IPPS in last year
Contact us
Site Map
Homepage
หน้าแรกHomepageAbout IPPSAbout IPPSPublicationPublicationArticleDemocracy MonitoringDemocracy MonitoringSocial ReformActivities
 
กิจกรรม (Thai)
การสัมมนาเรื่อง แนวทางการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย (Civic Education)

วันที่ 14 ธันวาคม 2553 เวลา 08.30-13.00 น.

ณ ห้อง แกรนด์ฮอลล์ 2 โรงแรมรามา การ์เดนส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ



ลงทะเบียนและรับเอกสาร

คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร : ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา
สถาบันนโยบายศึกษาร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน วันนี้เราเป็นองค์กรกัลยาณมิตรร่วมจัดงานในเรื่องของการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย หลายท่านอาจจะได้ยินภาษาอังกฤษ ว่า Civic Education ขอเรียนว่าการจัดงานครั้งนี้ดิฉันเห็นว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าเรามีปัญหาในเรื่องของความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันมาก เราเพียงคิดเห็นไม่ตรงกันเราก็ทะเลาะกัน และทำให้บ้านเมืองเสียหาย ขาดความสุข โจทย์ใหญ่ก็คือว่าเราจะทำอย่างไรทั้งที่เราอ้างว่า เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย

วันนี้ดิฉันเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถือว่าท่านก็เป็นผู้มีประสบการณ์มาตลอดชีวิตการทำงาน และอยู่ในสังคมไทย หลายท่านอาจจะได้มีโอกาสไปเรียนรู้ในสังคมต่างประเทศมา การได้มาร่วมกันช่วยคิดให้ตกผลึกว่าเราจะสร้างคนของเราให้เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย ให้เป็นพลังที่เข้มแข็ง ดั่งคำที่ว่า พลเมือง ซึ่งหมายถึง พละ+เมือง เราคงต้องการกำลังของเมืองที่มีศักยภาพที่จะช่วยกันขับเคลื่อนสังคมไทยให้เดินหน้าไปได้ เป็นสังคมไทยที่อยู่ภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตย ซึ่งเราก็กำลังสับสนกันอยู่ในหมู่ประชาชนทั่วไปว่าประชาธิปไตยเป็นอย่างไร แม้ว่าจะอ้างว่าประชาธิปไตย แต่มาเรียกร้องสิทธิ ประชาธิปไตยเพียงการเลือกตั้ง และประชาธิปไตยอาจจะต้องจบลงด้วยการยุบสภา และเลือกตั้งอีกครั้ง มันเป็นเพียงเช่นนั้นหรือไม่ เมื่อเรามีโจทย์ใหญ่สำหรับสังคมไทยเช่นนี้ ดิฉันเห็นว่าถึงเวลาที่เราจะต้องมาช่วยกันคิดและทบทวนว่า แท้จริงแล้ว จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยอยู่ที่ใด และเราจะสร้างคนเพื่อเข้าไปอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร เพราะมนุษย์นั้นเกิดมาไม่มียีนประชาธิปไตยติดตัวมา มีแต่ต้องช่วยกันสร้าง

วันนี้เป็นโอกาสดีที่เราได้มีผู้ที่มีประสบการณ์อย่างมากมานั่งอยู่กับเราที่นี่ถึง 3 ท่าน อย่างที่ดิฉันได้เรียนไปตั้งแต่ต้น ดิฉันอยากให้เวทีนี้เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนซักถามกันให้มาก โดยเฉพาะประสบการณ์จากประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นต้นแบบหนึ่งของ Civic Education ที่ประสบความสำเร็จ และมีหลายประเทศที่นำไปใช้ ดิฉันเห็นว่าก่อนที่เราจะนำอะไรมาใช้ เราควรได้เรียนรู้ว่าเราจะเดินไปอย่างไรในบริบทของสังคมไทยด้วย ในช่วงของการซักถาม ดิฉันอยากให้มีการซักถามเพราะสถาบันนโยบายศึกษานั้น เราเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยนั้น เราต้องเดินไปด้วยกัน คิดร่วมกัน และทำงานร่วมกัน อยากให้มีการซักถามให้มากขึ้น อยากให้ท่านซึ่งเป็นครู คิดว่าแล้วเราจะจัดหลักสูตรอย่างไร เพื่อให้เด็กมีความสนใจในการเรียนรู้ที่เป็นลักษณะที่เรียกว่าประชาธิปไตยให้เป็นวิถีชีวิต ตั้งแต่เด็กจนถึงโต สำหรับประสบการณ์ของสังคมไทยนั้น เรามีท่านที่เป็นครูของแผ่นดินมาอย่างยาวนาน เช่น ศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ดร.วิชัย ตันศิริ และหลายท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ ก็เป็นครูขณะนี้ ซึ่งก็อยากให้ทุกท่านได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนด้วยกับทุกท่าน เพราะในห้องนี้ทุกท่านล้วนเป็นครูของประเทศ และเป็นครูของครอบครัวของตัวเองด้วย

อีกอย่างหนึ่งที่ดิฉันอยากจะขอเรียนว่าการจัดงานครั้งนี้ดิฉันถือเป็นการตอบแทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ที่ให้โอกาสดิฉันและเพื่อนร่วมทางเดินทางไปศึกษาเรื่อง Civic Education ที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งมาจากสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนได้ร่วมเดินทางไปกับดิฉัน จริงๆ แล้วมีจากรัฐสภาด้วย ซึ่งดิฉันก็ได้เขียนหนังสือออกมา 1 เล่ม เมื่อกลับมาประเทศไทย ชื่อ “ไปดู Civic Education ที่เยอรมัน” ซึ่งได้นำมาให้ทุกท่านในวันนี้ด้วย

(จากซ้าย) คุณนภาจรี จีวะนันทประวัติ มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ (ให้เกียรติเป็นล่าม) ดร.วิชัย ตันศิริ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต
Dr.Canan Atilgan ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ประธาน สถาบันนโยบายศึกษา

คุณวิลาศ โลหิตกุล : สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน
ขอบคุณมากครับ คุณทิพย์พาพร เรียนท่านอาจารย์ชัยอนันต์ Dr. Canan Atilgan ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และผู้ที่เข้ามาร่วมอยู่ในวิถีประชาธิปไตยในวันนี้ทุกท่านนะครับ ในนามของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ ดำเนินงานในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องวางแผนครอบครัว เรื่องสุขภาพอนามัย เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วย ก็ได้มีโอกาสมาร่วมจัดงานสัมมนาในวันนี้กับสถาบันนโยบายศึกษา ผมคิดว่าเรื่อง Civic Education เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ และเป็นเรื่องที่ต้องปูพื้นฐานให้กับเด็กไทยที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าให้มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในวันนี้มีวิทยากรที่จะนำเสนอประสบการณ์รวมทั้งคุณทิพย์พาพร ที่ได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมันมาแล้ว จะได้มาเล่าสู่กันฟังและแลกเปลี่ยนกัน และคิดว่าน่าจะส่งผลถึงการศึกษาของบ้านเราเหมือนกันว่า วันนี้ผู้แทนโรงเรียนต่างๆ มากันจำนวนมากทีเดียว ทั้งภาครัฐและเอกชน ผมหวังเหลือเกินว่าผลกระทบจากการสัมมนาในวันนี้จะส่งผลให้กับเด็กไทยที่มีการศึกษาในเรื่องของ Civic Education เป็นพลเมืองที่ดีในอนาคตอันใกล้ ขึ้นอยู่กับพวกท่านทั้งหลายที่มาในวันนี้

คุณวิลาศ โลหิตกุล ผู้อำนวยการ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน

คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร : ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา
ดิฉันขอเรียนย้ำว่าสถาบันนโยบายศึกษาและสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนนั้น เราทำงานร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ มาอย่างยาวนาน สำหรับสถาบันนโยบายศึกษานั้น ปีนี้เป็นปีที่ 25 สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนมากกว่านี้ 33 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกันในทิศทางส่งเสริมประชาธิปไตย สำหรับประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ซึ่งเป็นภาษีอากรของประชาชนเยอรมัน ดิฉันเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีค่าแก่สังคมไทยอย่างยิ่ง ดิฉันใคร่ขอถือโอกาสนี้กราบเรียนเชิญ
ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้กรุณาขึ้นกล่าวปาฐกถา ในเรื่องของแนวทางการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในประเทศไทยค่ะ

ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช : ประธานสถาบันนโยบายศึกษา
ห้องนี้เงียบมากตอนก่อนจะเริ่ม ไม่มีการคุยกันเลย แปลว่าทุกคนเป็นครูโดยไม่ต้องบอกเลย ที่นี้ในวันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง หรือที่เรียกว่า Civic Education ที่จริงทางสถาบันทำเรื่องนี้มาสัก 20 ปีแล้ว แต่สำหรับเมืองไทยคงเป็นเรื่องใหม่ เพราะว่าในเรื่องของ Civic Education นี้ พูดง่ายๆ ก็คือการนำเอาการเมืองกับการศึกษามาเชื่อมโยงกันนั่นเอง เพราะโดยปกติแล้วกิจกรรม 2 ด้านนี้มีอยู่แล้วในสังคมทุกสังคม แต่จุดเชื่อมโยงไม่ค่อยจะมี เพราะการจัดการศึกษาเราก็มุ่งเฉพาะในเรื่องของหลักสูตรและเรื่องวิธีการสอนในแง่ของเนื้อหาสาระที่เด็กๆ จะต้องเรียนรู้ และการศึกษาก็จำกัดวงอยู่เฉพาะคนในสังคมที่มีช่วงอายุช่วงหนึ่งเท่านั้น ก็คืออยู่ในวัยเรียน แต่การศึกษาโดยทั่วไปสำหรับประชาชนที่นอกวัยเรียน ซึ่งมีอยู่จำนวนมากมายนั้นในสังคมของเราไม่ค่อยได้มีการจัดเท่าไร ที่เราเรียกว่าการศึกษาตลอดชีวิต และอาจเป็นการศึกษาที่ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาสาระความรู้แบบที่เรียนในช่วงวัยเรียน

ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ส่วนการเมืองเป็นกิจกรรมที่แยกออกไปต่างหาก การเมืองกับการศึกษา หรือการศึกษาเกี่ยวกับการเมือง ไม่ได้รับการสนใจที่จะนำมาสอน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือไม่ว่าจะเป็นการจัดการสอนสำหรับพลเมืองโดยทั่วไป เหมือนอย่างที่คุณทิพย์พาพร กล่าวว่า มีนักวิชาการเขาพูดว่า คนเราไม่ได้เกิดมาพร้อมกับยีนประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นมันก็ต้องสร้างขึ้น มันก็ต้องมีการสอน แต่การสอนเรื่องของการเมืองหรือ Civic Education นั้น คงจะมีลักษณะที่ผิดแผกแตกต่างไปจากการสอนเนื้อหาสาระวิชาโดยทั่วไปเป็นอันมาก ในประเทศที่มีการเน้นสื่อ Civic Education มาก ถ้าจะกล่าวไปแล้วก็คือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความจำเป็นที่เยอรมนีนั้นต้องประสบกับการที่อยู่ในสภาวะของระบอบการปกครองแบบเผด็จการหลายปี และระบอบเผด็จการนั้นก็นำประเทศเข้าสู่สงครามโลกก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย นอกจากนั้นยังมีการศึกษาของนักวิชาการบางคนบอกไว้ว่า คนเยอรมันนั้น มีวัฒนธรรมหรือลักษณะนิสัยที่ค่อนข้างจะชอบอำนาจเผด็จการ เพราะฉะนั้นเผด็จการจึงอยู่ได้หลายปี และเป็นเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงมีการสนับสนุนให้พรรคการเมืองทุกพรรคมีงบประมาณสำหรับที่จะให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน แต่ละพรรคก็รับผิดชอบไป ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่มีมูลนิธิ อย่างเช่น พรรคคริสต์เตียน เดโมแครท ก็มีมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ เป็นต้น ก็ให้การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย พูดง่ายๆ ก็คือว่าเป็นความพยายามอย่างจริงจังและต่อเนื่องที่จะช่วยกันสร้างพลเมืองใหม่ เพื่อทดแทนคนรุ่นเก่า หรือปรับปรุงทัศนคติของคนรุ่นเก่าให้มีลักษณะที่สอดคล้องเอื้ออำนวยต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นโดยทั่วไป และมูลนิธิที่มีสถาบันทำการฝึกอบรม ทำการสอนด้านนี้อยู่ก็จะมีหน่วยวิจัยการศึกษา และการทำวิจัยประชาธิปไตย การจัดสัมมนา และการประชุมปฏิบัติการ ซึ่งสถาบันนโยบายศึกษาก็มีทั้ง 3 อย่าง เราก็ได้ดัดแปลงให้เป็นไปตามสภาพของเรา แต่เรื่องการวิจัย และเรื่องวิชาการนั้นเราระดมเอานักวิชาการหรืออาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาทำการศึกษา ส่วนเรื่องการจัดสัมมนาเราก็ทำกันอย่างสม่ำเสมอ

ในวันนี้ผมก็อยากจะพูดถึง 2 เรื่องด้วยกัน คือเรื่องเนื้อหาสาระ หรือแนวทางของการให้การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย และที่จะเน้นก็คือเรื่องของวิธีการ ซึ่งผมเห็นว่าเราค่อนข้างขาดแคลน และไม่ได้รับความสนใจมากนัก สำหรับเนื้อหานั้นก็มี 2 ลักษณะด้วยกัน ลักษณะหนึ่งก็คือการให้ความรู้ที่เป็นสาระสำคัญของสังคมประชาธิปไตยว่ามีหลักการอย่างไรบ้าง แล้วผู้ที่จะอยู่ในสังคมประชาธิปไตยนั้นควรจะมีส่วนร่วม และร่วมมือกับผู้อื่นได้อย่างไร องค์กรและสถาบันต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยมีอะไรบ้าง

ส่วนความรู้อีกด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องของการสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคำว่าพลเมืองนั้น ไม่ได้หมายถึงคนทั่วๆ ไป แต่หมายถึงผู้ที่มีความรู้ มีข้อมูลข่าวสารเพียงพอ และมีความคิดเห็นที่จะแสดงออก ที่จะมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยนั้นต้องการสาธารณชนที่เป็นสาธารณชนที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารในระบอบประชาธิปไตย เพื่อที่จะสร้างสมรรถนะให้บุคคลเหล่านั้นสามารถทำหน้าที่ของพลเมืองได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่เป็นผู้ถูกกระทำหรือเป็นผู้ใช้สิทธิ์ในบางครั้งบางคราวเท่านั้น การจะมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้ก็จะต้องรับรู้และติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการนิติบัญญัติ มีความรู้เกี่ยวกับการทำงานของพรรคการเมือง ติดตามการเคลื่อนไหวของผู้แทนราษฎร ติดตามการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง สามารถเข้าใจและวิจารณ์ให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายที่พรรคการเมืองออกมาได้ และสามารถจะเปรียบเทียบนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้

ความรู้ส่วนนี้อาจจะสำคัญกว่าความรู้ส่วนแรกอีก เพราะว่าเป็นทักษะ หรือความรู้ทำให้บุคคลผู้นั้นสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง นอกเหนือไปจากความรู้ที่ว่าประชาธิปไตยมีความหมายว่าอะไร สำหรับในประเทศไทยเราความรู้ประเภทแรก คือ ประชาธิปไตยคืออะไร เป็นอย่างไร องค์กรนิติบัญญัติเป็นอย่างไรบริหารเป็นอย่างไร ตุลาการเป็นอย่างไร เรามีการสอนค่อนข้างจะมากอยู่แล้ว แต่ความรู้ประเภทหลัง หรือทักษะที่จะสร้างพลเมืองของเราให้เป็นผู้ที่รู้จักเลือกข้อมูลข่าวสาร รู้จักที่จะกลั่นกรอง รู้จักที่จะใช้วิจารณญาณ มีความสามารถที่จะเข้าใจ เปรียบเทียบ แสดงความคิดเห็นได้ยังมีน้อยมาก ความรู้ประการหลังไม่ต้องการการชี้นำ หรือไม่ต้องการการเรียนแบบบอกนักเรียน เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาวิธีการที่จะเรียกว่าวิธีการเรียนก็ได้ หรือวิธีการสอนก็ได้ ซึ่งเราไม่ค่อยจะมี

