|

คอนราด อาเดนาวร์ รำลึก จุดยืนด้านจริยธรรม นำเยอรมันรุ่งเรือง
ทิพย์พาพร ตันติสุนทร
คอนราด อาเดนาวร์ เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม ปี ค.ศ. 1876 ที่เมืองโคโลญน์ เป็นบุตรคนที่สาม ในพี่น้องหญิงชาย 5 คน มีพ่อเป็นข้าราชการ
เขาเติบโตในครอบครัวคริสเตียนคาธอลิค ที่ยึดถือคุณค่าทางศีลธรรมและคุณค่าความเป็นมนุษย์ เขารับการบ่มเพาะจากครอบครัวให้เป็นผู้มีความอดทน เจ้าระเบียบ มีวินัยในตัวเองสูงมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าใครก็ตามเมื่อต้องติดต่อเจรจากับเขาก็จะต้องย่อท้อถอยไป เพราะเขาเป็นคนที่ยึดมั่นต่อเป้าหมายของงานเป็นสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด ด้วยพื้นฐานเช่นนี้ ทำให้แต่ละก้าวในการวางแนวทางทางการเมืองของเขาบรรลุสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย ดังคำที่พ่อสอนมาตั้งแต่เด็กว่า “ไปให้ถึงที่สุด” ในทุกหน้าที่และความรับผิดชอบ (Go to the Last Mile) บทความที่ปรากฏใน Reader Digest ที่เขาเป็นผู้เขียนเองในปี 1953
เขาเริ่มบทบาทในการเมืองท้องถิ่นที่เมืองโคโลญน์บ้านเกิด ภายหลังสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในตำแหน่งหัวหน้ากองด้านกฎหมาย และต่อมาเป็นนายกเทศมนตรีตั้งแต่ปี 1917 ถึงปี 1933 นับเป็นเวลานานถึง 16 ปี ของการเป็นผู้นำ นักบริหารท้องถิ่น
ในฐานะนายกเทศมนตรีอย่างยาวนานและต่อเนื่อง เขาทำให้เมืองโคโลญน์มีเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง เมืองได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาในทุกด้าน เขาแปรเปลี่ยนเมืองที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังภายหลังสงครามโลก ให้เป็นเมืองที่สะอาด มีสีเขียวด้วยต้นไม้ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับมนุษย์ และทำให้โคโลญน์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาของเยอรมันตะวันตกด้วยการมีส่วนร่วมของชาวเมือง การสั่งสมประสบการณ์ทั้งความยากลำบากและความสำเร็จได้กลายเป็นเส้นทางสู่พรรคคริสเตียนเดโมแครต (Cristian Democratic Union – CDU) และก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำทางการเมืองสำคัญๆ หลายวาระ กระทั่งก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศเยอรมันตะวันตก ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นการดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศติดต่อกันเป็นระยะเวลา 14 ปี ซึ่งประวัติศาสตร์จารึกช่วงเวลาดังกล่าวว่า “ยุคของอาเดนาวร์” (Adenauer Era)
อย่างไรก็ดี การเรียนรู้และศึกษาเส้นทางการเป็นผู้นำของคอนราด อาเดนาวร์ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนสู่ระดับประเทศ ทำให้เราได้เข้าใจถึงตัวตนของเขา คือ การเข้าใจ มองการณ์ไกล และรับรู้ต่อแนวโน้มของโลกภายหลังวิกฤตที่เยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อสงคราม และปัญหาการเมืองภายใน
ปี 1933 อันเป็นปีที่เขาเป็นผู้นำท้องถิ่นที่เมืองโคโลญน์ เขามีประสบการณ์อันยากลำบากกับระบบนาซี เมื่อเขาปฏิเสธการต้อนรับฮิตเลอร์ ผู้นำประเทศที่ต้องการมาเยือนเมืองโคโลญน์ ชีวิตหลังจากนี้ ในปี 1934 เขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคทางการเมือง และถูกจับกุมคุมขังจากการต่อต้านระบบนาซี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน แต่เขาก็ไม่เคยย่อท้อ
ปี 1945 สหรัฐอเมริกา ฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ยืนกรานที่จะให้คอนราด อาเดนาวร์ เป็นนายกเทศมนตรีเมืองโคโลญน์ต่อไป ทำให้เขาได้รับการยอมรับและมีบทบาทโดดเด่นยิ่งขึ้นภายในพรรค
