![]() ![]() ![]() |
![]() |
![]() ![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() พฤศจิกายน 2556 : ต้านนิรโทษกรรม-คอร์รัปชั่น-ตั้งสภาประชาชน
ม็อบนกหวีดต้านนิรโทษกรรม-คอร์รัปชั่น-ให้สภาประชาชน การที่สภา ส.ส. ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยไปในตอนตี 4 ของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ทำให้การต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมขยายวงกว้างเป็นประเด็นการต่อต้านคอร์รัปชั่นและขจัดระบอบทักษิณ โดยมี 9 ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ ซึ่งต่อมาทั้ง 9 ส.ส. ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็น ส.ส. ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2556 กลุ่มคัดค้านนิรโทษกรรมได้จัดชุมนุมบริเวณสถานีรถไฟสามเสน และในวันที่ 4 มีผู้มาสมทบอีกมากและได้เดินเท้าย้ายไปปักหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน ยึดพื้นที่บริเวณนั้นตั้งเวทีปราศรัยตลอดทั้งเดือน โดยอีกสองกลุ่มคือ เครือข่ายนักศึกษา ประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือและนายอุทัย ยอดมณี และกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ (กปท.) ต่างก็ยึดพื้นที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ ถนนพระราม 6 และสะพานมัฆวานรังสรรค์เช่นกัน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่เวทีราชดำเนินมีการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อยื่นถอดถอน 310 ส.ส. ที่ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และในวันที่ 20 พฤศจิกายน ทั้ง 9 แกนนำได้นำรายชื่อประชาชน 115,000 รายชื่อบรรจุกล่องกระดาษ 77 กล่อง ยื่นต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา นายนิคม ได้รับไว้และกล่าวว่า จะตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อเพื่อส่งให้สำนักทะเบียนราษฎร์ตรวจสอบ จากนั้นจึงจะส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อตรวจสอบและตั้งข้อกล่าวหา นายสุเทพ ได้เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านระบอบทักษิณ โดยการเป่านกหวีด และเรียกให้ประชาชนจากต่างจังหวัดมาร่วมแสดงพลังที่ราชดำเนินด้วย ทำให้การชุมนุมต่อต้านได้แพร่ขยายออกไปในหลายพื้นที่ทั้งใน กทม. เช่น ที่แยกอโศก บนถนนสีลม ซึ่งแต่ละที่มีคนมาร่วมด้วยมากขึ้นทุกที แต่เป็นเพียงการนัดเฉพาะกิจชั่วคราว เป่านกหวีดชั่วขณะแล้วก็แยกย้ายกันไป ไม่มีการตั้งเวทีปราศรัยหรือพักค้างคืนเหมือนที่เวทีราชดำเนิน เช่นเดียวกับการชุมนุมย่อยๆ ในต่างจังหวัด ในวันที่ 24 พฤศจิกายน นายสุเทพนัดชุมนุมใหญ่บนถนนราชดำเนินโดยมีการประมาณว่าประชาชนมาร่วมมากกว่า 1 ล้านคน เพราะล้นจากบริเวณถนนราชดำเนินไปถึงสนามหลวง ส่วนหนึ่งเป็นประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดที่หลายเส้นทางโดยเฉพาะในภาคใต้ที่มากันเป็นขบวนรถบัสและรถตู้จะประสบปัญหาอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่ถูกด่านตำรวจสกัดกั้นตรวจค้นถ่วงเวลาไปจนยางแตกเพราะถูกตะปูเรือใบ ในคืนนั้นผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งค้างคืนที่ราชดำเนินเพื่อเดินดาวกระจายไปยังสถานที่ต่างๆ ในวันรุ่งขึ้น ในวันที่ 25 พฤศจิกายน กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งได้เดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังกระทรวงการคลังและเข้าปักหลักค้างคืนที่นั่น และในวันที่ 27 พฤศจิกายน ผู้ชุมนุมอีกส่วนก็ได้เดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ ทำให้ต้องปิดสถานที่ราชการทั้งสองแห่งโดยปริยายแม้ว่าผู้ชุมนุมจะไม่ได้เข้าไปในส่วนห้องทำงานข้าราชการ ในแต่ละคืนทั้งสองสถานที่จะมีผู้มาฟังการปราศรัยจำนวนมาก ทั้งสามเวทีมีการปราศรัยโดยแกนนำและแนวร่วมที่มีตั้งแต่นักวิชาการข้าราชการและบุคคลทั่วไป เพื่อแสดงการต่อต้านรัฐบาล และในเวลากลางวันบางวันผู้ชุมนุมบางส่วนก็เดินมาจากทั้ง 