สถาบันนโยบายศึกษาได้เคยพยายามสร้างเกมต่างๆ ที่จะให้เด็กเล่น เช่น เกมประชาธิปไตยใช้งูตกกระได เกมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมโดยทำเป็นไพ่ ซึ่งเข้าใจว่าเวลานี้หมดไปแล้ว ซึ่งเราน่าจะทำขึ้นใหม่ให้เล่นกัน มีความสนุกสนาน แต่ท่านในฐานะที่เป็นครู และสนใจเรื่อง Civic Education ควรจะสนใจอย่างมาก และผมหวังว่าสถาบันนโยบายศึกษาจะได้จัดให้มีการประชุมปฏิบัติการอีกครั้งหนึ่งเน้นในเรื่องวิธีการที่จะสอนเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยโดยเฉพาะ ว่าเราจะมีวิธีการสอนอย่างไร วิธีการสอนโดยมีส่วนร่วม โดยหยิบยกเอาประเด็นปัญหาขึ้นมาให้เกิดการถกเถียงกัน การแสดงความคิดเห็นกัน ไม่ใช่มาบรรยาย เราหนักไปในเรื่องการบรรยายเนื้อหาสาระของระบอบประชาธิปไตย แต่วิธีการที่จะกระตุ้นให้คนเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยตรง เช่น นำเอานโยบายหรือประเด็นปัญหาบางอย่างขึ้นมาและให้คนแสดงความคิดเห็นกัน หรือให้คนสวมบทบาทต่างๆ เช่น สมมติเหตุการณ์ว่าเกิดมีความขัดแย้งในเรื่องของโรงงานกับในเรื่องของชาวบ้าน ในเรื่องของสภาวะแวดล้อมต่างๆ นานา คนนี้เป็นเจ้าของโรงงาน อีกคนเป็นนักเคลื่อนไหว อีกคนหนึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ไหนลองมาถกกันซิว่าปัญหาที่มีอยู่นั้นแต่ละคนมีมุมมองอย่างไร แล้วก็มาร่วมกันแสวงหาแนวทางที่จะตกลงกันให้ได้ แต่เราจะสังเกตเห็นว่าในเมืองไทยเกิดอะไรขึ้นก็จะมีการตั้งกรรมการกลางขึ้นมา อาจจะไปเชิญคุณอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นประธาน และมาดูเพื่อระงับข้อพิพาทต่างๆ ก็แปลว่า ประชาชน หรือพลเมืองที่เกี่ยวข้องก็เหมือนกับเด็กๆ ต้องมีผู้ใหญ่มาให้ชี้นำ ให้แนวทาง หรือเอาผู้ใหญ่มาจึงจะมาตกลงกันได้ แต่จริงๆ แล้วถ้าประชาชน หรือพลเมืองที่เกี่ยวข้องสามารถมีส่วนร่วมโดยตรงก็จะเป็นเรื่องที่ดีกว่าที่รัฐบาลไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว เกิดเรื่องอะไรขึ้นโดยอัตโนมัติคนฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็เข้ามาร่วมกัน

เพราะฉะนั้นการทำแบบสวมบทบาท หรือเรียกว่า Role Play เขาใช้กันมากในต่างประเทศที่หลังจากพูดเรื่องเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยไปแล้ว เขามีการหยิบยกปัญหาขึ้นมาก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ผมคิดว่าคุณครูถ้าจะสอนเรื่องการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เวลานึกถึงหลักสูตร หรือที่เรียกว่าหลักสูตรก็ควรจะมีการบรรยายแค่ 20% เท่านั้น อีก 80% ควรจะเป็นเรื่องของการคิดหาวิธีหรือหากรณีศึกษามา ซึ่งอาจจะเสริมเพิ่มเติมไปด้วยการฝึกทักษะทางด้านการคิดก่อน ว่าถ้าจะประชุมกันแล้วจะตกลงกันจะพูดถึงเรื่องอะไรก่อนไม่ให้สับสนกัน เช่น จะพูดเรื่องข้อมูลก่อน ก็เอาข้อมูลกันมาก่อน ไม่ใช่ปนเปไปเรื่องความเห็น ความรู้สึกอะไรต่างๆ นานา วิธีการนี้เราก็ทำเป็นแนวทางได้ว่าแนวทางนั้นอาจจะสอนเรื่องทักษะการคิดก่อน เพื่อที่จะให้ผู้เข้าร่วมรู้จักว่าถ้าเพื่อจะอภิปรายกัน แสดงความคิดเห็นกันจะแยกแยะประเด็นปัญหาอย่างไร แล้วจะต้องมีการเคารพรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างไร แล้วก็พัฒนากรณีศึกษา กรณีศึกษานั้นเขาใช้ของจริงเลยที่มันเกิดขึ้นในสังคมไทย แม้จะเป็นเรื่องของข้อเรียกร้องในการชุมนุมต่างๆ ก็ทำได้ นอกนั้นยังมีปัญหาอีกมากมาย เช่น เรื่องปัญหาการแก่งแย่งทรัพยากรน้ำ ในเรื่องของที่ดิน ในเรื่องของการบุกรุกที่ ในเรื่องต่างๆ เราสามารถที่จะรวบรวมกรณีศึกษามา เรื่องสมัชชาคนจน เรื่องเขื่อนปากมูล อะไรต่างๆ นานา เราสามารถที่จะพัฒนามาเป็นกรณีศึกษาแล้วให้นักเรียนหรือให้ผู้ที่เข้ามาร่วมจะเป็นผู้ใหญ่สามารถที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้

เนื่องจากเราไม่เคยชินในเรื่องเหล่านี้ เราก็จะพบว่าในสังคมไทยจะนิยมการเปิดเวที และมีคนขึ้นมาไฮปาร์คด่าอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งก็ทำแบบเดียวกัน และด่าอีกฝ่ายหนึ่ง แต่สองฝ่ายถ้าจะมาพบปะกันก็จะต้องมีการจัดเวทีต่างหากออกไป เพราะฉะนั้นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยคือคนที่มีความเคยชิน เคยชินในการแก้ปัญหาที่เป็นปัญหาที่เผชิญอยู่อย่างสันติวิธี ด้วยการมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อันนี้เราเรียกว่าเป็นวิธีการ แต่วิธีการนี้อาจจะต้องมีคู่มือ อาจจะเป็นพวกเราช่วยกันรวมเอาเรื่องต่างๆ มา แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว โดยปกติจะไม่มีความสนใจในเรื่องอื่นที่ไกลตัวออกไป เราจะให้เด็กๆ มาประชุมกันในเรื่องมาบตาพุดมันอาจจะไกลเกินไป แต่อาจจะเอาปัญหาที่เขาเห็นและเขาสนใจโดยเฉพาะมา และดูว่าเขาจะมีการตัดสินใจอย่างไร เช่น มีเรื่องที่ดาราออกมาประกาศว่าท้องกับคนโน้นคนนี้จะเป็นอย่างไร

ผมเคยอยู่โรงเรียนที่มีเด็กประจำเป็นชายล้วน ผมก็ให้เด็กลองพิจารณาดูว่าถ้าโรงเรียนเรารับเด็กผู้หญิงเข้ามาเรียนอยู่ด้วย แทนที่จะเป็นโรงเรียนประจำชายล้วน เขาจะคิดอย่างไร เขาจะมีความเห็นอย่างไร ก็ปรากฏว่ามีความเห็นมากมายเป็นร้อยความเห็นที่ออกมาว่ามันจะดี ไม่ดีอย่างไร เขาก็บอกจะทำให้พวกเขาตั้งใจเรียนดีขึ้น แต่เขาอาจจะมีบุตรก่อนวัยอันควรหรืออะไรแบบนี้ ก็มาดูว่าวิธีการจัดการจะเป็นอย่างไร และจะจัดการให้เด็กผู้หญิงอยู่หอพักแยกไปอย่างไร มีกฎระเบียบในการไปหาอย่างไร ขึ้นไปหาได้แค่ไหน อะไรต่างๆ นานา เพราะฉะนั้นเรื่องที่ใกล้ตัวก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่เรานำมา และหลังจากนั้นก็ไปเรื่องที่ไกลตัวมากขึ้น ไปเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะมากขึ้น ที่สำคัญก็คือสอนให้มีนิสัย ความเคยชินบางอย่าง เช่น การอ่านหนังสือพิมพ์ การอ่านข่าว โดยที่ทุกเช้าครูเข้ามาอาจจะถามว่าวันนี้มีข่าวเรื่องนี้เป็นอย่างไร มีความเห็นอย่างไรต่อข่าวนี้ อย่างนี้เป็นต้น

วิธีการกลั่นกรอง รู้จักรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางอินเทอร์เน็ต ทางเว็บอะไรต่างๆ ที่มีอยู่ อันนี้ก็เป็นวิธีการที่เราควรพัฒนาขึ้น ซึ่งเวลานี้ยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรไหนที่มาทำเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ แท้ที่จริงเรื่องสื่อ Education รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐบาลก็ยังไม่ได้มาทำอย่างจริงๆ จังๆ สังคมไทยนิยมการจัดการเรียนหลักสูตรที่เอาคนที่อยู่หลายอาชีพในวงสังคมมาพบกัน แล้วก็มีเป็นรุ่นๆ บางแห่งบ้าถึงขนาดมีการรับน้องใหม่ เอาคนแก่มาทำเหมือนเด็กๆ มาใส่ชุดนักเรียนแล้วก็แข่งกันว่าใครจะหาเงินให้รุ่นมากกว่ากัน เราเห็นสิ่งนี้ เห็นกันอยู่ทั่วไปในสังคมไทยและมันก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่เราเรียกว่าสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ในสหรัฐอเมริกานั้นก็ไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างตรงๆ เหมือนอย่างที่ทำกันในยุโรป เยอรมันรู้สึกมีเรื่องนี้ที่ตรงกว่า และเราสามารถจะเรียนรู้ได้ว่าเขามีวิธีการอย่างไร ในอเมริกานั้นหวังแต่เพียงว่าการศึกษาจะส่งเสริมให้คนเราสามารถอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้ดี จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ให้อิสระ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งของเราก็นำมาใช้ในระบบโรงเรียนต่างๆ แต่ว่าจริงๆ แล้วในระบบโรงเรียนของเราก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล แต่ส่งเสริมให้มีเสรีภาพทางอื่น คือปล่อยตามสบาย ปล่อยให้วิ่งเล่นตามสบาย ไม่ดุว่า ไม่ต้องมีระเบียบวินัยมากนัก ซึ่งเป็นคนละเรื่อง ระเบียบวินัยสามารถจะมีได้ และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กในโรงเรียน แต่สิ่งที่ต้องการ และสิ่งที่จะส่งเสริมในการสร้างพลเมืองระบอบประชาธิปไตยคือ การเปิดให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าความคิดเห็นนั้นจะเป็นอย่างไรเราก็ไม่ไปว่า ว่ามันไม่เข้าท่า หรือมันโง่ หรือมันเป็นภัยต่ออะไร

เพราะฉะนั้นการมาคิดเรื่องวิธีการ เขามีความสำคัญเท่ากับเนื้อหา ซึ่งผมเน้นแล้วว่าเรื่องวิธีการนั้นเขาทำได้ด้วยการรวบรวมกรณีศึกษา และแนะครูว่าครูนั้นเป็นผู้ชี้แนะในทำนองให้เปิดโอกาสแสดงความคิดเห็นกัน แต่ไม่ใช่ชี้นำ ชี้แนะกับชี้นำนั้นต่างกัน ถ้าในโรงเรียนสามารถจะมีสิ่งเหล่านี้อยู่ได้ อาจจะเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรก็ตามแต่ สามารถจัดเป็นชมรม สมาคมต่างๆ ได้ อาจจะมีชมรม สมาคมโต้วาที หรืออาจจะนำเอาเรื่องทักษะความคิดเข้าไปสอนในโรงเรียน บางโรงเรียนเขาไม่ได้เอาทักษะความคิดเป็นวิชาบังคับ แต่เป็นวิชาเลือกให้เด็กสามารถที่จะฝึกได้ เวลานี้ก็มีอยู่หลายประเทศ ประเทศไทยก็เริ่มมีการทำเหมือนกัน สถาบันนโยบายศึกษาก็มีส่วนหนึ่งที่ทำเรื่องทักษะการคิด ทำให้ที่จังหวัดอุดรธานี ทำให้ที่จังหวัดเชียงราย ทำให้ที่ต่างๆ อยู่มากมาย จริงๆ แล้วทักษะการคิดเป็นส่วนสำคัญที่สุด ถ้าไม่มีวิธีการคิดและไม่รู้จักคิดแล้ว คนในระบอบประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นผู้ถูกกระทำอย่างเดียว แต่ประชาธิปไตยหมายถึงทุกคน เป็นพลเมืองที่เป็นผู้กระทำด้วย เป็นผู้มีส่วนร่วมด้วย

ขอฝากไว้สั้นๆ ในวันนี้ว่า ขอให้เรามุ่งพัฒนาวิธีการเรียนการสอน วิธีการสัมมนาฝึกอบรมในเรื่องการสร้างพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยให้มากกว่าเนื้อหา เรามีเนื้อหามากพอแล้ว และเนื้อหาสามารถจะทำได้ สถาบันทำอะไรมากหลายอย่าง ทำแผนที่ประชาธิปไตย ทำหนังสือ ทำอะไรมาเยอะแยะ ทั้งที่เป็นข้อมูลพื้นฐานที่แจกไปให้ท่าน 75 ปีของระบอบประชาธิปไตยที่ท่านมีอยู่ และเรื่องการศึกษาต่างๆ เราทำมาพอแล้ว แต่เรื่องวิธีการเราต้องการการพัฒนาให้มากไปกว่านี้ ผมก็ขอฝากไว้และหวังว่าสถาบันจะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง และนำเอาตัวอย่างที่พวกเราไปดูงานมา มาดูว่าเขาทำงานกันอย่างไรและเราจะทำอย่างไร เฉพาะส่วนที่เราเกี่ยวข้อง ขอบคุณครับ

คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร : ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา

(จากซ้าย) Dr.Canan Atilgan และ
คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการร่วม
สถาบันนโยบายศึกษา
ขอบพระคุณท่านศาสตราจารย์ดร.ชัยอนันต์ สมุทณิช ท่านบอกว่า สาระสำคัญคือการคิด ดิฉันเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะว่าในสังคมประชาธิปไตยนั้นเราให้เสรีภาพมาก แต่เสรีภาพที่สำคัญที่สุดก็คือเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะพึงมี และจะละเมิดไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นกระบวนการการเรียนการสอนถ้าหากว่าละเลยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักเรียน ของคนในครอบครัว เราก็คงจะเสียโอกาสในการที่จะเดินไปบนเส้นทางประชาธิปไตย

โอกาสต่อไปดิฉันใคร่ขอเรียนเชิญ Dr. Canan Atilgan ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทย ได้มาพูดถึงประสบการณ์ของสังคมเยอรมันว่ามี Civic Education เขาทำอย่างไร และคุณนภาจรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารประจำประเทศไทยของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ จะมาเป็นล่ามกิตติมศักดิ์ให้สำหรับช่วงเวลาอันสำคัญ สำหรับประสบการณ์ Civic Education จากประเทศเยอรมัน

Dr. Canan Atilgan : ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทย
สวัสดีทุกท่าน และขอขอบคุณสถาบันนโยบายศึกษา และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนที่จัดสัมมนาในวันนี้ ขอเริ่มดังนี้ สมมติว่ามีมนุษย์ดาวอังคารขึ้นยานมาลงที่ประเทศไทย แล้วก็มนุษย์ดาวอังคารนั้นไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับประเทศไทย แต่เขามีรายการว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับในเมืองไทยมา มีวิธีการมา และเริ่มดำเนินรายการนั้นทีละอันๆ เลย ให้ศาลสามารถปกครองด้วยวิธีการที่อาจจะต่อต้านกับรัฐบาล ทำได้ไหม ถ้าทำได้ก็ติ๊กไปเลยว่าได้ รายการที่ 2 ก็คือว่า ให้วุฒิสภาสามารถที่จะลงคะแนนเสียงต่อต้านรัฐบาลทำได้ไหม และสามารถที่จะมีการต่อต้านการเลือกตั้งหรือเปล่าได้ไหม ตอบว่า ได้ และก็มีคณะกรรมการเลือกตั้งที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับใครได้ไหม ตอบว่า ได้ และมาดูว่าเสียงของภาคพลเมืองเข้มแข็งพอไหม อันนี้บางคนอาจจะเข้มแข็ง บางคนอาจจะบอกไม่ และตอนท้ายๆ ของเช็คลิสต์ 5-6 รายการอาจจะบอกว่าอย่างพวกสื่อมวลชนมีความเป็นอิสระไหม อาจจะบอกใช่ก็ติ๊กว่าใช่ เพราะฉะนั้นถ้าเช็คลิสต์ว่าได้หมด มนุษย์ดาวอังคารหรือจากดาวพลูโต ก็จะสรุปเลยว่า อย่างนั้นประเทศไทยก็เข้าข่ายว่ามีประชาธิปไตยแน่นอน ก็อยากจะตั้งคำถามกลับว่ามนุษย์ดาวอังคารมาสรุปแบบนี้คิดว่าถูกต้องไหม ใช่หรือไม่ มีความคิดเห็นอะไรไหม ประเทศไทยก็เป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ว่าท่านที่อยู่ที่นี่มีความเป็นประชาธิปไตยมากพอที่จะไม่ออกความเห็นอะไรเลยหรือ

