|

ธันวาคม 2551 : พระราชทานพรปีใหม่ ให้ใช้สติ คิดให้ดี
พระราชทานพรปีใหม่ ในหลวงให้ใช้สติ-คิดให้ดี
โปรดเกล้าฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็น นรม. คนที่ 27
ม็อบเสื้อแดงล้อมสภา รัฐบาล ปชป. เปลี่ยนที่แถลงนโยบาย
หวั่นเศรษฐกิจแย่ คนใช้เงินปีใหม่ต่ำ
ปปง. ไร้ผลงาน เหตุยังไม่ตั้ง กก.ธุรกรรม
เลิกระบบ ‘ซี’ ข้าราชการ ที่ใช้มานานกว่า 33 ปี
“เหยื่อ" 7 ตุลาฯ รับเงินช่วยเหลือแล้วกว่า 4 ล้านบาท
เริ่มกระบวนการออกแบบ-ก่อสร้างรัฐสภาใหม่
ศาลฯ นักการเมืองเริ่มนัดตรวจพยานคดีอายัดทรัพย์ทักษิณ
โครงการ "1 อำเภอ 1 ทุน" รุ่น 3 ยังไม่ได้รับงบฯ
ม.ทั่วประเทศยืนค่าหน่วยกิตเดิม รับวิกฤตเศรษฐกิจปี 52
พรปีใหม่จาก “ในหลวง"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ส.ค.ส. ปีพุทธศักราช 2552 เมื่อค่ำวันที่ 31 ธันวาคม ความว่า “ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ เป็นเวลาที่เราควรระลึกถึงกัน และอวยพรแก่กัน ด้วยความปรารถนาดี ก่อนอื่น ข้าพเจ้าต้องขอขอบใจทุกท่านเป็นอย่างมาก ที่ร่วมกันจัดงานพระศพพี่สาวข้าพเจ้าอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ทั้งอุตสาหะมาร่วมในงานเมื่อเดือนพฤศจิกายนด้วยใจภักดีและระลึกถึง กับขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คนให้มีความสุขความเจริญ
ความสุขความเจริญนี้ เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่งของคนเรา แต่ความสุขความเจริญนั้น จะสำเร็จผลเป็นจริงได้ ก็ด้วยการที่ทุกคนตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท มีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิดกำกับอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ ไม่ว่าจะประพฤติปฏิบัติการใด ก็ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองจนถ้วนถี่ให้เห็นกระจ่างถึงผลดี ผลเสีย ทั้งใกล้ไกล ทุกแง่ทุกมุม ความรู้ความเข้าใจชัดถึงผลดีผลเสีย ย่อมจะทำให้แต่ละคนเล็งเห็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ว่าสิ่งใดควรละเว้น และสิ่งใดควรปฏิบัติ เพื่อให้บังเกิดผล เป็นประโยชน์ที่แท้จริงและยั่งยืน ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม
ในปีใหม่นี้ จึงขอให้ประชาชนชาวไทยได้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท จะคิดจะทำสิ่งใด ให้คิดหน้าคิดหลังให้ดี ให้รอบคอบ ทำให้ดี ให้ถูกต้อง ผลของการคิดดีทำดีนั้น จะได้ส่งเสริมให้แต่ละคนประสบแต่ความสุขความเจริญ และทำให้ชาติบ้านเมืองมีความเรียบร้อย และอยู่เย็นเป็นสุข ดังที่ทุกคนทุกฝ่ายตั้งใจปรารถนา
ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเราเคารพบูชา จงอภิบาลรักษาท่านทุกคน ให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากโรค ปราศจากภัย ให้มีความสุขกายสุขใจ และความสำเร็จสมหวัง ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน”
โปรดเกล้าฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็น นรม. คนที่ 27
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ของประเทศไทย และต่อมานายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีดังมีรายชื่อต่อไปนี้- นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
- นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
- พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
- นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- นายวีระชัย วีระเมธีกุล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- นายกรณ์ จาติกวณิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
- นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
- นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
- นายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- นายชุมพล ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
- นายวิฑูรย์ นามบุตร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์
- นายธีระ วงศ์สมุทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- นายชาติชาย พุคยาภรณ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- นายโสภณ ซารัมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
- นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
- นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
- นางพรทิวา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
- นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
- นายถาวร เสนเนียม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
- นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- นายไพฑูรย์ แก้วทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
- นายธีระ สลักเพชร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
- คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- นายวิทยา แก้วภราดัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- นายมานิต นพอมรบดี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ในวันที่ 22 ธันวาคม รัฐมนตรีทั้งคณะได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติหน้าที่ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสโดยสรุปว่า ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ให้ประเทศสงบเรียบร้อย มีความราบรื่น คนไทยมีความสุข ทั้งนี้ คนที่อยู่ในตำแหน่งสูงหากทำไม่ดี ชาติอาจล่มจมเสียหายได้
หลังศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้ยุบสามพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรค ทำให้รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากหน้าที่ ในวันที่ 15 ธันวาคม ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เรียกประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งมีผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงสองคน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ ได้รับคะแนนสนับสนุน 235 เสียง เอาชนะ พล.ต.อ.ประชา ที่ได้รับเสียงโหวต 198 เสียง ทำให้นายอภิสิทธิ์ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย
นายกรัฐมนตรีได้ให้หลักปฏิบัติสำหรับคณะรัฐมนตรีไว้ 9 ข้อ คือ- ทุกคนต้องน้อมรับกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางการปฏิบัติงาน
- ทุกคนต้องตั้งใจทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม
- ทุกคนต้องทำงานตามนโยบายรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเอกภาพ และรวดเร็ว
- ทุกคนต้องหลีกเลี่ยงการโต้ตอบทางการเมือง
- ทุกคนต้องเข้าร่วมประชุมสภาฯ
- ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง
- ต้องคำนึงถึงกระแสสังคม หากผู้ใดเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล จำเป็นต้องถูกปรับออก
- ต้องสำนึกว่าตนเป็นบุคคลสาธารณะ พร้อมรับการตรวจสอบ
- รัฐมนตรีไม่มีสิทธิเหนือประชาชน ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
ม็อบเสื้อแดงล้อมสภา รัฐบาล ปชป. เปลี่ยนที่แถลงนโยบาย
จากเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง นัดชุมนุมที่สนามหลวงตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2551 และเคลื่อนย้ายมาปิดล้อมอาคารรัฐสภาในวันที่ 29 และ 30 จนทำให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ในวันที่ 29 ตามกำหนดการเดิม
ในวันที่ 30 ธันวาคม ประธานรัฐสภาจึงสั่งให้ใช้ห้องประชุมของกระทรวงการต่างประเทศเป็นสถานที่ประชุมแทน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยมีสาระสำคัญ คือ รัฐบาลจะบริหารราชการแผ่นดินภายใต้แนวทางพื้นฐานหลัก 4 ประการ คือ 1. ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. สร้างความปรองดองสมานฉันท์ 3. ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน และบรรเทาผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ประชาชนจะประสบ และ 4. พัฒนาประชาธิปไตยและระบบการเมืองให้มีความมั่นคง
สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก อาทิ - จัดให้มีสำนัก งานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นองค์กรถาวร
- จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินการปฏิรูปการเมืองโดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม
- จัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นที่ครอบคลุมภาคเกษตรและเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ภาคอสังหาริมทรัพย์ การสร้างงานและสร้างรายได้ในชนบท การพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติและฟื้นฟูทรัพยากรให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2552 จัดโครงการฝึกอบรมแรงงานที่ว่างงานประมาณ 500,000 คน ในระยะเวลา 1 ปี
