![]() ![]() ![]() |
![]() |
![]() ![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() กรกฎาคม 2559 : รัฐเปิดเวทีทั่งประเทศให้ถกร่างรัฐธรรมนูญ
"รัฐบาล" เปิดเวทีถกร่าง รธน. ทั่วประเทศ 29 ก.ค.-4 ส.ค.นี้ ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม-4 สิงหาคม 2559 รัฐบาลได้ให้แต่ละจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัด เปิดเวทีให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางเพื่อสร้างความตื่นตัวและให้รับรู้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง โดยเชิญวิทยากรให้ความเห็นในประเด็นต่างๆ และสนับสนุนให้มีการถกเถียงในสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือทุกฝ่ายยึดมั่นในกฎ กติกา ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงหรือพูดหยาบคาย ใส่ร้ายป้ายสี ไม่สร้างความขัดแย้ง หรือนำไปขยายผลเป็นประโยชน์ของฝ่ายใด "อภิสิทธิ์"แถลง3 เหตุผลไม่รับร่าง รธน. เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้แถลงจุดยืนว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้สามเหตุผลว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถจะกำหนดทิศทางประเทศ ทำให้ระบบเศรษฐกิจตอบสนองทุกคนในประเทศ และแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ อย่างไรก็ดี นายอภิสิทธิ์ย้ำว่าความเห็นนี้ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัวและไม่ใช่มติของพรรค และก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ก็ได้แถลงไปแล้วว่าจะไม่รับคำถามพ่วง ยูเอ็นร้องไทยปล่อยตัวคนไม่รับร่าง รธน. เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอเอชซีเอชอาร์) ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผยแพร่ถ้อยแถลงของนายเดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดกว้างให้มีการโต้อภิปรายโดยเสรีก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถ้อยแถลงดังกล่าวยังได้ประณามรัฐบาลไทยในกรณีที่มีการสอบสวน จับกุม หรือตั้งข้อหาผิดกฎหมายประชามติต่อประชาชนอย่างน้อย 86 คน ที่แสดงออกในที่สาธารณะหรือผ่านทางโซเชียลมีเดีย รณรงค์ให้สาธารณชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 รวมทั้งมีการตั้งข้อหานักข่าวที่ทำข่าวเรื่องการจับกุม คสช. สั่งงดสรรหา 5 องค์กรอิสระจนกว่าได้ รธน.ใหม่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ออกคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 40/2559 ฉบับที่ 48/2557 ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ให้งดเว้นกระบวนการสรรหาบุคลากรในองค์กรอิสระ อันได้แก่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไปก่อนจนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ ทั้งนี้ ให้บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ตามตําแหน่งนั้นต่อไปแม้จะครบวาระการดํารงตําแหน่งแล้ว จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งใหม่หรือจนกว่าจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่บุคคลซึ่งดํารงตําแหน่งตามข้อ 3 พ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้องค์กรนั้นๆ ปฏิบัติงานต่อไปโดยผู้ดํารงตําแหน่งเท่าที่เหลืออยู่ สปท. ส่ง 83 ประเด็นปฏิรูปให้ นรม. พิจารณา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) ได้แถลงความคืบหน้าการทำงานว่า ได้สรุปประเด็นทั้งหมดและส่งให้นายกรัฐมนตรีโดยตรงแล้ว จำนวน 83 เรื่อง แยกเป็นส่งถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 79 เรื่อง และอยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขเพื่อรอส่ง จำนวน 4 เรื่อง งบ 300 ลบ. เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เกษตรกร เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ยืมเงินจำนวน 300,000,000 บาทจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 กำหนดชำระคืนภายใน 5 ปี เพื่อนำไปใช้ดำเนินโครงการสนับสนุนเงินทุน เพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกร 3.5 หมื่นล้าน ช่วยสวนผลไม้รับพิษภัยแล้ง เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งพื้นที่กว่า 3 แสนไร่ วงเงิน 35,000 ล้านบาท ผ่าน 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1. การขยายเวลาชำระคืนหนี้เงินกู้ 2 ปี และคิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปีจากการปล่อยสินเชื่อ 200,000 บาทต่อราย 2. การปล่อยสินเชื่อสำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำวงเงิน 12,590 ล้านบาท และ 3. การปล่อยสินเชื่อเพื่อปลูกผลไม้ใหม่เมื่อผลผลิตได้รับความเสียหายทั้งหมด วงเงิน 3,480 ล้านบาท นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังทบทวนมติ ครม. ปี 2558 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยด้วยการขยายเวลาการชำระหนี้สำหรับสินเชื่อพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับปลูกอ้อยอีกด้วย 614 ล. ให้ จนท. 3 จว.