IPPS in last year
Contact us
Site Map
Homepage
หน้าแรกHomepageAbout IPPSAbout IPPSPublicationPublicationArticleDemocracy MonitoringDemocracy MonitoringSocial ReformActivities
 
กิจกรรม (Thai)
วิทยุชุมชน : กฎหมาย และการพัฒนา

สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ได้จัดการเสวนา เรื่อง “วิทยุชุมชน : กฎหมาย และการพัฒนา” ขึ้น 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2552 ณ ห้องบุษราคัม โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนครั้งที่สองจัดขึ้นในวันอังคารที่ 8 ธันวาคม 2552 ณ ห้องคริสตัล 2 โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.เมือง จ.นครสวรรค์ โดยผู้สนใจเข้าร่วมงานล้วนแต่เป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชน นักจัดรายการวิทยุธุรกิจ ประชาสัมพันธ์จังหวัด นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยุชุมชน ประธานชมรมวิทยุชุมชนจังหวัด และผู้ฟังวิทยุชุมชน เขตภาคใต้ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สงขลา ชุมพร และระนอง เข้าร่วมเสวนา จำนวน 57 คน และเขตภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ นครปฐม เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตาก พะเยา อุทัยธานี ชัยนาท ราชบุรี กำแพงเพชร เชียงใหม่ พิจิตร และสิงห์บุรี ร่วมเสวนา จำนวน 41 คน ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าวเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจระหว่างนักวิทยุชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง จะได้นำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่พัฒนาความก้าวหน้าให้กับวิทยุชุมชนต่อไป

การเสวนาที่ จ.สุราษฎร์ธานี (จากซ้าย) คุณฉัตรชัย นุชนนท์ เลขาธิการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ, พ.ต.อ.สมพล รัฐกาญจน์, คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายศึกษา, คุณธนาวัชณ์ แก้วพงศ์พันธุ์ นักวิชาการอิสระ



คุณฉัตรชัย นุชนนท์ เลขาธิการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

พ.ต.อ.สมพล รัฐกาญจน์

คุณธนาวัชณ์ แก้วพงศ์พันธุ์ นักวิชาการอิสระ

วิทยากรของงานทั้งสองครั้งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับวิทยุชุมชน ได้แก่ คุณฉัตรชัย นุชนนท์ อดีตผู้อำนวยการส่วนกำกับการใช้ความถี่วิทยุ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ คุณธนาวัชณ์ แก้วพงศ์พันธุ์ นักกฎหมาย และเป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชนมูลนิธิดวงประทีป ในกรุงเทพมหานคร และ พ.ต.อ.สมพล รัฐกาญจน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา กล่าวถึงเป้าหมายการทำงานของสถาบันฯ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่อิงกับพรรคการเมือง แต่อิงผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งจะทำให้เราทำงานไปได้อย่างราบรื่น และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติร่วมกัน พร้อมทั้งชี้แจงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของงาน ซึ่งสถาบันฯ ให้ความสำคัญกับการใช้สื่อวิทยุเพื่อประโยชน์ในระดับชุมชน เพราะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่คนในชุมชนได้มีสิทธิรวมตัวกันทำสื่อวิทยุภายในชุมชน ซึ่งทำให้คนในชุมชนเกิดการตื่นตัวอย่างมาก เพราะโดยปกติสื่อวิทยุ โทรทัศน์ จะถูกครอบครองโดยรัฐบาลและเอกชนเท่านั้น การจัดเสวนาครั้งนี้จึงเป็นการส่งเสริมบทบาทและความสำคัญของนักวิทยุชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าใจหลักการและความหมายของวิทยุชุมชน ให้สามารถนำความรู้-ข้อคิดเห็นที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนในชุมชนระดับท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

คุณธนาวัชณ์ แก้วพงศ์พันธุ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 เป็นคุณูปการของการเกิดวิทยุชุมชน แม้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ยังคงรักษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 ไว้อย่างมั่นคง พัฒนาการของวิทยุชุมชนช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในแง่ของปัญหา อุปสรรค สิ่งที่ราบรื่น สิ่งที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนา นอกจากการตื่นตัวของประชาชนแล้ว กฎหมาย ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เห็นว่าวิทยุชุมชนจะดำเนินไปในทิศทางใด ทำอย่างไรให้ชุมชนมีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้ประชาชนในชุมชนสามารถเป็นเจ้าของสถานี ขณะนี้มี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี พ.ศ. .... กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไปยกเลิก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี พ.ศ. 2543 เพราะฉะนั้น นักจัดรายการวิทยุชุมชนต้องคอยดูว่าจะมีการกำหนดทิศทางเรื่องกฎหมายไปในทางใด

คุณธนาวัชณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยุชุมชนที่แท้จริงนั้น ต้องไม่แสวงกำไร ไม่มีโฆษณา ใช้ภาษาถิ่น ต้นทุนต่ำ คนในชุมชนเป็นผู้ผลิตและผู้ฟัง มีนักจัดรายการวิทยุชุมชนที่ประทับใจท่านหนึ่ง ได้พูดเรื่องคนป่วยในหมู่บ้าน รู้ว่าบ้านไหนมีใครป่วยด้วยโรคอะไร ฝากเยี่ยมด้วยการจัดรายการวิทยุ เมื่อพูดถึงเรื่องคนป่วย มีการพูดถึงเรื่องอาหาร เรื่องสิ่งแวดล้อม เหล่านี้เกี่ยวข้องกับชุมชนอย่างแท้จริง และเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญด้วย คือ เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างเสรีและเป็นธรรม ดังนั้นนักจัดรายการวิทยุ ต้องนำประเด็นเหล่านั้นมาขยายผลเพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะให้ได้

คุณฉัตรชัย นุชนนท์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของสถานีวิทยุกระจายเสียงในอดีต และพัฒนาการของวิทยุชุมชน ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบันว่า วิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย เริ่มต้นจากการนำสัญญาณวิทยุโทรเลขมาใช้เพื่อการสื่อสาร แล้วพัฒนาไปสู่วิทยุกระจายเสียงในภายหลัง โดยเทคโนโลยีโทรเลขได้เกิดขึ้นก่อนเทคโนโลยีโทรศัพท์ ตามมาด้วยเทคโนโลยีทางด้านวิทยุ ที่เป็นการติดต่อสื่อสารระหว่างคนต่อคน แล้วจึงเป็นวิทยุกระจายเสียง เป็นการติดต่อสื่อสารจากคนหนึ่งไปยังมวลชน ทำให้การรับรู้ของประชาชนกว้างไกล และรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม

คุณฉัตรชัย ได้กล่าวเสริมจากคุณธนาวัชณ์ ว่า วิทยุชุมชน เกิดขึ้นได้เพราะรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ที่ได้มีบทบัญญัติรับรองความสำคัญของชุมชนท้องถิ่นในการที่จะมีส่วนกำหนดในการปกครองตนเอง ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของสื่อสาธารณะที่มิให้ผูกขาดแต่เพียงรัฐบาล ทำให้วิทยุชุมชนเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการดำเนินการวิทยุชุมชน เช่น การรบกวนวิทยุการบิน การไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของวิทยุชุมชน ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนไม่หวังผลกำไรทางธุรกิจ ไม่ให้มีการโฆษณา ไม่ให้นักการเมืองครอบงำและใช้สถานีวิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือในทางการเมือง อีกทั้งจากความเข้าใจของประชาชนที่ว่า คลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ จึงใช้สิทธิตั้งสถานีวิทยุในระดับชุมชนกันอย่างแพร่หลาย แต่ยังขาดการคำนึงถึงประโยชน์เพื่อสาธารณะอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ปัจจุบันวิทยุชุมชนส่วนมากดำเนินการโดยมีเป้าหมายทางธุรกิจ และมีการเมืองเข้าไปแสวงหาประโยชน์ แต่วิทยุชุมชนในความหมายที่แท้จริง คือเพื่อชุมชน เกี่ยวกับชุมชน และโดยชุมชน มีอยู่เพียงไม่เกิน 200 สถานี อีกประมาณ 5,000 สถานี เป็นไปเพื่อธุรกิจและการเมือง

