
การปฏิรูปการเมืองเรื่องเปลี่ยนกฎหมาย: แนวคิดและความเป็นไปได้
วิกฤตการเมืองที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในปัจจุบันก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองรอบสอง ซึ่งหลายคนพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ และดูเหมือนว่ากระแสสังคมกำลังมองไปยังที่พึ่งหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ในขณะนี้คืออำนาจตุลาการ ทำให้เกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับอำนาจนิติบัญญัติ คือรัฐสภา และอำนาจบริหาร คือคณะรัฐบาล รวมไปถึงองค์กรอิสระต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับการปฏิรูปการเมือง

| สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ร่วมกับสถาบันสาธารณกิจ มูลนิธิประชาการ จัดการสนทนาสาธารณกิจ เรื่อง การปฏิรูปการเมืองเรื่องเปลี่ยนกฎหมาย: แนวคิดและความเป็นไปได้ ณ ห้องออร์คิด โรงแรมรามาการ์เดนส์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2549 โดยมี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมสนทนากับอาจารย์เธียรชัย ณ นคร จากสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และดำเนินการสนทนาโดย ศ.ดร.สมศักดิ์ ชูโต |
วิกฤตการเมืองมิได้เกิดจากกฎหมาย
ดร.สุรพล กล่าวว่า วันนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นอีกครั้งต่อสาธารณชน ทั้งนี้เพราะในความเห็นส่วนตัวแล้ว ปัญหาวิกฤตการเมืองมิได้เกิดจากกฎหมาย ดังนั้นการปฏิรูปการเมืองจึงไม่สามารถจะเริ่มต้นที่การแก้ไขกฎหมายหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ | 
ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ |
“แม้รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะก่อให้เกิดปัญหา “ทางเทคนิค” อยู่บ้าง แต่ก็สามารถจะแก้ไขได้ง่ายและใช้เวลาไม่มาก เพราะปัญหากฎหมายทุกข้อมีคำตอบอยู่แล้ว” ดร.สุรพลกล่าว พร้อมทั้งยกตัวอย่างเช่น ปัญหาที่กล่าวกันว่านายกรัฐมนตรีเข้มแข็งเกินไป เนื่องจากสภาไม่สามารถจะตรวจสอบได้นั้น สามารถแก้ไขได้โดยการแก้มาตรา 185 ของรัฐธรรมนูญในเรื่องจำนวน ส.ส. ที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือในเรื่องของการบังคับว่าผู้สมัคร ส.ส. จะต้องสังกัดพรรค 90 วันก่อนเลือกตั้ง สร้างกฎเหล็กทำให้ ส.ส. ไม่กล้าย้ายพรรค ป้องกันปัญหา ส.ส.ขายตัวนั้น ก็สามารถแก้ไขได้เช่นกัน โดยลดกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาลง เช่น ให้เหลือ 30 วันเป็นต้น
รวมทั้งระบบการสรรหาคณะกรรมการองค์กรอิสระที่ถูกแทรกแซงโดยพรรคการเมืองของรัฐบาล ก็ได้รับการแก้ไขแล้วให้มีตัวแทนพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านจำนวน 1 คนเท่าๆ กันในคณะกรรมการสรรหา ดังเช่นในการสรรหาผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช. ครั้งล่าสุดนี้ แต่กระนั้นก็ตามก็ยังมีตำแหน่งประธานองค์กรอิสระอีกที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ไม่มีใครรู้ว่าประธานคิดอย่างไร ดังนั้น ในประเด็นปลีกย่อยต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของกฎหมายที่เป็นปัญหานั้น มีคำตอบหมดแล้ว และหากจะแก้กฎหมายก็อาจจะทำเสร็จในเวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้น
