|

“รู้ไทย – รู้อาเซียน”
ปุจฉา
ทำไมเมื่อมีสมาคมประชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN และทำงานไปได้ดีอยู่แล้ว จึงต้องทำให้เป็นประชาคมอาเซียนด้วย
วิสัชนา
เรื่องนี้คงมีเหตุผลหลายประการ แต่ประการสำคัญที่สุดคือ ผลประโยชน์แห่งภูมิภาคในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกในกระแสโลกในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) การเคลื่อนตัวของโลกยุคดิจิตอลเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนของเศรษฐกิจ อาทิ การทำธุรกรรมทางการเงินของกลุ่มทุน การแสวงหาแหล่งผลิตอาหาร แหล่งพลังงาน การเคลื่อนทางสังคมวัฒนธรรม อาทิ ศิลปะ ดนตรี การกินการอยู่ การแต่งงานข้ามประเพณี หรือการเคลื่อนทางการเมืองและความมั่นคง อาทิ การก่อการร้าย ยาเสพติด การก่อคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและไม่อาจต้านทานได้ เราไม่สามารถปิดประเทศ หรืออยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ต้องพึ่งพาประเทศใดๆ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเราจะอยู่ร่วมกับความเป็นไปของโลกได้อย่างไร
เมื่อโลกนี้มีการเคลื่อนย้ายถ่ายเทกันไปมาได้อย่างรวดเร็วและเสรีมากขึ้น ลักษณะการรวมเป็นกลุ่มประเทศจึงมีมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเดียวกัน สถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาระหว่างประเทศเริ่มขยายวงกว้างและมีจำนวนมากขึ้น เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า “การเบียดเบียนโลก”มีมากขึ้น หลังจากอาเซียนก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2510 แล้ว เมื่อสถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงไป อาเซียนจึงต้องรวมตัวกันเป็นประชาคม เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ โดยการผนึกกำลังของประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งมีประเทศสมาชิก 10 ประเทศมีความเข้มแข็งและเกิดการเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและปัญหาท้าทายต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ผู้นำอาเซียน จึงเห็นพ้องกันว่า ควรกำหนดให้มีการสร้างประชาคมอาเซียนขึ้นตามข้อตกลงบาลี 2 เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ที่ เห็นชอบให้จัดตั้ง ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) โดยมุ่งให้ประเทศในอาเซียนเป็นชุมชนเดียวกัน (0ne community) เนื่องจากการแข่งขันรุนแรงทางด้านเศรษฐกิจ เช่น อัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของจีนและอินเดียสูงมากในช่วงที่ผ่านมา ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ชะอำ หัวหิน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552 ผู้นำอาเซียนได้ลงนามรับรองปฏิญญาชะอำ หัวหิน ว่าด้วยแผนงานจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ค.ศ. 2009-2015) เพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2558
การเป็น ASEAN Community เปรียบเสมือนบ้านแต่ละหลังที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านต่างก่อกำแพงหรือมีรั้วบ้านสูงด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่าจะอยู่ในสมาคมหรือหมู่บ้านเดียวกันก็จะไม่สามารถต้านทานปัญหาจากภายนอกที่ถาโถมเข้ามาทุกทิศทุกทางได้ เจ้าของบ้านแต่ละหลังจึงตกลงใจกันในการเอากำแพงหรือรั้วบ้านออก ให้มีการเดินทางเข้าไปในบ้านของเพื่อนบ้านได้สะดวกยิ่งขึ้น สร้างข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน มีความร่วมมือด้านต่างๆ มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็พยายามลดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้หมดไป ลดช่องว่างและความเลื่อมล้ำในการพัฒนาประเทศให้เหลือน้อยลง ความสำเร็จของการรวมตัวกันเป็นประชาคมของ“สหภาพยุโรป” หรือ EU (European Union) ทำให้เกิดการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนความมั่นคงของภูมิภาคยุโรปอาจเป็นตัวแบบสำคัญที่ทำให้อาเซียนตื่นตัวต่อการรวมตัวกันในรูปของ “ประชาคม(community)” ก็เป็นได้ เพราะหากพิจารณาภาพรวมของอาเซียนแล้วจะพบกับความโดดเด่นหลายประการ อาทิ การเป็นแหล่งพลังงาน (อินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซีย เมียนมาร์) แหล่งอาหารทั้งเกษตรกรรมและ สินค้าประมง (ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา มาเลเซีย) แหล่งแร่ธรรมชาติ (เมียนมาร์ ลาว ฟิลิปปินส์ ไทย กัมพูชา) แหล่งท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ หรือแหล่งผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนการขนส่งทางอากาศ (การบิน)
ความที่ประเทศสมาชิกของอาเซียนมีความใกล้เคียงกันทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจรวมทั้งมีความโดดเด่นในทุกๆ ด้าน จะก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันเวทีโลกหากมีการรวมกันเป็น “ประชาคม” โดยลดอุปสรรคระหว่างประเทศสมาชิกก็จะทำให้เอาเซียนเป็นประชาคมที่เดินไปด้วยกัน และสามารถอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่งในลักษณะของความร่วมมือแห่งภูมิภาค ดังคำกล่าวที่ว่า "One Vision, One Identity, One Community" หรือ “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม”
สมชาติ เจศรีชัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
|
|