IPPS in last year
Contact us
Site Map
Homepage
หน้าแรกHomepageAbout IPPSAbout IPPSPublicationPublicationArticleDemocracy MonitoringDemocracy MonitoringSocial ReformActivities
 
ปุจฉา-วิสัชนา
เรื่องสิทธิมนุษยชน : สิทธิมนุษยชนในบ้านกาญจนาภิเษก... เพราะเขาเชื่อว่ามนุษย์เปลี่ยนแปลงได้?

ปุจฉา : สังคมไทยในปัจจุบันมักจะตั้งคำถามเสมอว่า ถ้าเราให้เด็กและเยาวชนรู้สิทธิมากเกินไปอาจทำให้ก้าวร้าว ไม่เคารพสิทธิคนอื่น จริงหรือไม่?

วิสัชนา : ความจริงแล้วสิทธิมนุษยชนมาควบคู่กับหน้าที่และ ความรับผิดชอบเสมอ เพราะหลักสิทธิมนุษยชนที่สำคัญประการหนึ่งนั้นคือมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น เคารพสิทธิผู้อื่น การที่ผมได้มีโอกาสสนทนากับ “ครูมล” หรือ อาจารย์ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ผมเห็นสอดคล้องกับคำกล่าวของ “ครูมล” อย่างยิ่งว่า “ สิทธิมนุษยชนนั้นดีมาก เราต้องให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้สิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ โดยมีกระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสม เด็กจะเคารพสิทธิของผู้อื่นมองผู้อื่นเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน “

บ้านกาญจนาภิเษกสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม เป็นสถานที่ที่จัดไว้สำหรับเด็กผู้กระทำผิดและมีคดีร้ายแรง สถานที่นี้ถูกจัดบรรยากาศการควบคุมดูแลไม่ให้เป็นเหมือนคุกด้วยสิ่งแวดล้อม อาคาร สถานที่ ทั้งตัวบ้านพักที่น่าอยู่ อาคารเรียนทันสมัยสวยงาม อีกทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอนครบครัน บุคลากร ทั้งครูและเจ้าหน้าที่ได้มีการปรับทัศนคติและความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนมาเป็นอย่างดี สถานที่แห่งนี้จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมกับการอบรมและบ่มเพาะคุณลักษณะที่ดีให้เกิดขึ้นในจิตใจของเยาวชน

กระบวนการเสริมพลังให้กับเด็กและเยาวชนที่เคยรู้สึกอ่อนแอและรู้สึกไร้ค่า ด้วยการที่เจ้าหน้าที่ไม่ใช้ความรุนแรงมีส่วนสำคัญยิ่ง จากความเชื่อที่ว่า มนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ แม้จะผ่านความผิดพลาดมา ดังนั้น คำพูด พฤติกรรม และการกระทำของเจ้าหน้าที่แสดงให้เห็นถึงการเคารพในความเป็นมนุษย์ของเด็กเยาวชนที่สามารถพัฒนาและแก้ไขได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าเขาคนนั้นจะเคยเป็นอาชญากรฆ่าคนตายมาแล้วก็ตาม “การเรียนรู้เรื่องสิทธิ จึงไม่ต่างกับการรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยความอ่อนโยนในความเป็นมนุษย์ ให้กับเยาวชนที่ก้าวพลาดในบ้านกาญจนาภิเษกให้งอกงาม เติบโต แข็งแรงยิ่งขึ้น การเรียนรู้สิทธิจึงเป็นโอกาสให้เยาวชนเรียนรู้สิทธิเขา-สิทธิเรา และความรับผิดชอบ กระทั่งสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น”

ปุจฉา : การเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน จะสามารถแก้ไขวิกฤติของเด็กและเยาวชน อย่างไร?

วิสัชนา : เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าปัญหาเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาความมั่นคงทางสังคมอย่างแท้จริง เราพบข้อมูลที่น่าตกใจว่าเด็กๆ ของเราท้องในวัยที่ไม่เหมาะสมเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย ไม่รวมถึงยาเสพติดและอื่นๆ ดังนั้น การสอนสิทธิมนุษยชนในกลุ่มสาระสังคมศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาอาจยังไม่เพียงพอ หากสิ่งแวดล้อมของการสอนยังไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ในการเคารพคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และไม่เชื่อในความสามารถของการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาได้หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ดังกรณีศึกษาสิทธิมนุษยชนในบ้านกาญจนาภิเษกที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว แม้เด็กที่เคยผิดพลาดอย่างรุนแรงก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยกระบวนการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้น

นายพิทักษ์ เกิดหอม
อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องร้องเรียน
 


Print Version