ปัญหาอยู่ที่เมื่อแก้กฎหมายแล้วการเมืองไทยจะปฏิรูปได้จริงหรือ เพราะการปฏิรูปการเมืองในปัจจุบันไม่ใช่ปัญหาด้านกฎหมาย โดยขอยกเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสกับคณะผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุดและศาลชั้นต้นที่เข้าเฝ้า ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ว่าขณะนี้บ้านเมืองกำลังวิกฤตที่สุดในโลก และทรงขอให้ฝ่ายตุลาการร่วมมือกันแก้ไข เนื่องจากศาลนั้นมีอำนาจกว้างขวาง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะชี้ได้หรือไม่ว่าอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารล้มเหลว จึงต้องใช้อำนาจตุลาการเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ว่ารัฐธรรมนูญไม่ดี ต้องใช้อำนาจตุลาการ ดังเช่นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือการที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม กกต. ไม่ชอบธรรม ศาลไม่ยอมส่งรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต. ใหม่แทน กกต. เก่า 2 ตำแหน่งที่ว่าง ทำให้ศาลตัดสินโทษจำคุก กกต. ทั้ง 3 และเริ่มต้นกระบวนการคัดเลือก กกต. ทั้ง 5 คนใหม่
สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ ขอยืมคำพูดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี มาใช้ คือเกิดกระบวนการ “ตุลาการภิวัตน์” คือการทำบางสิ่งบางอย่างโดยที่ไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญรองรับ แต่เป็นการมอบหมายจากพระมหากษัตริย์ ดังนั้นหากจะปฏิรูปการเมืองกันโดยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย จึงอาจจะไม่ใช่การเริ่มต้นที่ถูกต้องในเวลาที่ถูกต้อง
บันไดสามขั้นก่อนแก้กฎหมาย
ดร.สุรพล กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในสังคม เท่ากับเป็นการตกผลึกความคิดก่อน แต่สังคมไทยอาจจะยังไม่นำไปใช้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจจะนำความสงบสุขมาสู่สังคมได้ ดังนั้นจึงยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งควรทำอันดับแรกในเวลานี้อย่างแน่นอน
ดังนั้นหากจะตั้งโจทก์ว่าอะไรคือปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งคำตอบก็มีเพียง 2-3 เรื่อง เช่น
หนึ่ง การครอบงำองค์กรอิสระต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญโดยฝ่ายการเมือง คือพรรครัฐบาล เช่น เรื่องที่ กกต. ไม่ยอมลาออก ในเรื่องนี้ต้องวิเคราะห์โดยใช้ตรรกะเรื่องอื่นๆ เช่น จิตวิทยา สังคมศาสตร์ เป็นต้น แต่ไม่สามารถจะใช้ตรรกะทางกฎหมายวิเคราะห์ได้ พร้อมชี้ให้เห็นว่าในปีที่ 5 ซึ่งรัฐบาลบริหารประเทศ รัฐบาลมีอำนาจมากกว่าที่มีในปีแรกๆ ต้องวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใด และอย่างไรจึงเป็นเช่นนี้ หากขบแตกจึงจะแก้ไขได้
สอง การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ มีการเลือกปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใต้อิทธิพลพรรคการเมือง เป็นปัญหาของระบบราชการประจำ ยกตัวอย่างกรณีที่ สตง. ให้กรมสรรพากรชี้แจงเรื่องการเสียภาษีกรณีขายหุ้นชินคอร์ป กรมสรรพากรจะต้องชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจนว่าเหตุใดผู้ขายจึงไม่ต้องเสียภาษี มิเช่นนั้นจะถือว่าการบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ
สาม การจัดตั้งระบบองค์กรควบคุมตรวจสอบอำนาจรัฐ