ใต้ ที่เสียชีวิต-เจ็บ ปี 47-52 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเงินจำนวน 614,000,000 บาท ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บทุพพลภาพถึงขั้นปลดออกจากราชการ ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 จำนวน 1,228 คน คนละ 500,000 บาท ศาลชั้นต้นตัดสินคดีข้าราชการช่วยลูกทักษิณเลี่ยงภาษี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องอดีตข้าราชการกรมสรรพากรว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อไม่ให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรของนายทักษิณ ชินวัตร ต้องเสียภาษีอากรหรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย ทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย ศาลได้ตัดสินว่านางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร, น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย, นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร จำเลยที่ 1-4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี ส่วน น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิด เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่มีการรอการลงโทษ จำเลยทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดีต่อไป มท. เร่งรับรองสิทธิ์เด็กไร้สัญชาติ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินโครงการกำหนดสถานะให้แก่บุคคลไร้สัญชาติ ประจำปี 2558 เพื่อแก้ไขปัญหานักเรียนในระบบและนอกระบบการศึกษา ที่ไม่มีสัญชาติหรือสถานะทางทะเบียน เพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะสิทธิทางการศึกษาและการประกอบอาชีพภายหลังจากสำเร็จการศึกษา โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่อยู่ในสถานศึกษา ซึ่งจากการตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนราษฎรและจากกระทรวงศึกษาธิการพบว่ามีนักเรียนที่ยังไม่มีสัญชาติไทย จำนวน 78,175 คน ในจำนวนนี้มี20,337 รายที่อาจจะได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติ ไฟเขียวเงินฝากสงเคราะห์ ลดหย่อนภาษี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้นำยอดเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเงินฝากดังกล่าวต้องมีระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป วงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมระยะยาวให้กับประชาชน “นายกฯ” ยืนยันโครงการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า จะไม่มีการยกเลิกการตั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายจังหวัดที่ได้ดำเนินการมาแล้วถึงสองปี แต่จะลงทุนในพื้นที่ใดก่อนนั้นขึ้นกับศักยภาพของพื้นที่ ส่วนรูปแบบและกิจกรรมนั้น ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมและให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด ส่วนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานนั้นอาจต้องทำไปก่อน เพื่อที่จะเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่ก็จะได้ใช้ประโยชน์ไปก่อน คลัง มั่นใจเศรษฐกิจครึ่งปีหลังโตเกิน 3% รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่า การขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชน จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปีนี้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% จากครึ่งปีแรกเติบโตแล้ว 3% และส่งผลดีถึงปีหน้าถ้าเป็นไปตามแผน คาดว่าจะโต 4% ส่วนโครงการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถือว่าขับเคลื่อนไปได้ดี ซึ่งจากการติดตามการลงทุนในส่วนโครงสร้างพื้นฐานคาดว่าจะปีนี้จะขับเคลื่อนได้อย่างน้อย 18-19 โครงการ จากทั้งหมด 20 โครงการ มูลค่าการลงทุนราว 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจจะมี 1-2 โครงการที่ยังติดขัดอยู่ ได้แก่ โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ที่ยังอยู่ระหว่างเจรจา แต่โครงการส่วนใหญ่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงนามได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ ส่งผลทำให้ปีหน้าเป็นช่วงจังหวะที่ดี เพราะทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี และจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจตลอด |
![]() |