![]() ![]() ![]() |
![]() |
![]() ![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() “รู้ไทย – รู้อาเซียน”
“คนอาเซียน” ข่าวฮือฮาทางการศึกษาของประเทศไทยเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF)- The Global Competitiveness Report 2012-2013 เผยผลจัดอันดับการศึกษาอาเซียน พบประเทศไทยรั้งท้ายอันดับ 8 ประเทศสิงคโปร์มาเป็นอันดับ 1 ประเทศมาเลเซีย บรูไน ดารุสซาลาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชาและเวียดนาม ในการประเมินครั้งนี้เป็นการประเมินภาพรวมการจัดการศึกษาของแต่ละประเทศ และมีการนำคะแนนการสอบประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ Program for International Student Assessment (PISA) มาเป็นองค์ประกอบด้วย โดยนายภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ชี้ว่า เด็กไทยคิดไม่เป็น จึงเล็งปรับการศึกษาทั้งระบบ โดยเฉพาะการปฏิรูปวิธีการเรียนการสอน และปฏิรูปครู ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญครับ ข่าวนี้นอกจากจะช๊อคคนไทยและผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการไล่เลียงลงมาตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) จนถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้ว เกือบเรียกได้ว่า ทำให้รัฐไทยต้องหันมาสนใจกับการศึกษาของไทยกันยกใหญ่ (หวังว่าคงไม่เป็นไฟไหม้ฟาง) โดยเฉพาะในประเด็น เด็กไทยคิดไม่เป็น หรือไม่มีความคิดเชิงวิจารณญาณ (critical thinking) ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่ว่าเราจะพัก หรือเก็บเรื่องนี้ไว้ก่อน จะเอาไว้คุยกันคราวหน้า เพราะเกี่ยวพันกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 เช่นกัน เรื่องที่อยากจะเล่าก็คือ เมื่อเรามองไปในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นมากมาย มีทั้งตลาดจะโตมากขึ้น กับคนกว่า 600 ล้านคนที่จะกินจะใช้ คำถาม จะผลิตอะไร? หรือคนในอาเซียนต้องการกินอะไรใช้อะไร? งานบริการก็จะโตขึ้นคนที่มีความรู้ในแปดสาขาอาชีพมีโอกาสทำงานนอกประเทศตัวเองมากขึ้น การถ่ายเทแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมก็จะมีมากขึ้น เราอาจได้ดู “รามเกียรติ์” ในแบบฉบับของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา หรือลาว ก็จะมีให้เห็นได้ การแลกเปลี่ยนครูผู้สอน อาจารย์จากสถาบันการศึกษาน่าจะมีมากไปด้วย ความร่วมมือในการป้องกันอาชญากรรม การค้าของหนีภาษี ยาเสพติดโดยเฉพาะประเทศที่มีเขตแดนติดกัน ไม่ว่าจะเป็นผืนแผ่นดินใหญ่ระหว่างไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา หรือเกาะบอร์เนียว ระหว่างบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย แต่ที่สำคัญการอยู่ร่วมกันในอนาคตไม่ได้เป็นเรื่องของประเทศ แต่จะกลายเป็นเรื่องของภูมิภาค คำถามว่า “แล้วคนอาเซียน” ต้องมีลักษณะอย่างไร ที่พอจะบอกได้ว่านี่แหละคือคนในประชาคมอาเซียน คนอาเซียนมีทั้งที่แตกต่างกันและคล้ายคลึงกัน เช่น ภาษาพูด ยังคงมีภาษาพูดภาษาเขียนที่แตกต่างกันมาก จนต้องกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง วัฒนธรรมด้านอาหารการกินดูเหมือนจะคล้ายคลึงกัน การแต่งกายมองเผินๆ ก็ใกล้เคียงกัน ฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงคนอาเซียนให้สามารถบ่งบอกความเป็นผู้ที่มาจากอาเซียนได้จึงต้องพิจารณาในแง่มุมดังนี้ 1. ความที่คนในรัฐสมาชิกอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกัน คืออยู่ในเขตมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ มีลมมรสุมที่พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดข้ามมหาสมุทรอินเดียจากเส้นศูนย์สูตรเข้าสู่ภาคพื้นทวีป ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม อิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้เกิดฝนตก ฤดูฝนเป็นฤดูแห่งการเพาะปลูกของพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่ ทำให้คนอาเซียนยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ สภาพภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสายที่เหมาะสมแก่การทำการเกษตรและการประมง ทำให้อาเซียนเหมาะที่จะเป็นแหล่งอาหารของโลก และเพราะเหตุนี้หรือไม่ที่ทำให้สัญลักษณ์ของอาเซียนคือรวงข้าวสิบกอมัดรวมกัน 2. การเป็นคนในภูมิภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์ คนอาเซียนจึงเป็นผู้มีบุคลิกภาพเยือกเย็น มีน้ำใจไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เรื่องนี้อาจเป็นเพราะสภาพสังคมวัฒนธรรมของการเป็นคนในสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกหรือมีอาชีพทางการเกษตร ไม่ได้มีความเร่งรีบทำงานแข่งกับเวลาดังเช่นประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่กลายเป็นประเทศภาคบริการการเงินและการพาณิชยกรรม ก็มีลักษณะบุคลิกภาพที่แตกต่างออกไป 3. เมื่อการเกิดประชาคมย่างก้าวเข้ามาคนในภูมิภาคนี้จะต้องก้าวข้ามความเป็นประเทศ โดยมุ่งไปสู่ความเป็นภูมิภาค หมายความถึง การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือการพึ่งพิงอิงกันของคนในภูมิภาคให้มาก ลดการเห็นแก่ผลประโยชน์ชาติให้น้อยลง แต่ต้องร่วมมือกันปกป้องผลประโยชน์ทั้งภูมิภาค รวมทั้งต้องมุ่งให้เกิดความกลมกลืนกันของคนในภูมิภาค ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการ หรือการออกแบบโครงสร้างการทำงานในลักษณะของสภาแห่งอาเซียนแล้วมีคณะกรรมาธิการดูแลรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ แทนการให้ฝ่ายบริหาร (รัฐมนตรี) ของแต่ละประเทศมานั่งประชุมกันปีละครั้ง ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาล่าช้าและรัฐมนตรีของแต่ละประเทศก็ยังพกพาเอาผลประโยชน์ของแต่ละประเทศมานั่งถกกัน ผลสำเร็จก็จะไปไม่ถึงไหน 4. ความสามารถรับรองผู้มาเยือนทั้งในและนอกภูมิภาค คนอาเซียนนอกจากจะต้องรู้สองภาษาคือภาษาตนเอง ภาษาเพื่อนบ้านเป็นภาษาที่สองแล้วยังต้องเรียนภาษาที่สามคือภาษาอังกฤษอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหากับคนในยุคปัจจุบันที่มีอายุเกินสี่สิบปีขึ้นไป แต่ต่ำกว่าสี่สิบปีลงมาที่ต้องเคลื่อนย้ายตัวเองไปทำงานนอกประเทศ ก็จำเป็นต้องสนใจใฝ่รู้ เรื่องของคนอาเซียนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเรารวมกันแต่รูปแบบของประชาคม แต่เนื้อหาหรือการปฏิบัติยังเน้นตัวตนแต่ละประเทศก็จะเหมือนเดิมก่อนการรวมเป็นประชาคม และประการสำคัญคือ สำนักงานเลขาธิการอาเซียนต้องพยายามส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรประชาคม หรือประชาสังคมได้มีโอกาสประชุมแลกเปลี่ยนพูดคุยกันให้มาก แทนที่จะปล่อยให้ทุกเรื่องตกอยู่ในความรับผิดชอบหรือการตัดสินใจของภาครัฐเสียทุกเรื่องไป สมชาติ เจศรีชัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง |
![]() |