ทั้งสามประเด็นที่กล่าวมานี้ หากสามารถจะผ่านประเด็นที่หนึ่งและสองได้ จึงจะถึงเวลาที่แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย
เมื่อถึงตอนนี้ ผู้ร่วมสนทนาได้ตั้งคำถามว่า หากเรื่องที่นายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหามีมูลจริง เหตุใดจึงไม่มีใครดำเนินคดี ซึ่ง ดร.สุรพล ตอบว่า ที่ผ่านมานั้นไม่เคยมีการนำเข้าสู่กระบวนการมีอำนาจรับผิดชอบเลย เพราะองค์กรและเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเสื่อมประสิทธิภาพ ไม่มีใครเป็นธุระแจ้งความ หรือรับฟ้อง ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมา ป.ป.ง. ไม่เคยแตะต้องคนในคณะรัฐบาล รวมไปถึงตำรวจ กรมสรรพากร หรือแม้แต่ ก.ล.ต. ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ควรจะมีการพิจารณากันบ้าง ไม่ใช่ด่วนสรุปว่าไม่มีอะไรต้องทำ และต้องหาเหตุผลว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงเลือกปฏิบัติ หรือเหตุใดจึงใช้กฎหมายด้วยประสิทธิภาพที่ต่ำมาก

ดร.สมศักดิ์ ชูโต | ดร.สมศักดิ์ สรุปว่า การเปลี่ยนกฎหมายไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ทุกเรื่องล้วนแก้ไขยาก เป็นเรื่องใหม่ พัฒนาการของเมืองไทยจะบอกว่ากาลครั้งหนึ่งรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพไม่ได้ เพราะขณะนี้ประสิทธิภาพดีเกินไปเสียด้วยซ้ำ ดีจนครอบงำคนอื่นๆ ได้หมด |
การเมืองควรเป็นแค่สัญลักษณ์หรือไม่
ถึงเวลาที่อาจารย์เธียรชัย เสนอความเห็นบ้าง ซึ่งมีความเห็นต่างไปว่า ที่ผ่านมา 10 ปี การปฏิรูปการเมืองได้แก้ไขปัญหาที่รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีอ่อนแอ ซึ่งแก้ไขสำเร็จโดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เข้มแข็งเกินไปด้วยซ้ำ
อาจารย์เธียรชัย ตั้งคำถามว่า ปฏิรูปการเมืองแล้วจะทำอะไรต่อไป เป็นสิ่งถูกต้องหรือไม่ที่เราให้อำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศและมอบความชอบธรรมให้แก่นักการเมือง พร้อมความเชื่อมั่นว่าจะนำประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง
“ในประเทศตะวันตก ผ่านพัฒนาการทางการเมืองที่ยาวนานโดยกระบวนการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นเราจะเอารูปแบบของเขามาใช้ไม่ได้ เขาแบ่งอำนาจความรับผิดชอบชัดเจนระหว่าง local และ federal government”อาจารย์เธียรชัย กล่าวพร้อมบอกว่า คนไทยต้องการเพียงการอยู่ดีกินดี จึงถามว่าการเมืองจะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้หรือไม่ ในส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่าทำได้ ดังนั้น การเมืองจึงควรเป็นแค่ symbolic ที่จะทำให้ส่วนอื่นๆ ขับเคลื่อนสังคมไปได้ และถามว่าความมั่งคั่งของสังคมในปัจจุบันมาจากภาครัฐหรือเอกชนกันแน่
ประเทศไทยต่างไปจากอังกฤษหรืออเมริกาที่เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศใช้มากว่า 10 แผนแล้ว เป็นแนวนโยบายแห่งรัฐที่ละเอียดและชัดเจน ปัจจุบันนี้เรามีองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบต่างๆ (อบต. เทศบาล และ อบจ.) ทำหน้าที่เหมือน ส.ส. ในสมัยก่อน มีคำถามว่าการพัฒนาของเราเหตุใดจึงล้มเหลว เพราะเราฝากความหวังไว้กับการเมืองใช่หรือไม่
