|

สำนึกสาธารณะที่ญี่ปุ่นสร้าง
บ่ายวันที่ 11 มีนาคม 2554 ณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.9 ริกเตอร์ ซึ่งห่างจากกรุงโตเกียวเมืองหลวงของญี่ปุ่นเพียง 382 กิโลเมตร ด้วยแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวนี้ ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ ระดับความสูงกว่าสิบเมตรถาโถมเข้าญี่ปุ่น สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินอย่างร้ายแรง ซ้ำร้าย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันนี้ก็เกิดไฟไหม้ด้วย
หายนะภัยทางธรรมชาติครั้งรุนแรงที่สุดในประเทศ กล่าวกันว่ารุนแรงยิ่งกว่าสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่เกิดปัญหาไฟไหม้จากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ก็สร้างความวิตกไปทั้งโลก ด้วยเกรงว่าสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้ารั่วไหลสู่ชั้นบรรยากาศ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงจำเป็นต้องอพยพคนออกจากรัศมีที่ตั้ง 30 กิโลเมตร
ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่มากับธรรมชาติ และภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างด้วยตัวเอง
ด้วยพื้นฐานของภูมิศาสตร์ของประเทศที่มีแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และคลื่นยักษ์ “สึนามิ” ภาษาญี่ปุ่นที่คนทั่วโลกรู้จักดี การอยู่กับธรรมชาติของชาวญี่ปุ่นเป็นการอยู่แบบทั้งตั้งรับและรุก ญี่ปุ่นจึงหาวิธีการที่จะจัดการตัวเองให้อยู่ในที่ทางที่จะปลอดภัยและเสียหายน้อยที่สุด ตั้งแต่สร้างเทคโนโลยีและสิ่งปลูกสร้างที่รับกับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว การมีระบบเตือนภัยและทางหนีทีไล่เมื่อคลื่นสึนามิมา เรียกว่ามีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นที่จะรับมือกับหายนะภัยธรรมชาติ
แต่การเตรียมพร้อมสำคัญที่สุด คือ การที่คนญี่ปุ่นได้ถูกบ่มเพาะให้เผชิญกับวิกฤตทุกครั้งด้วยการมีสติ ที่จะไม่ทำอะไรตามอำเภอใจอย่างเห็นแก่ตัว เพื่อให้ตัวเองรอด สำนึกต่อส่วนรวมที่อยู่กับคนญี่ปุ่นจึงกลายเป็นพลังทางสังคมที่ทั่วโลกได้เห็น และประทับใจต่อการต่อสู้กับชะตากรรมร่วมกันของชาวญี่ปุ่นอย่างมีสติ ไม่มีการโกลาหล มีแต่การอดทน เฝ้ารอ และปฏิบัติต่อกันด้วยจิตใจเอื้อเฟื้อแบ่งปัน เฉกเช่นมนุษย์พึงปฏิบัติต่อกันอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น การเข้าคิวเพื่อแบ่งปันอาหาร การใช้โทรศัพท์สาธารณะ ฯลฯ
ดร.วิชัย ตันศิริ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้เขียนหนังสือ “วัฒนธรรมการเมืองและการปฏิรูป” เมื่อปี 2539 ระบุไว้ว่า ระบบการศึกษาและการเรียนรู้ในสถานศึกษาระหว่างอายุ 5-12 ขวบนั้น ในการเรียนทุกๆ เรื่องจะต้องมีจุดประสงค์ของการสร้างบุคลิกภาพ และวัฒนธรรมประชาธิปไตย เช่น การเรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิของผู้อื่น เรียนรู้ที่จะแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อน เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีม หมู่คณะ โดยยกตัวอย่างถึงการศึกษาของญี่ปุ่นว่า
“จุดเน้นที่ดีของระบบการศึกษาญี่ปุ่น ที่เราควรดูเป็นตัวอย่างคือ การฝึกให้สมาชิกกลุ่มเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของกลุ่มมากว่าประโยชน์ส่วนตน ซึ่งต่างจากระบบฝรั่งที่เน้นปัจเจกบุคคลมากเกินไป”
ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวญี่ปุ่น ทั้งต่อสงครามโลกที่มนุษย์สร้าง และสงครามภัยธรรมชาตินั้น ได้สร้างพลังสำนึกผนึกร่วมระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตสาธารณะ และมีการศึกษาที่หล่อหลอมและสร้างให้พลเมืองมีจิตสำนึกสาธารณะ ด้วยการสร้างการมีอยู่ร่วมกันเท่านั้น ชีวิตแต่ละคนจึงจะอยู่รอดปลอดภัย และแน่นอน อุปสรรคทั้งหลายที่เกิดขึ้น ชาวญี่ปุ่นได้แปรให้มันเป็นอุปกรณ์ชั้นเยี่ยมในการสร้างชีวิตที่ทันสมัย ด้วยพลังสำนึกแบบญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งไม่เป็นรองใครในโลก
บทเรียนทรงคุณค่าจากญี่ปุ่นบอกเรามากมายว่าจิตสำนึกสาธารณะไม่มีขาย มีแต่ต้องสร้างขึ้นตั้งแต่เด็ก จนเกิดพลังสาธารณะของสังคมที่โอบอุ้มประเทศไว้ได้ การปฏิรูปการศึกษารอบที่สองของไทยวันนี้ มีตัวอย่างดีๆ ให้เห็นแล้ว พลังของสังคมจะสร้างกันอย่างไร ต้องช่วยกันคิดแล้ว
ทิพย์พาพร ตันติสุนทร
ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา
|
|