3 เวที และส่วนหนึ่งมาร่วมสมทบเฉพาะกิจไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเป่านกหวีด เช่นที่แยกอโศก ถนนสีสม และหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น การชุมนุมเฉพาะกิจเช่นนี้มีผู้เข้าร่วมมากจนเต็มถนน ในภาคใต้ทุกจังหวัดมีผู้ชุมนุมมาปิดล้อมศาลากลางจังหวัด แกนนำประกาศว่าการปิดล้อมสถานที่ราชการจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถจะทำงานได้ มีการขีดเส้นตายว่าจะล้มรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีคืนอำนาจให้ประชาชน จัดตั้งสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีออกโทรทัศน์ประกาศว่ายังคงมีอำนาจและพร้อมเปิดเจรจา อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ชุมนุมทั้ง 3 กลุ่มยังคงรักษาระยะไม่เข้าไปใกล้ทำเนียบฯ หรือรัฐสภาที่อยู่ในเขตประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 46 กองร้อยรักษาการอยู่ ส่วนการที่ คปท. เคลื่อนพลไปหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ปราศรัยเรียกร้องให้กองทัพยืนข้างประชาชน ก็ไม่เกิดความรุนแรงเพราะทหารออกมารับหนังสือและต้อนรับอย่างดี หลังเสร็จการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในวันที่ 28 พฤศจิกายน แล้ว พรรคเพื่อไทยได้มีมติจะให้บรรดา ส.ส.ตั้งเวทีชี้แจงตามภาคต่างๆ เช่น ภาคอีสาน และ ภาคเหนือ เพื่อต่อต้านฝ่ายประท้วงรัฐบาลและให้จัดประชุมใหญ่ที่ราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมากในวันที่ 30พฤศจิกายน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน เริ่มมีกลุ่มคนเสื้อแดงที่นำโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยและบรรดาแกนนำพาคนจากต่างจังหวัดมาร่วมชุมนุมหลายสิบคันรถทัวร์ ก่อนหน้าการประกาศอย่างเป็นทางการนี้ มีการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในต่างจังหวัดหลายพื้นที่กัน เช่น ที่จังหวัดสมุทรปราการ ฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลเกือบเกิดการปะทะกัน ในวันที่ 29 พฤศจิกายน กลุ่มต่อต้านคอร์รัปชั่น-ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม-ประท้วงรัฐบาลมีแนวร่วมได้แก่ กลุ่ม 40 ส.ว. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กลุ่มนักธุรกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กลุ่มต่างๆ เหล่านี้เห็นว่าการยุบสภาเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่จะเป็นหนึ่งทางออก กลุ่มนักธุรกิจเสนอตัวเป็นแกนกลางทุกภาคส่วนร่วมหาทางออก ในวันที่ 29 พฤศจิกายน กลุ่มธุรกิจย่านเพชรบุรีตัดใหม่รวมตัวกันบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่และเดินไปหน้าพรรคเพื่อไทยเพื่อเป่านกหวีดและอ่านแถลงการณ์ว่าระบอบทักษิณเป็นสาเหตุให้เกิดความแตกแยกในชาติ ทำให้คนเห็นว่าการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา แทรกแซงข้าราชการ องค์กร ทำให้คนเก่งคนดีถูกโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรม เป็นระบอบเผด็จการที่มีนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นร่างทรง วุฒิสภาคว่ำ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษ สุดซอย ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติเป็นเอกฉันท์ 140 ต่อ 0 ไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว เป็นผลให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกส่งกลับไปให้ สภา ส.ส. การที่วุฒิสภาไม่ยอมรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้งๆ ที่ สภา ส.ส. อุตส่าห์ประชุมกันจนถึงตี 4 เพื่อลงมติวาระ 3 ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ก็เพราะเกิดการต่อต้านอย่างหนักในสังคม ทั้งจากฝ่ายภาคประชาสังคมที่ไม่เห็นด้วยและแม้กระทั้งบรรดาผู้ที่เคยเชียร์รัฐบาลและคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งมาก่อนก็ยังออกมาคัดค้าน นายกรัฐมนตรีได้แนะนำให้วุฒิสภาลงมติโดยใช้ดุลพินิจ ทำให้ที่ประชุมไม่ผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ส่วนร่างอีก 6 ฉบับ ที่พรรคการเมืองอื่นเสนอเข้า ก็ถูกถอนออกจากสภา ส.