Dr.Canan Atilgan

จริงๆ แล้วประเด็นที่อยากจะพูดถึงก็คือว่าความเป็นประชาธิปไตยไม่ใช่ปรากฏการณ์ภายนอกที่มีองค์กรหรือสถาบันอะไร แต่ว่ามันอยู่ที่การประพฤติ ปฏิบัติ ความท้าทายอยู่ที่ว่า ไม่ใช่ว่าจะต้องมาตั้งกฎเกณฑ์ และมีกฎเกณฑ์นั้นไว้ ความท้าทายคือทำอย่างไรให้กฎเกณฑ์ตั้งขึ้นมาแล้วได้รับการปฏิบัติตาม ได้รับการยอมรับเคารพ เพราะว่าจริงๆ แล้วประชาธิปไตยก็เป็นความหวัง ความตั้งใจที่อยากจะให้ไปถึง เป็นสิ่งที่ต้องตะเกียกตะกายไปเอามาให้ได้ และเป็นเรื่องที่จะต้องแบ่งปันเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อย่างที่อาจารย์ชัยอนันต์ได้เรียนไว้ก่อนหน้านี้

เพราะเหตุนี้การศึกษาภาคพลเมือง หรือการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย (Civic Education) มันจึงเป็นกลไก หรือตัวการที่สำคัญที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ คำว่า Civic Education หรือการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในเยอรมัน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Political Education คือ การศึกษาทางด้านการเมือง เพราะว่าการศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง Civic Education ก็คือว่า ผู้คนพลเมืองจะถูกสอนให้เตรียมตัวให้สร้างขึ้นเพื่อที่จะปกป้อง หรือให้มีสิทธิทางด้านการเมือง เพราะฉะนั้นคำว่า Civic Education ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ว่าจะต้องอยู่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่ว่ามันจะต้องเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นให้เรียนรู้ได้ จะเป็นเรื่องที่ควรจะเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ มันควรจะอยู่ในทุกๆ แห่ง อย่างสนามกอล์ฟ คนจะเล่นกอล์ฟก็คุยเรื่องนี้กันได้ ทำเรื่องนี้กันได้ เรียนรู้ได้

คำว่า Civic Education สามารถจะมีได้ทุกๆ แห่ง แม้แต่ว่าในสังคมการปกครองแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเขาก็อาจสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้ ประชาชนได้เรียนรู้อะไรต่างๆ ในแนวทางของเขา แต่ในแนวทางที่พูดถึง Civic Education ในที่นี้หมายถึงว่า เพื่อที่จะสร้างประชาชนให้เป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย การศึกษาCivic Education ที่ว่านี้ เพื่อที่จะสร้างการปกครองของตนขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อที่จะไปรับอะไรของใครมาจากที่อื่น เราจะต้องเรียนรู้เพื่อที่จะไม่เคารพหรือยอมองค์กร สถาบันใดเกินไป แม้ว่าองค์กรนั้นจะถูกตั้งขึ้นมาว่าเป็นองค์กรหนึ่งของประชาธิปไตยก็ตาม แต่ว่าเราไม่จำเป็นต้องไปยอมรับมากเกินไป

ความคิดที่ว่าผู้ชนะจะได้ทุกสิ่งทุกอย่าง อันนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราพูดถึง เพราะว่าถ้าคนที่แพ้ แพ้ตลอด แน่นอนเขาต้องเดินออกจากวงจรประชาธิปไตยแน่นอน เพราะฉะนั้นการแบ่งปัน จะต้องดูว่ามันมีคล้ายๆ กับว่า ทรัพยากรเพื่อการแบ่งปันมีในเมืองไทยหรือเปล่า มีวิธีการเพียงพอหรือเปล่า มีความคิดตรงนี้ไหม มีประสบการณ์เรื่องการแบ่งปันไหม และเรามีอำนาจในการแบ่งปันหรือเปล่า ในสังคมประชาธิปไตยสิ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องเน้นเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงในสังคม และการเปลี่ยนแปลงในสังคม ประชาชนจะต้องมีความรู้มีข้อมูลที่เพียงพอและมีทักษะด้วย ความรู้และทักษะนี้ก็เป็นผลมาจากการศึกษาแบบ Civic Education สังคมประชาธิปไตย

ขอยกตัวอย่างในเยอรมัน คนเยอรมันมีชื่อเสียงมากๆ เกี่ยวกับแนวคิดนี้ เพราะว่ามันเกิดจากความจำเป็นจากประวัติศาสตร์ คือแนวคิดเรื่อง Civic Education รวมทั้งสถาบันต่างๆ ในเยอรมันก็เกิดมาจากประสบการณ์ในเรื่องเผด็จการในเยอรมันมาก่อน เพราะฉะนั้นในเยอรมันวัตถุประสงค์ของการที่มี Civic Education ขึ้นมาเพื่อที่จะเน้นให้ประชาชนรู้จักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นในเยอรมันปัจจุบันเรื่อง Civic Education ถือว่าเป็นเสาหลักอันหนึ่งของความเป็นประชาธิปไตย เรื่อง Civic Education ถือเป็นภารกิจหลักของสังคมและเขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญเยอรมัน (Basic Law) เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญไทยก็มีเขียนเรื่องภารกิจหลักของสังคม ในเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาด้านการเมือง ฉะนั้นเรื่อง Civic Education ในประเทศเยอรมัน เป็นหน้าที่หลักของภาครัฐ และของภาคประชาสังคมด้วย ซึ่งหมายถึงว่าภาครัฐต้องให้งบประมาณสนับสนุน เป็นบทบาทหลักที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง และคิดว่าความสำเร็จของเรื่อง Civic Education ในเยอรมันมาจาก 2 ปัจจัย

อันดับที่ 1 ก็คือ การที่ไม่เข้ามาก้าวก่ายมากเกินไปของภาครัฐ เพราะว่าการศึกษาแบบ Civic Education ไม่ได้มีขึ้นเพื่อที่จะมารับใช้องค์กรในภาครัฐ และไม่ได้มีขึ้นเพื่อชักนำให้ประชาชนเรียนรู้เพื่อมาเคารพระบบ กฎอะไรต่างๆ แต่มีขึ้นเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทางการเมือง หรือในสังคม

รัฐจึงไม่เข้ามาก้าวก่ายชี้นำ แต่รัฐจะต้องเปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้เรื่องนี้ โดยที่ไม่เข้ามาชี้นำเนื้อหาว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้

อันดับที่ 2 คือ การยอมรับความหลากหลายทางความคิด เปรียบได้กับพรรคการเมือง เวลาเลือกตั้งก็มีการแข่งขันกัน รณรงค์นโยบายต่างๆ เรื่อง Civic Education ก็เช่นกัน ก็สามารถทำด้วยหลายหน่วย หลายกลุ่มลองมาเปรียบเทียบความคิดกัน แนวคิดการทำงานต่างๆ กัน เป็นเรื่องความหลากหลายทางความคิด ทั้งทางด้านการเมือง อะไรต่างๆ และเป็นเรื่องสามัญ ยกตัวอย่างมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ เป็นมูลนิธิทางด้านการเมืองอันหนึ่ง ในประเทศเยอรมันก็มี 6 องค์กรที่เป็นมูลนิธิทางด้านการเมือง อยากจะขอเน้นตรงนี้ว่ามูลนิธิทางการเมืองของเยอรมัน คิดว่าเป็นเอกลักษณะพิเศษของประเทศเยอรมัน ไม่มีประเทศอื่นที่มีแบบนี้ และเนื่องจากได้มีการส่งเสริมทางด้าน Civic Education จนประสบความสำเร็จในประเทศเยอรมัน เพราะฉะนั้นก็มีหลายประเทศที่อยากจะทำคล้ายๆ แบบนี้เหมือนกัน

ลำดับถัดไปอยากจะพูดถึงบทบาทและผลงานของมูลนิธิ ตอนสุดท้ายจะพูดถึงปัจจัยต่างๆ ที่เป็นเงื่อนไขทำให้ Civic Education ในเยอรมันประสบความสำเร็จ แต่ไม่ใช่เรื่องความสำเร็จของมูลนิธิ จริงๆ แล้วมูลนิธิทางด้านการเมืองก็เป็นตัวอย่างในเรื่องความหลากหลายทางด้านความคิด ทางด้านการเมือง การศึกษาทางด้านการเมือง เยอรมันมีมูลนิธิทางด้านการเมือง 6 แห่ง ซึ่งล้วนเน้นเรื่องแนวคิดทางการเมือง ทำงานใกล้ชิดกับพรรคการเมือง โดยหน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของหลักการ หรือแนวคิดของกลุ่มเขา และก็ทั้ง 6 องค์กรก็ตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 มูลนิธิทางด้านการเมืองเหล่านี้จึงมีบทบาทเป็นตัวกลาง ตัวเชื่อมระหว่างพรรคการเมืองกับภาคประชาสังคม เป็นหน่วยงานที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับทางด้าน Civic Education ให้กับประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตามเนื่องจากทางมูลนิธิทางด้านการเมืองเหล่านี้จะมีความคุ้นเคยใกล้ชิดกับพรรคการเมืองต่างๆ เพราะฉะนั้นเขาก็สามารถที่จะนำความรู้ นโยบาย หรือแนวคิดอะไรต่างๆ จากพรรคการเมืองมาสู่ประชาชนได้ ก็เรียกว่าเป็นความหลากหลายแบบหนึ่ง เช่น มูลนิธิ
คอนราด อาเดนาวร์ ก็มีศูนย์ทำงานมากถึง 16 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งประจำแต่ละแคว้นของเยอรมัน และทั้ง 16 แห่งนี้ไม่ได้ทำงานเฉพาะทางด้าน Civic Education หรือทางการเมือง หรือประชาธิปไตยภายในประเทศเท่านั้น แต่ก็ศึกษาเกี่ยวกับนานาชาติด้วย รวมทั้งเกี่ยวกับเรื่องสังคมโลกด้วย ดังเช่น มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ มีสำนักงานและผู้แทนประจำประเทศต่างๆ กระจายอยู่ทั่วโลก

เหมือนอย่างที่ดิฉันถูกส่งมาประจำที่กรุงเทพ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของความเกี่ยวเนื่อง หรือการให้ความสนใจทางด้านภาคนานาชาติ และตอนนี้ทางมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ มีโครงการต่างๆ ผ่านศูนย์ที่ตั้งอยู่ทั่วโลกประมาณ 80 แห่ง วันนี้ดิฉันจะเน้นทางด้าน Civic Education จะไม่พูดเกี่ยวกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ในเมืองไทยมาก ซึ่งแต่ละท่านถ้าสนใจสามารถดูในเว็บไซต์ได้

ในประเทศเยอรมันภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่อง Civic Education เริ่มต้นด้วยการสอนเรื่องบทบาท เรื่องประชาธิปไตย การเมืองต่างๆ จนกระทั่งขยายไปจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งปัจจุบันแม้จะทำมามาก และเป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังต้องเติมต่อไปเรื่อยๆ และในศูนย์ที่ให้การศึกษาในด้าน Civic Education ทั้ง 16 ศูนย์ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น แต่ละศูนย์จะเน้นความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพราะฉะนั้นจะให้ความสำคัญของแต่ละกลุ่มเป้าหมายของแต่ละศูนย์ ที่มีความจำเป็นอะไรก็จะมุ่งไปตรงนั้น เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่าแต่ละกลุ่มก็มีความต้องการแตกต่างกัน สมมติว่าไปทำงานกับกลุ่มธุรกิจ กลุ่มสตรี หรือกลุ่มเยาวชน แต่ละกลุ่มก็จะมีความสนใจ หรือมีวิธีการต่างๆ กันไป อันที่ 2 เรื่องวัตถุประสงค์ แน่นอนอยู่แล้วว่าเราจะไปทำงานที่ไหน จะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม เราจะเน้นว่าเรามีความเชื่อ หรือแนวคิด หรือคุณค่านิยมแบบนี้ ฉะนั้นพยายามที่จะเผยแพร่ตรงนี้ออกไป อันนี้อย่าเข้าใจผิดว่าเราจะไปชี้นำคนอื่น แต่เราจะเผยแพร่ตรงนี้ออกไป เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเกี่ยวกับเรื่องคุณค่าที่เรายึดถือ หรือนิยมว่าเป็นสิ่งที่ดี อันนี้เป็นวัตถุประสงค์ อันสุดท้ายก็คือการแบ่งปัน การแบ่งปันไม่ได้ว่าแบ่งปันอำนาจ แต่เป็นเรื่องการแบ่งปันคุณค่า ความเชื่อ หรืออะไรต่างๆ

ขอสรุปอีกครั้งว่ามีเงื่อนไข ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ Civic Education ในเยอรมันประสบความสำเร็จ อันที่ 1 ก็คือว่า Civic Education ที่มีความเป็นอิสระ อันที่ 2 จะต้องมีวิธีการที่หลากหลาย อันที่ 3 เรื่อง จะต้องเป็นกระบวนการแบบมีส่วนร่วม เรื่องการมีส่วนร่วม ไม่ใช่อย่างในห้องนี้ ในห้องนี้ดิฉันพูดเท่านั้น ทุกคนฟัง อันนี้ไม่ได้มีส่วนร่วม และนอกเหนือสิ่งใดคือวิธีการต่างๆ จะต้องเป็นนวัตกรรม คิดสร้างสรรค์แบบใหม่ๆ วิธีการหนึ่งที่ใช้ประสบความสำเร็จกับกลุ่มหนึ่งกับเยาวชน ก็ไม่ได้แปลว่าอันนั้นต้องใช้กับกลุ่มอื่นได้ด้วย และอีกประการที่สำคัญคือต้องเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นร่วมด้วย รับฟังความคิดเห็นของแต่ละคน เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะดำเนินการ หรือทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้จะต้องออกแบบมาให้มีการสนองตอบ แสดงความคิดเห็นตอบกลับได้ตลอดเวลา

ท้ายที่สุดที่สำคัญมากก็คือว่า การทำเรื่องเกี่ยวกับ Civic Education จะต้องเน้นไปที่ผลของมันด้วย ต้องได้รับผลที่ดีด้วย คือเราต้องมีวัตถุประสงค์ใช่ไหมว่าทำไมเราต้องทำเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นต้องได้ผลสำเร็จที่ดีด้วย เพราะว่าเรามีวัตถุประสงค์ เราจึงสามารถที่จะวางแผนล่วงหน้าได้เลยว่าจะทำอย่างไรกับมัน และเมื่อวางแผนล่วงหน้าได้ เราก็จะเลือกวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการทำตรงนี้ออกมาให้ได้

เรื่อง Civic Education ไม่ใช่แปลว่าเป็นเรื่องที่ต้องมาสอนเท่านั้น มันเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน จริงอยู่แต่ละท่านในที่นี้ หลายท่านก็เป็นครู แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน ขอบคุณทุกท่านที่ได้ฟังมาถึง 40 กว่านาที ขอชักชวน กระตุ้นให้สถาบันนโยบายศึกษา และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนได้จัด Section คล้ายๆ อย่างนี้อีก หลังจากนี้เพื่อจะค้นหาวิธีที่จะทำงานด้าน Civic Education ให้ดีที่สุดต่อไป

บรรยากาศภายในห้องสัมมนา

คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร : ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา
วันนี้เหมือนรู้สึกได้กลับมาสู่ห้องเรียน แต่ว่าเปลี่ยนบทบาทและขอสรุปสาระสำคัญที่ Dr. Canan Atilgan ได้พูดให้ฟัง ซึ่งท่านพูดในภาพรวม สำหรับมูลนิธิทางการเมืองของเยอรมันนั้น มี 6 มูลนิธิ รัฐบาล หรือประชาชนเยอรมันให้การสนับสนุน เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาชนและพรรคการเมือง เหมือนเป็นวงล้อหนึ่งในการขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้คนคุ้นชินกับระบอบประชาธิปไตยอยู่เรื่อยๆ ทุกวันๆ มิเช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นว่าองค์กรภาครัฐทำ หรือโรงเรียนทำ มันไม่พอ ต้องมีองค์กรอื่นด้วย ซึ่งมูลนิธิของเยอรมันนั้นเขาไม่ได้ทำแต่เพียงลำพัง แต่เขาจะไปร่วมกับองค์กรอื่นๆ หรือแม้แต่องค์กรภาครัฐด้วยกันทำงานในทุกวาระ ทุกโอกาส ไม่ให้หยุด

ดิฉันเคยเรียนถามท่านประธานมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ซึ่งมาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราในปี 2529 ดิฉันถามท่านประธานมูลนิธิว่า ทำไมประเทศเยอรมันซึ่งมีเสถียรภาพมากแล้ว ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทำไมยังต้องมีมูลนิธิทางการเมือง เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยอยู่อีก

ทราบไหมว่าประธานมูลนิธิ ซึ่งปัจจุบันนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้ว ท่านตอบว่า ก็เหมือนคนที่มีสุขภาพดีก็จำเป็นต้องไปตรวจสุขภาพประจำปี ไปหาหมออยู่เสมอ เพื่อทำให้เรามีสุขภาพดีตลอดไป อันนี้เป็นคำที่น่าสนใจ ที่เราจะจดจำ