ดังนั้น การปฏิรูปการเมืองควรจะลดอำนาจทางการเมือง เพราะการเมืองคือการประสานประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น รัฐสภาและรัฐบาล ควรมีหน้าที่กำกับนโยบาย แต่เกิดมีการล้วงลูกโดยรัฐบาล จึงต้องทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ
“เรามีสิ่งดีๆ หลายอย่างที่ประเทศอื่นไม่มี” อาจารย์เธียรชัย กล่าว “แต่เหตุใดจึงพัฒนาไม่สำเร็จ เป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ที่เราเอาตัววัดทางเศรษฐกิจมาตัดสิน” และยังกล่าวต่อไปว่า การปฏิรูปการเมืองต้องไม่ใช่การเอาอำนาจตัดสินใจไปไว้ในมือนักการเมืองที่นั่งในสภา ไทยไม่มีบทเรียนด้านประชาธิปไตยที่แท้จริงเพราะเราอยู่ใต้ระบอบเผด็จการมานาน การตัดสินใจต้องอยู่ในมือคนไทย ไม่ใช่กลุ่มนักการเมือง และท้ายที่สุดคือคำถามว่านักการเมืองขณะนี้มีอำนาจมากเกินไปหรือไม่ | 
อาจารย์เธียรชัย ณ นคร |
ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า นักการเมืองไม่ให้ความสำคัญแก่แผนพัฒนาประเทศ แต่ถ้าพัฒนาไม่ดีก็โทษแผนพัฒนา ต้องดูแลความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับระบบราชการ และสรุปว่าการเมืองส่วนหนึ่งต้องเป็นสัญลักษณ์ ระบบข้าราชการประจำมีความน่าเชื่อถือ บทบาททางการเมืองคือการเสนอนโยบาย ต้องสอดคล้องกับทฤษฎีความเชื่อของพรรค แต่ไม่เปลี่ยนแปลง fundamental
การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

อาจารย์ทวี และคุณภคมล สุรฤทธิกุล | ถึงตอนนี้ อาจารย์ทวี สุรฤทธิกุล สาขาวิชารัฐศาสตร์ มสธ. กล่าวว่า หากแก้รัฐธรรมนูญตามน้ำ ปัญหาต่างๆ ก็ไม่สิ้นสุด เหตุใดไม่ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นมากขึ้น ดูที่วิถีชีวิตคนแทนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ |
ดร.สุพล กล่าวก่อนจะจบการสนทนาว่า วิธีการทำความคิดดีๆ ให้เป็นจริงได้สำคัญมาก เพราะต้องมีคนมารับผิดชอบทำให้เกิดระบบบริหารจัดการคือแผนพัฒนา จะต้องมีผู้ตัดสินใจในนามประเทศไทย ซึ่งก็คือผู้ปกครองประเทศที่มาจากระบบการเลือกตั้งที่มาจากพรรคการเมืองนั่นเอง ในส่วนตัวเชื่อว่าแนวโน้มในอนาคตสองเรื่อง คือ หนึ่ง แนวทางที่รัฐบาลอ่อนแอ กระจายอำนาจออกไปให้ผู้อื่นทำ รัฐบาลตัดสินใจเฉพาะบางเรื่อง นอกนั้นให้ท้องถิ่นจัดการ เรื่องนี้เป็นวิธีการ แต่เขียนในรัฐธรรมนูญไม่ได้ และสอง เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการตุลาการภิวัตน์แล้ว บ้านเมืองก็จะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ

ดร.สมศักดิ์ มีข้อคิดว่า เหตุใดการลงโทษนักการเมืองจึงเพียงให้ลาออกและเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปีเท่านั้น เหตุใดไม่ให้การลงโทษนั้นติดตัวตลอดไปโดยไม่มีอายุความ ซึ่งเรื่องนี้อาจารย์เธียรชัย แก้ต่างให้กฎหมายว่า รัฐธรรมนูญมีกลไกการลงโทษก็จริงอยู่ แต่ต้องดูประชาชนด้วยว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน จริยธรรมการเมืองไม่มีในโลก คนจะมีจริยธรรมเมื่อชั่งน้ำหนักแล้วว่าให้ผลดีกว่า สังคมไทยขาดการเรียนรู้ กฎหมายมหาชนมีรูปแบบ แต่ขาดการเชื่อมโยงกับรัฐศาสตร์
ร่อแร่แน่ ถ้าไม่แก้ความคิด
