IPPS in last year
Contact us
Site Map
Homepage
หน้าแรกHomepageAbout IPPSAbout IPPSPublicationPublicationArticleDemocracy MonitoringDemocracy MonitoringSocial ReformActivities
 
กิจกรรม (Thai)
การจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน

วันที่ 3 พฤษภาคม 2556 สถาบันนโยบาย ได้มีโอกาสไปจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน” ที่โรงเรียนนารีนุกูล อ.เมอง จ.อุบลราชธานี โดยอาจารย์หนูเพียร ปรุโปร่ง ได้ประสานขอความร่วมมือ องค์ความรู้ และการสนับสนุนให้เกิดงานนี้ ซึ่งทำให้สถาบันฯ สามารถจัดเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของการประสานความร่วมมือกับวิทยากร และการขอเอกสารเรื่องอาเซียนที่จำเป็นในการจัดงานครั้งนี้ จากกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ และได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะมีวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องอาเซียนถึง 2 ท่าน คือ คุณสมชาติ เจศรีชัย ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ คุณเคาส์เพเทอร์ ฮิลล์ (Mr.Clauspeter Hill) ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทย ยังได้เดินทางไปเป็นวิทยากรให้ความรู้และประสบการณ์ของประชาคมยุโรป (European Union – EU) ในครั้งนี้อีกด้วย




นายวิโรจน์ ดวงมาลา
ในช่วงเช้าวันที่ 3 พฤษภาคม ผู้อำนวยการโรงเรียน นายวิโรจน์ ดวงมาลา ได้กล่าวต้อนรับคณะวิทยากร และผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และแสดงความรู้สึกตื่นตัวและภูมิใจที่การจัดงานครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากสถาบันฯ โดยเฉพาะมีวิทยากรมาหลายคน ถือว่าเป็นทีมใหญ่ที่มาให้ความรู้ ซึ่งปกติแล้วก็จะมีวิทยากรเพียง 1 หรือ 2 ท่านเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเอกสาร หนังสือเกี่ยวกับอาเซียนหลายเล่มจัดไว้ให้ครูทุกท่าน ซึ่งครูทั้งโรงเรียนมาร่วมงานครั้งนี้ 192 ท่าน ทำให้โรงเรียนนารีนุกูลได้รับโอกาสอย่างเต็มที่ และกล่าวว่า ผลจากการจัดงานครั้งนี้จะทำให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการจัดการเรียนการสอนเรื่องอาเซียนของจังหวัดอุบลราชธานีต่อไปด้วย


คุณเคาส์เพเทอร์ ฮิลล์
คุณเคาส์เพเทอร์ ฮิลล์ ได้รับเชิญให้กล่าวถึงประสบการณ์ของประชาคมยุโรป (European Union –EU) หรือที่เรียกติดปากย่อๆ ว่า อียู (EU) และกล่าวถึงการรวมตัวของชาติอาเซียนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อก่อตั้งประชาคมอาเซียนหรืออาเซียน (ASEAN) ซึ่งต้องการความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ซึ่งต่างจากประชาคมยุโรป หรือ อียู ที่ได้มีการพัฒนาไปถึงการเป็นองค์กรเหนือรัฐ เพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ โดยเป็นตลาดเดียวกัน มีเงินสกุลเดียวกันคือ ยูโร ด้านการพัฒนาภูมิภาค ซึ่งรวมถึงนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งประสบการณ์ของประชาคมยุโรปจะทำให้ชาติสมาชิกของอาเซียนได้เรียนรู้ถึงการพัฒนาของประชาคมอาเซียนบนพื้นฐานของอาเซียนเอง ซึ่งแตกต่างไปจากประชาคมยุโรป ซึ่งนับว่าเป็นความพยายามของชาติสมาชิกที่จะพัฒนาไปสู่ความร่วมมือในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง บนพื้นฐานของความเป็นอาเซียนเอง