ที่นี้ Dr. Canan Atilgan ได้พูดถึงเรื่อง Civic Education ที่ท่านใช้คำว่าเป็นเสาหลักของประชาธิปไตย สำหรับเยอรมันที่เอาตัวนี้เป็นตัวขับเคลื่อนระบบให้เดินไปไม่ให้หยุด และเป็นพันธกิจ เพราะรัฐธรรมนูญระบุให้ทำหน้าที่นี้ด้วย รัฐปฏิเสธไม่ได้ เมื่อคุณต้องการพลเมืองแบบไหน คุณก็ต้องสร้างพลเมืองแบบนั้น และรัฐต้องเป็นผู้สร้างพลเมือง รัฐต้องจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรม-ทักษะต่างๆ จะไปหวังให้โรงเรียนทำแต่เพียงลำพังไม่ได้ เพราะโรงเรียนก็เหมือนก๋วยเตี๋ยวชามแห้ง แต่ว่าองค์กรต่างๆ ที่มาช่วยขับเคลื่อนประชาธิปไตยก็เหมือนก๋วยเตี๋ยวอีกชามอื่นๆ ที่เป็นน้ำ เป็นเกาเหลา เป็นอะไรสารพัด ทำให้ประชาธิปไตยสามารถสร้างทักษะนอกโรงเรียน มีโครงการต่างๆ มากมายอยู่ภายนอกโรงเรียนสำหรับคนทำงานทุกสาขาอาชีพด้วย

ที่นี่หัวใจของ Civic Education ในสังคมประชาธิปไตยก็คือ ต้องไม่มีการชี้นำ คือต้องปลดแอกพันธนาการที่เราเคยชี้นำนักเรียนว่านักเรียนจด นักเรียนขีดเส้นใต้ ทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว คืออะไรก็ตามที่เป็นความรู้ที่อาจารย์เอามาสอน แท้ที่จริงคือข้อมูลเก่า ในอดีตมันคือความรู้ แต่ ณ ปัจจุบันมันเป็นเพียงข้อมูลเก่า ไม่ทันสมัยแล้ว และวิธีการก็ไม่ทันสมัยอีกแล้ว นักเรียนก็จะหาทางจะหลบอาจารย์ออกไป อาจารย์ก็จะเสียใจว่าเตรียมตัวมาอย่างดีนักเรียนหายไปไหน อันนี้ก็เป็นอันหนึ่งว่าชี้นำไม่ได้ เมื่อชี้นำเด็กจะเบื่อ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เอาความคิดของเด็กออกมา ให้เขานำตัวเอง เมื่อเขานำตัวเองได้ เขาก็จะนำคนอื่นได้ ก็คือเรื่องเสรีภาพ ความคิด การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นเป็นเสรีภาพพื้นฐานของประชาธิปไตย โดยที่เราลดการพูดลง เพราะว่าสังคมไทย ดิฉันก็เคารพว่าผู้ใหญ่เราเป็นห่วงเด็กมาก ห่วงซะจนกระทั่งจัดวางทุกอย่างแม้แต่ความคิด เขาก็เลยอดที่จะแสดงความคิด เมื่อคิดไม่ได้มันก็ทำไม่ได้ มีคำกล่าวว่า มือที่คล่องแคล่วคือสมองที่ว่องไว ถ้าอาจารย์ไม่ได้นำให้เด็กปฏิบัติ ไม่มีทักษะที่จะลงมือทำ สมองก็ไม่คิดแล้ว เพราะที่ผ่านมาอาจารย์คิดให้เขา ถ้าเขาเริ่มคิดแล้วเขาจะแตกแขนงความคิดไปอีกมากมาย เมื่อไรที่เราไม่ให้เขาคิด สมองจินตนาการ สมองความคิดเขาหยุดเลย ก็เหมือนแขนขาถ้าเราไม่ใช้งานมันก็ลีบเล็ก ต้องมานั่งเสียเวลาทำกายภาพอีก แต่สมองกายภาพไม่ได้ มันลีบแล้วมันหายไปเลย ก็อยากจะฝากว่ามันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์แล้ว ต้องเอาความคิดของเด็กออกมาให้ได้ ครูพูดน้อยลง ถามว่าเธอคิดอย่างไร แต่อย่าไปดุว่าทำไมคิดไม่เป็นเสียที

มาเรื่องความหลากหลายทางความคิด ต้องยอมรับว่าคนทุกคนคิดไม่เหมือนกัน แต่ละคนสวยหล่อก็แตกต่างกัน ความคิดเขาจะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นนวัตกรรมก็จะไม่เกิด สิ่งสวยงามต่างๆ ในแต่ละภาคก็จะไม่เกิด สภาพดินฟ้าอากาศแตกต่างกัน แตกต่างครอบครัว เพราะฉะนั้นก็มีความหลากหลายเกิดขึ้นได้ อันนี้ก็ต้องยอมรับว่าถ้าเรายอมรับตรงนี้แล้วเราก็จะไม่โกรธกัน เพียงเพราะเราคิดไม่เหมือนกัน นักเรียนคิดไม่เหมือนครู ครูก็อย่าโกรธนะคะ แสดงว่าเขาเป็นผู้นำทางความคิดของตัวเขาเอง ถูกผิดไม่เป็นไร เดี๋ยวคุยกันได้ แต่ขอให้เขากล้าแสดงความคิดให้ได้ก่อนนะ ที่นี้เมื่อเขาคิดได้ เราก็ต้องให้พื้นที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ อย่างที่ท่านศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้กล่าวไว้แล้ว เมื่อคิดแล้ว เราต้องหาโอกาสที่จะเปิดทักษะทางความคิด เอาข่าว เอาเรื่องเหตุการณ์ปัจจุบัน เอาเรื่องใกล้ตัวมาเปิดวงคุยกันให้มากให้บ่อย โดยนำเอาเหตุการณ์ปัจจุบันมาให้เขาคุย โดยที่เรารู้แล้วว่าเราจะให้เขาไปถึงจุดไหน แต่ว่าวิธีการนั้นให้เขาเป็นตัวนำเพื่อให้ไปถึงจุดที่เราต้องการ

Dr. Canan Atilgan พูดถึงการมีส่วนร่วม และการแบ่งปันก็คือการมีความสามารถที่จะมีส่วนร่วม แต่ปัจจุบันสังคมไทยเรานั้น เรามีความสามารถพิเศษมากที่จะไปร่วมกับคนอื่น แต่เราขาดความสามารถที่จะมีส่วนร่วมทางความคิดกับผู้อื่น ทุกคนต้องร่วมคิดและร่วมกำหนดนี่คือเส้นทางของประชาธิปไตย เสรีภาพของความคิดเป็นเสรีภาพพื้นฐานของมนุษย์ เพราะเหตุนี้ประชาธิปไตยต้องให้การเคารพเสรีภาพทางความคิด แม้ว่าคนกลุ่มน้อยๆ เขาคิดอย่างนี้ แล้วเราก็บอกเราปฏิเสธ จริงๆ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าเราปฏิเสธเขาบ่อยๆ เขาก็ไปหาลัทธิอื่น ประชาธิปไตยไม่เอาแล้ว อย่างที่ Dr. Canan Atilgan ได้พูดถึง อย่าปล่อยให้เขาสูญเสียโอกาสมากนัก เขาก็จะหนีออกไป อาจารย์ก็อย่าปล่อยให้นักเรียนต้องตามครู และขัดแย้งกับครู ไม่ยอมรับความคิดเขา เขาก็จะหนีออกจากห้องเรียน ก็ฝากสรุปข้อคิด ภาพรวมของสังคมเยอรมันว่า ทำไม Civic Education ในสังคมประชาธิปไตยมีความจำเป็น เพราะว่าเราต้องการสร้างคนให้อยู่ในระบอบด้วยการเคารพซึ่งกันและกัน และเมื่อเราทะเลาะกันทางความคิดแล้ว เราไม่จำเป็นต้องทำร้ายกันเพราะเราเคารพว่าเราคิดไม่เหมือนกัน ไม่เห็นเป็นไร นี่คือนวัตกรรมของสังคม เหมือนดอกไม้ในสวนมีหลายพันธุ์ มีหลากสี ถ้าสีเดียวมันก็ไม่สวย ขอบคุณค่ะ

ช่วงหลังเบรกอยากจะให้เป็นเวทีของท่านครู-อาจารย์ที่เคารพทุกท่านได้ซักถาม

เชิญเลยค่ะ คำถามแรกที่เตรียมไว้ เชิญค่ะ กรุณาแนะนำชื่อ และสถานที่ทำงานด้วย เพื่อที่ทาง Dr. Canan Atilgan จะได้รู้จักท่านด้วยค่ะ

คุณณิชพัฒน์ รอดรัตษะ : สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดิฉันณิชพัฒน์ รอดรัตษะ นักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างที่ Dr. Canan Atilgan ได้พูดว่า Civic Education มีส่วนช่วยในการสร้าง และช่วยในการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน อยากจะทราบว่า แล้ว Civic Education มีส่วนช่วย หรือมีกลไกในการสร้างสิทธิ์ในทางกฎหมายให้กับประชาชนได้อย่างไร?

คำถามที่ 2 ก็คือถ้าสมมติว่าเราอยากจะจัดกิจกรรมให้ประชาชนตระหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพ Dr. Canan Atilgan มีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง ในสังคมที่เราเป็นพหุลักษณะทางสังคม โดยการเอา Civic Education เป็นฐานของการออกแบบกิจกรรม?

Dr. Canan Atilgan : ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทย
ขอตอบคำถามแรกที่ว่า จะทำอย่างไรที่เราจะกระตุ้นประชาชนได้รู้สิทธิ์เกี่ยวกับความเป็นพลเมืองของเขา อยากจะเสนอทฤษฎีระบบเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยหลักก็คือว่า เราอยากจะเสริมสร้างความตระหนักให้กับประชาชนเกี่ยวกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพของเขา อันดับแรก เราต้องมาวิเคราะห์ดูก่อน มาจำแนกก่อนว่าความต้องการของพลเมืองที่จะต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพของเขาก่อน อันที่ 2 คำถามก็คือว่าแล้วใครเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราจะต้องทำตรงนี้ ยกตัวอย่างนักศึกษาแล้วกันนะคะ อยากจะยกตัวอย่างกลุ่มนักศึกษา คือจริงๆ อาจจะเป็นกลุ่มนักกฎหมาย กลุ่มผู้สูงอายุ หรืออื่นๆ ก็ได้ แต่ขณะนี้จะยกตัวอย่างนักศึกษา

อันแรกเราต้องตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับการเรียนรู้ก่อนว่า กลุ่มนี้ต้องการเรียนรู้อะไร ถ้าเป็นกลุ่มนักศึกษา เราก็ต้องบอกว่าเราต้องการให้นักศึกษาเรียนรู้อะไร เช่น เราตั้งเป็นวัตถุประสงค์ว่าเราต้องการให้นักศึกษาได้เรียนรู้ว่ามีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพ

ในเมื่อเราตั้งวัตถุประสงค์ไว้อย่างนั้นแล้ว เราจะมาออกแบบว่า แล้วจะให้เขาเรียนสิทธิและเสรีภาพของเขาได้แบบไหน อย่างไร หรือเราอาจจะมีวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ว่าเราต้องการให้นักศึกษาได้รู้เกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานของความเป็นพลเมืองของเขาด้านนั้นด้านนี้ เพื่อที่จะอะไรสักอย่าง ซึ่งถ้าต่างกลุ่ม ก็จะต้องออกแบบวิธีการที่ต่างไปอีก

หรือเอาตัวอย่างที่ง่ายกว่านี้ เช่น อาจจะบอกว่าเราต้องการที่จะให้กลุ่มนักศึกษาได้รู้เกี่ยวกับสิทธิของเขาตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นต้องออกแบบวิธีการว่า ในเมื่อเราอยากให้เขารู้สิทธิเขาตามรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องหาแบบที่รู้เรื่องรัฐธรรมนูญก่อน แล้วเราก็ควรจะเตรียมรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะให้เขาได้เรียนรู้ และจากนั้นจะต้องหาวิทยากร หรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นผู้สอนหรือครู แต่ว่าเป็นคนที่สามารถที่จะกระตุ้นให้นักศึกษาเหล่านั้นมีส่วนร่วม มาพูดคุยได้ เรียนรู้ผ่านกระบวนการพูดคุยได้ ผ่านกระบวนการเสวนา (Dialog) ได้ นี่ก็เป็นรูปแบบสั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าเราจะเรียนรู้เกี่ยวกับด้าน Civic Education อย่างไร ท่านอื่นอาจจะมีที่ยาวกว่านี้ หรือขอบเขตกว้างกว่านี้

ตัวอย่างต่อไป เช่น เรื่องการแก้ไขเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้ง สมมติว่าเรามีวัตถุประสงค์รวมคือเราต้องการจะลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม กลุ่มเป้าหมายต้องเป็นใครบ้าง มีใครออกความเห็นไหมว่ากลุ่มเป้าหมายต้องเป็นใครบ้างค่ะ จะลดความขัดแย้งในสังคม (ในห้องประชุมบอกว่า นักธุรกิจ)

“นักธุรกิจ” เพราะฉะนั้นเราก็จะมาตั้งวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายว่าแล้วเราต้องการให้นักธุรกิจเหล่านี้เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้ง

คำถามถัดไปก็คือว่าอะไรที่เราอยากให้เขาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการลดความขัดแย้ง อยากให้นักธุรกิจเรียนรู้อะไร

จริงๆ อาจจะบอกว่าเราให้นักธุรกิจเหล่านี้เรียนรู้กลไก วิธีการ หรือว่าจะลดปัญหาความขัดแย้งอย่างไร เราอาจจะพูดมา แต่ว่าท้ายที่สุดแล้ว ก็คือว่าเราให้นักธุรกิจได้เรียนรู้ถึงกลุ่มอื่น หรือกลุ่มชาวนาบ้าง ให้รู้จักกลุ่มอื่นบ้าง เช่น เราใส่เข้าไปได้ด้วยว่าเราต้องการให้นักธุรกิจเรียนรู้ว่าชาวนาอยู่กันอย่างไร

ลำดับถัดไป เราก็มาดูว่าจะออกแบบกิจกรรมอย่างไร ที่จะให้นักธุรกิจเรียนรู้การเป็นอยู่ของชาวนา ขอให้ทุกคนช่วยออกความเห็นตรงนี้ เราควรจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง เราไม่ได้เป็นคนแก้ปัญหา แต่เราเป็นคนออกแบบที่จะให้เกิดกิจกรรม

เราต้องตระหนักอยู่เสมอว่าทุกความคิดเห็น เป็นการเปิดโอกาสที่จะมีสิทธิมากขึ้นในการที่จะเรียนรู้เรื่องนี้

ผู้เข้าร่วมสัมมนา:
ขอเสนอความเห็นว่า จริงๆ แล้วนักธุรกิจคงไม่มีเวลาที่จะไป Home Stay หรือทำอะไรตรงนั้น ก็น่าจะเป็นกิจกรรมที่จัดเป็นครั้งคราว หรือว่าให้เขามีทีมงานของเขาได้เข้าไปศึกษา คือจริงๆ ดิฉันว่านักธุรกิจก็ทราบอยู่แล้วว่าชาวนาของเราลำบาก ดิฉันว่าน่าจะปลูกฝังเขาในเรื่องของคุณธรรม หรือความเสียสละมากกว่าว่าให้นักธุรกิจมองว่าถ้าเขายังรวยล้นฟ้าในขณะที่ชาวนา ไม่ต้องชาวนา ประชาชน หรือพวกเราที่นั่งอยู่ในนี้ก็เหมือนกัน หากไม่มีกิน มันก็จะเต็มไปด้วยโจรผู้ร้าย และในที่สุดผลจะตีกลับไปที่เขา หรือว่าถ้าชาวนาจนมากๆ ไม่มีเงินจะซื้อของให้นักธุรกิจตระหนักว่าเขาอยู่คนเดียวไม่ได้โลกนี้ เขาจะต้องมีคนหลายๆ ระดับที่มาสนับสนุนให้เขาเป็นนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ทำนองนั้น

ผู้เข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ Dr.Canan Atilgan

Dr. Canan Atilgan : ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทย
ขอมีส่วนร่วมเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย จริงๆ แล้วที่เราจะคิดเกี่ยวกับเรื่องการให้ความรู้ทางด้าน Civic Education ทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับความเป็นจริงด้วย ขอท้าทายกลับมายังผู้ออกความเห็นว่าอะไรจะเป็นจริงกว่ากันจากการที่เราสอนให้นักธุรกิจให้รู้เกี่ยวกับเรื่อง Civic Education ให้รู้หน้าที่ของเขา หรือกับการที่ให้เขาเดินทางไปศึกษาดูงาน อยากจะให้เปรียบเทียบกันว่าอันไหนที่จะดูว่าเป็นไปได้มากกว่ากัน