ก่อนจบการสนทนา ดร.สมศักดิ์ สรุปว่า การปฏิรูปการเมืองต้องดูเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากกฎหมายด้วย วันนี้ได้ประเด็นใหม่ๆ ที่บอกว่าการปฏิรูปการเมืองนั้นยากกว่าการแก้ไขกฎหมาย คือต้องทำให้คนอื่นๆ ในสังคมคิดด้วย ต้องริเริ่ม แผน ซึ่งดูเหมือนว่ามองในระยะยาว แต่ความจริงแล้ว วันเวลาล่วงเร็วมาก ความเปลี่ยนแปลงมาเร็ว จึงขอถามทุกคนว่าเราจะคอยให้เกิดปฏิกิริยาก่อนหรือ เรามีเวลาเพียงพอหรือ ก่อนหน้านี้เราคอยดูกันไปเรื่อยๆ เอาตัวรอดแบบไทยๆ จึงห่วงว่าถึงเราจะรอด ก็อาจจะรอดแบบร่อแร่ ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนแนวคิดกันก่อน ดังเช่นที่มาร่วมสนทนากันในวันนี้ เพื่อให้สังคมไทยอยู่รอดแบบดีในอนาคต
  
  
วิกฤติการเมืองระหว่างมกราคม 2548 ถึงสิงหาคม 2549
6 กุมภาพันธ์ 2548 : พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งใน 310 เขตและได้ ส.ส. ในแบบบัญชีรายชื่ออีก 67 ที่นั่ง ทำให้ได้ ส.ส. ทั้งหมด 377 ที่นั่งในสภา จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเสียงข้างมากสำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ส่วนพรรคฝ่ายค้านคือประชาธิปัตย์ 96 ที่นั่ง ชาติไทย 25 ที่นั่ง และมหาชน 2 ที่นั่ง
26 พฤษภาคม 2548 : ศาลฎีกาตัดสินว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีความผิดฐานอนุมัติขึ้นเงินเดือนตนเอง ป.ป.ช. ทั้ง 9 คนลาออก เริ่มกระบวนการสรรหาใหม่
29 มิถุนายน 2548 : ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติออกเสียง 367 ต่อ 119 และงดออกเสียง 7 ไว้วางใจนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ถูกกล่าวหากรณีทุจริตในการซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ จำนวน 26 เครื่องติดตั้งสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนหน้านี้วุฒิสมาชิกไม่สามารถจะรวบรวมรายชื่อได้ครบ 120 เสียงเพื่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 187 แห่งรัฐธรรมนูญ
20 กันยายน 2548 : คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งให้ใบแดง 4 ส.ส. จากหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์ และสามพรรคไทยรักไทย ในความผิดในการเลือกตั้ง
31 ตุลาคม 2548 : พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งใหม่ 1 ที่นั่ง ส่วนที่เหลืออีก 3 เป็นของประชาธิปัตย์ ชาติไทยและมหาชน ทำให้พรรคฝ่ายค้านมีคะแนนรวมกัน 125 ที่นั่ง เท่ากับจำนวนต่ำสุดตามรัฐธรรมนูญที่จะสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้
พฤศจิกายน 2548 : คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช. ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาในกรณีกระบวนการสรรหาขัดต่อรัฐธรรมนูญและขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอคำวินิจฉัย แต่ประธานวุฒิสภายื่นรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก 9 คนไปเพื่อรอการลงพระปรมาภิไธย
15 พฤศจิกายน 2548 : ศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับการเสนอขายหุ้นของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ที่มีกำหนดเวลาในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน เอาไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยให้เหตุผลว่าหากคำพิพากษาออกมาอาจจะทำให้มีผู้ได้รับความเสียหาย และศาลยังสั่งให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับที่เกี่ยวกับการกำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของ กฟผ.