- ขยายเพดานให้กู้ยืมจากกองทุนผู้สูงอายุเป็น 30,000 บาทต่อราย
- จัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง
- จัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ
- จัดตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ฯลฯ
การประชุมแถลงนโยบายในครั้งนี้ปรากฏว่ามีองค์ประชุมเพียง 311 คนเนื่องจาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้านไม่ยอมเข้าร่วมประชุม
หวั่นเศรษฐกิจแย่ คนใช้เงินปีใหม่ต่ำ
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ สำรวจระหว่างวันที่ 17-22 ธันวาคม 2551 จำนวน 1,176 รายทั่วประเทศว่า ปีใหม่ปีนี้บรรยากาศไม่คึกคักเช่นทุกปีเนื่องจากประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอย สาเหตุน่าจะเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และความเป็นห่วงในเรื่องตกงานและเลิกจ้างมากที่สุด สำหรับพรปีใหม่ 2552 ที่ประชาชนต้องการ คือ 1.ขอให้เศรษฐกิจดีขึ้น 2.ไม่ตกงาน/ถูกลดเงินเดือน 3.คนไทยมีความสมานฉันท์ 4.รัฐบาลมีเสถียรภาพทำงานได้ 5.ภาคใต้สงบสุข 6.มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 7.ค้าขายดีๆ
โดยปกติการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่จะขยายตัวมากกว่าปกติคิดเป็น 2-3 เท่าของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ตลอดทั้งปี แต่ปีใหม่นี้มีการใช้จ่ายต่ำสุดในรอบ 5 ปี คือ 76,528 ล้านบาท เท่ากับ 3-3.5% ซึ่งเท่ากับอัตราการขยายตัวของจีดีพีที่คาดการณ์ไว้ในปี 2551 เท่านั้น
ปปง. ไร้ผลงาน เพราะขาดกรรมการธุรกรรม
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แจ้งว่า ในรอบปี 2551 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ปปง. ไม่สามารถยึดอายัดทรัพย์ผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดเข้าข่ายฟอกเงินได้แม้แต่รายเดียว เหตุที่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีคณะกรรมการธุรกรรม เพราะอยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการธุรกรรมชุดใหม่ ทำให้เลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. ไม่สามารถส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ภายในกำหนดเวลา ตามมาตรา 49 ของ พ.ร.บ.ปราบปรามการฟอกเงินได้
ในปี 2550 ช่วงวันที่ 27 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2550 ปปง. สามารถยึดอายัดทรัพย์สินได้ถึง 696 คดี มูลค่าทรัพย์สิน รวม 4,125,047,962 บาท แยกเป็นคดีที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน 404 คดี มูลค่า 1,804,285,442 บาท ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง 16 คดี มูลค่า 347,556,033 บาท ในจำนวนคดีทั้งหมดที่ศาลสั่งยึดทรัพย์แล้ว แยกเป็นคดียาเสพติด 386 คดี มูลค่า 1,395,598,202 บาท
ปิดตำนานข้าราชการระบบ “ซี”
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ประกาศยกเลิกระบบ “ซี” (Common level) ของข้าราชการพลเรือนสามัญที่แบ่งออกเป็น 11 ระดับ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 เป็นเวลานานถึง 33 ปีแล้ว โดยระบบใหม่ที่นำมาใช้ จะแบ่งบัญชีข้าราชการเป็น 4 ประเภท (แท่ง) ได้แก่ บริหาร อำนวยการ วิชาการ และทั่วไป โดยประเภทบริหารและอำนวยการ มีเพียงระดับต้นและระดับสูง ส่วนประเภทวิชาการ มี 5 ระดับ คือ ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ ระดับเชี่ยวชาญ ระดับทรงคุณวุฒิ และประเภททั่วไปมี 4 ระดับ คือ ระดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ระดับทักษะพิเศษ
เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพื่อให้การบริหารทรัพยากรภาครัฐมีความคล่องตัวขึ้น ทั้งนี้ ทุกส่วนราชการต้อง “จัดคนลง” แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้แล้วเสร็จใน 30 วัน นับจากวันที่ 11 ธันวาคม 2551
เหยื่อ 7 ตุลา รับเงินช่วยเหลือแล้ว
