|

ระบบเศรษฐกิจการตลาด : ความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทิพย์พาพร ตันติสุนทร
 | ทุกวันนี้ ประเด็นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ได้มีการหยิบยกขึ้นมาพูดมากขึ้น อันเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบการค้าแบบเสรีสุดโต่งที่มุ่งเอาตัวเลขจากผลประกอบการ หรือ กำไร ตัวเงินเป็นตัวตั้ง เพื่อตอบโจทย์จากเป้าการเจริญเติบโตในสนามแข่งขันทางธุรกิจ กระทั่งสร้างความเสื่อมทรุดทางสังคม และยังเป็นตัวทำลายธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมโดยไม่หยุดยั้ง
ด้วยเหตุนี้ในภาคธุรกิจจึงมีบริษัทขนาดใหญ่หลายๆ แห่ง ได้มีการนำเอากลยุทธ์การรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นมา หรืออย่างที่เราเรียกว่า CSR (Cooperate Social Responsibility) ทั้งนี้ เพื่อนำเอาผลกำไรที่ได้มาคืนสู่สังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น การบริจาค การทำกิจกรรมกับชุมชน เป็นต้น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวบริษัทส่วนมากเน้นกิจกรรมในระยะสั้น ไม่ยุ่งยาก จับต้องได้ และสามารถปรับภาพลักษณ์ หรือเพิ่มภาพพจน์ของบริษัทให้ดีขึ้น ซึ่งไม่ได้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน |
การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในระบบเศรษฐกิจการค้าเสรีจึงได้ละทิ้งแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ต้น และเริ่มมีคำถามต่อความรับผิดชอบที่ธุรกิจพึงมีต่อสังคมเกิดขึ้นมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง ถึงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤติการเงินในยุโรป และในสหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นทั้งคำถามและการเร่งหาคำตอบเพื่อคลี่คลายวิกฤติให้เร็วที่สุด ก่อนจะลามไปสู่ขั้วเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น เช่น เอเชีย
การทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจการตลาดที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญสำหรับทุกสังคม โดยเฉพาะสังคมไทย ที่ผู้ประกอบการธุรกิจน้อยใหญ่ต่างมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ในรูปของกำไรสูงสุด และละเลยต่อความเสียหายที่กระทำต่อสังคมและทรัพยากรธรรมชาติในรูปการที่ถูกต้องตามช่องทางของกฎหมาย อันเนื่องจากกฎหมายที่ล้าหลังหรือพัฒนาไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง อีกทั้ง ผู้บังคับใช้กฎหมายก็ละเลยที่จะทำหน้าที่ให้ครบถ้วนในความรับผิดชอบทั้งต่อหน้าที่และสังคม ทำให้สังคมเสื่อมทรุดในทุกด้านทั่วทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ขาดการตระหนักในการทำหน้าที่ที่จะรับผิดชอบ อันก่อให้เกิดการละเมิดต่อสังคมและชุมชน ดังปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ทั่วประเทศ
ถือว่าเป็นเรื่องดีที่มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรม หอการค้าไทย และ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (German International Cooperation-GIZ) ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “เศรษฐกิจการตลาด ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ที่โรงแรมดาวิส สุขุมวิท 24 กรุงเทพฯ ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มีการแสดงความคิดและความห่วงใยต่อวิกฤติโลก และความจำเป็นในการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม โดยการนำเอาแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นตัวตั้ง โดยไม่ทำลายกลไกการตลาด คือการยอมรับการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยมีเงื่อนไขที่ไม่ทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อม แนวคิดดังกล่าวถือหลักการที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นจุดสมดุลระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี และการเจริญเติบโตทางสังคมที่แข็งแกร่ง ซึ่งหมายถึงดำเนินธุรกิจที่เพิ่มความยุติธรรมทางสังคม และมีความห่วงใยต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมก่อนเสมอ เพราะแน่นอนว่า ธุรกิจจะอยู่รอดไม่ได้หากไม่มีกำไร แต่แนวคิดโดยมีสังคมเป็นตัวตั้ง ไปพร้อมๆ กับการสร้างรายได้ทางธุรกิจ จึงจะเป็นคำตอบของการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งสังคมและธุรกิจ การดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้ จึงเป็นการคำนึงถึง “คุณค่าร่วม” หรือ “ประโยชน์ร่วม” กับสังคม ไม่เอาเปรียบสังคม การออกแบบธุรกิจจึงควรเป็นไปเพื่อเป็นมิตรกับทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม
ศตวรรษที่ 21 นี้ คงเป็นเวลาขาลงของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ดังที่เห็นวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นในโลกตะวันตก และสหรัฐอเมริกา การเปลี่ยนวิธีคิดและการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ในแบบที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงในการดำเนินธุรกิจด้วย ซึ่งภาษาฝรั่งเขาก็มีคำว่า Social Market Economy ก็คือ เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม ซึ่งหมายถึงระบบเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมนั่นเอง ซึ่งสังคมเยอรมันได้เริ่มใช้แนวคิดนี้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และทำให้เศรษฐกิจเยอรมันประสบความสำเร็จ พร้อมๆ กับสังคมมีความเข้มแข็ง มีตำราให้ศึกษาและอ่านมากมาย ที่สำคัญ เป็นหนึ่งในนโยบายการต่างประเทศของเยอรมันในยุคของคอนราด อาเดนาวร์ ด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ (Miracle Economy) ที่ทำให้เยอรมันลุกขึ้นได้อีกครั้งภายหลังความสูญเสียและเสียหายครั้งใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ท่านอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตสหพันสาธารณรัฐเยอรมันประจำประเทศไทย ดร.อิงโก้ วิงเคิลมันน์ กล่าวในช่วงเปิดงานประโยคหนึ่งว่า “เรื่องเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคมนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงตำราเพื่อศึกษา แต่ต้องจำใส่ใจเอาไว้ในหัวใจคน” ซึ่ง มร.เคลาส์ เพเทอร์ ฮิลล์ ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ก็ได้กล่าวไว้ด้วยว่า “คน” คือ ศูนย์กลางของแนวคิดเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม และยังเป็นทางสายกลางระหว่างทุนนิยมเสรี กับสังคมนิยมมาร์กซิสต์ ซึ่งยังคงเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยมีเงื่อนไขอยู่บนความรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อจรรโลงความยุติธรรมทางสังคม และเพื่อผดุงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
|
|