IPPS in last year
Contact us
Site Map
Homepage
หน้าแรกHomepageAbout IPPSAbout IPPSPublicationPublicationArticleDemocracy MonitoringDemocracy MonitoringSocial ReformActivities
 
ติดตามประชาธิปไตย (Thai)
มิถุนายน 2555 : ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยเรื่องแก้ไข รธน.

  • ศาล รธน. รับวินิจฉัยเรื่องแก้ไข รธน.
  • สภาฯ เลื่อนถก กม.ปรองดอง
  • คอป.เตือนระวังวิกฤติชาติ
  • นาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการ
  • กกต. แจกใบแดง "เก่ง การุณ" พ้น ส.ส.
  • ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3 จังหวัดใต้ 3 เดือน
  • อสส. ส่งฟ้อง “ทักษิณ” คดี ปล่อยกู้ ธ.กรุงไทย
  • ป.ป.ช. ชี้มูลยงยุทธ ผิด กรณีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์
  • ครม.ขยายเวลาคุ้มครองเงินฝากอีก 3 ปี
  • หนี้สาธารณะเพิ่ม ร้อยละ 42.40 ของจีดีพี
  • เชิญเอกชนร่วมบริหารจัดการน้ำ

    ศาล รธน. รับวินิจฉัยเรื่องแก้ไข รธน.

    ตามที่ได้มีผู้ร้อง 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และกลุ่ม 40 ส.ว. 2. นายวันธงชัย ชำนาญกิจ 3. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ 4. นายวรินทร์ เทียมจรัส และ 5. นายบวร ยสินทร และคณะ ได้ยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่กำลังดำเนินการอยู่ในวาระที่ 3 จะเป็นการกระทำที่มีผลต่อการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อันเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

    เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2555 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติ 7 ต่อ 1 รับพิจารณา 5 คำร้อง และหลังจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งให้ประธานรัฐสภาและเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบเพื่อให้ระงับการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 จากเดิมที่ กำหนดไว้ในวันที่ 5 มิถุนายน ออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้ และศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือให้พรรคการเมืองที่ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้แก่ พรรคเพื่อไทย โดยนายสุนัย จุลพงศธร และคณะ และพรรคชาติไทยพัฒนา โดยนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ไปชี้แจงต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งสำเนาคำร้องและนัดคู่กรณีไต่สวนวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2555 เวลา 09.30 น.

    การรับคำร้องและการแจ้งให้ชะลอการลงมติในวาระ 3 ดังกล่าวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำให้เกิดปมร้อนทางการเมืองว่าคำสั่งนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ โดยในวันที่ 5 มิถุนายน นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวว่า บุคคลไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพราะจะต้องผ่านการพิจารณาของอัยการสูงสุดก่อน และในกรณีนี้ ผู้ยื่นได้ยื่นคำร้องถึงทั้งสำนักงานอัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญ แต่อัยการสูงสุดยังมิได้มีความเห็นแต่ประการใด ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้รับคำร้องจึงเป็นการตีความรัฐธรรมนูญขัดต่อลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของกฎหมาย นอกจากนี้การสั่งการให้รัฐสภายุติการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ยังเป็นการสั่งการโดยปราศจากอำนาจรองรับตามกฎหมาย

    นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย อาจเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และอาจถูกยื่นถอดถอนได้ และในวันที่ 5 มิถุนายน แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ได้เริ่มรณรงค์รวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 7 คนที่มีมติดังกล่าว โดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. กล่าวว่า จะให้ได้ 1 ล้านรายชื่อ และ กลุ่ม นปช. ได้มาชุมนุมปิดล้อมทางเข้ารัฐสภาเพื่อทำการล่ารายชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 มิถุนายน และนางธิดา ถาวรเศรษฐ ได้ยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภาเพื่อแสดงเจตจำนงในการรวบรวมรายชื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270, 271, 274 และ 164 เนื่องจากมีพฤติกรรมส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และได้ค้างคืนจนกระทั่งวันที่ 8 มิถุนายน ซึ่งมีการประชุมร่วมรัฐสภา

    นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การกระทำของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เท่ากับว่าเป็นการรัฐประหารโดยตุลาการภิวัตน์ (Judicial Review) หักล้างหลักการรัฐธรรมนูญ มีกลุ่มและพรรคการเมืองวางแผนโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

