|

“รู้ไทย – รู้อาเซียน”
ปุจฉา
อยากทราบที่มาและความสำคัญของกฎบัตรอาเซียน รวมถึงสถานะของอาเซียนตามกฎหมายระหว่างประเทศ?
วิสัชนา
ภายหลังการก่อตั้งอาเซียนแล้ว ได้มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 (ค.ศ. 2007) ณ ประเทศสิงคโปร์เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งอาเซียน จึงได้มีการลงนามรับรองกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) หรือธรรมนูญอาเซียน ครบทั้ง 10 ประเทศ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 (2008) เพื่อให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงความก้าวหน้าของอาเซียนที่กำลังจะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นใจ กฎบัตรอาเซียนประกอบด้วยค่านิยม หลักการ และแนวปฏิบัติในการดำเนินงานขององค์กร การมีกฎบัตร (Charter) จึงทำให้อาเซียนเป็นนิติบุคคลที่เป็นองค์กรระหว่างรัฐ (Intergovernmental Organization) หรือ องค์การระหว่างประเทศ (International Organization) ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลระดับรองจากบุคคลธรรมดาตามหลักกฎหมายแพ่ง ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากอาเซียนเกิดจากข้อตกลงกันระหว่างรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไปโดยรู้จักกันในนามของ “องค์การระหว่างรัฐ” จึงเป็นองค์การระหว่างประเทศที่รัฐเป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งย่อมมีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย การประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนมีกรอบการคิดและการดำเนินงานระหว่างชาติสมาชิกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเคารพกฎกติกาในการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งกฎบัตรอาเซียน ประกอบด้วยบทบัญญัติ 13 หมวด 55 ข้อ ซึ่งหมวดที่ว่าด้วยวัตถุประสงค์และหลักการของอาเซียนปรากฏอยู่ในหมวดที่ 1 โดยมีสาระสำคัญๆ สรุปได้ดังนี้ คือ
1. หลักการของกฎบัตรอาเซียน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การไม่แทรกแซงกิจการภายใน การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี โดยเน้นการรวมศูนย์กับความสัมพันธ์กับภายนอก เป็นเหตุให้กฎบัตรอาเซียนเป็นเสมือนเสาหลักของการสร้างประชาคมอาเซียนและเน้นย้ำถึงข้อผูกมัดทางกฎหมายของข้อตกลงต่างๆ ในระหว่างรัฐสมาชิก
2. วัตถุประสงค์ของกฎบัตรอาเซียน เป็นการประมวลบรรทัดฐาน (Norm) และค่านิยม (Value) ของอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย- การส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การเสริมสร้างประชาธิปไตย เพิ่มพูนธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรม ตอบสนองต่อสิ่งท้าทายความมั่นคง เช่น การก่อการร้ายการรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ การเพิ่มความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
- การส่งเสริมการสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวและความสามารถในการแข่งขันสูง การรวมตัวทางเศรษฐกิจที่มีการเคลื่อนย้ายเสรีของสินค้า/บริการ การลงทุนและแรงงาน การเคลื่อนย้ายทุนเสรียิ่งขึ้น การบรรเทาความยากจน และลดช่องว่างการพัฒนา
- การส่งเสริมพัฒนาการทรัพยากรมนุษย์ผ่านความร่วมมือด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีพ การส่งเสริมอาเซียนให้เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างสังคมที่ปลอดภัยมั่นคงจากยาเสพติด เพิ่มพูนความกินดีอยู่ดีของประชาชนอาเซียน ผ่านโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์, สวัสดิการ และความยุติธรรม สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คุ้มครองสภาพแวดล้อม ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการส่งเสริม อัตลักษณ์ของอาเซียนโดยเคารพความหลากหลายและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
จากกฎบัตรอาเซียนในหมวดที่ 1 ดังข้างต้น ทำให้เราเห็นภาพรวมของการก่อตั้งอาเซียนที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปในทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หากมีทิศทางทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง และด้านสังคม-วัฒนธรรม อีกด้วย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นตลาดเดียว และฐานการผลิตเดียวกัน มีการเคลื่อนย้ายแรงงานและทุนเสรี ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2558 อันจะก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ทิศทางการพัฒนาของอาเซียนดังกล่าว อาจศึกษาได้เทียบเคียงกับประสบการณ์ของสหภาพยุโรปที่เหมือนกับองค์การ OPEC (Organization of the Petroleum Exporting Countries)ได้พัฒนาเป็นตลาดเดียว (single market) ผ่านระบบกฎหมายที่เป็นมาตรฐานใช้บังคับรัฐสมาชิก มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน สินค้า บริการและทุนอย่างเสรี มีการพัฒนาภูมิภาคร่วมกัน มีระบบยูโรโซน ซึ่งเป็นสหภาพการเงิน ใน พ.ศ. 2542 และได้พัฒนาบทบาทในความสัมพันธ์กับภายนอกและการป้องกันผ่านนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกัน โดยนัยดังกล่าว ประสบการณ์ของสหภาพยุโรปหรืออียู ภายใต้บริบทของสังคมกลุ่มประเทศในยุโรป จึงเป็นทั้งตัวอย่าง บทเรียน และความท้าทายแก่ชาติสมาชิกอาเซียน ที่จะสร้างบทบาทร่วมในการพัฒนาองค์กรประชาคมอาเซียนให้มีความก้าวหน้าและมั่นคงภายใต้ความแตกต่างในบริบทของอาเซียนเอง
ท้ายคอลัมน์ฉบับนี้มีคำถามชวนร่วมสนุกเช่นเคยครับ ถามว่า “ประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนล่าสุดคือประเทศใด เมื่อปีใด?” ไม่ยากเลยครับ ส่วนผู้ที่ตอบคำถูก ฉบับที่แล้วที่ถามว่า “อาเซียนมีการรวมตัวกันครั้งแรกกี่ประเทศ และเมื่อใด” คำตอบ คือ “ 5 ประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2510”ครับ เราจะจัดส่งของรางวัลให้ท่านที่ตอบคำถามได้ถูกต้องต่อไปครับ
สมชาติ เจศรีชัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
|
|