ส. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ก่อนหน้านั้น แต่เนื่องจากร่างที่ผ่านสภา ส.ส. ยังคงไม่มีการถอนและค้างอยู่ในสภา หลังจาก 180 วันแล้ว สภา ส.ส. มีสิทธิที่จะยืนยันให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยมีผลใช้บังคับได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกสาเหตุให้มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลต่อไป แก้ รธน. ม.190 ผ่านสภาครบ 3 วาระ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาวาระพิเศษ ได้ลงมติในวาระ 3 เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ด้วยคะแนน 381 ต่อ 165 และงดออกเสียง 9 ซึ่งคะแนนเห็นด้วยที่เกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมถือว่าที่ประชุมเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐบาลไม่ต้องนำกรอบร่างหนังสือสัญญากับต่างประเทศมาเสนอสภา ไม่ต้องให้คณะรัฐมนตรีมาชี้แจงต่อสภา ไม่ต้องเสนอกรอบเจรจาต่อรัฐสภาและไม่ต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน นอกจากนี้ยังตัดลดประเภทหนังสือสัญญาที่จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาอย่างมีนัยสำคัญออกไปให้เหลือเพียง 4 ประเภท หลังจากนั้น นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไปยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 190 ที่รัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบไปแล้วนี้เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เนื่องจากกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทั้งการปิดอภิปรายและการประชุมที่ไม่ครบองค์ประชุม แก้ไขเพิ่มเติมและเปิดช่องให้ฝ่ายบริหารทำหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้าน ผ่านวุฒิสภาตอนตี 2 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 เวลา 02.50 น. ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ให้กลับไปใช้ร่างเดิมที่ผ่านสภา ส.ส. ด้วยคะแนน 63 ต่อ 14 งดออกเสียง 3 ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยคณะกรรมาธิการร่วมในมาตรา 6 ให้ต้องนำเงินกู้ส่งคืนคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เนื่องจากเห็นว่าการที่ไม่ต้องนำเงินกู้ส่งคลังเป็นการ ทำลายระบบงบประมาณปกติ เปิดช่องให้เกิดการรั่วไหลง่าย โครงการต่างๆ ยังไม่มีการศึกษาให้รอบคอบ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงจึงเหมือนการเขียนเช็คเปล่าให้รัฐบาล แต่วุฒิสภามีมติให้กลับไปใช้ร่างเดิมที่ไม่ต้องนำเงินกู้ส่งคืนคลัง ในเวลา 03.17 น. ของวันที่ 20 พฤศจิกายน ได้มีผู้ยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากที่วุฒิสภาได้ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว รมว.คลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง แสดงความมั่นใจว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนตามโครงการได้ในปี 2557 ไม่ต่ำกว่า 100,000-200,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับโครงการลงทุนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามคำสั่งศาลปกครอง ก่อนหน้านี้ นายกิตติรัตน์ เปิดเผยว่า ได้มีแผนจะออกพันธบัตร 15 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 450,000 ล้านบาทเพื่อระดมทุนปีละ 30,000 ถึง 45,000 ล้านบาทอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี มาใช้ในโครงการลงทุนด้านคมนาคมและโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท โดยอาจจะออกพันธบัตร (บอนด์) เป็นสกุลเงินต่างประเทศ และเมื่อครบปีที่ 11 ก็จะออกพันธบัตรเพื่อรีไฟแนนซ์ดอกเบี้ยปีที่ 1 ศาลโลกตัดสินคดีเขาพระวิหาร เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 เวลา ประมาณ 16.00 น. ในประเทศไทย ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เริ่มอ่านคำพิพากษาคดีที่กัมพูชายื่นร้องขอตามธรรมนูญศาลโลกข้อ 60 ในปี 2554 ให้ตีความเกี่ยวกับพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกได้มีคำตัดสินไปแล้วในปี 2505 แต่ได้เกิดความขัดแย้งกับไทยอันเนื่องมาจากสาเหตุที่กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยศาลโลกได้เริ่มโดยกล่าวว่า ศาลไม่อาจตีความเกินขอบเขตของคำพิพากษาในปี 2505 และไม่สามารถตีความในลักษณะขัดแย้งต่อคำพิพากษา 2505 ได้ จากนั้นจึงได้อ่านคำพิพากษาที่สรุปได้ว่า ศาลไม่มีหน้าที่ปักปันเขตแดนเนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องการกำหนดอธิปไตยมากกว่ากำหนดดินแดน ซึ่งไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 โดยถอนกำลังทหารตำรวจออกจากบริเวณปราสาทแล้ว แต่การใช้เส้นเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรีในปี 2505 นั้นเป็นข้อกำหนดของไทยฝ่ายเดียว ดังนั้น ประเด็นพิพาทเกี่ยวกับพื้นที่รอบตัวปราสาท จึงต้องเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่ต้องแก้ไขด้วยวิธีการอื่น และต้องคุยกันเองภายใต้การควบคุมของยูเนสโกเพราะปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก หลังฟังคำพิพากษาจบ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ผลการตัดสินเป็นที่พอใจ และจะนำไปหารือกันในคณะกรรมาธิการร่วม ( เจซี) ไทย-กัมพูชา ส่วนนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงเฮก กล่าวสรุปสาระของคำพิพากษาว่า
อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ตามที่พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขออภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดอภิปรายนัดพิเศษในวันที่ 26-27 และลงมติในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ผลปรากฏว่านายกรัฐมนตรีได้รับคะแนนไว้วางใจ 297 ต่อ 134 ส่วนนายจารุพงศ์ได้ 296 ต่อ 135 การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ได้เปิดประเด็นในเรื่องการทุจริตโดยอ้างตัวเลขจากหอการค้าว่าขณะนี้ตัวเลขการทุจริตอยู่ที่ 30-40% ทำให้ประเทศสูญเสียเงิน 235,000 ล้านบาทต่อปี ตัวนายกรัฐมนตรีได้ทำลายหลักนิติรัฐ-นิติธรรมเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ จนมีประชาชนเรือนล้านออกมาต่อต้านเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน อีกทั้งรัฐบาลไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ หากปล่อยต่อไปประเทศจะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว โดยยกตัวอย่างโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ทำผิดกฎหมายเงินกู้เพราะกู้หลังวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย โครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริตเชิงนโยบายและในขั้นตอนต่างๆ ขาดทุนแล้ว 4 แสนล้านบาท แต่เกษตรกรได้ประโยชน์ปีละ 8-9 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำลายกลไกการตรวจสอบการทุจริต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อภิปรายเรื่องการรับจำนำข้าว ว่าคณะกรรมการนโยบายข้าว ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ เป็นประธาน ได้อนุมัติให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ของกระทรวงพาณิชย์ นำข้าวสต๊อกรัฐบาลจากโครงการรับจำนำไปทำเป็นข้าวถุง (ถุงละ 5 กก.) จำหน่ายให้ประชาชนในราคาถูกกว่าข้าวเอกชน โดยให้เอกชน 3 รายเป็นผู้ดำเนินการ เป็นข้าวรวมทั้งสิ้น 2.5 ล้านตัน ฝ่ายค้านตรวจสอบพบว่าปริมาณที่วางจำหน่ายจริงมีไม่ถึง 50 % เพราะมีการนำข้าวในสต๊อกบางส่วนไปเวียนเทียน ไปเข้าโครงการรับจำนำ หรือกลับไปขายคืนให้โรงสี หรือเอาไปขายต่อให้บริษัทเอกชนผู้ผลิตข้าวถุง โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นคนหน้าเดิม