    หลังจากที่มีผู้ออกมาวิพากษ์การรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 และมาตรานี้เป็นลักษณะให้อำนาจศาลในเชิงป้องกัน ไม่ใช่การแก้ไข และทั้ง 5 คำร้อง แม้จะร้องถึงการกระทำของพรรคการเมือง แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการให้ศาลวินิจฉัยยุบพรรค

    สำหรับเรื่องนี้ นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า หลังรัฐสภารับหลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลและไม่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี ในขณะที่นายวินัย ดำรงมงคลกุล โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ว่าถือเป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่ทางอัยการไม่ขอก้าวล่วง แต่สำนักงานอัยการสูงสุดก็จะดำเนินการตรวจสอบคำร้องทั้ง 5 ต่อไป

    นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แถลงบทสรุปของคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลผูกพันรัฐสภา ไม่เข้าข่ายมาตรา 216 เป็นอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภาที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะต้องปฏิบัติตามหนังสือของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่


    ซึ่งเรื่องนี้ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงว่า หากรัฐสภาจะพิจารณาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญในวาระ 3 ต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญก็จะไม่ก้าวล่วง และเป็นเรื่องที่รัฐสภาจะต้องรับผิดชอบ

    ในวันที่ 7 มิถุนายน สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีความเห็นว่าจะไม่ส่งคำร้องทั้งหมดในเรื่องนี้ให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ยังไม่เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 68

    สภาฯ เลื่อนถก กม.ปรองดอง

    เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2555 ประธานสภาฯ ได้สั่งงดการประชุมสภาในวันที่ 5-7 มิถุนายน ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะก่อนหน้านี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศจะชุมนุมคัดค้านการพิจารณาร่างกฎหมายปรองดอง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแท่นปูนและลวดหนามไปขวางตามแยกต่างๆ ของถนนที่มุ่งหน้ารัฐสภา เพื่อขวางไม่ให้มวลชนมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภา และตามแยกต่างๆ ก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนไปปักหลักทำให้ ส.ส. ไม่สามารถเดินทางเข้าสภาได้ ดังนั้น เมื่อถึงกำหนด สภาฯ จึงไม่สามารถเปิดการประชุมได้

    คอป.เตือนระวังวิกฤติชาติ

    เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดยนายคณิต ณ นคร ประธาน ออกจดหมายเปิดผนึกเสนอให้ทุกฝ่ายร่วมกันป้องกันความขัดแย้งในชาติก่อนที่จะลุกลามบานปลาย โดยมีมาตรการ คือ
    1. ให้รัฐบาล รัฐสภา และโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ทบทวนการเร่งรัดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อลดกระแสความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม
    2. ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์วุ่นวายที่รัฐสภาในการประชุมวันที่ 30-31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
    3. ในภาวะที่ประเทศชาติมีความขัดแย้งรุนแรงเช่นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและความระมัดระวังเป็นพิเศษในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดีและหลักกฎหมายด้วยความเที่ยงธรรม
    4. ให้ประชาชนและสังคมทุกภาคส่วนเคารพกระบวนการตามกรอบของกฎหมาย ใช้กระบวนการทางสันติวิธีเพื่อขจัดความขัดแย้ง และใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ดำเนินการใดๆ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง
    5. ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีบทบาทในการรักษาความสงบเรียบร้อยและการควบคุมฝูงชน ดำเนินการโดยเคารพหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
    6. ให้พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง ไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม และร่วมกันนำพาประเทศชาติไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริง

    นาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการ

    สืบเนื่องมาจากการที่มีข่าวว่าองค์การนาซาของสหรัฐอเมริกาจะใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการเพื่อใช้ภาพถ่ายดาวเทียมตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงว่า การที่องค์การนาซาขอตั้งฐานปฏิบัติการนั้นเป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และตน ได้ยื่นเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 และตนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และยังเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือป้องกันภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

    เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ชี้แจงว่า เรื่องนี้เริ่มต้นมาจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้เสนอกับนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เลขาธิการสหประชาชาติ หน่วยงานทางด้านมนุษยธรรมของสหรัฐฯ และสำนักงานเวิล์ดฟู้ดโปรแกรม (WFP) องค์การอาหารโลกที่กรุงโรม ว่าอาจจะใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศเพื่อการกู้ภัยพิบัติและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และต่อมาได้มีการยกขึ้นมาปรึกษาหารือเป็นนโยบายระดับรัฐมนตรีกลาโหมของอาเซียนว่า ทางฝ่ายกลาโหมอาเซียนจะสนับสนุนกิจการพลเรือนในเรื่องดังกล่าว โดยศูนย์ภัยพิบัติที่อู่ตะเภาจะมีหน้าที่ใน 3 ภารกิจหลักคือ
    1. ฝึกอบรมให้กับบุคลากรไทย-สหรัฐฯ และมิตรประเทศ รวมทั้งสหประชาชาติด้วย
    2. เป็นโกดังเก็บอุปกรณ์และอาหารในกรณีฉุกเฉิน
    3. เป็นศูนย์ร่วมปฏิบัติภารกิจภายใน 24 ชม. หลังเกิดภัยพิบัติ

    ส่วนเรื่องที่องค์การนาซาจะใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติภารกิจด้านอวกาศนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ ผลงานของนาซาก็สามารถจะเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงไอซีที กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเรื่องการเตือนภัยพิบัติได้

    การที่นาซาจะใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติภารกิจด้านอวกาศนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงการวางตัวของประเทศไทยว่าจะสามารถดำรงความเป็นกลางในระหว่างสองชาติมหาอำนาจคือจีนและสหรัฐฯ ได้หรือไม่ และการจะอนุญาตให้นาซาเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ก่อนหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสองกำหนดว่า

    “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว

    ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย”

    ดังนั้น เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ส่งเรื่องดังกล่าวให้สภาฯ แต่โดยเหตุที่สภาฯ ได้ปิดสมัยประชุมไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2555 และจะเปิดอีกครั้งในวันที่ 1 สิงหาคม 2555ความล่าช้าในการดำเนินโครงการจึงทำให้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์ว่า นาซาได้ยกเลิกโครงการที่จะใช้สนามบินอู่ตะเภาเนื่องจากไม่สามารถจะปฏิบัติการตามตารางเวลาที่กำหนดไว้เดิม

    กกต. แจกใบแดง "เก่ง การุณ" พ้น ส.ส.

    เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติเสียงข้างมากเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายการุณ โหสกุล ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 12 พรรคเพื่อไทย เนื่องจากได้กล่าวคำปราศรัยโฆษณาใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ต่อนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 3 และ 12 มิถุนายน 2554 หลังจากนี้ กกต. จะยื่นคำวินิจฉัยไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพื่อพิจารณาต่อไป หากศาลฯ มีคำสั่งรับคำฟ้อง นายการุณ จะต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

    ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3 จังหวัดใต้ 3 เดือน

    เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จ.ชลบุรี มีมติอนุมัติขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.นราธิวาส จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน -19 กันยายน 2555

    อสส. ส่งฟ้อง “ทักษิณ” คดี ปล่อยกู้ ธ.กรุงไทย

    อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และบริษัทในเครือของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) กับพวก รวม 27 ราย ต่อศาลในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 โดยศาลได้รับคำร้องไว้ และนัดให้มาฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาหรือไม่ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 เวลา 10.00 น.

    คดีนี้เป็นไปตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดว่าจำเลยทั้งหมดร่วมกันปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยมิชอบเป็นมูลค่า 9 พันล้านบาท ในขณะที่ พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี

    ป.ป.ช. ชี้มูลยงยุทธ ผิด กรณีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์

    เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติว่านายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. มหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่มิชอบสมัยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีการซื้อขายที่ดินวัดธรรมามิการาม ตามมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต

    อย่างไรก็ตาม นายยงยุทธ ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เพราะในช่วงที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว นายยงยุทธ ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี แต่อยู่ในตำแหน่งรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย

    ครม.ขยายเวลาคุ้มครองเงินฝากอีก 3 ปี

    เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาคุ้มครองเงินฝากวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ออกไปอีก 3 ปี จนถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2558 และหลังจากนั้นจะมีการพิจารณาปรับลดวงเงินลงเหลือไม่เกิน 25 ล้านบาท และไม่เกิน 1 ล้านบาทในปีต่อๆ ไป

    หนี้สาธารณะเพิ่ม ร้อยละ 42.40 ของจีดีพี

    นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 เมษายน 2555 มีจำนวน 4.61 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 42.40% ของจีดีพี และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.14 แสนล้านบาท โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล 3.41 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1.03 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน 1.58 แสนล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 7,080 ล้านบาท

    ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2555 หนี้สาธารณะของรัฐได้ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 40.57 ของจีดีพีในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เป็น 41.13 ในเดือนมีนาคม 2555

    เชิญเอกชนร่วมบริหารจัดการน้ำ

    เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบที่จะให้เอกชนเสนอตัวเข้าจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย วงเงิน 305,888 ล้านบาท โดยจะประกาศเชิญชวน (TOR: Term of Reference) บริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งในและนอกประเทศให้เข้าร่วมโครงการ และจะให้เวลา 3 เดือนในการรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอโครงการ จากนั้นรัฐบาลจะใช้เวลา 1 เดือนในการพิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 3 กลุ่มบริษัท โดยจะเชิญกรรมการที่มาจากคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ข้าราชการประจำ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกษียณอายุราชการไปแล้วร่วมคัดเลือก คาดว่าจะเริ่มต้นการก่อสร้างในช่วงต้นปี 2556

    สำหรับหลักเกณฑ์บริษัทที่จะเข้าเสนอโครงการนั้น จะต้องมีผลงานในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาวงเงินไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท ถ้าเป็นบริษัทร่วมทุน แต่ละบริษัทสามารถเอาผลงานมารวมกันได้ แต่ละบริษัทต้องเอาผลงานที่เกิน 2 พันล้านบาทเท่านั้น

    ในวันที่ 11-14 มิถุนายน นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กนอ.) ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรีและชัยนาท ที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามมาตรการและแผนงานที่คณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้เสนอไว้ โดยแผนระยะสั้นประกอบด้วย
    1. การปรับระดับน้ำเก็บกักในเขื่อนสำคัญ
    2. การฟื้นฟูเครื่องมือการจัดการน้ำที่มีอยู่เดิมให้กลับมาใช้งานได้ โดยการขุดลอกคูคลอง ซ่อมแซมคันกั้นน้ำและประตูระบายน้ำ
    3. การปรับปรุงองค์กรจัดการน้ำโดยให้มีคณะทำงานติดตามงานให้เป็นไปตามแผนระยะเร่งด่วน
    4. การสร้างระบบคลังข้อมูลเรื่องน้ำ และจัดทำระบบเตือนภัย
    5. การจัดทำแผนงานเผชิญเหตุอุทกภัยในระดับพื้นที่ที่จะต้องมีแผนคมนาคม การฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และการจัดตั้งคลังเครื่องมือฉุกเฉินที่ใช้ในยามเกิดเหตุ
    6. การจัดทำพื้นที่รองรับน้ำท่วม 2 ล้านไร่

    ปทุมธานีและพระนครศรีอยุธยาถือเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่ต้องขุดลอกคูคลองและซ่อมแซมประตูระบายน้ำ โดยประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ในจังหวัดปทุมธานีถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการสกัดน้ำหลากเข้ากรุงเทพฯ จะมีการปรับปรุงให้มีกำลังระบายน้ำเพิ่มจากเดิมเป็น 3 เท่า ส่วนที่สิงห์บุรีและชัยนาทมีประตูระบายน้ำสำคัญอีกหลายประตู โดยเฉพาะประตูระบายน้ำลำชวดที่รับน้ำเข้าพื้นที่รับน้ำนองในพื้นที่ภาคกลาง ขนาด 2 แสนไร่ รับน้ำได้ 500 ล้าน ลบ.ม หรือ 10% ของแผนป้องกันน้ำท่วม

    ที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จะมีการรวบรวมข้อมูลเรื่องน้ำจากทุกๆ หน่วยงานไว้รวมกันเพื่อประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์ร่วมกับสภาพอากาศและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกสัปดาห์ ผลวิเคราะห์จะทำให้มีการ จัดสรรน้ำที่เหมาะสม

    โครงการเหล่านี้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 60% ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้จากเว็บไซต์ www.thaiwater.net

    ส่วนการส่งเสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่ทะเล โดยใช้ทางระบายน้ำหรือฟลัดเวย์ธรรมชาติ ได้มีการปรับปรุงคลองแนวตั้งทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ลงสู่คลองสนามไชย-มหาไชย ที่ จ.สมุทรสาคร ก่อนไหลลงทะเลได้ดีขึ้น
  •  


    Print Version