IPPS in last year
Contact us
Site Map
Homepage
หน้าแรกHomepageAbout IPPSAbout IPPSPublicationPublicationArticleDemocracy MonitoringDemocracy MonitoringSocial ReformActivities
 
กิจกรรม (Thai)
ท้องถิ่นกับการจัดการศึกษา

สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ร่วมกับ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพชรบุรี ได้จัดโครงการ YOUTH DIALOGUE เรื่อง “ท้องถิ่นกับการจัดการศึกษา” เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2552 ณ ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพชรบุรี มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการชุมชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี และเจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนใจ จำนวน 36 คน


ลงทะเบียน


ในการสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายสนิท จรอนันต์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากร ดร.ธีรพงษ์ บัวหล้า หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการชุมชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี กล่าวเปิดงาน และอาจารย์อรรถพล วชิรสิโรดม จากคณะเดียวกัน เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสรุปสาระสำคัญของการสัมมนาในครั้งนี้ ดังนี้

ดร.ธีรพงษ์ บัวหล้า กล่าวเปิดงานว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 บัญญัติว่า “การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”ประกอบกับนโยบายเร่งด่วนที่จะให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี 15 ปี สนับสนุนตำราในวิชาหลักให้แก่ทุกสถานศึกษา และสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อชดเชยรายการต่างๆ ที่สถานศึกษาเรียกเก็บจากผู้ปกครอง จาก พ.ร.บ. และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ ในฐานะที่เป็นสาขาวิชาที่มีความเกี่ยวข้องกับท้องถิ่น จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับท้องถิ่นกับการจัดการศึกษา และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หาข้อเสนอแนะในประเด็นนี้ด้วย

(จากซ้าย) นายสนิท จรอนันต์,
นางทิพย์พาพร ตันติสุนทร
และ ดร.ธีรพงษ์ บัวหล้า



(จากซ้าย) อ.อรรถพล วชิรสิโรดม,
นายสนิท จรอนันต์, นางยศวดี บุณยเกียรติ,
นางทิพย์พาพร ตันติสุนทร,
รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
และ ดร.ธีรพงษ์ บัวหล้า
รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม กล่าวว่า ท้องถิ่นกับการจัดการศึกษาเกิดขึ้นเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของประเทศ เห็นได้จากรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 จนถึงฉบับปี 2550 ก็ยังคงให้ความสำคัญในเรื่องการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังเช่น มาตรา 283 วรรค 1 ที่ให้ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะ” ในส่วนนี้ตนมีความเห็นว่า ท้องถิ่นสามารถจัดทำบริการสาธารณะ เช่น การจัดการศึกษาได้ แต่ในด้านการบริหารการศึกษานั้น ขอเสนอว่าต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมใน 4 ด้าน คือ 1) จะต้องมีบุคลากรทางการศึกษา 2) งบประมาณ 3) แผน และ 4) หน่วยงานที่รองรับ เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการอย่างเต็มที่ และสุดท้ายขอฝากถึงเรื่องการปฏิรูปการศึกษา โดยส่วนตัวมีความเห็นว่า ต้องปฏิรูปความคิด และเปลี่ยนทัศนคติ สร้างความละอาย สร้างกระบวนการให้คนคิดผ่านกระบวนการศึกษา เชื่อว่าถ้าเราช่วยกันสิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้นได้


นายสนิท จรอนันต์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และผู้เขียนหนังสือ “การจัดการศึกษาในท้องถิ่น” กล่าวถึงท้องถิ่นกับการจัดการศึกษาและความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ว่า มุ่งเป้าหมายไปที่เยาวชนเป็นหลัก เนื่องจากอยากเห็นเยาวชนรุ่นใหม่เป็นเด็กที่คิดเป็น มากกว่าจำเก่ง อย่างที่ทราบกันดีว่าเอกลักษณ์ของประเทศไทย ก็คือ วัด ซึ่งเป็นเสน่ห์ของชาติเราอยู่แล้ว อย่าไปรับวัฒนธรรมของชาติอื่นมาเป็นของเรามากไป การให้บริการทางการศึกษาในท้องถิ่นเอง ต้องเข้าใจความเป็นมาของท้องถิ่น ซึ่งแต่ละแห่งก็ย่อมมีข้อเด่น ข้อด้อย ต่างกัน ดังนั้น ต้องศึกษาลักษณะของท้องถิ่น ทั้งความเป็นอยู่ สังคม เศรษฐกิจ เพื่อจะได้รู้ถึงข้อจำกัดและสิ่งที่ต้องแก้ไข ของท้องถิ่นนั้น โดยส่วนตัวเชื่อว่า ท้องถิ่นมีศักยภาพที่จะจัดการศึกษาเองได้ และที่สำคัญ ถ้าท้องถิ่นจะจัดการศึกษาจะต้องจัดในรูปแบบสหการ โดยการบริหารและจัดการศึกษาควรปรับแผนปฏิบัติการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความพร้อมในการจัดการศึกษา ทั้ง ทรัพยากร ครู ผู้บริหารการศึกษา และผู้รับการศึกษา เพื่อให้การจัดการศึกษาในท้องถิ่นเป็นที่ยอมรับและเห็นประโยชน์ร่วมกัน

หลังจากการเสวนาของวิทยากรแล้ว ผู้ฟังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับวิทยากร โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่

1. อยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสนใจกับการจัดการศึกษาให้แก่คนพิการด้วย

2. ครู-อาจารย์ ผู้ใหญ่ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรมให้เด็กและเยาวชน

3. อยากให้มาตรฐานทางการศึกษาในประเทศไทยของรัฐบาลและเอกชน มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อการศึกษาของคนไทยจะได้มีคุณภาพทัดเทียมต่างชาติ

เหล่านี้เป็นข้อคิดเห็นดีๆ ที่ได้จากการเสวนาครั้งนี้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ทางสถาบันฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้นำไปเป็นหัวข้อในการสัมมนาครั้งต่อๆ ไป เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวม
 


Print Version