|

คุณภาพคนไทย : คุณภาพประเทศไทย
สภาพของประเทศได้สะท้อนความอ่อนแอและเผยให้เห็นจุดด้อยในหลายเรื่อง ทำให้เราวนอยู่ในวิกฤตและหาทางออกอย่างยากลำบากเช่นทุกวันนี้
การพัฒนาประเทศทุกยุคทุกสมัย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นด้านหลัก การส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมน้อยใหญ่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการพัฒนาด้านสังคมที่ทุกรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญในระดับที่เทียบเคียงกัน ดังจะพิจารณาได้จากการละเลยการพัฒนาการศึกษาของชาติเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งทำให้กำลังคนของประเทศอยู่กับระบบการศึกษาที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและของโลก
การพัฒนาเศรษฐกิจ จึงควรคู่ไปกับการพัฒนาด้านสังคมพร้อมๆ กัน คำถาม คือ ด้านสังคม ควรได้รับการพัฒนาอะไรบ้าง
โดยเหตุที่ “คน” คือ ศูนย์กลางของการพัฒนา พลังการขับเคลื่อนของสังคมจึงมาจากทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพ มีความรับผิดชอบ รวมทั้งมีสุขอนามัยที่ดีอีกด้วย การจัดระบบการศึกษาบนพื้นฐานของเสรีภาพ เสมอภาค และภารดรภาพ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำเพื่อพัฒนาทรัพยากรที่สำคัญที่สุด คือ คนของรัฐ ให้ทำหน้าที่เป็น “พลเมือง” ของรัฐ และให้สามารถเป็นถึงพลเมืองของโลกได้ด้วยยิ่งดี เพราะเขาสามารถที่จะทำงานได้ทุกที่บนโลกนี้ด้วยศักยภาพที่เพียงพอ
การปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ จึงควรเป็นไปเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านสังคมให้เข้มแข็ง การศึกษาสำหรับอนาคตควรออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการเรียนรู้ของปัจเจกบุคคล ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมและสร้างความเข้าใจในการแสดงออกซึ่งสิทธิของตนเองในพื้นที่ส่วนบุคคล กระทั่งขยายพื้นที่การใช้สิทธิในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหมายถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกับผู้อื่นอย่างเข้าใจ เพื่อให้รู้จักแยกแยะประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์สาธารณะ การศึกษาที่สร้างคนให้มีความรู้ดีและมีจิตสาธารณะ จึงเป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายสำคัญ
การเพิ่มขีดความสามารถด้านสังคมด้วยการพัฒนาคน จึงเป็นการสร้างสมดุลในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และสามารถธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นคนที่จะไม่ถูกละเมิดและลดทอนคุณค่าลงไปเป็นเพียงปัจจัยการผลิตและแรงงานราคาถูกในระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี การพัฒนาคนด้วยการศึกษาแล้ว การมีระบบสาธารณสุขที่ดี เพื่อให้คนมีสุขภาพดี ก็จะทำให้การพัฒนาด้านสังคมมีความครบถ้วน
อยากเห็นไทยเข้มแข็ง ต้องทำให้คนไทยเข้มข้นด้วยคุณภาพ
ทิพย์พาพร ตันติสุนทร
ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา
|
|