IPPS in last year
Contact us
Site Map
Homepage
หน้าแรกHomepageAbout IPPSAbout IPPSPublicationPublicationArticleDemocracy MonitoringDemocracy MonitoringSocial ReformActivities
 
กิจกรรม (Thai)
“การศึกษารูปแบบ ตัวชี้วัด และ กระบวนการจัดการชุมชนเข้มแข็งของไทย”

ได้มีการกล่าวเสมอว่า การพัฒนาของสังคมควรคำนึงถึงการพัฒนาที่รากฐานหรือประชาชนรากหญ้าที่อยู่ตามชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้แต่ละชุมชนมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเอง มีกระบวนการแก้ปัญหาด้วยตนเองได้มากกว่าที่จะพึ่งพาภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ จึงได้จัดประชุมทางวิชาการเรื่อง “การศึกษารูปแบบ ตัวชี้วัด และกระบวนการจัดการชุมชนเข้มแข็งของไทย” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551 ณ ห้องแคทลียา โรมแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางที่เหมาะสมและแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวกับกระบวนการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งของไทย ทั้งนี้มีนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษา ผู้นำชุมชนจากท้องถิ่นทุกภาค ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรภาคเอกชน เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ จำนวน 30 คน

ภายในห้องประชุม



คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร
คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร กล่าวเปิดงานว่า ความหลากหลายรูปแบบของชุมชนต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาจากองค์กรภายนอกชุมชน และจากการพัฒนาของตัวชุมชนแต่ละชุมชนเอง มีพัฒนาการทั้งความเข้มแข็ง และจุดอ่อน มีทั้งความสำเร็จและล้มเหลวแตกต่างกันไป สภาพการณ์เหล่านี้นำมาซึ่งความสนใจในการศึกษาถึงเป้าหมายสู่ความเข้มแข็งของชุมชน การแสวงหารูปแบบและตัวชี้วัดที่เหมาะสมและมีมาตรฐาน อีกทั้งกระบวนการจัดการที่ดีในลักษณะใด จึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนไทย โดยควรให้มีการพิจารณามิติทางด้านการเมือง-การปกครอง เป็นอันดับแรก เพราะการบริหารการปกครองของประเทศมีผลโดยตรงต่อการผลักดันให้ชุมชนเข้มแข็งหรืออ่อนแอได้


จากนั้นมีการนำเสนองานทางวิชาการโดย รศ. วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ อาจารย์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ว่า ได้ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบ ตัวชี้วัด และกระบวนการจัดการชุมชนเข้มแข็งของไทย ทั้งในระดับนโยบายหรือภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคประชาชน/องค์กรชุมชน เลือกชุมชนใน 4 ภูมิภาค โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกตามพัฒนาการของการจัดการชุมชนเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม/ภูมิปัญญา/ทุนสังคม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

รศ. วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ


ประเด็นผลการศึกษาที่สำคัญเพื่อสร้างตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งแบ่งเป็น 4 องค์ประกอบ 12 ตัวชี้วัด คือ มิติทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การผลิตและการบริโภคในชุมชน มิติทางด้านสังคมและองค์กรชุมชน เช่น การจัดการและการบริหารองค์กรชุมชน มิติทางด้านวัฒนธรรมการเรียนรู้ เช่น การอนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น มิติทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางจากนักวิชาการ ผู้มีประสบการณ์การบริหารจัดการท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และธุรกิจเอกชน ได้เสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์ เช่น


ศ.(พิเศษ) ดร. ยุวัฒน์ วุฒิเมธี
ดร. ยุวัฒน์ วุฒิเมธี คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสนอว่า ควรพิจารณาด้านการเมืองและการปกครอง เพราะเป็นมิติที่สำคัญที่มีผลต่อชุมชนเข้มแข็ง น่าจะศึกษาเป็นปัจจัยเพิ่มเติม และชี้ให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นในส่วนของชุมชนไทยที่เชื่อมโยงกับกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะโลกาภิวัตน์มีผลต่อชุมชนอ่อนแอมากกว่าชุมชนเข้มแข็ง


รศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า ตัวแทนทั้ง 12 ชุมชนเข้มแข็ง ที่ได้เลือกมาควรจะอธิบายประวัติศาสตร์ชุมชน เงินทุน วิถีชีวิต ฯลฯ การอธิบายโดยใช้พัฒนาการ และกระบวนการจัดการชุมชนเข้มแข็งโดยใช้ระยะเวลาเพียงอย่างเดียวนั้น ยังไม่น่าจะเหมาะสม ควรจะใช้ตัววัดตัวอื่นร่วมด้วย การใช้ตัวเลขเชิงปริมาณในการอธิบาย และการใช้คำถามนำว่า “มาก” “มากที่สุด” “ใช่หรือไม่” เป็นจุดอ่อน ควรจะนำข้อมูลเชิงคุณภาพอธิบายประกอบ

รศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม



รศ.ดร. เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ
รศ.ดร. เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสนอว่า ถ้าได้ทำเป็นงานคุณภาพก็เป็นเรื่องที่ดี จะได้รวมเอาประสบการณ์ของชุมชนที่เข้มแข็งไว้ เพื่อจะได้นำไปศึกษาสำหรับผู้สนใจต่อไป ควรจะไปสัมภาษณ์ว่าอะไรคือความเหมือน ความต่าง การศึกษานี้มีจุดอ่อนตรงที่ว่าเมื่อได้ข้อสรุปออกมาแล้ว จะนำไปใช้ได้หรือไม่ การใช้ระยะเวลาเป็นตัวศึกษาชุมชนเข้มแข็งในแต่ละแห่งนั้น ควรจะให้รายละเอียดด้วยว่าระยะเวลามีผลต่อชุมชนเข้มแข็งอย่างไร อยากเพิ่มเติมว่า ถ้าศึกษาเรื่องชุมชนเข้มแข็ง ควรจะมีองค์กรชุมชนเข้มแข็งที่ก่อตั้งด้วยตนเอง และองค์กรชุมชนเข้มแข็งที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลมาเปรียบเทียบด้วย


พันเอก ดร.วรสิทธิ์ เจริญพุฒ อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสนอว่า ในเรื่องของมิติทางด้านเศรษฐกิจ มิติทางด้านสังคมและองค์กรชุมชน มิติทางด้านวัฒนธรรมการเรียนรู้ และมิติทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เลือกมาศึกษาก็เป็นตัวชี้วัดที่ดี แต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ควรจะเพิ่มในมิติของการเมืองการปกครองและมิติของคุณธรรม-จริยธรรม เข้าไปด้วย เพราะการเมืองการปกครองเป็นเรื่องสำคัญ อยู่ในความสนใจของคนส่วนใหญ่ อีกทั้งได้เสนอแนะการศึกษาเปรียบเทียบชุมชนที่เข้มแข็ง และอ่อนแอร่วมด้วย

พันเอก ดร.วรสิทธิ์ เจริญพุฒ


ที่ประชุมได้มีการอภิปราย และหาข้อสรุปถึงความหมายของชุมชนเข้มแข็งมีมิติและมุมมองที่แตกต่างกัน เริ่มตั้งแต่การพึ่งพาตนเองได้ของชุมชน เป้าหมายความสุขของชุมชน ฯลฯ ซึ่งลักษณะที่บ่งบอกถึงความเข้มแข็งของชุมชน จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดที่อธิบายถึงความเข้มแข็งของชุมชนนั้น เพื่อที่จะได้รู้ว่า การพัฒนาที่ยึดชุมชนเข้มแข็งนั้น มีอะไรเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเข้มแข็งและเข้มแข็งในระดับใด

อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้ให้ข้อสรุปที่สอดคล้องต้องกันว่า พัฒนาการของชุมชนไทยนั้น มีความสัมพันธ์โดยตรงกับมิติทางการเมืองและการปกครอง รูปแบบการบริหาร และการจัดการของรัฐ มีผลกระทบโดยตรงต่อความเข้มแข็ง และความอ่อนแอของชุมชน และยังส่งผลต่อวิถีชีวิตของชุมชน ทั้งด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม อีกด้วย
 


Print Version