ทำให้โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนมากยิ่งขึ้น ผู้อภิปรายคนอื่นๆ ได้พูดถึงการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ทางการเมืองที่เป็นการต่างตอบแทนบุคคลที่มีส่วนช่วยเหลือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรในอดีต สำหรับโครงการข้าวถุงของรัฐบาลนั้น นายกฯได้สั่งหยุดไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 แต่ก็ไม่ได้มีการสอบสวนแต่อย่างใด จนกระทั่งหลังการอภิปราย กระทรวงพาณิชย์จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้กำหนดให้แล้วเสร็จใน 2 เดือน ระหว่างนี้ให้ย้ายเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปอยู่ที่อื่นก่อน ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. ตามที่นายวิรัตน์ กัลป์ยาศิริ ส.ส.สงขลาพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. นางสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. สรรหา ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของ ส.ว. โดยการลงมติของสมาชิกรัฐสภาจำนวน 312 คน เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำพิพากษา โดยศาลแถลงว่าได้แยกพิจารณาเป็น 4 ประเด็น คือ
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่ามีอำนาจรับเรื่องและพิจารณาคดี พร้อมชี้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาสมาชิกวุฒิสภาที่สำนักเลขาธิการรัฐสภาส่งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองวาระแรกไม่ใช่ร่างเดิมที่ยื่นญัตติโดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี และคณะ พบมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการ ดังนั้นจึงเป็นการกระทำโดยมิชอบ การเสียบบัตรแสดงตนแทนกันของ ส.ส. ดูจากหลักฐานที่ฝ่ายผู้ร้องได้รวบรวม ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ขัดหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ ส.ส.เคยปฏิญาณไว้ การออกเสียงให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นการลงคะแนนอย่างทุจริต มิอาจถือว่าเป็นมติที่ชอบของรัฐสภา จากนั้นจึงได้อ่านคำวินิจฉัยว่า ตุลาการมีมติ 6 ต่อ 3 ว่ากระบวนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 122, 125, 126, 291 และตุลาการมีมติ 5 ต่อ 4 ชี้ว่า การแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบ แต่ไม่เข้าเงื่อนไขให้ยุบพรรคการเมืองจึงให้ยกคำร้อง ภายหลังมีคำวินิจฉัยในวันที่ 28 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ได้เรียกประชุมและหารือถึงที่มีคำร้องถึง 5 สำนวนกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและขอให้ถอดถอนจากตำแหน่ง ป.ป.ช. ซึ่งได้รับคำร้องเรียนเรื่องนี้มาก่อนแล้วได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษา พรรคเพื่อไทยได้เรียกประชุมใหญ่และออกแถลงการณ์จะไม่รับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าฝ่ายนิติบัญญัติใช้อำนาจปวงชนชาวไทย ศาลไม่สามารถจะก้าวล่วงได้ และประกาศจะฟ้องดำเนินคดี 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส.ส.ปชป.ลาออก กกต. สั่งเลือกตั้งซ่อม เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส. ประชาธิปัตย์ สุราษฎร์ธานี และ ส.ส. อีก 8 คน คือ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส. นครศรีธรรมราช นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง นายจุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส. กทม. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส. กทม. นายณัฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส. กทม. และนายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ต่อรัฐสภา เพื่อเป็นการทดแทน 8 ตำแหน่ง ส.ส.