![]() ![]() ![]() |
![]() |
![]() ![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() มีเสรีภาพ มีส่วนร่วม มีความมั่นคง
กลับมานับหนึ่งกับการร่างรัฐธรรมนูญกันอีกแล้ว และไม่แคล้วว่าจะเน้นความสำคัญไปที่การออกแบบโครงสร้างทางการเมืองเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่มีนักการเมืองเป็นกลุ่มเป้าหมาย แล้วจะได้เข้าสู่โหมดเลือกตั้งเสียที การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีกรอบระยะเวลาที่สั้นเพียง 180 วัน ด้วยคิดว่าน่าจะได้เอาของดีๆ ที่เคยปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540, 2550 และฉบับร่างปี 2558 ที่เพิ่งถูกคว่ำไป มาประดิดประดอยให้เข้ารูปรอย ก็น่าจะผ่านความเห็นชอบหรือผ่านประชามติไปได้ ด้วยกรอบของเวลาและเงื่อนไขของปัจจัยทั้งภายในและต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างมาก ประเทศไทยจึงควรต้องรีบทำงานหนักให้แข่งกับเวลาและสถานการณ์ของโลก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศทุกด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ถือเอาเรื่องประชาธิปไตยเป็นกรอบกติกา บทเรียนของร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ผ่านมา ควรต้องนำมาพิจารณาประกอบให้มาก โดยเฉพาะเรื่องการให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นอย่างตั้งใจจากทุกฝ่าย ซึ่งควรสามารถให้คำอธิบายได้เสมอเมื่อมีความคิดเห็นไม่สอดคล้อง นี่จึงเท่ากับเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ จากการได้รับข้อมูล ข้อคิดเห็น จากหลากหลายประสบการณ์ สังคมไทยในยุคนี้ จึงอาจมาไกลเกินกว่าคำว่า รัฐธรรมนูญ นั้น มีความสำคัญมากน้อยเพียงใดไปแล้ว แต่ที่สังคมไทยอยากเห็นและอยากได้รับการพัฒนาอย่างมาก คือ การได้มีความรู้สึกร่วมในการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในทุกๆ ประเด็น ความรู้สึกร่วมเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากสังคมไม่มีบรรยากาศของการส่งเสริมการแสดงออกซึ่งการมีส่วนร่วมด้วยเหตุผลและด้วยความห่วงใยต่อประเทศที่ทุกคนเป็นเจ้าของ เพราะด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางนี้ จะสร้างโอกาสของการพัฒนาความคิดความอ่านของสมาชิกในสังคมให้เกิดความมั่นใจได้ว่าสิ่งที่แสดงออกและบอกออกมานั้น จะได้มีการรับฟังและรับไว้พิจารณา แม้จะเป็นเสียงที่แตกต่าง แต่ก็ไม่อาจละเลยได้ และต้องไม่แสดงท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน หากเป็นท่าทีของผู้ปรารถนาดีต่อกัน ที่จะช่วยกันประคับประคองให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ จากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงกว่าทศวรรษที่เกิดขึ้น ได้แสดงถึงความตื่นตัวทางการเมืองของคนในสังคมจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของประเทศ ที่ต้องการลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของประเด็นการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน และกลุ่มคนจำนวนมากเหล่านี้ก็พร้อมที่จะไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ ในช่วงระหว่างที่มีการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง การกระตุ้นและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศในครั้งนี้ จึงจำเป็นต้องพัฒนาช่องทางการสื่อสารกับสังคมให้มาก เพื่อที่จะได้เก็บเกี่ยวประเด็นความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ทำขึ้นเพียงเพื่อแก้ปัญหาของนักการเมือง แต่หากมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทั้งสังคมและยกระดับประโยชน์สุขของประชาชนเป็นแกนกลาง การสร้างความมั่นคงทางสังคมในช่วงการเปลี่ยนผ่านประเทศ ด้วยการพัฒนาการมีส่วนร่วมที่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกจากภาคประชาสังคมให้มากที่สุด เพื่อแสดงเจตจำนงทางการเมืองของพลเมือง ดูจะเป็นช่องทางเดียวในการสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากความต้องการของผู้ที่เป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง ทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา |
![]() |