![]() ![]() ![]() |
![]() |
![]() ![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() พลเมืองกับพลังงาน
ภาคเศรษฐกิจเป็นภาคส่วนที่แต่ละประเทศมักให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เนื่องจากเป็นจักรกลที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนา แต่ประเด็นของโลกในอนาคตซึ่งแต่ละประเทศเริ่มเห็นตรงกันแล้วก็คือ ผลกระทบจากการพัฒนาของภาคเศรษฐกิจนั้น มีแนวโน้มว่าต้องใส่ใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องหลัก ปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอันส่งผลกระทบต่อภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก แม้ประเทศไทยก็ไม่ถูกละเว้น อาทิ น้ำท่วมรุนแรงในปี 2554 สถิติความถี่ของการเกิดน้ำท่วมจะมีมากขึ้น สภาพความแห้งแล้งทำให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหาร เกิดความอดอยากในพื้นที่แห้งแล้งมากขึ้น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่น้ำจืด ไม่เว้นแม้แต่เรื่องพลังงานที่กำลังขาดแคลน ทั้งหมดนี้เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่บริโภคทรัพยากรธรรมชาติโดยขาดแนวทางที่เหมาะสม ที่จะไม่ก่อปัญหาให้กับอนาคตของมนุษย์บนโลกใบนี้ ปัญหาเรื่องพลังงานเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ ก็เกิดจากสาเหตุดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ที่เป็นปัญหามากในระหว่างการแสวงหาทางออกนั้น กลับเป็นเรื่องที่ยังคงอ่อนด้อยในเรื่องของการปรึกษาหารือร่วมกันจากทุกฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมาแม้ภาคพลเมืองจะได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นประเด็นสาธารณะเพื่อกระตุ้นให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ รับฟัง โดยเฉพาะภาครัฐ ภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจเป็นหลัก เพื่อให้เรื่องพลังงานเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน การสำรวจปิโตรเลียม เพื่อหาแหล่งพลังงานใช้ในประเทศไทย เริ่มในช่วงที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติในยุคต้นทศวรรษ 2510 และมีการผูกขาดสัมปทานโดยบริษัทต่างชาติจากประเทศสหรัฐอเมริกา นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และ พ.ร.บ.พลังงาน ก็เริ่มในปี 2514 อันเป็นปีที่ผูกขาดอำนาจการตัดสินใจเรื่องนโยบายพลังงานของประเทศโดยรัฐบาลในอดีต ซึ่งประชาชนไม่สามารถที่จะมีส่วนรับรู้ใดๆ ได้ในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ และผลกระทบต่อประเทศชาติ จวบจน พ.ศ. 2558 นี้ ก็เป็นเวลาถึง 44 ปีแล้ว และจะมีการเปิดสัมปทานรอบใหม่ เพื่อหาแหล่งพลังงานทดแทน โดยเชื่อว่าแหล่งเก่าจะหมดไปในอนาคตอันใกล้ คำถามจึงเกิดขึ้นเพื่อการหาทางออกจากภาคพลเมืองเพื่อการกำหนดนโยบายร่วมกับภาครัฐ ที่ทำหน้าที่ผลักดันภาคเศรษฐกิจให้เกิดความชัดเจนถึงแนวทางการกำหนดนโยบายพลังงานของชาติ ที่มาจากขุมทรัพยากรธรรมชาติ สมบัติสาธารณะที่คนไทยทั้งประเทศเป็นเจ้าของ การเปิดเวทีรับฟังจากภาคพลเมือง และสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนหาข้อคิด และแนวทางร่วมกันโดยยึดหลักประโยชน์ของประเทศชาติสูงสุด ให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันเช่นนี้ ภาครัฐเองก็ต้องทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติในระยะยาว หรืออาจจำเป็นต้องเสนอให้มีการแก้ไขข้อกฎหมายเก่าที่ใช้มาเป็นเวลานานถึง 44 ปี ซึ่งล้าหลังแล้ว และไม่คุ้มครองประโยชน์ของชาติและประชาชนแต่อย่างใด ทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา |
![]() |