IPPS in last year
Contact us
Site Map
Homepage
หน้าแรกHomepageAbout IPPSAbout IPPSPublicationPublicationArticleDemocracy MonitoringDemocracy MonitoringSocial ReformActivities
 
กิจกรรม (Thai)
การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนท้องถิ่น

รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 66 ให้สิทธิชุมชนในการจัดการบำรุงธรรมชาติและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่มาตรา 67 ก็ให้บุคคลมีสิทธิที่จะร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการดำรงชีพ

เหตุที่เกิดขึ้นที่ตำบลท่าทอง ในอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้สถาบันนโยบายศึกษาจำเป็นต้องจับมือหาพันธมิตรจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนโดยการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างชุมชนต่างๆ และให้ความรู้ในเรื่องสิทธิของชุมชนและการปกป้องสิทธิ โดยหวังว่าเมื่อชุมชนมีความเข้มแข็งแล้ว จะสามารถจับมือกันแก้ไขปัญหาและร่วมใจพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนได้

เมื่อวันพุธที่ 30 มกราคม 2551 เราไปจัดเวทีสาธารณะกันที่โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเชิญสมาชิกกลุ่มองค์กรชุมชนจากอำเภอต่างๆ มาร่วมกว่า 100 คน

คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผอ. สถาบันนโยบายศึกษา กล่าวเปิดงานโดยการแนะนำสถาบันฯ ว่า ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ แห่งประเทศเยอรมันนี มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษ คอนราด อาเดนาวร์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศถึง 3 สมัย และได้นำประเทศเยอรมันในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฟื้นฟูจากสภาพที่ปราชัยย่อยยับกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย มีความมั่นคงและมั่งคั่งจนกระทั่งสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศอื่นๆ ได้

ลงทะเบียนก่อนเข้าสัมมนา

ประชาธิปไตยในความเชื่อของเยอรมันคือการที่ประชาชนทุกคนจะมีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่ในหมู่บ้าน ชุมชน ขึ้นไปถึงระดับชาติ กว่าจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับชาติได้จะต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เริ่มจากการทำงานในชุมชนและเป็นนักการเมืองท้องถิ่นมาก่อน ดังนั้น นโยบายต่างๆ ที่นำมาใช้ในระดับชาติจึงเกิดจากความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างไปจากในหลายประเทศที่วางนโยบายจากข้างบนลงล่าง หลายเรื่องจึงไม่เกิดประโยชน์แก่คนในท้องถิ่น

หลังจากนั้นจึงเปิดเวทีแสดงความคิดเห็น ตัวแทนองค์กรชุมชนต่าง ๆ ได้ผลัดกันแสดงความคิดเห็นโดยมี พ.ต.อ.สมพล รัฐกาญจน์ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดภาคใต้ และอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินรายการ

ตัวแทนจากตำบลท่าทอง กล่าวว่า ปัญหาเกิดเพราะน้ำในแม่น้ำท่าทองเน่าเสีย ทำให้ไม่สามารถจะใช้ดื่มกินได้ เด็กๆ ที่ลงเล่นน้ำมีอาการคันตามผิวหนัง และผู้ที่โดนผลกระทบมากที่สุดคือผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแม่น้ำและชายฝั่งทะเล เช่น หอยนางรม ปลาดุกทะเล ปลากะพง เป็นต้น เมื่อน้ำเน่าเสียไหลมาถึง สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก ทำให้สูญเสียรายได้

ชาวบ้านได้ขอความช่วยเหลือจากหน่วยราชการที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่พบปัญหาและอุปสรรคที่เจ้าหน้าที่มาล่าช้า น้ำเสียไหลลงทะเลไปแล้ว บางครั้งชาวบ้านเก็บตัวอย่างน้ำกันเองเพื่อส่งให้หน่วยงานภาครัฐตรวจวิเคราะห์ แต่ยังขาดความชัดเจนในวิธีการเก็บ รวมทั้งบางครั้งการส่งล่าช้าไม่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้

ตัวแทนจากอำเภอไชยา เล่าว่า ที่บ้านของตนพวกทำประมงพื้นบ้านได้รับความเดือดร้อนเพราะจับปลาได้น้อยลง ปัญหาเกิดจากการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน ทำให้สูญเสียพื้นที่เพาะฟักและอนุบาลลูกปลา ยังมีปัญหาน้ำเสียจากชุมชนและเรือประมงเชิงพาณิชย์ที่จับสัตว์น้ำในลักษณะทำลายล้าง ขณะนี้กลุ่มประมงพื้นบ้านร่วมมือกันตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไปถึงปัตตานีและนราธิวาส จัดตั้งเป็นกลุ่มเฝ้าระวัง ดูแล จัดการทรัพยากรธรรมชาติกันเอง แต่ก็มีปัญหาเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สนใจป้องกันปราบปรามผู้ทำผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่อ่าวบ้านดอนของสุราษฎร์ฯ เป็นบริเวณที่มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย

ผู้ใหญ่บ้านจากอำเภอพระแสงซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแม่น้ำตาปี กล่าวว่า ในพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง ทุกครั้งที่พบว่ามีน้ำเสียก็จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ แต่กว่าจะเข้าไปก็บ่าย น้ำเสียไหลลงไปหมดแล้ว

ยังมีปัญหาของตำบลท่าช้างที่เกิดสถานการณ์น้ำเสียทุกปี กลุ่มชาวบ้านคุ้งกะปิในตำบลท่าช้างสนับสนุนว่า เวลานี้ปลาเสือพ่นน้ำสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว (ปลาชนิดนี้อยู่ได้ในน้ำสะอาดเท่านั้น) ที่ตำบลพระแสงมีปัญหาฝุ่นละอองมากจนต้องปิดประตูหน้าต่างบ้านตลอดทั้งวัน ชาวตำบลสินเจริญให้ข้อมูลว่า องค์กรภาครัฐชอบปัดความรับผิดชอบ มีผู้ให้ข้อมูลอีกว่าชาวบ้านในคลองเล็กๆ ต้นแม่น้ำใช้ยาเบื่อปลา ตัวแทนตำบลบางกุ้มและพุมเรียงกล่าวถึงปัญหาขยะจากชุมชน ฯลฯ

ในระหว่างที่กลุ่มชุมชนกล่าวถึงปัญหาของตนนั้น ผู้เข้าร่วมสัมมนาก็จะช่วยกันซักถามและมีหลายคนที่เสนอความเห็นถึงแนวทางแก้ไขในแต่ละเรื่องเหล่านั้น

หลังปิดเวทีชาวบ้าน ดร.นวลจันทร์ สิงห์คราญ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บรรยายเรื่อง “ระบบนิเวศน์ชายฝั่ง สถานการณ์ ปัญหา ภารกิจของกรมในการแก้ไข และบทบาทของชุมชนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาร่วมกับภาครัฐ” และตอบคำถามต่างๆ รวมทั้งชี้ช่องทางในการร้องเรียนปัญหาสิ่งแวดล้อมว่ามีหลายหน่วยงาน ตั้งแต่สายด่วน 1650 ต่อ 2 ของกรมควบคุมมลพิษ ไปจนกระทั่งผ่านหน่วยงานอื่นๆ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค กรมโรงงานอุตสาหกรรม ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย และศูนย์บริการประชาชน สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น พร้อมชี้แจงว่า การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ภายใต้กฎหมายหลายฉบับ ประชาชนจึงต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องใดเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ต้องประสานงานกันในการดูแลจัดการ

มีหลายคำถามและความเห็นจากเวทีชาวบ้านอีกครั้ง เช่น เคยร้องเรียนไปแล้วเหตุใดเรื่องจึงเงียบหาย อีกรายบอกว่าเคยมีการตรวจวิเคราะห์น้ำแล้วว่าเสียจริง แต่ไม่มีการดำเนินการแก้ไข ซึ่ง ดร.นวลจันทร์ ก็ให้ความเห็นว่าต้องส่งคำร้องซ้ำไปยังหลายหน่วยงาน ควรติดตามผล และควรมีหลักฐานประกอบคำร้อง



เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ
สาธิตการทดสอบคุณภาพน้ำ
ในภาคบ่ายคุณวิทยา ประกอบปราณ เจ้าหน้าที่อีกท่านจากกรมควบคุมมลพิษได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า ในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมย่อมมีความขัดแย้งกับผู้ที่คิดว่าตนจะสูญเสียผลประโยชน์ ชุมชนจึงควรดึงหน่วยงานของรัฐมาร่วมรับรู้ในกิจกรรม ในการปฏิบัติงานควรทำเป็นเครือข่าย ใช้ระบบเตือนภัยเฝ้าระวัง และท้ายสุดชาวบ้านต้องมีความรู้ด้านเทคนิคการเก็บตัวอย่างน้ำ ตรวจคุณภาพน้ำขั้นพื้นฐาน และวิธีจัดส่งตัวอย่างน้ำเพื่อทำการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
หลังการบรรยาย มีการมอบชุดอุปกรณ์ตรวจคุณภาพน้ำให้แก่ตัวแทนทุกๆ ชุมชนและสาธิตวิธีการใช้ ให้ตัวแทนชุมชนได้ทดลองทำไปพร้อมๆ กัน บรรยากาศตอนนี้ค่อยผ่อนคลายกว่าที่ผ่านมา
ต่อมาคุณธนานุวัฒน์ แก้วพงศ์พันธุ์ ได้กล่าวว่า ยังมีอีกเครื่องมือที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาคือกฎหมายต่างๆ ไล่ลงไปจากกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิชุมชนและบุคคล กฎหมายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกฎหมายท้องถิ่น และท้ายที่สุด คุณชัยวัฒน์ สุรวิชัย ได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่เอาเปรียบคนอื่นนั้นมีเพียงส่วนน้อย ในขณะที่ผู้ถูกเอาเปรียบมีมากกว่าหลายเท่าตัว หากคนส่วนใหญ่ที่ถูกเอาเปรียบไม่สนใจ ก็จะถูกเอาเปรียบตลอดไป ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจะต้องรวมตัวกันต่อสู้จึงจะเอาชนะได้

