IPPS in last year
Contact us
Site Map
Homepage
หน้าแรกHomepageAbout IPPSAbout IPPSPublicationPublicationArticleDemocracy MonitoringDemocracy MonitoringSocial ReformActivities
 
กิจกรรม (Thai)
เวทีความคิด: ท้องถิ่นกับการปฏิรูปการเมือง

สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ร่วมกับศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดการประชุมระดมสมองเรื่อง “ท้องถิ่นกับการปฏิรูปการเมือง” เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ณ โรงแรมจุลดิศ เขาใหญ่ แอนด์สปา จังหวัดนครราชสีมา

บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 40 ท่านทั้งจากภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป


คุณยศวดี บุณยเกียรติ
ช่วงเช้า คุณยศวดี บุณยเกียรติ ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษากล่าวแนะนำการดำเนินงานของสถาบันนโยบายศึกษา และการกระจายอำนาจว่าการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อท้องถิ่นอย่างไร เพื่อจะนำข้อสรุปที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมต่อไป

จากนั้น อาจารย์เธียรชัย ณ นคร กล่าวนำการประชุม เรื่อง “ท้องถิ่นกับการปฏิรูปการเมือง” ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจส่วนกลางกับท้องถิ่นควรมีความชัดเจนมากกว่านี้ ท้องถิ่นควรจะมีกลไกการถ่วงดุลอำนาจ เพราะท้ายที่สุดแล้วประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปได้ จะต้องให้อำนาจกับท้องถิ่นมากขึ้น

อ.เธียรชัย ณ นคร

จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นได้ข้อเสนอในช่วงเช้าสรุปได้ดังนี้

1. ควรจัดเวลาประชุมหรือการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนต้องเหมาะสมกับวิถีชีวิต เหมาะกับเวลาการประกอบอาชีพ เช่น อาจจะมีการประชุมช่วงเย็น หรือช่วงว่างเว้นจากการทำงาน

2. ให้การศึกษากับชาวบ้านมากขึ้นเพื่อที่จะเป็นพลังขับเคลื่อน เรียนรู้ และสร้างความเข้มแข็งกับประชาชน และควรให้ท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการการศึกษาเพราะจะเข้าใจท้องถิ่นมากกว่า

3. ขณะนี้ประชาชนมีส่วนร่วมแต่ไม่มีช่องทางที่จะตรวจสอบได้ และกลไกในการถอดถอนยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ต้องให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการดูแลกับท้องถิ่นมากที่สุด ทั้งนี้จะต้องนำท้องถิ่นกับภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมกันให้ได้

4. เสริมสร้างการทำงานคู่ขนานระหว่างชุมชนกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการตรวจสอบ โดยให้ความรู้เรื่องสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อจะได้ใช้สิทธิในการตรวจสอบหรือสอบถาม

5. การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แต่การทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น ต้องถามว่าใครจะเข้ามามีส่วนร่วมและจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร ทั้งการมีส่วนร่วมนั้นจะต้องไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่จะเสียไปและต้องถามตัวเองว่าเราได้เข้าไปมีส่วนร่วมแล้วหรือยัง รวมถึงการลดช่องว่างระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชน หากทำได้การทำงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

6. ควรมีการแจกแจงการใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และลดสมาชิก อบต. ให้เหลือเพียงหมู่บ้านละ 1 คน รวมถึงการผลักดันการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในอัตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดดุลยภาพในการทำงาน ทั้งนี้ควรส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นหุ้นส่วนกับรัฐมากขึ้น


อ.สมกียรติ พงษ์ไพบูลย์
ช่วงบ่าย เป็นการนำเสนอและข้อสรุปว่า ท้องถิ่นกับปฏิรูปการเมืองนั้นจะเป็นอย่างไร อ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สรุปว่า “ขณะนี้ อบต. ยังไม่มีอิสระเพราะราชการส่วนภูมิภาคยังครอบงำอยู่ และประเด็นของสิทธิในบางเรื่องจะต้องเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง โดยที่อนาคตของการปฏิรูปการเมืองคือต้องให้ประชาชนเข้มแข็ง ซึ่งจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ทั้งนี้มีการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การออกพระราชบัญญัติสภาประชาชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั่วไปมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอำนาจในการตรวจสอบการใช้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาลควรเปลี่ยนแปลงการให้เงินอุดหนุนใหม่ตามเปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการเก็บภาษี เพราะจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเงินงบประมาณของท้องถิ่นนั้นมาจากภาษีอากรของพวกเขาเองซึ่งจะช่วยส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบภาคประชาชนมากขึ้น” โดยสรุปแล้ว อาจารย์สมเกียรติ เสนอ 3 เรื่องหลักที่ควรเร่งทำ คือ

คณะผู้จัดงานถ่ายภาพเป็นที่ระลึก

1. การพัฒนาความเข้มแข็งของภาคประชาชน (สอดคล้องกับเวทีสภาเมือง)

2. ขนาดขององค์กรที่ต้องมีการควบรวมเพื่อลดจำนวนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3. อำนาจการตัดสินใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันในการที่จะสร้างพลังในภาคพลเมืองเพื่อเร่งให้เกิดการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจ โดยการให้การศึกษาแก่ประชาชน


บรรยากาศการประชุม
บรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ก่อนเสร็จสิ้น ที่ประชุมได้เสนอให้สถาบันนโยบายศึกษาเป็นแกนกลางในการจัดสัมมนาครั้งต่อไปโดยร่วมกับแนวร่วมและเครือข่าย เพื่อผลักดันให้แนวคิด “สภาประชาชน” เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
 


Print Version