
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง
เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ร่วมกับ ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีเสวนาร่วมรณรงค์ด้านการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ ห้องประชุมนวลนาฏ อมาตยกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเวทีเสวนาครั้งนี้มีนักวิชาการ ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และผู้สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 30 ท่าน | 
| รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศูนย์พัทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมเสวนาพร้อมทั้งเปิดประเด็นแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนาว่า “ความสำคัญของการสร้างพลเมืองที่กระแสสังคมให้ความสนใจ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย รวมไปถึงในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการผลักดันให้เกิดความร่วมมือเป็นภาคีเครือข่าย ผลจากเวทีเสวนาในวันนี้หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำไปปฏิบัติได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างพลเมืองให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งนี้ รศ.ดร.โกวิทย์ ยังได้กล่าวชื่นชม สถาบันนโยบายศึกษา ในฐานะหน่วยงานที่มีผลงานด้านการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลความรู้และความคิด (Think Tank) เกี่ยวกับการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองอีกด้วย เพราะประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมาจากรากฐานของความเป็นพลเมือง จึงควรที่จะเริ่มจากการศึกษาตั้งแต่ส่วนท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ โดยเฉพาะส่วนปกครองท้องถิ่นในฐานะหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน ควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก”
คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง โดยยกตัวอย่างการทำงานของคนเยอรมันที่ดู “ความสำเร็จ” ของงาน ไม่ใช่เพียงแต่ทำให้ “เสร็จ” เท่านั้น ดังนั้นรูปแบบของการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) จากประสบการณ์ที่ได้ไปเรียนรู้ที่ประเทศเยอรมันนี จึงเน้นคุณค่าความเป็นมนุษย์และความรับผิดชอบ (Freedom based on Responsibility) ในประเด็นนี้ คุณทิพย์พาพร ได้เชื่อมโยงให้เห็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์มีศักดิ์ศรีและมีศักยภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง ซึ่งสำหรับประเทศเยอรมันนีเองเกิดขึ้นอย่างชัดเจนภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และในปี ค.ศ. 1965 ได้เกิดการปฏิรูปการศึกษาขึ้น (Re-education) ซึ่งมุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมโดยการไม่ชี้นำ ไม่ครอบงำในกิจกรรมการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ อีกทั้งการเน้นย้ำความสำคัญอย่างมากของการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตอีกด้วย ประเด็นเหล่านี้ สำหรับประเทศไทย มีคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองให้เกิดขึ้นในสังคมไทยและลงลึกถึงระดับท้องถิ่นด้วย เพื่อให้คนไทยมีส่วนร่วมในการปกครองในฐานะของพลเมืองอย่างแท้จริงในสังคมประชาธิปไตย ที่สามารถร่วมคิดและกำหนดประเด็นเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองตั้งแต่ในระดับชุมชน จนถึงระดับชาติ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้การกำหนดและครอบงำจากผู้นำทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่