หัวข้อการเสวนาครั้งนี้ คือ วิทยุชุมชน : กฎหมาย และการพัฒนา จึงขอฝากในเรื่องของการพัฒนาไว้ว่า แม้จะประกอบธุรกิจในการจัดวิทยุ ควรเปิดช่องให้มีการสื่อสารกับชุมชน เสนอข่าวสารของชุมชนที่วิทยุอยู่ในท้องที่ มิฉะนั้น วิทยุชุมชน ที่จัดอยู่จะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมของชุมชนนั้นๆ ในระยะยาวเมื่อชุมชนมีศักยภาพ มีความคิดริเริ่ม มีความรู้ความสามารถมากขึ้น แนวคิดหรือวิธีปฏิบัติที่ไม่ได้รับการพัฒนาเพื่อประโยชน์ในระดับชุมชน ระดับชาติ จะต้องถูกลบหายไปจากชุมชน สิ่งที่เป็นความต้องการของคนในท้องถิ่นจะมั่นคง และยั่งยืนมากกว่า

จากนั้น ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ร่วมกันแสดงทัศนะ มุมมอง ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับวิทยุชุมชน อาทิ

สมณะบินก้าว ชาวหินฟ้า พุทธสถานปฐมอโศก จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า สื่อวิทยุชุมชนกระจายเสียง ควรมีวิธีการสื่อสารผ่านสื่อซึ่งเป็นของชุมชน มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมรับผิดชอบ ดำเนินการด้วยความสามารถตามความต้องการของชุมชน และเนื้อหาควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนในท้องถิ่นเป็นหลัก

นายวิทยา ศรีจันทร์ อดีต ส.ส.จังหวัดพะเยา กล่าวว่า วิทยุชุมชน เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ เป็นวิทยุในรูปแบบธุรกิจมากที่สุด เพราะสามารถโฆษณาได้ อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายให้การรองรับ ทำให้เกิดวิทยุชุมชนต่างๆ ในรูปแบบที่ไม่ใช่วิทยุชุมชนที่แท้จริง กฎหมายที่จะออกมารองรับวิทยุชุมชน ควรเป็นกฎหมายที่สนับสนุน ไม่ใช่เป็นอุปสรรคแก่ชุมชนที่อยากจะจัดตั้งสถานีวิทยุของตน

นายวีระ สดมพฤกษ์ นายกสมาคมวิทยุโทรทัศน์ พัฒนาธุรกิจไทย จังหวัดตาก กล่าวว่า วิทยุชุมชนในประเทศไทยส่วนใหญ่ ผู้จัดรายการวิทยุ จะมองเพียงว่า “ถ้าคุณตั้งสถานีวิทยุได้ เราก็สามารถตั้งสถานีวิทยุได้เหมือนกัน” ทำให้เกิดสถานีวิทยุชุมชนที่ดำเนินการไม่ถูกกฎหมาย ผิดเจตนารมณ์ของวิทยุชุมชน ที่ว่า เพื่อชุมชน โดยชุมชน สถานีวิทยุในระดับชุมชนที่เกิดขึ้นจึงมีโฆษณา มีการแย่งสปอนเซอร์ และดำเนินการทั้งที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม เหล่านี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เราต้องมาช่วยกันทำสิ่งผิดให้ถูก โดยเริ่มจากผู้บริหารสถานีวิทยุ นักจัดรายการวิทยุ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องคำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรม มุ่งมั่นประโยชน์ของชาติเป็นหลัก จะได้มีวิทยุชุมชนที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ผอ.สิทธิชัย คุ้มอนุวงศ์ ประธานชมรมวิทยุโทรทัศน์ จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า เห็นด้วยกับคุณวีระ ที่ว่า การแก้ปัญหาวิทยุชุมชนต้องเริ่มจากการมีคุณธรรมจริยธรรม มีสำนึกที่ดีก่อน ต้องเข้าใจหัวใจของวิทยุชุมชน ที่ต้องไม่แสวงหากำไร แต่ต้องสร้างทุนทางสังคม คนในชุมชนร่วมกันจัดและร่วมกันเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ ใช้ระบบอาสาสมัครในการดำเนินการ ใช้ภาษาถิ่น ต้นทุนต่ำ การผลิตเครื่องมือไม่ซับซ้อน เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้คิดจะจัดสถานีวิทยุชุมชนต้องคำนึงถึง