ธันวาคม 2548 : ผลสำรวจเอแบคโพลระบุศาลปกครองสูงสุดได้รับความนิยมจากประชาชน กทม. เป็นอันดับแรกในบรรดาองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด
23 มกราคม 2549 : ครอบครัวของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นชินคอร์ป มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท ให้แก่บริษัทเทมาเส็กแห่งสิงคโปร์โดยไม่ต้องเสียภาษีรายได้
24 กุมภาพันธ์ 2549 : นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน เพื่อลดกระแสวิพากษ์และต่อต้าน
2 เมษายน 2549 : พรรคไทยรักไทยกวาดที่นั่งใน 359 เขตการเลือกตั้ง และอีก 100 ที่นั่งจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนอีก 1 เขตเลือกตั้งนั้น ตกเป็นของผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ไม่มีใครรู้จักมากนัก พรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทยและมหาชน บอยคอตการเลือกตั้งในครั้งนี้โดยไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน อย่างไรก็ตามยังมีอีก 40 เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเพียงรายเดียวและไม่สามารถจะได้คะแนนถึงร้อยละ 20 ของผู้มาลงคะแนนเสียงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น กกต. จึงสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 เมษายน เป็นที่สังเกตว่ามีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมาลงคะแนนเพียงร้อยละ 64.77 จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งประเทศ 44,909,562 คน ในจำนวนนี้เป็นบัตรที่ไม่ประสงค์จะเลือกผู้ใดร้อยละ 31.12 และเป็นบัตรเสียอีกร้อยละ 13.03
4 เมษายน 2549 : รักษาการนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร ประกาศเว้นวรรคทางการเมือง ลาพักยาวและแต่งตั้งรองนายก พล.ต.อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์ ทำหน้าที่แทน
18 เมษายน 2549 : นายถาวร เสนเนียมสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ยื่นฟ้อง กกต. ในข้อหากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งโดยการสั่งให้เลือกตั้งใหม่ใน 38 เขต
21 เมษายน 2549 : กกต. มีคำสั่งยุบ 2 พรรคการเมืองเล็กในข้อหารับเงินจากพรรคการเมืองใหญ่ให้ลงเลือกตั้ง หนึ่งในสองพรรคยังติดสินบนเจ้าหน้าที่ กกต. ให้แก้ไขทะเบียนประวัติสมาชิกพรรคการเมือง
23 เมษายน 2549 : เลือกตั้งใหม่ครั้งแรก ยังมีอีก 14 เขตเลือกตั้งที่ผู้สมัครเพียงคนเดียวไม่สามารถจะได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ 20 ก.ก.ต. สั่งให้เลือกตั้งใหม่ครั้งที่สองในวันที่ 29 เมษายน
25 เมษายน 2549 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งกับคณะผู้พิพากษาศาลปกครองชั้นสูงและศาลเบื้องต้นที่เข้าเฝ้า ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ให้ช่วยแก้วิกฤตทางการเมืองโดยวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย โดยทั้งสามศาลร่วมกันทำงาน ทรงกล่าวว่าหากศาลไม่ทำหน้าที่ครั้งนี้บ้านเมืองจะเสียหายหนัก
28 เมษายน 2549 : ผู้พิพากษา 12 คนจากศาลฎีกา ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญประชุมหารือในแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเมืองและออกแถลงการณ์ว่าทั้งสามศาลจะร่วมกันทำงานตามหน้าที่ของตนไปตามอำนาจหน้าที่ในแนวทางที่เหมาะสม
ต่อมาในวันเดียวกันศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ระงับการเลือกตั้งในวันที่ 29 เมษายน เอาไว้ก่อน กกต. จึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดพร้อมทั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
8 พฤษภาคม 2549 : ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินการเลือกตั้ง 2 เมษายน เป็นโมฆะ และสั่งให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่
9 พฤษภาคม 2549 : ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และศาลปกครอง เห็นพ้องเลือกตั้ง 2 เมษายน ขัดรัฐธรรมนูญ และสั่งให้ กกต. จัดการเลือกตั้งใหม่ ประกาศให้ 15 ตุลาคม คือวันเลือกตั้งทั่วไป
15-16 พฤษภาคม 2549 : ผลสำรวจเอแบคโพลระบุคะแนนนิยมพรรคไทยรักไทยและประชาธิปัตย์ลดต่ำลงกว่าการสำรวจในครั้งที่แล้ว
25 มิถุนายน 2549 : สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) มีมติเอกฉันท์ให้ยุบ 5 พรรคการเมือง คือไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ และอีก 3 พรรคเล็ก ตามที่ กกต. เสนอมา และส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด
25 กรกฎาคม 2549 : ศาลอาญามีคำพิพากษาให้จำคุก 3 กกต. คนละ 4 ปี โดยไม่มีการรอลงอาญา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี มีผลให้ กกต. พ้นหน้าที่ เริ่มต้นกระบวนการสรรหา กกต. ใหม่
12 สิงหาคม 2549 : ประกาศพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมสภาวิสามัญเพื่อพิจารณาเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. และ กกต. |
|