คุณสริญญา แท่นแก้ว
ในโอกาสนี้ คุณสริญญา แท่นแก้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ได้กรุณาทำหน้าที่เป็นล่ามแปลในครั้งนี้ และทำให้ครูที่เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ได้เข้าใจในเรื่องของประชาคมยุโรปเพิ่มมากขึ้น


คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร
คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา ได้ให้ความรู้ในเรื่องอาเซียนตั้งแต่แนวคิดของการก่อตั้ง และพัฒนาการของการเติบโต จนเป็นอาเซียนมาถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมา จากการก่อตั้งขององค์กรต่างๆ ตั้งแต่การริเริ่มก่อตั้งองค์กร อาซา (ASA) และซีโต้ (SEATO) ในช่วงสงครามเย็น และพัฒนามาสู่องค์กรประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ อาเซียน (Association of Southeast Asia Nations – ASEAN) และเป็นประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Community) เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการรวมตัวและความร่วมมืออย่างรอบด้าน ซึ่งพัฒนาการของอาเซียนเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับสากล ทำให้เกิดการรวมตัวกันจากกลุ่มประเทศเล็กๆ เพื่อสร้างความอยู่รอดท่ามกลางความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจที่เข้ามามีอิทธิพลเหนือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปรับตัวตามสถานการณ์สากลภายหลังการคลี่คลายของการขัดแย้งทางลัทธิ อุดมการณ์ทางการเมืองในยุคสงครามเย็น จนกระทั่งเกิดการรวมตัวกันเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นหลักในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งที่ครั้งหนึ่งในอดีตมีความขัดแย้งทางลัทธิ อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน


คุณสมชาติ เจศรีชัย นำสู่การเรียนรู้เรื่องอาเซียนด้วยกระบวนการกลุ่มและการเล่นเกมส์ เพื่อให้เรื่องอาเซียนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย และทำให้น่าสนใจที่จะติดตามต่อไป ทั้งการวาดรูปโดยครูแต่ละคนเพื่อสะท้อนจินตภาพที่ครูแต่ละคนรับรู้มาว่าอาเซียนที่รู้จักคืออะไร แล้วนำมาเข้ากลุ่ม 10 คน นำภาพมาหลอมรวมกันเป็นภาพอาเซียน ที่เห็นร่วมกัน และสามารถอธิบายได้ ทำให้ได้เห็นภาพอาเซียนที่ใหม่ขึ้น กว้างขึ้นจากความคิด มุมมอง และประสบการณ์ของหลายๆ คน และทุกกลุ่มได้นำเสนอภาพอาเซียนเพื่อแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ วิทยากรยังได้ให้ความรู้เรื่องกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ผ่านการเล่นเกมส์ เพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจในเรื่องของอาเซียน และกฎบัตรที่มีความสำคัญต่อชาวอาเซียน ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ครูคิด ตั้งคำถาม สงสัย และมีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าว ซึ่งสร้างความสนุกสนานให้กับครูเป็นอย่างมาก ซึ่งครูที่เล่นเกมส์นี้ต่างสะท้อนออกมาว่า เป็นการเรียนรู้เรื่องอาเซียนที่สนุกมาก ทำให้เรื่องอาเซียนซึ่งไกลตัวเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น และทำให้อยากที่จะติดตามเรื่องอาเซียนต่อไป


ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล
หลังจากที่ช่วงเช้าวิทยากรได้ให้พื้นฐานความรู้และพัฒนาการอาเซียนแล้ว ช่วงบ่ายเป็นการทำความเข้าใจเรื่องอาเซียนกับการจัดกระบวนการเรียนการสอนให้เข้ากับสาระวิชาต่างๆ ในระบบการศึกษา โดย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล เป็นวิทยากรได้ทำความเข้าใจต่อสาระความรู้เรื่องอาเซียน ตั้งแต่เรื่องภาษา ที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีความแตกต่างกันในเรื่องภาษา จึงจำเป็นที่ต้องใช้ภาษาสากลที่เป็นภาษากลางคือภาษาอังกฤษที่ใช้ทั่วโลกอยู่แล้ว นอกจากนี้ ควรที่คนไทยจะต้องใฝ่รู้เรื่องภาษาเพื่อนบ้านที่อยู่กับเราให้มากขึ้นด้วย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างกันให้มากขึ้น ส่วนภาษาไทย ขณะนี้ก็เป็นภาษาที่ประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกันสามารถสื่อสารใช้กันมากขึ้น เพราะไทยเป็นประเทศศูนย์กลางของประเทศอาเซียนที่เป็นผืนแผ่นดินอันประกอบด้วย ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า มาเลเซีย และด้วยความหลากหลายทางภาษา เชื้อชาติ ความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรม ทำให้การใช้ภาษา การสื่อสาร รวมถึงวัฒนธรรม การใช้ชีวิต อาหาร การแต่งกาย มีความเกี่ยวพันกันอย่างมาก ซึ่งสะท้อนถึงการติดต่อเคลื่อนย้ายกันทางวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิมอยู่แล้ว



ฉะนั้น การสอนเรื่องอาเซียนจึงไม่ใช่วิชาที่เริ่มต้นใหม่ที่ยุ่งยาก แต่เป็นการสอนที่เพิ่มไปในวิชาต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น วิชาภูมิศาสตร์ ที่มีเรื่องภาษา ศิลปวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ และอาชีพของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งในพื้นฐานเดิมก็มีเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แต่เพิ่มเติมสาระที่เป็นกลุ่มประชาคมอาเซียนเข้าไป เรื่องวิชาประวัติศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ก็สอนเรื่องประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่เชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียนมากขึ้น แม้แต่เรื่องภาษาไทยก็สามารถชี้ให้เห็นว่า วิวัฒนาการภาษาไทยนั้น มีคำที่นำมาจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้จนกลายเป็นภาษาไทยที่เป็นทางการไปแล้วในปัจจุบัน อันเป็นการสะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการการไหลบ่าทางวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนระหว่างกัน การใช้ชีวิตของคนในภูมิภาคอาเซียนที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหากครูได้เข้าใจดังนี้แล้ว ก็จะทำให้การนำเอาสาระความรู้เรื่องอาเซียนเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ การสอนได้ไม่ยาก ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ครูมีความเข้าใจในเรื่องวิธีการที่จะสอดแทรกในสาระวิชาการเรียนการสอนได้มากขึ้น


จากการประเมินแบบสอบถามจากคุณครู 132 ท่าน ต่างพึงพอใจต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องอาเซียนให้แก่ครูในครั้งนี้มาก ทำให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น และเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการที่จะนำไปสอนนักเรียนและแยกแยะเรื่องราวที่เป็นอดีต และปัจจุบันของประเทศต่างๆ ของอาเซียนได้อย่างถูกต้อง และได้เรียนรู้กระบวนการถ่ายทอดความรู้ที่ดี ทำให้ครูรู้วิธีการบูรณาการเรื่องอาเซียนในวิชาต่างๆ ที่มีทั้งความรู้และข้อมูลที่ก้าวหน้า ทำให้ครูได้ความรู้เตรียมตัวก่อนเปิดเทอม และขอบคุณสถาบันนโยบายศึกษาและทีมวิทยากรที่มาเป็นทีมใหญ่ ที่ให้ความอนุเคราะห์แก่โรงเรียน

อย่างไรก็ดี การจัดงานครั้งนี้ ยังได้รับการอนุเคราะห์เอกสารข้อมูลเรื่องอาเซียนทั้งแผ่นพับ และหนังสือหลายเล่มจากกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งสถาบันฯ ขอขอบพระคุณอธิบดีกรมอาเซียน มา ณ โอกาสนี้ ซึ่งช่วยทำให้การประชุมครั้งนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้สถาบันฯ ไม่ต้องผลิตเอกสารเรื่องอาเซียนขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณอีกมาก

 


Print Version