|

...กว่าจะเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย
ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาหรือผู้ที่สนใจการพัฒนาการศึกษาของชาติคงได้พบกับคำว่าพลเมืองบ่อยขึ้น หัวข้อใหญ่ของคำนี้ก็คือ “การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง” เรื่องใหญ่ที่กระทรวงศึกษากำลังขับเคลื่อนให้เป็นวาระแห่งชาติขณะนี้
คือการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อสร้างพลเมืองใหม่ให้ถึงพร้อมความคิดดี และมีความรับผิดชอบ คือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ที่เป็นด้านตรงข้ามแบบที่ทำกันแต่เดิม คือการกระตุ้นให้เยาวชนค้นพบตัวตนของตนเอง ผ่านการคิดและค้นหาความเชื่อมโยงตนเองกับข้อมูลต่างๆ และกับสังคมทั้งจากใกล้ตัว ไปสู่สังคมไกลตัว เป็นการสร้างกระบวนการคิดและการค้นพบจากการผสานความรู้ ข้อมูลและประสบการณ์ทั้งจากอดีต ปัจจุบัน และเชื่อมโยงกับอนาคต ทำให้พวกเขามองเห็นอนาคตของตนเอง และของสังคมจนเกิดความมั่นใจในตนเอง เป็นการเรียนรู้เพื่อเป็นมนุษย์อย่างมีศักดิ์ศรีและมีเสรีภาพ
ด้วยการค้นพบเช่นนี้ เขาจึงเป็นหนึ่งในผู้กระทำให้สังคมก้าวหน้าด้วยจิตวิญญาณสาธารณะ ซึ่งระบบการศึกษาไทยยังไม่ได้ทำ ซึ่งเป็นการสวนทางกับการมีเสรีภาพในการคิดและการแสดงออกของสังคมประชาธิปไตย
คนในยุคสังคมที่พึ่งความรู้นั้น เพียงให้อ่านออกเขียนได้ รู้คณิต วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เท่านั้นจะไม่เป็นการเพียงพอเสียแล้ว เพราะทุกอย่างในโลกเชื่อมต่อกันหมดด้วยความเร็วเป็นวินาที แต่เยาวชนไทยยังไม่อาจสามารถที่จะเชื่อมต่อตนเองให้เข้ากับสังคมไทยและสังคมโลกได้ด้วยทักษะการคิดและการแสดงออกซึ่งจะต่อยอดข้อมูล และพัฒนาให้เป็นความรู้ชุดใหม่ได้ด้วยตนเอง การศึกษาตามที่เป็นอยู่ทำให้ไม่รู้สึกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ นอกจากทำและจำตามต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น ในขณะที่โลกได้เปลี่ยนไปไกลแล้ว จากยุคอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 20 ที่คนมีราคาค่าตัวแค่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักร แต่ศตวรรษที่ 21 ทุนมนุษย์ คือ ค่าความรู้ที่เกิดจากการคิดค้น นวัตกรรม และสามารถบริหารจัดการความรู้ให้เป็นสินทรัพย์ได้
โดยเหตุที่มนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับยีนประชาธิปไตย อีกทั้งประชาธิปไตยก็ไม่ใช่เครื่องจักรที่จะเดินเครื่องไปได้เอง การสร้างคนให้เป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย จึงต้องได้รับการส่งเสริม ดูแล ให้เติบโตตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ทั่วทั้งสังคม เพื่อให้ระบบประชาธิปไตยเดินไปได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างทุ่มเทและกว้างขวาง
พลเมืองจึงจำเป็นที่จะต้องมีกิจกรรมเพื่อยึดโยงตนเองกันส่วนรวม เพื่อสร้างบทบาทการมีส่วนกำหนดและตัดสินใจต่อนโยบายผ่านระดับต่างๆ การศึกษาจึงจำเป็นต้องเปิดช่องเพื่อให้เกิดกิจกรรมในส่วนนี้ด้วย
จุดหมายปลายทางของสังคมประชาธิปไตย คือ สันติสุข แก่นกลางของความสุขและสันติ คือ ศีลธรรม พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยจึงต้องได้รับการบ่มเพาะให้เข้าถึงธรรม ที่ทุกศาสนาสอนให้มนุษย์มีความรักต่อกัน ไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน และมีความยุติธรรม
การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองจึงพึงมีเป้าหมายที่สร้างคนให้เป็นพลเมืองที่มีความรู้ มีความสามารถเพื่อที่จะคิดและรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและต่อส่วนรวมได้ด้วย
ทิพย์พาพร ตันติสุนทร
ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา
|
|