ที่พูดไม่ได้ต้องการคำตอบอะไร แต่อยากพูดให้ตระหนักว่าในการที่เราจะออกแบบ ที่จะทำโครงการเกี่ยวกับ Civic Education ของทุกท่าน อยากจะให้ตระหนักว่าวัตถุประสงค์คืออะไร กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร แล้วเราจะออกแบบอย่างไร ทำวิธีการใดที่หมาะสม และจะประสบความสำเร็จมากที่สุด

เพราะฉะนั้นในความเป็นจริงแล้วก็อย่างความเห็นของหลายๆ ท่านที่เสนอมา อันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบในกิจกรรมที่เราจะทำขึ้น หรือการที่จะให้เดินทางไปศึกษา ใช้ชีวิตร่วมกับชาวนา อันนี้ก็อาจจะเป็นวิธีหนึ่ง

การที่จะให้เขาเดินทางไปศึกษาดูงานชีวิตชาวนา แท้จริงแล้วไม่ได้เน้นเรื่องเดินทางไปดูงานเท่านั้น เรายังต้องการที่จะให้เวลาของการเรียนรู้ด้วย สมมติเมื่อเขากลับมาแล้ว เราต้องการที่จะให้เขาสะท้อนด้วยว่าเขาคิดเห็นอย่างไร จากการศึกษาดูงานครั้งนี้แล้วเขาอาจจะจัดห้องขึ้น หรือจัดงานโครงการเพื่อให้เขาได้สะท้อนกลับว่าเขาคิดเห็นเกี่ยวกับวิถีชาวนาอย่างไร ชาวนาเป็นอยู่แบบไหน ให้เขาได้มีส่วนร่วมตรงนั้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วกิจกรรมนี้จะเป็นการช่วยให้เขาได้หาทางออกของความขัดแย้งหรือปัญหาต่างๆ และที่สุดของที่สุดก็คือ เขาจะได้ตระหนักว่าเขาเองก็ต้องมีส่วนร่วมเหมือนกัน และมีความจำเป็นเหมือนกันที่เขาต้องหันมาให้ความสนใจกับความเป็นอยู่ของชีวิตชาวนา คือเขาต้องมีความรับผิดชอบเช่นกัน

เพราะฉะนั้นโดยสรุปก็คือว่า การที่จะทำเรื่องโครงการเกี่ยวกับ Civic Education เราก็จะต้องดูวิธีการทั้งหมด ให้ดูแบบเป็นจริงเป็นจังได้ และเป็นวิธีการที่ยั่งยืน แล้วเราจะต้องทำให้เขาตระหนักเช่นกัน เพราะอย่างเรื่องการสอนเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรม หรืออะไรแบบนี้มันเป็นเรื่องที่สอนกันยากเหมือนกันว่าต้องเป็นแบบไหน แต่ท้ายที่สุดด้วยวิธีการต่างๆ ดังกรณีที่ยกตัวอย่างมาแล้ว ก็จะทำให้เขาตระหนักถึงความรับผิดชอบได้เอง

อันนี้ก็สามารถที่จะตอบคำถามที่ 2 เช่นกัน คิดว่าอาจจะไปประยุกต์ปรับตอบคำถามที่ 2 ได้เช่นเดียวกัน

คุณจักรพันธ์ คำลาภ : เทศบาลนครอุดรธานี
สวัสดีครับ ผมจักรพันธ์ คำลาภ เดินทางมาจากเทศบาลนครอุดรธานีครับ ในวันนี้เทศบาลนครอุดรธานีมีความยินดี และมีความตั้งใจที่จะเดินทางไกลมาเพื่อที่จะมารับฟังการประชุมในเนื้อหาสาระดีๆ อย่างนี้นะครับ เทศบาลนครอุดรธานีวันนี้มา 2 คนด้วยกัน มีผมเป็นเจ้าหน้าที่เทศบาล และพี่นักวิชาการศึกษาอีกคนหนึ่ง ซึ่งก็ตั้งใจว่าจะทำในเรื่องของประชาธิปไตยภาคพลเมือง ผมทำในส่วนของนอกระบบการศึกษา อีกท่านหนึ่งทำในระบบการศึกษา เทศบาลนครอุดรธานีนั้นเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมทางการเมืองของผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งทุกท่านคงทราบดีว่าที่ผ่านมานั้นได้มีกิจกรรมทางการเมืองและการแสดงออกที่ค่อนข้างจะรุนแรง เทศบาลนครอุดรธานีเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งเดียวที่ถูกเผานอกจากศาลากลาง ตอนนี้เราก็อพยพโยกย้ายไปขอที่ของ อบจ. ทำงานอยู่ ภายหลังจากที่เหตุการณ์แสดงออกที่รุนแรง เหตุการณ์แรกก็คือ การปะทะกันของกลุ่มผู้มีความเห็นสองฝ่าย และมีภาพออกทางสื่อต่างๆ มีการใช้ความรุนแรง ใช้ไม้ไล่ตีกันที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ อีก 2-3 วันต่อมาได้มีกลุ่มเยาวชนประกอบด้วยน้องๆ ในระดับมัธยมปลายของโรงเรียน 2 แห่งประจำจังหวัด เขาได้ร่วมกันเดินขบวนและออกแถลงการณ์ร่วมกันของเยาวชน ผมยังประทับใจบทความข้อหนึ่งของน้องๆ ที่พูดไว้ดังนี้ “เยาวชนเป็นวัยที่สดใสสวยงามและมีสีสัน แต่ว่าด้วยความขัดแย้งของสังคมเขาอยากจะสวมเสื้อทุกสี แต่เขาไม่สามารถที่จะใส่เสื้อสีเหลืองกับสีแดงได้”

ด้วยการแสดงออกของเยาวชน เทศบาลซึ่งเป็นองค์กรท้องถิ่นที่รับผิดชอบกิจกรรมภาคพลเมืองอยู่แล้ว เราก็ได้มีความพยายามที่จะส่งเสริมประชาธิปไตยภาคพลเมืองของในพื้นที่เมือง โดยได้จัดทำโครงการสันติวิถีชุมชน เราคงไม่สามารถทำประชาธิปไตยในสเกลระดับเมืองได้ แต่เราก็พยายามทำในระดับชุมชน โดยคัดเลือกชุมชนนำร่อง

เยอรมันก็มีจุดเด่นตรงที่ Civic Education มีการส่งเสริมประชาธิปไตย และระบบท้องถิ่นของเยอรมันก็นับเป็นต้นแบบเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยในเรื่องของการส่งเสริมประชาธิปไตยภาคพลเมือง แต่ในบริบทของสังคมไทยเทศบาลก็มีความพยายามที่จะใช้วิถีวัฒนธรรมชุมชน ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้ผมกำลังพยายามที่จะได้ติดต่อไปถึงปราชญ์ชุมชนที่เป็นหมอลำ เป็นบทกลอนท้องถิ่นที่จะสื่อสารผ่านกลอนรำต่างๆ ที่จะไปพูดคุยกับชุมชน โดยยกตัวอย่างว่าคนอุดรเป็นคนอีสานเราก็ยังกินข้าวเหนียวจากกระติ๊บเดียวกัน แต่เราก็มีความเห็นแตกต่างกันได้ ก็คือโมเดลที่เราทำงานอยู่

ส่วนในระบบการศึกษา เทศบาลได้จัดโครงการประชาธิปไตยระดับโรงเรียนในลักษณะเป็น Shadow Cabinet ก็คือ ให้นักเรียนสวมสถานะตัวเองเป็นนายกเทศมนตรี เป็นเทศมนตรี เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น และนำเสนอโครงการแผนงานที่เขาต้องการ โดยเชิญผู้บริหารเมืองมาเป็นประชาชนผู้รับฟังของเขา โดยสถานที่ก็ใช้สภาเมืองที่เป็นของจริงเลยครับ

สุดท้ายก็คือเทศบาลนครอุดรธานีมีความยินดีที่จะร่วมมือกับทางมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ หากท่านมีความประสงค์ที่จะไปใช้พื้นที่นำร่อง เทศบาลก็ยินดีสนับสนุนงบประมาณ และการประสานงานระดับพื้นที่ ขอบคุณครับ

Dr. Canan Atilgan : ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทย
ขอบคุณมาก และคิดว่าอันนี้เป็นตัวอย่างที่น่าประทับใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการที่จะดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่อง Civic Education และคิดว่าพื้นที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีความยากพอสมควรที่จะดำเนินการเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้ง

ในการทำงานเกี่ยวกับเรื่อง Civic Education ในพื้นที่ภูมิภาคหลายๆ แห่งที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง ผู้ที่จัดทำโครงการจะต้องมีความเป็นกลาง ต้องไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใด มิเช่นนั้นอาจจะมีปัญหา

ตัวดิฉันเองอยู่เมืองไทยมา 3 ปีแล้ว เร็วๆ นี้เองที่พึ่งจะได้เห็นว่าในสังคมไทยก็มีโครงสร้างเกี่ยวกับเรื่องที่จะให้มีการพูดคุยกันได้

ไม่อยากจะบอกว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่มีความรู้สึกว่า คือแต่เดิมไม่มี แต่ช่วงหลังๆ มีความรู้สึกว่าสังคมไทยมีการพูดกันมากขึ้นว่าอันนี้คนดี อันนี้คนเลว อันนี้คนไม่มีคุณธรรม อันนี้คนมีคุณธรรม เขาคิดว่ามีการพูดกันเยอะ นี่เป็นตัวสะท้อนว่าสังคมแตกแยกมาก

ความหลากหลายของพหุสังคม จริงๆ แล้วบางทีขึ้นอยู่กับอารมณ์ด้วยเหมือนกัน

อย่างวันนี้ที่เราอาจจะมีการพูดว่าเราจะต้องกันคนเลวออกจากสังคม คิดว่าคำพูดอย่างนี้เป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก มันไม่ใช่เป็นเรื่องของเหตุผลแล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องมีการแยกแยะวิเคราะห์ รู้จักใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจที่จะชี้

คุณธีวราช พีระโภคิน : หัวหน้า กศน.แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี
แนะนำตัวก่อนนะครับ ธีวราช พีระโภคิน ก็สวมสองบทบาทนะครับ หัวหน้า กศน.แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี และเป็นครูศูนย์การเรียนชุมชน เขตราชเทวี

คำถามที่จะถามก็คือว่า ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับแนวทางในการให้การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย ในเรื่องของคุณธรรม และภาวะผู้นำในการที่จะตัดสินใจ และกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง และพร้อมที่จะยืนกรานในสิ่งที่ถูกต้อง ควรเริ่มปลูกฝังอย่างไรในการสร้างให้เป็นรูปธรรม และนำกลับมาใช้ในสังคมไทยได้อย่างบูรณาการ

Dr. Canan Atilgan: ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทย
เป็นคำถามที่ยากมาก คงไม่มีคำตอบตรงๆ ซึ่งต้องดูภาพรวมทั้งสังคม แต่ว่าอยากจะพูดนิดหนึ่งเกี่ยวกับคนที่มีคุณธรรม เรื่องเกี่ยวกับคุณธรรม หรือความดีเป็นเรื่องนามธรรมมากๆ แตะต้องไม่ค่อยได้ สัมผัสไม่ได้ แต่เพื่อที่จะรู้ว่ามันมี ไม่มีอย่างไร ก็จะต้องอาศัยองค์ประกอบ ปัจจัยที่จะเป็นตัวชี้ไปถึงตรงนั้นว่าในสังคมเรามี-ไม่มีอะไรอย่างไร แล้วก็คนที่เล่นบทบาทหลักตรงนี้ก็คือรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวสะท้อน ในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ว่าสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ แต่จริงๆ ที่แฝงอยู่ในนั้นสำคัญที่สุด คือความรับผิดชอบด้วย

ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศก็จะระบุไว้ว่าประชาชนในประเทศจะมีสิทธิ มีเสรีภาพอย่างไรบ้าง พร้อมกับเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ทางด้านการเมือง สังคม วัฒนธรรม อื่นๆ จะรวมอยู่ในนั้นด้วย เพราะฉะนั้นพยายามจะตอบคำว่า ถ้าเราอยากจะให้ประชาชนในสังคมมีศีลธรรม คุณธรรมที่ดี เป็นคนดี คิดว่าอยู่ที่ว่าเราก็ต้องไปที่รากของสังคมที่ว่าคุณค่าที่เราต้องการในสังคมไทยเป็นอย่างไร ก็เอาตรงนั้นมาพูดคุย

บางทีคนเราเลว หรือไม่ดีเพราะว่าเขาคิดต่างจากเราน่ะไม่ใช่ แต่คนไหนที่ไม่ดีน่าจะเป็นคนแบบคล้ายๆ ทำลายกฎหมาย ไม่ทำตามกฎหมาย คือในสังคมที่เรายึดกฎหมายเป็นสำคัญ หรือสังคมแบบนิติรัฐ ทุกๆ คนมีความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย แล้วก็ไม่มีใครที่จะสามารถอยู่เหนือกฎหมายได้

สุดท้ายอยากจะแนะนำนิดหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการจะส่งเสริมเรื่องคุณธรรม หรืออะไรต่างๆ ก็คิดว่าเรื่องนี้ต้องไปดูหรือพูดคุยกันเกี่ยวกับคุณค่าของสังคม ยกตัวอย่างในเยอรมันก็จะมีอยู่ 2 หลักการในสังคมที่จะยึดถือเป็นคุณค่าในสังคมอยู่เสมอก็คือ 1. ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เช่น สมมติว่าเพื่อนบ้านเราเขามีความคับข้องใจ มีความเดือดร้อน เราก็ไปเห็นอกเห็นใจ ไปร่วมช่วยกัน กับ 2. ก็คือสำนึกร่วมทางสังคม เช่น สมมติว่าเกิดปัญหาในสังคม มันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐที่จะต้องเข้ามาแก้อย่างเดียว แต่ว่าทุกๆ หน่วยในสังคมถือเป็นหน้าที่ต้องเข้ามาช่วยกัน ไม่ใช่รอให้รัฐบาลแก้ไขและทำให้ทุกอย่าง ซึ่งหลัก 2 ข้อนี้ ก็คือ สำนึกของความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ และต่อสังคม

ผู้เข้าร่วมสัมมนา :
อยากจะขอเสริมจากของน้อง กศน. ที่บอกว่า จะเริ่มต้นตรงนี้อย่างไร ดิฉันคิดว่าน่าจะเริ่มต้นจากเด็กเลย ด้วยการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม มันคงไม่ใช่เป็นการส่งเสริม แต่จะต้องปลูกฝังเขาตั้งแต่เด็ก

พ่อแม่มีการปลูกฝังให้ละอายต่อบาป ให้กลัว คนก็จะไม่ทำผิดกฎหมายถูกไหม แต่ทุกวันนี้ไม่มีความละอายต่อบาป ไม่รู้เลยว่าอะไรผิดอะไรถูก เด็กฆ่ากันยิงกันเป็นว่าเล่น อันนี้ที่คุณพูดถูกต้องสังคมมีส่วนสำคัญ บางทีรัฐก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากสังคมจะต้องช่วยกันเอง แต่ว่าตอนนี้เราเหมือนไม้แก่แล้ว คือเลยไปแล้ว มันแก้ลำบากแล้ว ทีนี้วิธีที่จะแก้ก็คือต้องปลูกฝังตั้งแต่โรงเรียน บ้าน พ่อแม่ก็ควรที่จะสั่งสอนลูก อย่างที่โรงเรียนก็ควรใส่ในเรื่องของหลักสูตร หลักสูตรต้องปลูกฝัง และมีกิจกรรมในโรงเรียนที่เกี่ยวกับจริยธรรม คุณธรรม อะไรต่างๆ อย่างวัดก็พาเด็กเข้าวัดบ้าง ฟังเทศน์บ้างถ้ามีโอกาส อย่างฝรั่งเขายังไปโบสถ์อาทิตย์ละครั้งก็จะพอช่วยได้บ้าง ถ้าสามประสานดิฉันคิดว่าก็จะช่วยได้เยอะเลยค่ะ

คุณสมเกียรติ พรหมอ่อน : มูลนิธิช่วยการศึกษาตันติสุนทร จังหวัดตาก
ผมสมเกียรติ พรหมอ่อน จากมูลนิธิช่วยการศึกษาตันติสุนทร จังหวัดตาก คือมีความสนใจว่า Civic Education เกี่ยวกับการปลูกฝังจิตสาธารณะโดยที่มุ่งเป้าหมายไปที่เด็ก ทีนี้อยากจะทราบตัวอย่างเด็กเยอรมันว่ามีวิธีการอย่างไร ที่ปลูกจิตสาธารณะให้กับเด็กเยอรมันมีความเป็นระเบียบวินัย อยากจะขอตัวอย่างสัก 2-3 ตัวอย่างที่ว่าเด็กเล็กๆ ระดับประถม ท่านทำอย่างไรกับเด็กครับ ขอบคุณครับ

