![]() ![]() ![]() |
![]() |
![]() ![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() การเมืองและการเลือกตั้งอาเซียน : มาเลเซีย (2)
สมชาติ เจศรีชัย คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งในมาเลเซีย ประกอบด้วย 1) มีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ในวันที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2) มีสัญชาติมาเลเซีย 3) มีภูมิลําเนาอยู่ในประเทศมาเลเซีย และ4) มีถิ่นพํานักในเขตเลือกตั้งนั้นและมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งดังต่อไปนี้ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 1) เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน 2) เป็นบุคคลล้มละลาย 3) ถูกตัดสินจําคุก 6 เดือน หรือถูกตัดสินถึงที่สุดให้ประหารชีวิต 4) ต้องคุมขังเกิน 12 เดือน และอยู่ระหว่างการดําเนินคดีหรือต้องคําพิพากษาตัดสินประหารชีวิต ส่วนคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ 1) เป็นพลเมืองมาเลเซีย 2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 21 ปีบริบูรณ์ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง 3) เป็นผู้ที่พํานักอยู่ภายในรัฐที่ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นผู้ที่พํานักอยู่ภายในมาเลเซีย ลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ประกอบด้วย 1) วิกลจริต 2) เป็นบุคคลล้มละลาย 3) เป็นบุคคลที่ดํารงตําแหน่งอยู่ในองค์กรที่แสวงหาผลกําไร 4) ไม่สามารถยื่นหรือแสดงบัญชีทรัพย์สินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 5) ต้องคําพิพากษาของศาลและมีโทษจําคุกไม่น้อยกว่า 1 ปีหรือปรับไม่น้อยกว่า 2,000 ริงกิต หรือถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล 6) เป็นบุคคลต่างด้าว นอกจากนี้มาเลเซียยังมีข้อกำหนดอื่นในการจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้อีกสองประการ คือ 1 จะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้เสนอและผู้สนับสนุนในเขตเลือกตั้งเดียวกัน และ 2ต้องมีการวางเงินประกันจํานวน 10,000 ริงกิต อีกด้วย การเลือกตั้งของมาเลเซียกำหนดระยะเวลาการลงคะแนนเลือกตั้งระหว่างเวลา 08.00 น. – 17.00 น. บทสรุป มาเลเซียมีระบบหลายพรรคตั้งแต่การเลือกตั้งโดยตรงครั้งแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติของแหลมมลายูในปี พ.ศ. 2498 (1955) พรรคร่วมรัฐบาล คือ UMNO ซึ่งมีความหลากหลายภายใต้นโยบาย “ภูมิบุตรา” ได้รับการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปติดต่อกันมาทั้งหมด 13 ครั้ง ครั้งสุดท้ายคือการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2556 ระบบการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติ (รัฐสภา) และระดับรัฐ เป็นระบบเสียงข้างมากธรรมดาที่ผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจะเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นระบบที่ไม่ซับซ้อนในการทำความเข้าใจกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการลงคะแนนเลือกตั้งและการนับคะแนนเลือกตั้ง แม้ว่าการเลือกตั้งระบบนี้จะมีจุดอ่อนอยู่บ้างก็ตามที่ทำให้คะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนลำดับรองลงไปไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาร่วมด้วย แม้ว่าผู้ที่ชนะการเลือกตั้งจะได้คะแนนมาไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ตาม การประท้วงครั้งใหญ่ในมาเลเซียเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 มีประเด็นเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้งด้วย โดยผู้ประท้วงกล่าวหาคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าลำเอียง มีการโกงบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องการให้ยืดเวลาหาเสียงเลือกตั้งออกไป รวมทั้งสร้างหลักประกันว่าชาวมาเลเซียในต่างประเทศจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คณะสังเกตการณ์ต่างชาติจะได้เข้ามาสังเกตการณ์ รวมทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งจากทุกพรรคจะได้เข้าถึงสื่อของรัฐ จึงเป็นเรื่องที่น่าจะนำมาพิจารณาเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น |
![]() |