ดังนี้ 1. การสืบสานพระราชปณิธานตามรอยพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขอให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต 2. การศึกษาและการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองตามวิถีประชาธิปไตย 3. ปัญหาสิ่งเสพติดและพฤติกรรมเสี่ยง 4. การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยและท้องถิ่น และ 5. การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กกต. ตั้งงบ 4,800 ล้าน เลือกตั้งปี 61 ตามโรดแม็ป เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารกลาง กล่าวภายหลังการประชุม ว่า กกต. ได้พิจารณาร่างคำของบประมาณในการเลือกตั้ง ส.ส. และการสรรหา ส.ว. ตามที่รัฐบาลและสำนักงบประมาณประสานมาว่า ให้จัดทำคำขอดังกล่าวไว้ในรายการงบประมาณประจำปี 2561 ของ กกต. ซึ่งจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561 ทั้งนี้ กกต. ได้กำหนดตัวเลขเบื้องต้น โดยคิดจากค่าใช้จ่ายเดิมในการจัดเลือกตั้งที่ผ่านมา ประมาณ 3,800 ล้านบาท รวมกับรายการใหม่ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขใหม่ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น การที่ กกต. จะต้องตัดทำป้ายติดประกาศให้กับผู้สมัคร การที่ต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ประมาณ 500 คน มาทำงานในช่วง 2 เดือนของการจัดการเลือกตั้ง การที่ กกต. 1 คน สามารถสั่งยุติการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง เท่ากับว่า กกต. 7 คน ในอนาคตจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการลงพื้นที่เพื่อตรวจดูการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม การต้องมีองค์กรเอกชนเข้ามาร่วมสอดส่องการเลือกตั้งทั่วประเทศ และการที่กฎหมายให้ กกต. สามารถจัดตั้งงบลับเพื่อใช้ในการหาข่าวได้ ดังนั้น กกต. จึงกำหนดตัวเลขงบประมาณในเบื้องต้นสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. 4,800 ล้านบาท การสรรหา ส.ว. ที่จะต้องมีการคัดเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ 1,800 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ อยู่ที่ความชัดเจนของกฎหมาย ว่าจะมีอะไรเพิ่มหรือลดอย่างไร ส่งออกปี 59 โต 0.45% บวกครั้งแรกรอบ 4 ปี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกในปี 2559 มีมูลค่ารวม 2.15 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งเป็นการกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังจากติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 ขณะที่การนำเข้าปี 2559 มีมูลค่า 1.95 แสนล้านดอลลาร์ ลดลง 3.94% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าปี 2559 มูลค่า 2.07 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับการส่งออกในปีนี้คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในระดับ 2.5-3.5% ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 35.5-37.5 บาทต่อดอลลาร์ ราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ราคาส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 1.0-2.0% ครม. มีมติเห็นชอบแก้ไขร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแก้ไขร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก ประกอบด้วย 5 เรื่อง คือ กรณีเมาแล้วขับ กรณีขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด กรณีของใบอนุญาตขับขี่ กรณีรถโดยสารสาธารณะ กรณีการคาดเข็มขัดนิรภัย โดยจะมีการเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่เพิกเฉยการชำระค่าปรับหลังกระทำความผิด สำหรับความผิด เช่น กรณีที่กระทำความผิดแล้วได้รับใบสั่ง จะต้องไปจ่ายตามเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกใบเตือนภายหลังอีก 15 วัน และหากยังไม่มีการชำระค่าปรับ ให้เจ้าหน้าที่แจ้งนายทะเบียนตามกฎหมาย ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ รวมทั้งไม่อนุญาตให้ต่อภาษีรถด้วย เพื่อให้เกิดความเกรงกลัวในการกระทำความผิด นอกจากนี้ ในกรณีที่กระทำความผิดซ้ำในกรณีเดียวกันภายในเวลา 1 ปี ให้เพิ่มจำนวนค่าปรับเป็น 2 เท่า ขณะเดียวกันยังได้เพิ่มโทษในส่วนของการกระทำความผิดเกี่ยวกับเมาแล้วขับ โทษฐานการแข่งรถ จัดกิจกรรมมั่วสุมนำไปสู่การแข่งรถบนทางสาธารณะ เป็นต้น ครม. ไฟเขียวแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ครอบคลุมกลุ่มลูกจ้างบางประเภท เช่น ลูกจ้างเด็ก คนพิการ และคนสูงอายุ ลดภาระของนายจ้างในการส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และกำหนดเกี่ยวกับการเลิกจ้างโดยเหตุเกษียณอายุ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมให้การเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้าง และกรณีที่ไม่ได้มีการกำหนดอายุการเกษียณให้นับว่า 60 ปี ถือเป็นการเกษียณอายุทันที และให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยในกรณีดังกล่าว เพื่อให้กฎหมายแรงงานบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน |
![]() |