รศ.ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก กรรมการนโยบาย Thai PBS ได้เล่าถึงประสบการณ์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เยอรมัน หรือสิงคโปร์ ล้วนเป็นประเทศที่ใครๆ ก็พยายามหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการพัฒนาคน ทั้งนี้ประเทศที่กล่าวมาข้างต้นนั้นล้วนผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายมาทั้งสิ้น จึงก่อให้เกิดการปรับตัว ซึ่งแตกต่างจากสังคมไทยที่ยังมีความเป็นชนชั้นทางสังคมอยู่มาก รศ.ดร.สมพันธ์ ได้กล่าวถึงพลเมืองว่า คือ คนที่ตื่นรู้และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาคน เพื่อนำไปสู่ความเป็นพลเมืองที่ขันแข็งของประเทศนั้น ไม่สามารถทำทีเดียวได้ทั้งประเทศ หากแต่ต้องเริ่มจากพลเมืองที่มีความสนใจต่อบ้านเมือง (Active Citizen) กลุ่มเล็กๆ ก่อนแล้วจึงขยายไปสู่กลุ่มใหญ่ เริ่มจากท้องถิ่นเล็กๆ ให้สำเร็จงดงาม แบบsmall is beautiful โดยไม่ต้องไปเริ่มจากโครงสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่สามารถเริ่มจากคน บุคคลในท้องถิ่น โดยหวังจากเด็กไม่ใช่จากคนรุ่นเรา ซึ่งเห็นด้วยแบบที่เยอรมันทำแล้วสำเร็จ นอกจากนี้ รศ.ดร.สมพันธ์ ยังได้พูดถึงสื่อที่เยาวชนไทยได้เสพแต่ข่าวร้ายจึงลืมเรื่องดีๆ และสื่อเองก็ยังไม่สามารถนำเสนอเรื่องดีๆได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากหากสื่อเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเผยแพร่และโฆษณาให้เห็นความสำคัญเรื่องการทำความดีเพื่อส่วนรวม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคม การสร้างพลเมือง จึงควรมุ่งไปที่ท้องถิ่น มีการจัดทำยุทธศาสตร์ตั้งแต่เด็ก เป็นยุทธศาสตร์ 10-20 ปี อาจจะต้องคิดกันเริ่มจากชุมชนและใช้สื่อด้วย
ผศ.ดร.มนตรี กรรพุมมาลย์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวพร้อมกับเสริมว่า ท้องถิ่นเองควรให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมาสถาบันพระปกเกล้าได้จัดโครงการสำนึกพลเมือง (Project Citizen) ในโรงเรียนโดยการคัดเลือกกิจกรรมดีเด่นแล้วขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้งบประมาณสนับสนุนในการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการ นอกจากนี้ ผศ.ดร.มนตรี ยังเห็นว่าการส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ตัวอย่างง่าย ๆ คือเรื่องความรับผิดชอบและความเป็นส่วนตัวนั้นเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งการจัดการเรียนการสอนเรื่องพลเมืองนี้ควรเป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่งเป็นหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีหลักสูตรการสร้างพลเมืองในท้องถิ่น
ในการเสวนา ผู้เข้าร่วมทุกท่านได้ให้ความคิดเห็นที่มีคุณค่าหลากหลาย
ผศ.ดร.ทรงจิต พูลลาภ สถาบันวิจัย RLDP ได้กล่าวชื่นชมความรู้ที่ได้รับจากคุณทิพย์พาพร พร้อมเปิดประเด็นการร่วมแลกเปลี่ยนว่า การสร้างพลเมืองนั้น ควรให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ด้วย คนเราต้องยอมรับความผิดพลาดในอดีต หรือ ผิดเป็นครู เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมัน ที่ผ่านสงครามโลกมา หรือแม้แต่กระทั่งประเทศอิสราเอล ที่มีพิพิธภัณฑ์ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไว้ให้คนในประเทศได้เรียนรู้ถึงความผิดพลาดในอดีตที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ต่างจากประเทศไทยที่ละเลยวิชาประวัติศาสตร์ และพยายามปิดบังความจริง ไม่เรียนรู้จากอดีตแล้วนำมาพัฒนาแก้ไข ดังนั้นการสร้างพลเมืองไม่ว่าจะเป็นในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือเรื่องของประวัติศาสตร์ ที่ต้องนำความจริงมาศึกษาเพื่อเรียนรู้อย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ ผศ.ดร.ทรงจิต ได้สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองนั้น ควรจะ “สร้างพลเมืองแบบเยอรมัน ขยันแบบเกาหลี สู้ไม่หนีอย่างอิสราเอล มีวินัยแบบญี่ปุ่น ลุ้นทุกอย่างแบบไทยๆ”