ปี 1948 เขาได้รับเลือกเป็นประธานรัฐสภา และเป็นผู้นำที่แข็งขันในการเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่สำหรับเยอรมันตะวันตก ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่อย่างดียิ่ง เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย แม้จะอยู่ในช่วงสูงวัยแล้วก็ตาม การเริ่มต้นบทบาททางการเมืองของเขาได้สร้างตัวแบบของระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมคิดและกำหนดการตัดสินใจในกิจกรรมสาธารณะและงานการเมือง แทนที่จะต้องทำตามผู้นำเช่นในอดีต
ปี 1949 เป็นปีที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เรียกว่า กฎหมายหลักของประเทศ (Basic Law) เสนอเข้าสู่สภา และมีผลบังคับใช้ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีเพื่อชาวเยอรมันทั้งมวล และการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผลปรากฏว่าพรรคคริสเตียนเดโมแครตได้ร่วมก่อตั้งรัฐบาลผสมภายใต้การนำของเขา บทบาทผู้นำของประเทศจึงเริ่มขึ้น เขาริเริ่มสภากาแฟเพื่อการปรึกษาหารือระหว่างผู้นำสำคัญในพรรคที่บ้านของเขายามเช้า เพื่อหาแนวทางการจัดตั้งรัฐบาล โดยเขาเสนอการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคเล็กๆ มากกว่าที่จะร่วมกับพรรคใหญ่ อีกทั้งเขาได้เสนอตัวเข้าเป็นผู้แข่งขันในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ โดยที่ไม่มีผู้ใดในพรรคคัดค้าน
วันที่ 15 กันยายน 1949 ในวัย 73 ปี เขาได้รับเลือกเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของเยอรมันตะวันตก เป็นผู้สร้างชาติใหม่ของเยอรมันให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ ให้เยอรมันตะวันตกเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในยุโรปตะวันตก และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนายุโรปตะวันตกร่วมกัน เขาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 1963 เป็นระยะเวลายาวนานถึง 14 ปี และลงจากตำแหน่งเมื่ออายุ 89 ปี
ในช่วงเวลา 14 ปี ที่เป็นทั้งผู้นำการบริหารสูงสุดของประเทศ และผู้รับใช้ประเทศที่โดดเด่นสูงสุด เขากล่าวในวาระอำลาตำแหน่งว่า เขามีความภูมิใจต่อประชาชนชาวเยอรมัน ณ วันนี้ ขณะที่ชาวเยอรมันมองออกไปสู่ชายแดนโดยรอบ เขามีความภูมิใจว่าชาวเยอรมันได้รับความสำเร็จอย่างต่อเนื่องแม้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งทำให้ “เราชาวเยอรมันสามารถเงยหัวขึ้นสูงได้อีกครั้งแล้ว”
คอนราด อาเดนาวร์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 เมษายน 1967 ด้วยอายุ 91 ปี เขาจากไปอย่างสงบแวดล้อมด้วยครอบครัว ลูกหลานที่เป็นครอบครัวใหญ่อย่างอบอุ่นพร้อมหน้า
เขาฝากถ้อยคำไว้มากมาย ดังเช่น “ไปให้ถึงที่สุด” (Go to the Last Mile) ที่พ่อสอนไว้ให้ทำทุกๆ อย่างด้วยความรับผิดชอบให้ถึงที่สุดจนสู่ความสำเร็จ และผลงานการเมือง รวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่มีค่า โดยมีจุดยืนด้านจริยธรรม
สำหรับครอบครัวแล้ว เขาเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่างที่นับถือศาสนาอย่างเคร่งครัด และได้รับการสนับสนุนให้มีการศึกษา มีความขยัน มานะ และอดทน เขาจึงเป็นชาวคาธอลิคที่ยึดมั่นคำสอนในหลักศาสนา เมื่อเขาเป็นหัวหน้าครอบครัว เขาจึงเป็นแบบอย่างในการนำหลักคำสอนด้านจริยธรรมและคุณธรรมเป็นหลักสำคัญการนำครอบครัว
ส่วนแนวคิดทางการเมือง ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจต่อหลักคำสอนของศาสนาเช่นกัน เขาเชื่อว่า ชาวคริสเตียนผู้เคร่งครัดสมควรยิ่งที่จะทำงานการเมือง ความหมายของคริสเตียนเดโมแครตสำหรับชาวเยอรมัน ก็คือ การเมืองที่ตระหนักต่อความรับผิดชอบที่ชาวคริสเตียนมีต่อสังคมโดยแท้ ดังคำกล่าวของอาเดนาวร์ ที่ว่า “การเมือง คือ ศิลปะของการแปรความคิดสู่การปฏิบัติที่ซึ่งได้รับการยอมรับว่าถูกต้องชอบธรรมจากจุดยืนทางจริยธรรม การเป็นมนุษย์การเมือง ก็คือ คนที่คิดและพูดด้วยการวิเคราะห์โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือความห่วงใยต่อประชาชน”