คุณวันวิชิต บุญโปร่ง : หัวหน้าภาควิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม
สวัสดีครับ ผมวันวิชิต บุญโปร่ง หัวหน้าภาควิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต คำถามก็คือ ผมจะถามเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย (Civic Education) เผอิญว่าในช่วง 10-20 ปีของสังคมเยอรมัน ผมเห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง ผมจะถามว่าเขาทำได้อย่างไร เผอิญว่ามีเหตุการณ์หนึ่งในกรณีที่คนเยอรมันที่เป็นคนผิวสี ตอนที่เยอรมันเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2006 มีคนเยอรมันผิวสีเล่นในนามทีมชาติเยอรมัน ซึ่งมันเกิดอะไรขึ้นเมื่อ 10-20 ปี สังคมเยอรมันเป็นสังคมที่มีความเป็นชาตินิยมสูงมาก พูดง่ายๆ ว่าถ้ามีคนผิวสีแรกๆ หรือคนอพยพ อย่างคนตุรกี มาเล่นนามทีมชาติเยอรมัน สังคมเยอรมันให้การยอมรับได้อย่างไร คือเกิดการยอมรับความหลากหลายตรงนี้เขาสร้างได้อย่างไร คือถ้าได้คำตอบจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความหลากหลายในสังคมไทยที่เกิดความแตกต่าง แม้ขนาดเชื้อชาติเดียวกัน นี่เขาต่างกัน แต่เขาสร้างคนของเขา มันมีกระบวนการ (Process) ตรงนี้ เขาสร้างชาติของเขา ให้เกิดการยอมรับ ไม่มีเสียงโห่ ในขณะคนผิวสีร้องเพลงชาติเยอรมันด้วยความภาคภูมิใจที่ได้เล่นในนามทีมชาติ ตรงนี้ต่างหากผมสนใจว่าจะเป็นการสร้างสังคมพลเมือง น่าจะเป็นตรงนี้ ขอบคุณมากครับ

คุณชัยวัฒน์ สุรวิชัย : ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมือง
สวัสดีครับ ผมชัยวัฒน์ สุรวิชัย เป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมือง ทำงานทางด้านนี้มาร่วม 40 ปี แต่ก็ยังไปไม่ถึงไหน ประเด็นปัญหาใหญ่อยู่ที่ความไม่มีการรับผิดชอบ ไม่ว่าของรัฐบาล ของพรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งประชาชน ข้อเสนอก็คือว่า ถ้ามันจะสามารถไปได้ต่อ รัฐบาลถ้าสามารถหยิบเรื่องนี้ไปเป็นนโยบายของรัฐบาล หรือของพรรคการเมือง ฝากอาจารย์วิชัย ฝากพี่อุดร และฝาก ดร.ชัยอนันต์ ไปว่า ถ้าสามารถนำ Civic Education ไปเป็นนโยบายของรัฐบาลให้ทำในเรื่องนี้ ทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบ ก็คงจะช่วยได้มาก ประการที่ 2 ก็คือ ประชาชน สาเหตุก็คือว่าประชาชนไม่ได้สนใจ ประชาชนมีความรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่อง เอาเรื่องส่วนตัว ถ้าประชาชนได้ตระหนักว่าถ้าไม่ทำอะไรต่อไปนี้ไปแล้วประเทศชาติจะวิกฤตล่มจม อันนี้จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็อยากจะเรียกร้อง และวันนี้ค่อนข้างดี ว่ามีบรรดาหัวกะทิ ก็คือว่า เป็นครูที่ได้มาร่วมกันในวันนี้ เราสามารถเริ่มต้น ไม่มีอะไรที่ช้าไป เริ่มต้น ณ วันนี้ก็ยังมีโอกาสมากขึ้น ขอบคุณครับ

Dr. Canan Atilgan : ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทย
อันดับแรกที่อยากจะตอบก็คือเกี่ยวกับเรื่องกิจกรรมในโรงเรียนจะเป็นอย่างไร ดิฉันคิดว่ากิจกรรมที่จะจัดเกี่ยวกับเรื่อง Civic Education ในโรงเรียน ไม่ควรจะแยกส่วนกัน มันควรจะผสมผสานกัน

ทุกโรงเรียนไม่ว่าจะประถม มัธยมก็จะมีกิจกรรมในโรงเรียน เช่น กิจกรรมนอกสถานที่ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ไปพบปะ สนทนากับผู้รู้ ผู้นำนอกสถานที่ เป็นต้น

และอย่างที่ทุกคนเราก็ยอมรับสำหรับเด็กๆ คือความเข้าใจผ่านทางสายตา การมองเห็นจะสำคัญมาก ในเยอรมันจะมีกิจกรรมพานักเรียนออกไปศึกษานอกสถานที่ ทัศนศึกษา อย่างบางเรื่องเป็นเรื่องยากที่จะสอนแต่ว่าถ้าพาออกไปข้างนอก อย่างเช่น เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เรามีกิจกรรมนอกโรงเรียนเยอะแยะเลยที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ อยากจะเรียกทั้งหมดว่าเป็นโครงการวัฒนธรรม ไปดูพิพิธภัณฑ์ พาไปทัศนศึกษาร่วมกัน หรือพาไปดูภาพยนตร์ แต่ก็เลือกภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเนื้อหาหรือหัวข้ออะไร

และเร็วๆ นี้ก็ได้มีการนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาคือเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเกมคอมพิวเตอร์หลายเกมช่วงหลังก็เป็นเกมที่สอนให้เด็กได้มีความตระหนักถึงความรับผิดชอบ เรียนรู้คุณธรรม รู้หน้าที่ อะไรแบบนี้ด้วย

และขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญมากที่สุดก็คือว่าถ้าเราจะไปไหนก็ต้องให้เด็กมีส่วนร่วมช่วยคิด ช่วยตัดสินใจด้วย ครูอย่าไปบอกหรือสั่งว่าเราจะทำไป 1 2 3 4 5 คือครูอาจจะเสนอความเห็นได้ แต่ว่าท้ายที่สุดเด็กอาจจะเลือกข้อที่ 1 หรือกิจกรรมที่ 3 และที่ 6 ที่ 7 อะไรอย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นเด็กก็จะสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่เยาว์วัยว่าครูคือผู้ที่ไม่ใช่ว่าจะมาสั่งให้เขาซ้ายหันขวาหัน แต่ว่าเป็นผู้ที่ช่วยให้เขาได้เรียนรู้ ให้ได้ข้อมูล ให้ได้ฉลาดให้รู้มากขึ้น นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง มันก็ยังมีตัวอย่างอื่นอีกมาก วิธีการอื่นอีกมาก

คำถามที่สองเกี่ยวกับเรื่องผิวสี เรื่องที่แย่ที่สุดคือฆ่าชาวยิว ช่วงนั้นเยอะมาก จากสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศเยอรมันก็ถูกทำลายย่อยยับไปเยอะ และหลังจากนั้น หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองภายใต้แผนมาร์แชล ประเทศก็จำเป็นต้องฟื้นฟู เพราะฉะนั้นเยอรมันช่วงนั้นต้องการแรงงานแบบไร้ทักษะเยอะมาก ดังนั้นประเทศต่างๆ โดยรอบจึงเดินทางมาเยอรมันได้ ประเทศอิตาลี ประเทศในบอลข่าน แถบตุรกี แถบโมร็อคโค นี่ 50 ปีมาแล้ว และในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาก็มีการผสมผสานเชื้อสายกัน ลูกของลูกของลูก จนมาปัจจุบันนี้เรียกว่าช่วงอายุที่สี่แล้ว พวกนี้ปัจจุบันเขาก็อยู่ในระดับต่างๆ ของสังคม แม้ว่าเขาจะมาจากกลุ่มเป็นลูกหลานของพวกคนงานที่ไร้ฝีมือแต่แรก เพราะฉะนั้นจะมีทั้งดารา นักกีฬา นักเขียน นักร้องหลายคนที่มีชื่อเสียงที่ไม่ใช่เป็นคนเชื้อสายเยอรมันเดิม ยกตัวอย่างตัวดิฉันซึ่งมีเชื้อสายเตอรกีก็เป็นตัวแทนของมูลนิธิเยอรมัน

แต่นี่ไม่ได้แปลว่าเยอรมันผ่านเรื่องนี้มาอย่างราบรื่นก็มีปัญหาเยอะเหมือนกัน ก็คือพวกคนเยอรมันชุดเดิมกับบรรพบุรุษของพวกเขาที่มาแรกๆ แต่ว่าทั้งหมดก็ต้องพยายามที่จะหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เยอรมันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องผู้อพยพมาจากนอกประเทศ หรืออพยพย้ายถิ่นภายในประเทศกันเองก็ตาม อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายในการที่จะทำโครงการ Civic Education แต่เนื่องจากประเทศเยอรมันเป็นประเทศที่มีความสำคัญมากทางด้านอุตสาหกรรม และให้ความสำคัญตรงนี้มาก เพราะฉะนั้นเยอรมันก็ต้องการคนที่เข้าไปทำงานตรงนั้นอยู่

ย้อนกลับมาดูประเทศไทยก็มีปัญหาตรงนี้คล้ายๆ มีการอพยพ มีอะไรต่างๆ ซึ่งคิดว่าประเทศไทยก็ทำได้ดีในหลายๆ ด้านพอสมควร จะคล้ายๆ กับเยอรมันตรงนี้ แม้ว่าระดับของเศรษฐกิจอาจจะต่างกัน แต่ว่าในแง่ของเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม หรือการผสมผสานเรื่องอื่น ประเทศไทยก็ทำได้ดี และคล้ายๆ กัน

หัวใจหลักสำคัญของวันนี้ก็คือ เราจะต้องเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่าง การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) กับการเรียนรู้ทางด้านการเมืองด้วย การให้การศึกษาทางด้านการเมือง (Political Education) และนอกจากนั้นก็คือว่าการศึกษาเรียนรู้ทางด้านการเมืองกับพรรคการเมือง อันนี้เป็นจุดสำคัญ

ในยุโรปจะมองว่าพรรคการเมืองคือตัวเล่นหลัก คือกุญแจหลักสำคัญในการที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการที่จะทำงานให้มีบทบาททางด้านการเมือง เราก็จำเป็นต้องมีพรรคที่จะต้องไปอยู่ แต่ทั้งนี้ในทางย้อนกลับก็คือว่าพรรคการเมืองก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองเหมือนกัน ในการที่จะตอบสนองต่อความต้องการของภาคประชาสังคม พรรคการเมืองจำเป็นจะต้องมีแนวคิดเพื่อสังคม เพื่ออนาคตของประเทศ แล้วก็จะต้องรักษากฎระเบียบอันนี้ไปด้วย และจะต้องทำหน้าที่ตัวเชื่อมระหว่างองค์กรหลักของประเทศกับความต้องการของกลุ่มต่างๆ เพราะฉะนั้นอย่างในเยอรมันพรรคการเมืองจะได้รับการคุ้มครอง จะไม่มีการมายุบกันง่ายๆ แน่นอน เพราะพรรคการเมืองยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่ตัวบุคคล

ขอบคุณสำหรับการรับฟัง และอดทนรับฟังความเห็นของดิฉันมาตลอด และขอให้ทุกท่านมีโครงการเรื่อง Civic Education ที่ประสบความสำเร็จต่อไป

คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร : ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา
ขอบคุณ Dr. Canan Atilgan ที่แบ่งปันประสบการณ์และคุณค่าของสังคมประชาธิปไตยในเยอรมันให้เราได้เรียนรู้ และขอบคุณคุณนภาจรี ที่เป็นล่ามผู้มีความอดทนอย่างยิ่งยวด ดิฉันก็เชื่อว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้เรามาสมคบกันในการทำงานร่วมกัน เราต่างนำซึ่งกันและกันในการทำงานร่วมกัน และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดิฉันก็คิดว่าอยากจะขอเรียนเชิญท่านอาจารย์ ดร.วิชัย ตันศิริ ได้ขึ้นมากล่าวสรุปในการจัดงานวันนี้ และ มีคำถามมาจาก กศน. ว่า ประเทศไทยควรจะนำวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมกลับมาสอนใหม่ดีหรือไม่ ขอให้อาจารย์วิชัยตอบด้วยนะคะ

ดร.วิชัย ตันศิริ : อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

(จากซ้าย) ดร.วิชัย ตันศิริ และ คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร
ท่านผู้มีเกียรติครับ และอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช คุณอุดร ตันติสุนทร Dr.Canan Atilgan คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร และหลายๆ ท่าน อันที่จริงสรุปไม่ค่อยได้หรอกครับ เพราะเรื่องการสร้างพลเมืองเป็นเรื่องยากและผมยังไม่เคยเห็นนโยบายของรัฐบาลชุดไหนตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาแล้ว ตั้งแต่มีกระทรวงศึกษาธิการว่าจะมีนโยบายชัดเจนลงไปว่าจะสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีสาระ รายละเอียด มีปรัชญา และมีข้อแนะนำ วิธีการต่างๆ ไม่ค่อยมีหรอกครับ ส่วนใหญ่ก็ทำไปตามสิ่งที่เข้าใจว่าควรจะเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้นตั้งแต่ปฏิวัติ 2475 ข้อสมมติฐานของผู้ที่รับผิดชอบนโยบายก็คิดว่า ถ้าหากเราขยายการศึกษาถึง ป.4 การศึกษาบังคับจะเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายความรู้เรื่องประชาธิปไตย ต่อมาก็บอกต้องถึง ป.6 ต่อมา 9 ปี และมาถึง 12 ปี เป็นข้อสมมติฐานที่ว่าถ้าทุกคนมีการศึกษาแล้วประชาธิปไตยมันจะเกิดขึ้น แต่อันที่จริงมันไม่ค่อยเป็นอย่างนั้นหรอก อย่างที่หลายท่านพูดไปแล้ว ประชาธิปไตยมันเป็นคุณธรรม หรือเป็นวิถีชีวิตที่ต้องสร้างขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

อาจารย์ทิพย์พาพร ตันติสุนทร บอกว่า เราไม่มียีนประชาธิปไตยใช่ไหม อยู่ในหนังสือเล่มนี้ การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (ไปดู Civic Education ที่เยอรมัน) ลองดูนะครับ ตอนที่อาจารย์ทิพย์พาพร ไปเยอรมันและมาเขียนเรื่องนี้ ผมชอบนะ ผมบอกดีเอาประสบการณ์เยอรมันมาเล่าสู่กันฟัง เพราะว่าเยอรมัน ผม ดร.ชัยอนันต์ด้วย และ ดร.ปราโมช ด้วย สมัยโน้นเรามีความรู้สึกว่าเขามีนโยบายชัดเจน และคอนราด อาเดนาวร์ ก็มาสนับสนุนพวกเราให้ทำอะไร หลายๆ อย่างเกิดขึ้นในสมัยนั้น ฉะนั้นตรงนี้เราต้องเรียนรู้จากเขามากทีเดียว

ที่นี้ถ้าจะสรุปบางเรื่องนิดหน่อย หรือบางอย่าง และสิ่งที่ผมอยากจะพูดเพิ่มเติมก็คือ สิ่งที่ ดร.ชัยอนันต์ ได้พูดไปแล้ว ประการแรกทีเดียว การสอนเรื่องนี้ยังไม่ควรที่จะไปสอนเรื่องรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่ควรจะไปสอนประเด็นเรื่องการเมือง ให้ความรู้ทางการเมืองเป็นเบื้องต้นเสียก่อน เราขาดตรงนี้ในวิธีการของเราที่โรงเรียน อาจจะเป็นเพราะว่าการสอนการเมืองมันเป็นความรู้สึกของคนที่อยู่ในกระทรวง หรือว่ามันเป็นดาบสองคม การสอนการเมืองนี่ดาบสองคม คือสอนอย่างไรก็ได้ สอนเป็นซ้ายก็ได้ สอนเป็นขวาก็ได้ คือการสอนการเมืองกับการล้างสมองมันต่างกันอย่างไร เราต้องเข้าใจความแตกต่างนี้ด้วย ฉะนั้น Political Education เป็นสิ่งที่อังกฤษก็พูดถึง และเกรงกลัวเหมือนกัน บางคนบอกว่าเอาเป็นความรู้เรื่องการเมืองเบื้องต้น ผมพูดเป็นเบื้องต้นไว้ก่อนว่ามันมีอะไรอย่างนี้

แต่ว่าผมเห็นด้วยจริงๆ ที่ ดร.ชัยอนันต์พูดไปแล้วว่า เราต้องพยายามเอาประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้นเอามาสู่ห้องเรียน ให้นักเรียนได้อภิปราย โดยที่ครูก็ต้องวางตัวเป็นกลาง คำว่า กลาง ก็อีกแหละ หมายความว่าอย่างไร ครูก็ต้องพยายามชี้แนะ แต่ไม่ชี้นำอย่างที่ว่า และคืออะไรไม่ชี้นำ แต่ชี้แนะคืออะไร อันนี้คือสิ่งที่เราต้องคิดไว้ ฉะนั้นมันมีหลายประเด็นที่จะพูดถึง แต่ว่าก่อนที่จะไปสอนเรื่องของหลักการของประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญต้องสอนแนวคิดเบื้องต้นเสียก่อน นอกจากประเด็นที่เป็นปัญหาของการเมืองที่เกิดขึ้นแล้วนี่ ซึ่งต้องดูอีกว่าระดับไหน ระดับไหนควรจะพูดอะไร ไม่ควรพูดอะไร เราก็ต้องพูดถึงแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับหลักของประชาธิปไตยที่จะค่อนข้างเป็นพื้นฐานเสียก่อน อย่างเช่นเรื่องความยุติธรรม ที่สอนได้ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมต้น มัธยมปลาย ความยุติธรรมมันเป็นสิ่งที่เด็กเขาไขว่คว้าแสวงหาตลอดเวลา สิทธิ หน้าที่ และเสรีภาพเป็นสิ่งที่เขาอยากจะรู้ และเราก็ต้องสอนพวกนี้ไว้ในลักษณะเป็นพื้นฐานเสียก่อน ก่อนที่จะไปถึงเรื่องหลักของประชาธิปไตยภายหลังในชั้นเรียนที่โตขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่น่าต้องคิดไว้อย่างที่ท่านอาจารย์ชัยอนันต์พูดไปแล้วนะครับ

หลายๆ อย่างเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เราสามารถจะนำเข้าไปสู่ห้องเรียนได้เสมอ ผมจำได้ว่าในสมัยที่ผมอยู่อินเดียนนา สมัยนั้นเป็นสมัยที่เด็กหนุ่มเริ่มไว้ผมยาวที่เรียกว่าฮิปปี้ และมีกลุ่มพวกซ้ายจัด ต่อต้านสงครามเวียดนาม ฉะนั้นจะเดินขบวนกันเรื่อยทุกวันในมหาวิทยาลัย อีกอย่างเดินขบวนเพื่อให้เปิดหอพักทั้งชายและหญิง 24 ชั่วโมง ตอนที่ผมไปใหม่ๆ เปิดแค่เที่ยงคืน ตอนนี้จะเอาถึง 24 ชั่วโมง และเดินขบวนกันใหญ่ แต่ว่าอาจารย์ของผมที่สอนก็รู้ว่าห้องเรียนไม่ค่อยมีใครเรียน นักเรียนไปเดินขบวนหมด ท่านก็จะสอนเรื่องเดินขบวนเลย เรื่องเดินขบวนแล้วจะเอากันอย่างไร จะเอา 24 ชั่วโมง หรือ 48 ชั่วโมง ให้นักเรียนอภิปราย ปรากฏว่านักเรียนก็เข้ามาห้องเรียนอีก อยากจะมาฟัง นี่คือตัวอย่างของการเอาปัญหาที่เกิดขึ้นเข้ามาสู่ห้องเรียน

ในเรื่องของความแตกต่าง สอนให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างขึ้นเรื่อยๆ อันนี้สำคัญ สังเกตว่าเราไม่ได้สอนให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นกัน เราไม่ได้สอนให้นักเรียนคิดแตกต่างกัน เพราะถ้าหากนักเรียนของเราคิดแตกต่างกันด้วยเหตุผลมาตั้งแต่เด็ก และไม่ทะเลาะกัน ไม่บาดหมางน้ำใจกัน ก็จะยอมรับในเรื่องของความแตกต่างทางด้านการเมืองในอนาคต ในทางสังคมชาติมี 2 แง่ คือในความสัมพันธ์ทางสังคมเราต้องเชื่อมโยงกัน เป็นสังคมที่อยู่ด้วยกันได้ มีเป้าหมายร่วมกันเป็นชาติ เป็นชุมชนเดียวกันให้ได้ อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความคิดแตกต่างกันทางการเมือง ทางนโยบาย สิ่งที่เชื่อมโยงก็ต้องมี สิ่งที่แตกต่างก็ต้องมี ฉะนั้นตรงนี้ที่สมัยก่อนเราเห็น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไปอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ทาง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปอยู่พรรคกิจสังคม พี่น้องกันนี่ไม่ทำสงครามกลางเมืองกันแน่ เพื่อนเราที่อยู่ห้องเดียวกันออกไปแล้วไปสังกัดคนละพรรคก็คงไม่ทำสงครามกลางเมืองกัน เพราะมีความเชื่อมโยงกันทางความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของประเทศชาติ ฉะนั้นสิ่งที่เชื่อมโยงก็ต้องมี ส่วนที่แตกต่างกันก็ต้องมี ฉะนั้นศาสนาก็เป็นพลังสำคัญ เชื่อมโยงกลุ่มศาสนาเดียวกัน ขณะเดียวกันอาจทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างศาสนาต่างๆ อันนี้ก็ต้องมีวิธีที่จะให้เกิดมีการยอมรับศาสนาต่างๆ ในสถานศึกษาด้วย

ฉะนั้นเรื่องที่ทางเยอรมันเขาพูดกัน เขาบอกจะให้เห็นว่าสอนให้เกิดความแตกต่างกันและให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หมุนเวียนของระบบพรรคการเมืองต่างๆ ได้ เยอรมันในช่วงหนึ่งสมัยที่ผมเป็นหนุ่มมาจนกระทั่งกลางคนแล้ว ผมเห็นแต่พรรคคริสเตียนเดโมแครตที่ครองอำนาจมาเยอะ ไม่ค่อยเห็นพรรคโซเชียลเดโมแครตเท่าไร แต่ไปถามเขาดูเขาบอกว่า ถึงแม้ว่าโซเชียลเดโมแครตไม่ได้ครองอำนาจในระดับชาติ แต่เขาครองอำนาจในระดับท้องถิ่น ฉะนั้นมันมีความสมดุลของพลังของการเมืองที่มีระดับชาติเป็นพรรคหนึ่ง ระดับท้องถิ่นก็อีกพรรคหนึ่ง ในขณะเดียวกันภายหลังก็กลับหัวกลับหางกัน

อันนี้เราถึงให้ความสำคัญของการปกครองท้องถิ่น ที่ท่านอุดร ตันติสุนทร ได้รณรงค์มาตลอดชีวิต ฉะนั้นเวลาเราพูดถึงว่าเด็กไทยต่อไปต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง และการสอนความเป็นพลเมืองคือการสอนให้มีส่วนร่วมทางการเมือง ถ้าท่านไม่รู้จัก ไม่อยากจะสอน ไม่อยากจะมีส่วนร่วมทางการเมือง ท่านก็ยังไม่มีความเป็นพลเมืองเต็มขั้น และประกาศออกไปเลยว่าจะเป็นพลเมืองเต็มขั้นต้องรู้เรื่องการเมือง และสนใจการเมือง สนใจที่จะมีส่วนร่วม ร่วมได้อย่างไร ระดับชาตินี่ ก็ต้องเริ่มจากท้องถิ่นก่อน เริ่มจากชุมชนก่อน ฉะนั้นตรงนี้ต้องพูดถึงชุมชนให้มากขึ้น พูดถึงคำว่าชุมชน ภาษาฝรั่งเรียกว่า Community หมายความว่าการสร้างความเป็นชุมชนเดียวกัน Community Building จะเป็นชุมชนเดียวกันคนต้องแชร์ ต้องมีส่วนร่วมในผลประโยชน์หรือในความรู้สึกอันเดียวกัน ฉะนั้น Community Building ในแนวหนึ่งเขาบอกว่าการสร้างชุมชนเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่มันไม่ได้หมายความว่าไปถึงนั้นแล้วนะ ไม่ได้หมายความอย่างนั้น ชุมชนอาจแตกสลายเมื่อไรก็ได้ เหมือนภาคใต้ช่วงเวลาหลายปีมาแล้วก็เหน็ดเหนื่อย แต่จริงๆ ปัญหาภาคใต้ก็คือการสร้างความเป็นชุมชนเดียวกัน Community Building เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในการที่จะให้เด็กเข้าใจระดับของโรงเรียน ระดับสถานศึกษา ระดับชุมชนต่างๆ ขึ้นมาให้ได้

การที่จะให้คนรู้จักที่จะ แบ่งปันพลัง (Share Power) ในการที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฉะนั้นทั้ง 2 ท่านได้พูดมาในจุดที่ถูกต้องแล้วก็คือว่าผมก็คิดว่ากระทรวงที่ผมสดับตับฟังมานี่นะครับ ก็ไม่มุ่งหมายที่จะปรับหลักสูตรอะไรเท่าไร ที่ฟังๆ มา มุ่งหมายจะจัดเอากิจกรรมเป็นหลักของการสอนประชาธิปไตย และทางสถาบันนโยบายศึกษาก็เล่นเรื่องนี้มาตลอดหลายปี แล้วได้ไปสัมพันธ์กับ กกต. ยุคแรก เคยเข้าไปเป็นวิทยากรให้กับ กกต. และ กกต. ตอนหลังนี่เขาก็ไปทำร่วมกันกับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นคู่มือให้แก่นักเรียนที่จะฝึกประชาธิปไตย ฉะนั้นเรื่องกิจกรรมกำลังจะเป็นจุดเน้นของเขาท่านคงฟังแล้ว หลายท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่กระทรวงเขาบอกว่ากี่เปอร์เซ็นต์นะที่ต้องทำกิจกรรม ตอนนี้ท่านก็ต้องไปคิดแล้วกิจกรรมอะไรที่ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ทั้งหมดทั้งปวงเราควรจะต้องเข้าใจว่ามันมีประเด็นบางอย่างที่สำคัญที่จะเป็นปัญหาของสังคมไทยโดยเฉพาะ ซึ่งก็คือความรู้ความเข้าใจการเมือง ก็อันหนึ่งแล้ว อย่างเช่น ความรู้เรื่องสิทธิ เสรีภาพมีขอบเขตแค่ไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร ความเข้าใจเรื่องของนโยบาย เรื่องของเกษตร เรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องความสำคัญของน้ำ ประเด็นนโยบายเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นเป็นอย่างไร พวกนี้เป็นประเด็นนโยบายต่างๆ แต่ว่าที่สำคัญที่ยากที่สุดก็คือการสอนค่านิยม (Value) อันนี้เป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างสังคมตะวันออกกับสังคมตะวันตก สังคมต่างๆ ที่แตกต่างกันไป การสอนค่านิยมมันสอนตรงๆ ไม่ได้ อย่างที่บางท่านพูดไปแล้วว่าจะต้องเริ่มตั้งแต่ครอบครัว บทบาทที่ทางจิตวิทยาใช้คำว่า Role Modeling การเรียนแบบสำคัญที่สุด เพราะว่าเราเลียนแบบจากผู้อื่น จะทำตัวเป็นคนอย่างไรเราก็เลียนแบบจากพ่อแม่ ต่อมาเราก็ดูนักการเมือง แต่นักการเมืองบ้านเราก็เห็นแล้วส่วนใหญ่ก็ใช้ไม่ได้ รวมทั้งตัวผมด้วยเป็นนักการเมืองมาแล้ว ฉะนั้นก็รู้ว่าเป็นอย่างไร มาอย่างไร แต่สมัยผมเป็น ส.ส. ยังไม่มีชกต่อยกันนะ ยังไม่ถึงขนาดนั้น คราวนี้ชกต่อยกันแล้ว มันก็มองเห็นกราฟแห่งความเสื่อมโทรม แห่งความล่มสลาย คุณอุดร เขาบอกว่า อาจารย์วิชัย ดูซิระบบบัญชีรายชื่อมันดีอย่างไร ท่านกำลังทำเรื่องนี้อยู่ ปาร์ตี้ลิสต์ เรื่องของบัญชีรายชื่อก็สำคัญ เพราะว่าจะได้ ส.ส.อีกประเภทหนึ่ง ส่วนเขตก็ได้ ส.ส. อีกประเภทหนึ่ง ไม่เหมือนกัน คนละฟังก์ชั่นกัน ฉะนั้นตรงนี้อยากให้นักวิชาการลองพูดกันมากๆ ซิว่าบทบาทของปาร์ตี้ลิสต์จะทำให้ประชาธิปไตยดีขึ้นไหม

ฉะนั้น Role Modeling นี่สำคัญที่สุด แต่ว่าอีกอันหนึ่งก็คือเราอย่าไปคิดถึงเรื่องการศึกษาในระบบทั้งหมดทั้งปวง เยอรมันเขาเป็นตัวอย่างที่เขาใช้หลักของการที่มีกองทุนคอนราด อเดนาวร์ (Konrad Adenauer Foundation) และเฟดริค อีเบิร์ท (Fedriech Ebert Foundation) ขวาและซ้ายนะครับ คอนราดนี่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม เฟดริค อีเบิร์ท ค่อนข้างจะสังคมนิยม รัฐบาลเขาก็จ่ายเงินให้ 2 กองทุนนี้เพื่อที่จะไปเสริมสร้างประชาธิปไตยแบบนอกระบบ มีประเด็นหลายอย่าง ผมไปเยอรมันเขาบอกว่าเขามีสมาคมการศึกษาผู้ใหญ่ทั่วทุกหัวระแหง และรัฐบาลไม่ได้ตั้งเองนะ รัฐบาลอย่าทำเป็นอันขาด ให้ประชาชนเขาตั้งของเขาเอง เขาตั้งที่ตำบลนี้เขาก็รวมตัวกันเป็นสมาคมการศึกษาผู้ใหญ่ และรวมตัวกันในระดับจังหวัด รวมตัวกันในระดับชาติขึ้นมา และสมาคมการศึกษาผู้ใหญ่ที่รณรงค์เรื่องการสร้างค่านิยมประชาธิปไตย 40-50 ปีนี้มาตลอด ตอนที่เขารวมเยอรมันตะวันออกกับตะวันตก เขาบอกผมว่าตอนนี้ต้องระดมพวกนักศึกษาผู้ใหญ่ไปช่วยให้ความรู้แก่พวกเยอรมันตะวันออก

ผมกลับมาบ้านผมเป็นนักการศึกษาผู้ใหญ่อยู่แล้วนี่ กรมนอกโรงเรียนที่ผมเป็นรองอธิบดี ผมก็มาโปรโมตของผม มาสร้างของผม สร้างกรรมการหมู่บ้านขึ้นมา ไม่ใช่เราสร้างเองนะ ไปส่งเสริมให้เขาสร้างกรรมการหมู่บ้านขึ้นมา และกรรมการต่างๆ เหล่านี้ก็แบ่งเป็นเรื่องกรรมการสุขภาพอนามัย กรรมการเรื่องการศึกษา กรรมการเรื่องเกี่ยวข้องกับที่ดิน ให้มีชุดกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโดยเฉพาะ และให้เขาเลือกผู้นำของเขาเอง ตอนแรกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ชอบ เพราะว่าจะมาสร้างผู้นำแข่งกับเราหรือเปล่า ต้องไปอธิบายตั้งนานว่าคำว่าผู้นำมีหลายแบบนะ มีผู้นำอย่างท่านเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และมีผู้นำอย่างนักการศึกษา เขาเรียก Functional Leadership ผู้นำตามหน้าที่ อีกหน่อยก็จะทำให้หมู่บ้านนั้นดีขึ้น แต่เมืองไทยทุกอย่างมันตามบุคคล ไม่เป็นระบบ พอรองอธิบดีหรืออธิบดีคนนี้ย้ายไปคนอื่นมาก็เปลี่ยนใหม่ มันก็ไม่ค่อยต่อเนื่อง ฉะนั้นเรื่องของการใช้ระบบของ Non-Formal สำคัญ ที่สำคัญสื่อสารมวลชนที่จะทำให้เกิดมติมหาชน หรือเกิดทัศนคติอย่างไรที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมือง เพราะฉะนั้นหนังสือพิมพ์ สื่อสารมวลชนอื่นๆ และคือครูที่ยิ่งใหญ่ของการสอนการเมืองจริงๆ ท่านจะทำอย่างไรกับสื่อสารมวลชน สิ่งหนึ่งที่ทำได้อย่างนักวิชาการเราก็คือก็ต้องปรับปรุงคณะนิเทศศาสตร์ให้มีการสอนเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ให้มันดีขึ้น ลักษณะเป็นอย่างนั้นนะครับ ก็เป็นวิธีหนึ่ง

ก็พูดกันไปครับหลายๆ อย่าง เรื่องของการจัดกิจกรรม เรื่องของการที่จะให้นักเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนเป็นสิ่งที่พูดกันมาก ฉะนั้นตอนนี้การศึกษาที่รูปแบบต่างๆ เขาถึงบอกว่าสอนโดยตรงก็นิดหน่อย สอนโดยกิจกรรมก็จะมากขึ้น โดยจะให้นักเรียนเข้าไปรับใช้ชุมชน เรียกว่า Service Learning ไปรับใช้ชุมชน แต่ว่าถ้าให้นักเรียนไปรับใช้ชุมชน ไปทำงานเกี่ยวกับพัฒนาชุมชนอย่างเดียวไม่พอ จะต้องเอาบทเรียนที่ไปมีส่วนร่วมนั้นมาสังคยานากัน มาสาธยายกัน มาถอดรหัส ถอดบทเรียนกันอีก ครูก็มีหน้าที่อย่างนี้ให้นักเรียนไปมีส่วนร่วมก่อน เรียนอย่างภาคปฏิบัติก่อนและมาถอดบทเรียน 2 ส่วนไปพร้อมๆ กันนะ ท่านอย่าได้แยกทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ ทฤษฎีกับภาคปฏิบัติมันไปด้วยกัน แนวคิดทฤษฎีด้วย