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม นายวิฑูรย์ นามบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ติดต่อผู้ได้รับความเสียหาย จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในวันที่ 29 สิงหาคม 2 กันยายน และ 7 ตุลาคม 2551 ที่มีผู้บาดเจ็บ รวมทั้งหมด 612 คน เสียชีวิต 3 คน ซึ่งได้มาลงทะเบียนเพื่อรับเงินช่วยเหลือไว้ในระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน -12 ธันวาคม จำนวน 139 ราย ให้มารับเงินได้ ในวันที่ 30 ธันวาคม เวลา 09.30 น. ที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งปรากฏว่ามีผู้มารับเงินไปแล้ว 98 ราย เป็นเงิน 4,020,000 บาท ส่วนจำนวนที่เหลือจะได้ติดตามแจ้งให้มารับมอบเงินภายในวันที่ 15 มกราคม 2552 ต่อไป
คณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วได้กำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้เสียหายดังนี้ คือ กรณีบาดเจ็บเล็กน้อย เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลและไม่ได้นอนพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ได้รับเงิน 20,000 บาท บาดเจ็บเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล และนอนพักรักษาตัวไม่เกิน 20 วัน ได้รับเงิน 60,000 บาท บาดเจ็บสาหัสเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล และนอนพักรักษาตัวเกิน 20 วัน ได้รับเงิน 100,000 บาท กรณีทุพพลภาพไม่สามารถประกอบกิจการงานประจำตามปกติ ได้รับเงิน 200,000 บาท กรณีเสียชีวิตได้รับเงิน 400,000 บาท
เริ่มกระบวนการออกแบบ-ก่อสร้างรัฐสภาใหม่
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการต่อรองที่ดินเพื่อก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ แถลงว่า ในเดือนมกราคม 2552 จะมีการว่าจ้างผู้ออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ 5 ราย รายละ 1 ล้านบาท แล้วทำการคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 ราย เพื่อนำมาสู่การออกแบบเพื่อก่อสร้าง ซึ่งจะได้รับค่าจ้าง 2.5% จากมูลค่างบประมาณทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านบาท เท่ากับ 475 ล้านบาท
คณะรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช ได้อนุมัติงบประมาณมูลค่า 19,000 ล้านบาท ให้ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในพื้นที่ราชพัสดุบนถนนทหารย่านเกียกกาย มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี โดยเริ่มจากงบประมาณประจำปี 2551 จำนวน 4,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเวนคืนที่ดินและการรื้อย้าย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี จากนั้น จึงจะเริ่มกระบวนการก่อสร้างได้
ศาลเริ่มนัดตรวจพยานคดีอายัดทรัพย์ทักษิณ
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ได้กำหนดวันตรวจสอบพยานในการพิจารณาคดียึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไว้ในวันที่ 26, 27 และ 30 มีนาคม 2552 โดยให้คู่ความ คือ สำนักงานอัยการสูงสุดและทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยื่นบัญชีพยานของทั้งสองฝ่ายต่อศาลก่อนวันนัดตรวจสอบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน
คดีนี้อัยการสูงสุดได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว จำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน
"1 อำเภอ 1 ทุน" รุ่น 3 ยังไม่ได้งบฯ
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่คณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ได้แถลงว่าการดำเนินการรุ่นที่ 3 จะต้องชะลอออกไปก่อนเพราะยังไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอขอใช้งบฯ กลาง 180 ล้านบาท และงบฯ ผูกพัน 7 ปี อีก 4,900 ล้านบาท
ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังได้หารือถึงการเตรียมการปรับวิธีการ แนวทาง และเกณฑ์ในการคัดเลือกนักเรียนทุนรุ่นที่ 3 โดยอาจกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้นักเรียนที่ได้รับทุนต้องกลับมาใช้ทุนให้กับรัฐบาล
มหาวิทยาลัยทั่วประเทศยืนค่าหน่วยกิตเดิม
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ขอความร่วมมือจากทุกมหาวิทยาลัย ให้ชะลอการขึ้นค่าหน่วยกิต หรือค่าเล่าเรียนของนิสิตนักศึกษา ในปีการศึกษา 2552 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งขอให้จัดสรรทุนการศึกษาช่วยเหลือนิสิตนักศึกษาที่ประสบปัญหา นอกเหนือจากการกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และการหามาตรการรองรับบัณฑิตที่กำลังจะจบใหม่ แต่ยังไม่มีงานทำ ด้วยการจัดฝึกอบรมระยะสั้น หรือการทำงานช่วยเหลือมหาวิทยาลัย
|
|