เขตที่ว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 22 ธันวาคม ใน 8 เขตเลือกตั้ง คือ กทม. เขต 7, 26, 29 ชุมพรเขต 1, ตรังเขต 2, นครศรีธรรมราชเขต 3, สงขลาเขต 6 และสุราษฎร์ธานีเขต 2 วุฒิสภาเห็นชอบ 5 กกต. เมื่อวันที่ ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบรายชื่อ กกต. ชุดใหม่ทั้ง 5 คนคือนายสมชัย ศรีสุทธิยากร นายบุญส่ง น้อยโสภณ นายประวิช รัตนเพียร นายศุภชัย สมเจริญ และ นาย.ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ ประชาชนรวมตัวค้านโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยมีประชาชนหลายพันมาร่วมรับฟัง แต่เกิดความวุ่นวายระหว่างการประชุมจนต้องยุติ และเหตุการณ์รุนแรงขึ้นเมื่อนักศึกษาที่นำเอกสารการเข้าชื่อประชาชนกว่า 2 หมื่นรายไปยื่นให้เจ้าหน้าที่กระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล 500 นาย ก่อนหน้านี้ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่จังหวัดกำแพงเพชรก็ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน และเกิดความชุลมุนเมื่อแกนนำผู้คัดค้านถูกตำรวจควบคุมตัว และกลุ่มผู้คัดค้านถูกผลักดันให้ออกไปอยู่นอกห้องประชุม ภายหลังการประชุม ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกมารับหนังสือคัดค้านเพื่อนำไปเสนอรัฐบาล การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 กบอ. จึงได้นำโครงการที่แบ่งออกเป็น 9 โมดูลมาจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ 36 จังหวัดตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมเป็นต้นไป และจะสิ้นสุดลงในสิ้นเดือนธันวาคมนั้น แม้ในเวทีต่างๆ จะมีประชาชนมาแสดงการคัดค้านไม่เห็นด้วย และมีการร้องเรียนว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการมาก่อนและถูกกีดกันไม่ให้แสดงความคิดเห็น แต่มักจะรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบเป็นส่วนใหญ่ แต่การจัดเวทีอื่น ๆ ก็ผ่านพ้นมาจนกระทั่งถึงจังหวัดสมุทรสงครามที่ประชาชนมีความสนใจตื่นตัวศึกษาผลกระทบโครงการล่วงหน้าและเข้าร่วมรับฟังมากเนื่องจากเกรงว่าการสร้างคลองผันน้ำหรือ ฟลัดเวย์ ระยะทาง 281 กม. เพื่อระบายน้ำแม่ปิงจากจังหวัดกำแพงเพชรผ่านสมุทรสงครามไปออกอ่าวไทยจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทำให้น้ำทะเลเข้ามาทำความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ในแถบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และในการระบายน้ำจืดจำนวนมหาศาลจะทำให้สัตว์ทะเลในอ่าวไทยตอนบนทั้งในธรรมชาติและฟาร์มเพาะเลี้ยงตาย แผนการบริหารจัดการน้ำแบ่งออกเป็น 9 โมดูล แต่ละโมดูลจะครอบคลุมพื้นที่และใช้วิธีการแตกต่างกัน มีตั้งแต่สร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างเขื่อน ทำแก้มลิง สร้างกำแพงปิดพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ ปรับปรุงลำน้ำ วางผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์ และที่สำคัญคือขุดคลองผันน้ำใหม่ 2 สายทางฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้แผนการทั้งหมดที่จะใช้เงินกู้จำนวน 3.5 แสนล้านบาท จะให้บริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลดำเนินการทั้งหมดตั้งแต่ศึกษา-ออกแบบ-ก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้มี 4 บริษัทที่ประมูลได้และผ่านการรับรองของคณะรัฐมนตรีแล้ว คือ บริษัทค้าร่วม เอชดีไชน่า บริษัทค้าร่วมล็อกซเล่ย์ บริษัทค้าร่วม ซัมมิท เอสยูที และบริษัทเควอเตอร์ จากประเทศเกาหลี ซึ่งรายหลังนี้สามารถประมูลได้โครงการที่มีมูลค่าประมาณ 45 % ของ 3.5 แสนล้าน เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าเป้า คณะกรรกการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จาก 3.7% ของจีดีพีลงเหลือ 3% ของจีดีพี การส่งออกตลอดเดือนตุลาคม 2556 ลดลง 0.67% คาดว่าทั้งปีอาจโตแค่ 1% กนง. จึงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.25% ต่อปี คาดทิ้งใบจองรถคันแรกถึง 1 แสนใบ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยยอดขายรถยนต์ภายใต้นโยบายรถยนต์คันแรกว่ามียอดสั่งจองรวม 