ด้วยศิลปะทางการเมืองนี้เอง เขาจึงเป็นคนที่มีบุคลิกลักษณะที่มีความสามารถจะอธิบายสิ่งที่ยากไปสู่การกระทำได้ด้วยภาษาที่เรียบง่าย เหมาะสม และรุ่มรวยอารมณ์ขัน อันเป็นเทคนิคเฉพาะตัวที่เขามีความเข้าใจต่อความเป็นมนุษย์
แนวคิดด้านเสรีภาพ สำหรับเขา หมายถึง ความจริงแท้แห่งอิสรภาพ ที่ไม่ว่าใครหรือแม้แต่รัฐก็ไม่อาจแทรกแซงความเป็นส่วนตัวได้ เสรีภาพจึงเป็นดั่งสิ่งที่ก่อรูปทางสังคม และชีวิตทางการเมือง และด้วยแนวคิดนี้ จึงได้ปรากฏชัดเจนต่อความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้เกิดเสรีภาพ และใช้เสรีภาพตามแนวทางการเมืองของเขา เพื่อการปลดปล่อยเยอรมันให้เป็นอิสระ
หลักเสรีภาพมาก่อนความเป็นเอกภาพ (Freedom before Unity) ถือว่าเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ชาวเยอรมันได้รับการยอมรับให้มีเสรีภาพที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง ในภาวะที่ประเทศเยอรมันถูกแบ่งแยกและถูกปกครองให้ได้รับอิสรภาพอีกครั้งหนึ่ง กระทั่งนำสู่ความเป็นเอกภาพของชาวเยอรมันตะวันตกภายใต้การนำของเขา และได้รับการยอมรับและเข้าใจจากฝ่ายสัมพันธมิตร รวมทั้งประเทศในยุโรปตะวันตก จนทำให้เขาสามารถสร้างชาติใหม่ คือ ประเทศเยอรมันตะวันตกให้มีความเป็นเอกภาพ และมีเสถียรภาพอีกครั้งหนึ่ง
การรวมชาวเยอรมันตะวันตกเพื่อสร้างความเป็นชาติเป็นวิสัยทัศน์ของอาเดนาวร์ การอยู่ภายใต้การยึดครองของประเทศอื่นทำให้คนเยอรมันขาดเสรีภาพ ดังนี้ การทำให้คนเยอรมันมีเสรีภาพจึงเป็นเรื่องจำเป็นก่อนการดำเนินการเพื่อนำไปสู่ความมีเอกภาพของชาติ การดำเนินนโยบายนี้ของอาเดนาวร์ จึงนำไปสู่การมีเอกภาพและเสถียรภาพของเยอรมัน นี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่เยอรมันตะวันตกได้รับการยอมรับท่ามกลางยุโรป และสามารถลุกขึ้นมาอีกครั้งเท่าเทียมกับอาณาประเทศในทวีปยุโรปตะวันตก อันสะท้อนให้เห็นหลักการที่ถูกต้อง สอดคล้องกับสถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของยุโรป ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของอาเดนาวร์
ด้วยหลักการเดียวกันนี้ ในระยะเวลาอีก 40 ปีต่อมา จึงนำไปสู่การรวมชาติครั้งใหม่ เมื่อมีการทำลายกำแพงเบอลิน ที่แบ่งแยกประเทศและทำให้เยอรมันตะวันตกและตะวันออกรวมเป็นชาติเดียวกันได้อีกครั้งในปี 1990 สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของอาเดนาวร์ ที่ยิ่งใหญ่ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญให้ชาวเยอรมันเกิดการรวมชาติและกลายเป็นประวัติศาสตร์โลกครั้งสำคัญ
สำหรับคอนราด อาเดนาวร์ หลายเรื่องหลายอย่างที่เขาดำเนินการอยู่ ทั้งในชีวิตส่วนตัว งานการเมือง ล้วนเกี่ยวพันกัน และแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แต่สิ่งหนึ่งที่เขาตั้งไว้ไม่เคยเปลี่ยนและเป็นคุณค่าที่คงที่และมั่นคง คือ คุณค่าทางศีลธรรม ซึ่งเขาใช้เป็นหลักนำและเป็นจุดยืนของเขาตลอดมา
คอนราด อาเดนาวร์ ผู้ที่โลกได้ให้การยกย่องและจารึกนามไว้ในฐานะนักการเมือง นักต่อต้านเผด็จการ นักประชาธิปไตยผู้รักในคุณค่าความเป็นมนุษย์ และชาวเยอรมันได้ให้การเคารพให้เป็นรัฐบุรุษของประเทศ ผู้วางรากฐานให้ชาวเยอรมันยืนหยัดในการรวมชาติ และสร้างชาติให้เข้มแข็งได้อีกครั้ง
เรียบเรียงจาก : Konrad Adenauer Life and Work by Josef Thesing, Occasional Papers, Johannesburg, RSA, November 1994.
|
|