ฉะนั้นพวกมาร์กซิสสมัยใหม่ถึงเรียกว่า PRAXIS คือ Practice บวกกับทฤษฎี PRAXIS นี้เป็นความสำคัญของมาร์กซิสที่สุดเลย ปฏิบัติ และเอามาทบทวนภาคปฏิบัติเป็นอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่บางอย่างเขาก็ เรียนรู้จากมาร์กซิสซึมเหมือนกัน แต่บางอย่างเราก็ไม่เอา เรื่องชนชั้น ประเทศไทยเรา เราต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยเสียก่อน ถึงจะอภิปรายเรื่องชนชั้นคืออย่างไร แต่ถ้าเราไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ไทย เราก็จะเอาชนชั้นของไทยไปมั่วกับชนชั้นศักดินาของพวกอังกฤษ ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้ชัดเจนเราจะเป็นผู้นำของการปฏิวัติไม่ได้เลย เพราะเราจะไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ไทย เมื่อไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่สามารถที่จะเป็นผู้นำที่สำเร็จได้ อันนี้เป็นความคิดเห็นของผม

อีกประการหนึ่ง เรื่องของการสร้างค่านิยม ศาสนาสำคัญนะครับ นักปราชญ์ นักคิด หรือนักวิทยาศาสตร์ อย่างเช่น ไอซ์สไตน์ หรือใครอีกผมจำไม่ได้แล้ว เขาบอกว่า ยิ่งเราจะสร้างประชาธิปไตยมากขึ้นเท่าไร เราต้องให้ความสำคัญกับศาสนามากขึ้นเท่านั้น นี่เขาหมายถึงคริสต์ศาสนาอย่างหนึ่ง และพุทธศาสนา อิสลามก็คงจะเหมือนกันถ้าเราเข้าใจอิสลามอย่างแท้จริง เพราะว่าประชาธิปไตยสอนให้คนขัดแย้งกันได้ สอนให้คนไขว่คว้าหาอำนาจด้วยตนเองได้ ความโลภมันมีไม่จำกัดในระบบประชาธิปไตย ระบบอื่นมันไม่เป็นอย่างนี้ ระบบสังคมนิยมไม่เป็นอย่างนี้ จำกัดความโลภ แต่ประชาธิปไตย Liberal Democracy เสรีนิยมประชาธิปไตย ทุกคนแข่งขันกันได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตสุดยอดได้ ความโลภมีไม่สิ้นสุด แข่งขันกันไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นศาสนาก็จะเป็นตัวที่สร้างเพดานของความโลภให้มันน้อยลงไป คนไทยเราเกิดมาเป็นพุทธส่วนใหญ่เราเป็นพุทธนับว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐอยู่แล้วนะครับ เพราะพุทธศาสนาสอนให้เรามักน้อย สอนให้เราเดินสายกลาง สอนให้เราไม่พยาบาท และความที่เราเป็นพุทธแบบนี้ที่ทำให้เรามีศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามในเมืองไทยอยู่ร่มเย็นเป็นสุข เพราะพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของการสร้างความปรองดอง

แต่ว่ามาถึงปัจจุบันนี้ แน่นอนทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ยังดีอยู่ ประเทศยังถือว่ามีความหนักแน่นในเรื่องนี้อยู่ ผมยังเชื่อมั่นในเอกลักษณ์ตรงนี้ของสังคมไทย ฉะนั้นทั้งศาสนาคริสต์ก็ดี ศาสนาคริสต์เขามีอะไรดีกว่าเราบางเรื่อง บางเรื่องเราก็ไม่ค่อยเข้าใจเขา แต่ที่เขาดีอะไรหละครับ เพราะเขาโปแตสแตน เขาเชื่อในสมัยก่อนเขาเชื่อว่าถ้าขยันขันแข็งแล้วจะไปพบพระเจ้าได้เร็วขึ้น ฉะนั้นถ้าใครอยากพบพระเจ้า อยากจะไปสู่อ้อมอกของพระผู้เป็นเจ้าก็ต้องขยันขันแข็ง แต่ความขยันขันแข็ง พวกนี้เป็นพวกเพียวริตันก็ไปอยู่อเมริกา แมสซาซูเซส และแมสซาซูเซสเป็นเมืองแรกที่มีการศึกษาสูงมากที่สุดในอเมริกา ฮาร์วาร์ดเอง เครมบริดเอง เอ็มไอที ไฮสกูลทั้งหลายอยู่ที่แมสซาซูเซสเป็นส่วนใหญ่ เพราะคนของเขาให้ความสำคัญต่อการศึกษาเป็นอันดับหนึ่ง นี่คือคุณค่าของระบบศาสนาก็มีอย่างนี้ อิสลามก็คงมีของเขาหลายๆ อย่าง ผมเป็นผู้แทน ผมซาบซึ้งเลยครับ เรื่องของความรวมตัวกันของพวกอิสลาม เขาจะมีการทำบุญกันอยู่เรื่อยๆ และก็ชุมชนนี้จะมาช่วยชุมชนนั้น ชุมชนนั้นก็จะมาช่วยชุมชนนี้ และที่สิ่งที่อย่างเรา พุทธทำไม่ได้ เข้ามัสยิดวันละ 5 หน ล้างบาปวันละ 5 หน เราหนหนึ่งยังไม่เข้าเลยวัดของเรา

ฉะนั้นเรื่องของการสร้างค่านิยมศาสนาก็เป็นคุณธรรมเบื้องต้นที่ต้องทำไว้ ฉะนั้นการเป็นประชาธิปไตยมันอยู่ตรงนี้ ว่าค่านิยมที่เกี่ยวข้องสำคัญมาก ค่านิยมที่เป็นพื้นฐานสำคัญมาก ตอนนี้ทางกระทรวงไม่ค่อยจะลงลึกในเรื่องอย่างนี้เท่าไร ประชาธิปัตย์ทำไมไม่ลงลึกก็ไม่เข้าใจ

ที่ถามว่าประเทศไทยควรจะนำวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมกลับมาสอนใหม่หรือไม่ พูดตรงๆ นะ วิชานี้ไม่ได้หายไปไหนหรอก แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของวิชาสังคมศึกษา ตอนนี้พอเป็นส่วนหนึ่งเขาก็อาจมีจุดเน้นน้อยไปก็ได้ ไม่ได้มีความเฉพาะเด่นขึ้นมา คือกลัวจะใช้คำว่าหน้าที่และพลเมือง และศีลธรรม แต่คำว่า Civic Education มันขลังนะ เพราะสร้างคนเป็น Citizen ของเราก็สร้างความเป็นพลเมือง ไม่เห็นมันขลังตรงไหน ฟังแล้วก็ชืดๆ เพราะเราเรียนหน้าที่พลเมืองสมัยก่อน ที่ผมจำได้ ป.4 1.หน้าที่ของเราเป็นทหาร 2.จ่ายภาษี มีเท่านี้หรือสมัยก่อนนะ สมัยนี้เขาดีกว่า หลายท่านในที่นี้คงทราบ

แต่ว่าอย่างที่ผมพูด จะสอนตรงนี้ ควรจะสอนเป็นแนวคิดรวบยอดที่เป็นพื้นฐานของการเมืองไว้ก่อนจะดีกว่า อย่างเช่น สอนเรื่องความยุติธรรม สอนเรื่องที่มาของเสรีภาพ เรื่องของความเป็นตัวแทนคืออย่างไร Representation หมายความว่าอย่างไร เขาเป็นตัวแทนเราเขาต้องมีหน้าที่อย่างไร ความเป็นผู้นำคืออย่างไร ผู้นำที่ดีคืออย่างไร คือสอนเรื่องแนวคิดพื้นฐานอย่างนี้เสียก่อน และค่อยก้าวกระโดดไปสู่ประเด็นเรื่องการปกครองใน ม.ปลาย ถ้าหากท่านสอนแนวคิดต่างๆ ให้นักเรียนตั้งแต่ ม.ต้น แล้ว ม.ปลายท่านให้นักเรียนลองตั้งคำถามดูซิว่าท่านต้องการระบบการปกครองแบบไหน ลองออกแบบมาซิ ครูไม่ต้องออกแบบหรอก นักเรียนออกแบบมาซิจะได้มาดูว่าได้กี่แบบ อันนี้คือการสอนให้สร้างสรรค์ ถ้าสอนให้จำหมวดนี้ มาตรานี้ ผมว่าเราก็เบื่อ เราก็ไม่ชอบ สิ่งเหล่านี้สำคัญ และประวัติศาสตร์สำคัญที่สุด เกี่ยวข้องกับสร้างความเป็นพลเมืองให้รู้จักตนเอง ท่านดูหรือยัง The Last Samurai ของญี่ปุ่น The Last Samurai มันซึ้งนะครับ ในปรัชญาที่เขาบอกว่าเราเป็น The Last Samurai ของญี่ปุ่น และเอาของเก่า ของใหม่มาผนวกกัน เป็นญี่ปุ่นใหม่ ไทยก็เช่นกัน เรามีของใหม่ ของเก่า ของเก่าที่ดีคืออย่างไร ความเป็นชาติของเรา ความที่เป็นสถาบันเก่าแก่ของเราคืออย่างไร อันนี้ทิ้งไม่ได้ ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ท่านไปอ่านรัฐของไทย ที่อาจารย์ชัยอนันต์ เขียนไว้ดี เรื่องเกี่ยวกับรัฐไทยเป็นมาอย่างไร

ผมสรุปอย่างนี้ครับท่านครูบาอาจารย์ และท่านที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เฉพาะครูบาอาจารย์สิ่งที่ผมคิดอยู่ในใจก็คือว่าเขาจะสร้างครูพันธุ์ใหม่ มีหลักสูตรอะไรต่างๆ มากมาย สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ก็คือ สร้างครูพันธุ์ใหม่ขอให้มีส่วนในเรื่องของการให้ความรู้เรื่องการเมืองที่กว้างขวาง ที่มีทั้งเสรีประชาธิปไตย สังคมนิยม อะไรต่ออะไรหลายอย่าง และสร้างสิ่งที่คล้ายๆ เป็น A B C ของการเมือง อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ สอนให้หนักแน่นเลย “อำนาจทำให้คนเสื่อม” ให้เข้าใจเรื่องนี้ให้ดี แต่ว่าการต่อสู้เพื่ออำนาจโดยที่ไม่มีหลักการ คือความเสื่อมของมวลมนุษย์ทั้งหลาย ฉะนั้นต้องสอนครูเสียก่อนให้เข้าใจตรงนี้ และต่อมาครูจะได้เข้าไปเผชิญหน้ากับนักเรียนได้อย่างผึ่งผาย ไม่เกรงกลัวคำถาม ส่วนใหญ่ครูก็จะเกรงกลัวนักเรียนถามโน้น ถามนี่แล้วตอบไม่ได้ เป็นเช่นนี้เพราะว่าครูก็ไม่มีความรู้มาเบื้องต้น ตรงนี้ก็ฝากไว้หน่อย

ประการที่ 2 ก็คือว่า ต้องมองเรื่อง Civic Education อย่างองค์รวม องค์รวมคือดูทั้งเรื่องของวิชาอื่น ๆ ที่เป็นวิชาสังคม วิชาประวัติศาสตร์ วิชาเรื่องวัฒนธรรมต่าง ๆ ให้เป็นองค์รวม แล้วก็สอนเรื่องพื้นฐาน

ประการสุดท้ายก็คือ ทางกระทรวงทุกยุคทุกสมัยให้ความสำคัญกับวิชาการแข่งขันโอลิมปิคก็จะเอาที่ 1 ให้ได้ ก็ไม่ว่ากัน ก็ดีผมก็ส่งเสริมตรงนี้ตลอดเวลา วิชาการต่าง ๆ เขาบอกคะแนนต่ำมาก ๆ อันนี้ก็แล้วแต่วิธีวัด ไม่ว่ากัน แต่ที่สำคัญผมอยากฝากไว้ก็คือ คนเรา ถ้ามันจะเก่งไม่เก่งมันก็อยู่ที่อุปนิสัย ถ้าสร้างอุปนิสัยได้ก่อนแล้วก็ความเก่งตามมา ต้องจับจุดนี้ซะก่อน เด็กที่ขยันหมั่นเพียร เด็กที่มีวินัย เด็กที่มีความซื่อสัตย์สุจริต รู้จักใช้เวลาที่เป็นประโยชน์ มีอุปนิสัยที่ดีแล้ว ต่อไปเรื่องความเก่งจะตามมา ฉะนั้นให้ความสำคัญต่อเรื่องสร้างอุปนิสัย (Character building) ก่อน ซึ่งต้องสร้างตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยมมาเรื่อย ๆ เรื่องความเก่งจะตามมา ดังนั้นที่เขาบอกเก่ง ดี มีสุข มันต้องดีขึ้นก่อนเก่ง ดี เก่ง แล้วก็มีสุข ผมฝากไว้แค่นี้นะครับ ตามคติที่ว่าชะตากรรมของประเทศชาติขึ้นอยู่กับ National Character ของประเทศนั้น ชะตากรรมของประเทศไทยขึ้นอยู่กับ National Character ของคนไทย ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยของคนไทย อุปนิสัยของคนไทยก็ขึ้นอยู่กับนิสัย (habit) ก็คือว่านิสัยที่เป็นเรื่องของความขยันขันแข็งต่าง ๆ อุปนิสัยดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดการกระทำ ต้องไปฝึกการกระทำ เช่น เล่นกีฬา เรื่องการส่งการบ้านตามเวลา เรื่องของการตื่นเช้าตามเวลา เมื่อไปฝึกการกระทำแล้วก็มีอุปนิสัยเกิดขึ้นได้ แต่จะฝึกการกระทำได้ด้วยก็ต้องปลูกฝังความคิด ถ้าไม่ปลูกฝังความคิดเด็กก็ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร แต่ปลูกฝังความคิดก็ไม่พอ สิ่งสำคัญที่สุดคือปลูกฝังความรู้สึกว่าแรงบันดาลใจสำคัญที่สุด คุณครูครับถ้าท่านสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ลูกศิษย์ของท่าน ท่านสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่งครับ สำคัญที่สุดไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่า เรื่องสร้างแรงบันดาลใจ ฉะนั้นตรงนี้ก็ฝากไว้ล่ะครับว่าจะสร้างประชาธิปไตยเนี่ยมันมีกลวิธี มียุทธวิธี ไม่ใช่ว่าซื่อบื้อไปตามเรื่อย ๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องมีวิธีการ ขอบคุณมากครับ

คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร : ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ ดร.วิชัย ตันศิริ นะคะ ท่านสรุปไว้ให้มากมาย คงจดกันไว้ครบถ้วนแล้ว โอกาสนี้ดิฉันก็กราบขอบพระคุณวิทยากร ท่านแรกตั้งแต่เช้าคือท่านศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์
สมุทวณิช Dr.Canan Atilgan แล้วก็ดิฉันก็รับปากนะคะ จากคำแนะนำของท่านประธานสถาบันคือท่านอาจารย์ชัยอนันต์ ว่า เราควรจะต้องมีการเชิญทุกท่านที่กันแล้ววันนี้มาทำประชุมปฏิบัติการ ให้จริง ๆ จัง ๆ ว่า Civic Education เมื่อลงมือทำ หน้าตาที่เราร่วมกันคิดมันจะเป็นอย่างไรสำหรับบริบทสังคมไทย แล้วก็ Dr.Canan Atilgan ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และอาจารย์วิชัย ก็แนะนำเช่นเดียวกันว่าเราต้องลงมือทำนะคะ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อน Civic Education สร้างคนให้มีเสรีภาพทางความคิด และมีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของความเป็นพลเมืองเพื่อให้การเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยไม่บิดพลิ้ว ไม่ไปใช้เส้นทางอื่น ที่เรามาทะเลาะกัน ไม่ยอมรับความคิดแตกต่าง อันนี้เราต้องพยายามสลายความคิดที่ผิด ๆ แบบนี้ออกไปให้ได้จากสังคมไทย แล้วก็ขอความกรุณาส่งใบประเมินคืนเจ้าหน้าที่ของเราที่หน้าห้องด้วยนะคะ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับวันนี้ที่สะท้อนมาจากท่านครู อาจารย์และผู้ที่มีส่วนร่วมในงานนี้ทุกท่านนะคะ หากว่าท่านอยากจะส่งความคิดดี ๆ หรือคำติชมเพิ่มเติม ติดต่อสถาบันนโยบายศึกษา ตามเว็บไซต์ที่อยู่ในหนังสือในมือของทุกท่าน เรามีความยินดีอย่างยิ่งนะคะ ก็ขอกราบขอบพระคุณทุกท่าน ซึ่งหากไม่มีทุกท่านที่มาร่วมงานวันนี้ก็ไม่ใช่งานของวันนี้แน่นอน แล้วก็พบกันในโอกาสต่อไปค่ะ
 


Print Version