ดร.วัฒนา อัคคพานิช คณะมนุษยศสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม พูดถึงประเด็นของการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง โดยมองว่าสาเหตุที่การพัฒนาประชาธิปไตยไม่มีความก้าวหน้าเนื่องจากคนไทยขาดความตระหนัก ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสังคมและการเมือง ที่สำคัญไม่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ขาดวิจารณญาณในการตัดสินใจทางการเมือง จึงไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่แท้จริง ดังนั้นเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองต้องทำความเข้าใจในทุกระดับ ตัวบุคลากรทางการศึกษาเองควรจะเรียนรู้และเข้าใจอย่างแท้จริงก่อนที่จะถ่ายทอดสู่นักเรียน โดยทำให้เป็นเรื่องง่าย ไม่ยุ่งยาก และผู้เรียนรู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วม ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองสามารถเข้ามามีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ได้ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งมีหน้าที่จัดการศึกษาให้แก่เยาวชนในพื้นที่โดยตรง
อาจารย์อรรถพล วชิรสิโรดม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากประเทศเยอรมันนี ที่ได้ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ถนนทางการเมือง มีกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เล็งเห็นว่าเยาวชนเหล่านี้คืออนาคตของประเทศ ในบริบทของไทยเองก็มีการตื่นตัวในเรื่องนี้ค่อนข้างมากแม้ว่าในทางปฏิบัติจะยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยในระดับโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยเองได้มีการสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมที่เสริมสร้างจิตอาสา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยกล่อมเกลาเยาวชนให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากยิ่งขึ้น
ดร.สรชาติ วิชย สุวรรณพรหม สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในอดีตมีบทบาทเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เคยไปศึกษาดูงานกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ซึ่งเป็นมูลนิธิทางการเมืองของเยอรมัน ได้สนับสนุนให้นักการเมืองรุ่นใหม่ของไทยหลายคนไปศึกษาดูงานที่เยอรมันในช่วงมีรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญของเราก็เรียนรู้จากเยอรมันมาก ได้เคยไปอยู่ที่เบอร์ลิน เพื่อศึกษาหลายครั้ง สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.กระจายอำนาจ ก็ได้รับแนวคิดความรู้มาจากเยอรมันมาก ได้รับรู้หลายสิ่งหลายอย่างที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับประเทศเช่นที่คุณทิพย์พาพร ได้พูดมา ผมเคยอยู่ที่กระทรวงแรงงาน ก็นำแนวคิดมาศึกษาและส่งคนไทยศึกษาดูงานที่เยอรมันหลายครั้ง ซึ่งก็เห็นว่าการศึกษาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยการสร้างพลเมืองให้มีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีการแสดงออกถึงสิทธิและเสรีภาพโดยการเคารพต่อผู้อื่นเป็นเรื่องจำเป็น แต่จะเข้าสู่การจัดทำได้อย่างไรในประเทศไทย ที่ให้เข้าไปอยู่ในท้องถิ่นได้ด้วย เพราะจากจุดเล็กๆ กับการศึกษาที่ระดับท้องถิ่น อาจจะเป็นทางที่ทำได้ง่ายและเห็นผล จะช่วยในเรื่องการเมืองท้องถิ่นได้โดยตรงด้วย เพราะการเลือกตั้ง การเมืองท้องถิ่นยังคงผูกขาดผู้ที่ระดับนำเหมือนเดิม
ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาฯ ในวันนั้นได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้พร้อมทั้งข้อเสนอแนะในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกันอย่างออกรส โดยทุกท่านหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้หรือข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกันนั้นจะถูกนำไปปฏิบัติและมีการติดตามผล ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองควรจะมีเจตจำนง ที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ที่สำคัญหากมีพื้นที่ไหนประสบความสำเร็จควรมีการถอดบทเรียนและเผยแพร่ความรู้ต่อไป เวทีเสวนาครั้งนี้จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจักได้ตระหนักถึงภารกิจที่สำคัญกับการสร้างพลเมืองให้แก่ประเทศ โดยสถาบันนโยบายศึกษาจักได้นำเสนอองค์ความรู้เพื่อเผยแพร่ต่อไป
|