1.25 ล้านคัน มีรถยนต์ค้างสต๊อกทุกค่ายที่ยังไม่มีการยกเลิกใบจอง 132,000 ใบ ขณะนี้ทางบริษัทกำลังติดตามถามว่าลูกค้ายังคงต้องการรถหรือไม่ คาดว่าอาจมีการยกเลิกถึง 100,000 ใบ ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทุกบริษัทผลิตรถยนต์รวมกัน 185,117 คัน ต่ำกว่า 200,000 คันเป็นเดือนที่สาม โดยลดลงเฉลี่ยเดือนละ 4.94% ยอดการผลิตรถยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม 2556 ทั้งสิ้น 2,115,375 คัน คาดว่าถึงสิ้นปีจะมียอดผลิต 2,510,000 คัน ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 2,550,000 คัน ธ.ก.ส. ผลัดจ่ายจำนำข้าว นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในฤดูการผลิต 2556/2557 มีชาวนานำข้าวเปลือกมาเข้าโครงการรับจำนำ แล้ว 1.2 ล้านตัน แต่ ธ.ก.ส. ต้องรอเงินกู้จากกระทรวงการคลังหรือเงินจากการระบายข้าวในสต๊อกของกระทรวงพาณิชย์ก่อนจึงจะสามารถจ่ายเงินได้ คงต้องรออีก 1-2 เดือนจึงจะได้รับเงิน แต่เกษตรกรไม่ต้องกังวลใจว่าจะไม่ได้รับเงิน ในช่วงสองปีแรกของการดำเนินการ รัฐบาลใช้เงินไปแล้ว 680,000 ล้านบาท เกินกว่ากรอบที่กำหนดว่าไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องให้กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าวในสต๊อกมาชำระค่าใช้จ่ายที่เกินภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 นี้ ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์นำเงินจากการระบายข้าวมาให้ ธ.ก.ส. แล้ว 140,000 ล้านบาท ยังขาดอีกประมาร 40,000 ล้านบาท คาดว่าส่วนหนึ่งจะนำมาจากเงินงบประมาณ อีกส่วนมาจากการระบายข้าว แต่ยังไม่มีเงินสำหรับการจำนำในฤดูการผลิต 56/57 ซึ่งต้องใช้เงินอีก 270,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังได้เสนอให้ ครม. ทบทวนมติที่กำหนดให้วงเงินรายจ่ายต้องไม่เกิน 500,000 ล้านบาทเป็นการชั่วคราว โดยกระทรวงการคลังจะค้ำประกันการกู้เงินชั่วคราวเพิ่มอีกสองงวด คือ 140,000 ล้านบาท และ 130,000 ล้านบาท หลังจากที่มีข่าวนี้ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังปฏิเสธว่าไม่เป็นเรื่องจริงที่ชาวนาจะต้องรอถึง 1-2 เดือน ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินไปแล้วทั้งสิ้น 3,520 ล้านบาท รัฐบาลยืนยันจะสามารถบริหารจัดการโครงการให้อยู่ในกรอบ 500,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน ปัจจุบันโครงการรับจำนำข้าวใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 680,000 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ส่งเงินจากการระบายข้าวให้ ธ.ก.ส.แล้ว 180,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 เพิ่มเติมจากรัฐบาลอีกกว่า 820,000 ล้านบาท ซึ่งได้นำไปใช้ในโครงการรอบปี 2556/2557 ประมาณ 55,000 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อรวมกับเงินระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ที่จะส่งมาเพิ่มในเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม อีก 240,000 ล้านบาท จะทำให้ ธ.ก.ส. มีเงินพอจ่ายให้ชาวนาตลอดสิ้นปี 2556 จึงยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่มีปัญหาการเงินอย่างแน่นอน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน กระทรวงพาณิชย์ได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวและปลายข้าวจำนวน 1.2 ล้านตันและมันสำปะหลังเส้น 9 หมื่นตัน แบบจีทูจี กับบริษัท Beijing Great Northern Wilderness Rice Industry สังกัดบริษัทเป่ยต้าฮวงกรุ๊ป ของกรมการเกษตร มณฑลหลงเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่การซื้อขายนี้ใช้ราคาตลาดโลก ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ราคาตลาดล่วงหน้า (เอเฟท) ข้าวขาว 5% FOB ส่งมอบเดือนพฤศจิกายน 2556 อยู่ที่ 1,363 ต่อ 100 กิโลกรัม ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี เหลือตันละ 460-470 เหรียญสหรัฐ เนื่องจากมีข้าวในตลาดจำนวนมาก ทั้งการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อราคาภายในประเทศและราคาส่งออก เมื่อต้นทุนการรับจำนำข้าวเปลือกอยู่ที่ตันละ 15,000 บาท จึงคาดว่ารัฐบาลอาจจะขาดทุนตันละ 360-370 เหรียญเนื่องจากปริมาณข้าวจะลดลงเมื่อสีแล้ว และยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกในการรับจำนำไปถึงเก็บและสีจนกระทั่งส่งออก เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เรียกร้องให้ไทยยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากโครงการดังกล่าวทำลายความเชื่อมั่นในภาคการเงินของไทย โดยไอเอ็มเอฟระบุว่า ถ้าไทยยังไม่ปรับเปลี่ยนโครงการรับจำนำข้าว การขาดทุนจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และการขาดข้อมูลเรื่องโครงการได้ทำให้ความเชื่อมั่นภาคการเงินสาธารณะของไทยลดน้อยลงด้วย ซูเปอร์พายุไห่เยี่ยนถล่มฟิลิปปินส์ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 พายุไห่เยี่ยนความเร็วกลางพายุ 314 กม./ชม แรงลมกรรโชก 215 กม./ชม. ก่อให้เกิดคลื่นยกตัวสูงกว่า 5 เมตร เป็นพายุที่พัดขึ้นฝั่งแรงที่สุดในโลกในปีนี้หรืออาจร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก พัดเข้าภาคกลางประเทศฟิลิปปินส์ เกิดคลื่นมหึมากวาดซัดอาคารบ้านเรือนพังราบเป็นหน้ากลอง ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 11 ล้านคน ใน 44 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,613 บาดเจ็บ 18,557 และสูญหายอีก 1,602 ราย บ้านเรือเสียหายมีคนไร้ที่อยู่ 4 ล้านคน ในขณะที่มีเพิงให้พักชั่วคราวได้เพียง 350,000 คนเท่านั้น หลังพายุเข้าแล้ว 5 วัน ความช่วยเหลือยังเข้าไม่ทั่วถึง ชาวบ้านยังไม่มีอาหารและน้ำดื่ม คนไร้ที่อยู่ ทำให้เกิดการปล้นสะดมอาหารตามที่ต่าง ๆ เหล่าผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สาเหตุที่ไห่เยี่ยน สร้างความสูญเสียหนักเกิดจากหลายสาเหตุทั้งภูมิประเทศ ภุมิอากาศ ความยากจน ไปจนถึงสภาวะโลกร้อนอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ในวันที่ 14 พ.ย. พายุได้พัดเข้าประเทศเวียดนามทำให้พื้นที่ 6 จังหวัดในภาคกลางมีฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมฉับพลังมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 41 ราย บาดเจ็บ 74 บ้านเรือนพังเสียหาย 400,000 หลัง วันเดียวกันที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เกิดพายุหิมะที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีเป็นเวลานานถึง 3 วัน ส่งผลบริการโดยสารสาธารณะหยุดชะงัก เครื่องบินยกเลิกเที่ยวบิน เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิต 4 คนบาดเจ็บ 7 ที่เกาะซาร์ดิเนียในทะเลเมดิเตอร์เร เนียน ภาคตะวันตกประเทศอิตาลี เกิดพายุไซโคลน “คลีโอพัตรา” ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิต 16 รายและสูญหายไม่ทราบจำนวน ที่สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน เกิดพายุทอร์นาโดรุนแรงเฉียบพลันความเร็วลงศูนย์กลาง 111 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดถล่มภาคตะวันตกตอนกลางโดยเฉพาะรัฐอิลลินอยส์ ส่งผลกระทบวิถีชีวิตผู้คนมากถึง 53 ล้านคน มีคนตายอย่างน้อย 6 ศพ บาดเจ็บเกือบ 10 บ้านกว่า 64,600 หลังไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ก๊าซโลกร้อนพุ่ง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน คณะนักวิทยาศาสตร์ 49 คนจาก 10 ประเทศทั่วโลกเผยแพร่งานวิจัยการปล่อยก๊าซคาร์บอดไดออกไซด์ทั่วโลกในปี 2556 พบว่ามีปริมาณมากสุดเป็นประวัติการณ์ 36 พันล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ประมาณ 2.2% ทำให้สหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน เร่งทำข้อตกลงควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งเป้าไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงมหันตภัยธรรมชาติที่รุนแรง |
![]() |