![]() ![]() ![]() |
![]() |
![]() ![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() เพียงเพราะความเชื่อ (ทางการเมือง) ที่แตกต่าง
สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม บริหารโดยรัฐบาลในระยะของการจัดระเบียบต่างๆ เพื่อไปสู่การมีการเลือกตั้งในอนาคต ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นช่วงเวลาใด เป็นสิ่งที่ผู้สนใจการเมืองถกเถียงกัน และตั้งคำถามกันอยู่ไม่หยุด และถือว่าเป็นเรื่องที่คุยกันได้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา แม้จะเห็นตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง ก็สุดแล้วแต่มุมมอง และประสบการณ์ของแต่ละคน เรื่องอนาคตของประเทศ กับเรื่อง เลือกตั้ง ก็ยังเป็นเรื่องที่ชวนคุยกันได้ไม่จบ เพราะคนไทยโดยทั่วไปมักคิดว่า เรื่องเลือกตั้ง เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของประชาธิปไตย ว่าไปแล้วก็เป็น “ความเชื่อ” ทางการเมืองของคนไทยทั่วไปมากกว่า ด้วยความเชื่อแบบนี้จึงขัดแย้งกับอีกฝ่ายที่คิดว่า แม้การเลือกตั้งจะเป็นเรื่องจำเป็น แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการเรื่องอื่นๆ อีกมาก เพื่อให้เกิดความพร้อม เพราะระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งถือเอาการเลือกตั้งเป็นสรณะ แบบที่เคยใช้อยู่ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองฉ้อฉลที่เกิดขึ้นมายาวนานได้ ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง แต่ยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่าง เช่น การตรวจสอบติดตาม การถอดถอน การถ่วงดุล ไม่ทำให้องค์กรหรือสถาบัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป การมีความเชื่อทางการเมือง และมีทัศนคติทางการเมือง จึงย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะคิดและเชื่อแตกต่างกันไป และทั้งหมดในความเชื่อที่แต่ละฝ่ายมี ที่คิดว่า “ถูก” ในระยะเวลาหนึ่ง ก็อาจจะผิดในอีกระยะเวลาหนึ่งก็ได้ ซึ่งคนที่มีความเชื่อและทัศนคติแบบใดก็มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับทัศนคติแบบนั้นอยู่แล้ว ความเชื่อและทัศนคติทางการเมือง จึงเป็นความหลากหลายทางการเมืองที่ควรยอมรับกันได้ โดยเฉพาะในสังคมพหุนิยม ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ เป็นเรื่องปกติธรรมดา และเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในทุกสังคม ความแตกต่างหลากหลายในสังคมเช่นนี้ จึงนับเป็นคุณภาพพื้นฐานของสังคมสมัยใหม่ ที่พัฒนาให้เห็นถึงการยอมรับในสิทธิการแสดงออกที่มีทั้งไม่เห็นด้วยและเห็นด้วยในหลายๆ เรื่อง เพื่อหาวิธีการที่จะปรึกษาหารือและต่อรองกัน ซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขความแตกต่าง ขัดแย้งนี้ เป็นไปอย่างอารยะ มากกว่าการกดดัน บีบบังคับ ปราบปราม และจับกุม หรือยั่วยุ จนทำให้สังคมสับสนและแตกแยก การพยายามทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้ ก็เพื่อเป็นอีกหนทางหนึ่งในการลดความขัดแย้งทางการเมือง และเพื่อเป็นการแสวงหาหนทางในการสร้างบรรยากาศการรับฟัง พูดคุย และปรึกษาหารือจากทุกๆ ฝ่าย มากกว่าการสร้างกำแพงกั้นแล้วเป็นศัตรูกัน ซึ่งไม่ก่อประโยชน์แก่สังคมโดยรวมแต่อย่างใด สถานการณ์บ้านเมืองไทยขณะนี้ ที่ถูกกดทับทั้งจากปัญหาภายในหลายเรื่อง และจากกระแสนอกประเทศด้วยแล้ว ทางที่เหลืออยู่ก็มีเพียงทางเดียว คือ การสร้างเอกภาพในความแตกต่างกันภายในชาติให้กลับคืนมาเป็นพลังให้ได้ และมองไปข้างหน้าว่าจะสร้างชาติให้แข็งแกร่งเพื่อลูกหลานไทยในอนาคตด้วยมือของผู้ใหญ่ในวันนี้ได้อย่างไร ทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา |
![]() |