IPPS in last year
Contact us
Site Map
Homepage
หน้าแรกHomepageAbout IPPSAbout IPPSPublicationPublicationArticleDemocracy MonitoringDemocracy MonitoringSocial ReformActivities
 
บทความ (Thai)
ข้ามฟ้าไปสนทนา เรื่อง ประชาสังคมกับสังคมการเมือง (ตอนที่ 3)

ยศวดี บุณยเกียรติ

สังคมประชาธิปไตยจะเข้มแข็งก็ต่อเมื่อภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งทางการเมือง คือสามารถจะขับเคลื่อนนโยบายให้ไปในทิศทางที่ต้องการคือเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนได้ องค์กรของภาคประชาสังคมจึงเป็นเสมือน “ถังความคิด” หรือ Think Tank ที่มีบทบาทในการสื่อสาร แนะนำ เรียกร้อง ตลอดจนถึงสร้างอิทธิพลจนเป็นที่ยอมรับของฝ่ายรัฐบาล แต่การจะเป็นเช่นนี้ได้ องค์กรนั้นๆ จะต้องมีความเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง และสามารถจะเผชิญหน้ากับรัฐบาลในสิ่งที่ถูกต้องได้ หากได้รับการยอมรับถึงระดับนี้แล้ว องค์กรภาคประชาสังคมก็จะพัฒนาไปถึงขั้นที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายของรัฐ

สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานของหน่วยงานภาคประชาสังคมก็คือข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เชื่อถือได้และกลไกที่จะเข้าถึงการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐได้ แต่ในทางกลับกัน การทำงานที่ซื่อตรงและเข้มแข็งก็อาจจะทำให้ได้รับผลที่ตรงข้ามคือไม่ได้รับความไว้วางใจและถูกมองเป็นฝ่ายตรงข้ามกับภาครัฐไปก็ได้

ทำอย่างไรจึงจะเกิดความสมดุล คือหน่วยงานภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็ง เป็นอิสระ แต่ยังคงมีการติดต่อกับภาคสังคมการเมืองอยู่ในระดับที่มีความเข้าใจและไว้วางใจกันในระดับที่สามารถจะทำงานส่งเสริมกันได้

ดิฉันได้ไปเรียนรู้ถึงการทำงานของหลายๆ องค์กรภาคประชาสังคมในเบลเยี่ยมและเยอรมัน ได้ฟังเขาเล่าว่ามีกระบวนการอย่างไรในการเรียกร้องภาครัฐในการกำหนดนโยบาย

ภาคประชาสังคม – ผู้สั่นสะเทือนสังคม

ที่บรัสเซลส์ดิฉันได้ไป “สนทนา” กับตัวแทนภาคประชาสังคม 2 หน่วยงาน คือ Centre for European Studies (CES) และ European Policy Centre (EPC) และในเบอร์ลินก็ยังได้พบกับอีก 2 หน่วยงาน คือ Stiftung Wissenschaft und Politik- SWP (German Institute for International and Security Affairs) และ Bundesstiftung Aufarbeitung (BA)

โดยทั่วไปแล้วแต่ละองค์กรภาคประชาสังคมจะมีพันธกิจและวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง เช่น CES นั้น มีพันธกิจคือการศึกษาวิจัยในประเด็นต่างๆ เพื่อนำมาเผยแพร่ให้ประชาชนตระหนักในปัญหาหรือความเป็นไปได้ในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้มีการสื่อสารไปยังนักการเมืองและรัฐบาลที่มีอำนาจในการตัดสินใจ อาจจะต้องมีการรณรงค์เพื่อขยายแนวร่วม แลกเปลี่ยนหาความเห็นเพิ่มเติมจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ หรือองค์กรพันธมิตรอื่น ให้เกิดผลกระทบและแรงขับเคลื่อนในเรื่องนั้นๆ ดังนั้น สิ่งที่เป็นพื้นฐานในการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมคือการศึกษาวิจัยในเรื่องต่างๆ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมอื่นๆ เช่น การประชุม สัมมนา สัมมนาเชิงปฏิบัติการ หรือเอกสารสิ่งพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันนี้เกือบจะทุกองค์กรได้เผยแพร่งานวิจัยเหล่านั้นในเว็บไซต์ของตนที่บุคคลทั่วไปสามารถจะข้าถึงได้

บางองค์กร เช่น CES อาจจะได้รับเงินสนับสนุนช่วยเหลือจากพรรคการเมือง คือ European People Party ที่มีพรรคและพันธมิตรในหลายประเทศ แต่ในพรรคการเมืองจะต้องไม่เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการทำงานขององค์กร ในทางตรงกันข้าม CES จะทำหน้าที่เสมือนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนทั่วไป และจะมีอีกบทบาทสำคัญคือการให้คำปรึกษาทางการเมืองที่ตรงไปตรงมายิ่งกว่าที่ปรึกษาที่ทำงานกับพรรคการเมืองโดยตรง

ส่วนองค์กรอื่น เช่น EPC ซึ่งไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ทำกิจกรรมจากเงินสนับสนุนของบรรดาสมาชิก ในสังคมประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว พลเมืองจะเข้าร่วมกิจกรรมกับองค์กรที่มีนโยบายตรงกับความสนใจของตนเอง ดังนั้น หากองค์กรใดเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยม มีสมาชิกมาก ก็จะได้รับการสนับสนุน สามารถมีกิจกรรมได้มาก เช่น EPC ที่มีสมาชิกทั้งที่เป็นภาคธุรกิจเอกชน สมาคมและสมาพันธ์วิชาชีพ สหภาพแรงงาน พันธมิตรในต่างประเทศ ภูมิภาคและท้องถิ่น ตลอดจนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนอื่นๆ ที่มีเป้าหมายคล้ายกัน ก็จะทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายของสหภาพยุโรป ตั้งแต่การสัมมนาไปจนถึงการทำโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างพลเมืองในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยจึงมีส่วนร่วมทางการเมืองได้หลากหลายนอกเหนือไปจากการหย่อนบัตรเลือกตั้ง และยิ่งพลเมืองมีส่วนร่วมทางการเมืองมากและหลากหลายเท่าใด สังคมประชาธิปไตยนั้นก็จะเข้มแข็ง ไม่มีใครสามารถที่จะยึดเอาอำนาจของปวงชนไปเป็นของตนหรือกลุ่มตนได้

โดยสรุปก็คือ หากเราคิดอยู่คนเดียว ทำอยู่คนเดียว เราก็คงจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ถ้าเราจะรวมกลุ่มกับคนที่คิดและเชื่อเหมือนๆ กัน ส่งเสียงดังๆ และผลักดันสิ่งที่เราเชื่อนั้นให้ออกมาเป็นนโยบายของประเทศ เราก็สามารถที่จะสั่นสะเทือนสังคมได้ ดังเช่นที่เมื่อพลเมืองหลายคนรวมกันเป็นภาคประชาสังคมก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้

สำหรับ SWP และ BA นั้น ขอยกไปกล่าวถึงในตอนที่ไปเบอร์ลินก็แล้วกันนะคะ

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 


Print Version