คุณปณิธิ เอี่ยมกิจ นักจัดรายการวิทยุ จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ปัญหาของวิทยุชุมชนในปัจจุบันนอกจากที่คุณวีระ ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีสาเหตุอื่น เช่น การไม่รวมตัวกันของกลุ่มวิทยุชุมชน แย่งกันเป็นผู้นำ การกำหนดองค์ประกอบของการตั้งสถานีวิทยุชุมชนโดย กทช. ที่ไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ที่ให้วิทยุชุมชนมีกำลังส่งไม่เกิน 30 วัตต์ ความสูงของเสาอากาศไม่เกิน 30 เมตรจากระดับพื้นดิน และรัศมีการออกอากาศไม่เกิน 15 กิโลเมตร ความต่างนี้มีผลโดยตรงต่อการปฏิบัติตามกรอบกติกาดังกล่าว ความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม เนื่องจากการสื่อสารเป็นสิทธิอย่างหนึ่งของชุมชน ดังนั้นเนื้อหา วิธีการนำเสนอ และรูปแบบรายการ จึงควรให้สิทธิแก่ชุมชนในการดำเนินการให้สอดคล้องกับภาษา ประเพณี และวัฒนธรรมหรือรสนิยมของชุมชน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือการใช้ภาษาท้องถิ่น เนื้อหาและรูปแบบรายการของวิทยุชุมชนในแต่ละแห่งจึงไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกัน ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ เพื่อที่เราจะได้มีวิทยุชุมชนที่สามารถปฏิบัติได้ และเกิดขึ้นได้ง่ายในระดับชุมชนทั่วประเทศ

นายสาโรจน์ เพ็งชะอุ่ม ประชาสัมพันธ์ จังหวัดสิงห์บุรี กล่าวตอบคำถามของคุณปณิธิ ที่ว่า การไม่รวมตัวกันของกลุ่มวิทยุชุมชน ถ้าวิทยุชุมชนไม่สามารถรวมตัวกันได้ ควรไปหาประชาสัมพันธ์จังหวัด เพื่อที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างสื่อด้วยกันเองและส่วนราชการ ซึ่งกำกับโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้การดำเนินงานร่วมกันเป็นไปด้วยความราบรื่น

คุณชยุตม์ เชาวนเศวตกุล นักจัดรายการวิทยุ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชนควรมีกรอบเจตนารมณ์ที่ชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติ การที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 มีประกาศ มีมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับวิทยุชุมชนหลายครั้ง และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมา กฎหมายฉบับเก่ายังไม่ได้ปฏิบัติ ทำให้นักวิทยุชุมชนเกิดความสับสน ลองผิดลองถูกด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

คุณอาคม วรรณสัก ประธานสภาผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุกระจายเสียง จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า วิทยุชุมชนปัจจุบันมีความหลากหลาย มีทั้งวิทยุชุมชนที่แท้จริงและวิทยุธุรกิจในชุมชน แม้จะมีปัญหาบ้าง แต่ก็พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ผู้ฟังสามารถเลือกในสิ่งที่สนใจ ทำให้ผู้จัดรายการวิทยุมีคุณภาพมากขึ้น บางครั้งดีกว่าดูโทรทัศน์ เพราะทำให้เราไม่สะสมความขัดแย้งของเนื้อข่าวที่ผู้ประกาศข่าวนำเสนอในบางครั้ง


บรรยากาศในห้องสัมมนา

นอกจากนี้มีข้อคิดเห็นที่ผู้เข้าร่วมเสวนาฝากไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชน ว่า
  1. ควรให้การศึกษาแก่ประชาชนในระดับท้องถิ่น ให้เข้าใจสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการเข้าถึงทรัพยากรสื่อของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ
  2. ควรให้ความรู้และฝึกอบรมทางด้านเทคโนโลยีคมนาคมสื่อสารที่จำเป็น เพื่อให้คนในชุมชนสามารถดำเนินการวิทยุชุมชนได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง
  3. ควรสนับสนุนให้นักจัดรายการวิทยุชุมชนได้ใช้ภาษาถิ่น ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง นักจัดรายการพึงเข้าใจวัฒนธรรมของท้องถิ่นตนเอง แล้วนำมาเป็นจุดแข็งในการดำเนินการวิทยุชุมชน
  4. ควรให้รัฐบาลออกกฎหมายที่มีการแบ่งแยกให้ชัดเจนระหว่างวิทยุชุมชน วิทยุทางธุรกิจ และวิทยุเพื่อประโยชน์สาธารณะ
สถาบันฯ จะได้นำข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์จากผู้เข้าร่วมไปดำเนินการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนและรัฐบาลต่อไป
 


Print Version