บรรยากาศในห้องสัมมนา


คุณยศวดี บุณยเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันฯ ปิดการสัมมนาว่า เมื่อเริ่มประชุมดูเหมือนจะมีแต่ผู้เสนอปัญหา แต่เมื่อพูดกันไป หลายๆ คนก็เสนอแนวทางแก้ไขออกมาซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 2 หัวข้อใหญ่ คือ
  1. แนวทางแก้ไขที่ชาวบ้านสามารถจะปฏิบัติได้เอง
  2. แนวทางแก้ไขที่ชาวบ้านจะต้องแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ

แนวทางแก้ไขที่ชาวบ้านสามารถจะปฏิบัติเอง ได้แก่
  1. ทำแผนที่ว่าชุมชนใดอยู่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ และมีจุดใดบ้างที่อาจปล่อยน้ำเสีย ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเกิดน้ำเสียในพื้นที่ใด ให้มีการแจ้งข่าวไปทั่วเพื่อชุมชนปลายน้ำจะได้รับรู้และหาทางป้องกันก่อนน้ำเสียไหลมาถึง
  2. ใช้ระบบการสื่อสารมวลชน เช่น สถานีวิทยุชุมชน เป็นตัวกลางประสานงานและแจ้งข่าวให้กลุ่มเครือข่าย
  3. สร้างจิตสำนึกในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยชุมชนร่วมทำกิจกรรม ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน สร้างความสัมพันธ์และความสามัคคี ให้คนในชุมชนช่วยเหลือกัน
  4. เผยแพร่ให้รับรู้ถึงช่องทางและหน่วยงานต่างๆ ที่รับเรื่องราวร้องทุกข์
  5. หาความรู้เรื่องกฎหมายต่างๆ ที่มีผลในการควบคุม ดูแล ตรวจสอบ ปกป้อง และช่วยเหลือเยียวยาในปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และเรียนรู้ข้อกฎหมายในการใช้พยานหลักฐานประกอบเรื่องร้องเรียนและการพิจารณา
  6. เรียนรู้เทคนิคที่ต้องใช้ในการจัดการ เช่น การเก็บตัวอย่างน้ำเสีย การตรวจสอบเบื้องต้น และการจัดส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ เป็นต้น
  7. ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุด คือการไม่ทำงานเพียงลำพัง แต่ต้องร่วมมือกันทั้งชุมชน และขยายความร่วมมือออกไปเป็นระหว่างชุมชน จัดตั้งเป็นเครือข่าย

แนวทางแก้ไขที่ชาวบ้านจะต้องแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ ได้แก่
  1. แสวงหาความร่วมมือและกดดันให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
  2. ผลักดันให้มีการออกกฎหมายบังคับใช้หรือให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด ในเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่และร้ายแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก เช่น การทำนากุ้งในระบบเปิดซึ่งปล่อยของเสียลงในแม่น้ำลำคลองโดยตรง ให้เปลี่ยนเป็นการทำในระบบปิด และมีการบำบัดน้ำเสียอย่างถูกต้องก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ
  3. ออกกฎระเบียบ เช่น “ข้อบัญญัติชุมชน” เพื่อยืนยันความชอบธรรม เปรียบเสมือนการติดอาวุธให้ชุมชนในการจัดการปัญหา เช่น สามารถจะเข้าไปตรวจสอบหรือถ่ายรูปในบริเวณโรงงานที่สันนิษฐานว่าปล่อยน้ำเสียได้
  4. ช่วยหาอาชีพอื่นรองรับผู้ที่ทำผิดรายย่อย เช่น คนที่ใช้ยาเบื่อเพื่อจับปลา เป็นต้น
  5. มีการติดตามประเมินผลในเรื่องต่างๆ ตลอดเวลา

ก่อนปิดประชุม ตัวแทนชุมชนที่มาทั้งหมดได้ตกลงกันว่าจะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งจังหวัด ตั้งกลุ่มอนุรักษ์จัดการทรัพยากรจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีตัวแทนกลุ่มเป็นกรรมการชั่วคราว จนกว่าจะมีการเลือกตั้งกรรมการถาวรในโอกาสต่อไป

ผู้จัดและวิทยากรถ่ายภาพร่วมกัน
 


Print Version