
พฤศจิกายน 2546 : ในหลวงทรงยับยั้งกฎหมายครู
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์รัฐสภาไทย และทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ 12 คน ส่วนคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ได้เลือกผู้เหมาะสมเป็นกรรมการ ป.ป.ช. จาก 52 เหลือ 14 คน สรุปจำนวนผู้สมัครเป็นกรรมการ กทช. มีทั้งสิ้น 40 คน และคณะรัฐมนตรี รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ให้แบ่ง กทม.ออกเป็น 2 ระดับ
ในหลวงทรงยับยั้งกฎหมายครู
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชอำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยจะพระราชทานกลับคืนมาให้รัฐสภาพิจารณาใหม่ เนื่องจากในร่างดังกล่าวมีถ้อยคำและรายละเอียดเนื้อหาที่บกพร่องถึง 13 จุด ได้แก่ การใช้ถ้อยคำและข้อความผิด อ้างมาตราเชื่อมโยงผิด เป็นต้น ส่งผลให้ร่างดังกล่าวต้องตกไป ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรัฐสภาไทยที่เกิดกรณีเช่นนี้
ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลจะรีบแก้ไขร่างดังกล่าวในจุดที่บกพร่อง และเสนอกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งในการประชุมสมัยหน้าเดือนกุมภาพันธ์ 2547
ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอนรัฐสภา จนถึงขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งไว้ดังกล่าว
อนึ่ง นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้แล้ว ยังมีร่าง พ.ร.บ.เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ที่พระบาทเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงยับยั้งร่างกฎหมายไว้ในคราวเดียวกัน เนื่องจากมีการระบุลักษณะของเหรียญผิดพลาด
โปรดเกล้าฯ 12 รัฐมนตรีใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งจำนวน 11 คน และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จำนวน 12 ตำแหน่ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดังนี้
- นายอดิศัย โพธารามิก พ้นจากตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ และแต่งตั้งเป็น รมว.ศึกษาธิการ
- นายวัฒนา เมืองสุข พ้นจากตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ มาเป็น รมว.พาณิชย์
- นายสมศักดิ์ เทพสุทิน พ้นจากตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม มาเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์
- นายพินิจ จารุสมบัติ พ้นจากตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็น รมว.อุตสาหกรรม
- นางอุไรวรรณ เทียนทอง พ้นจากตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม มาเป็น รมว.แรงงาน
- นายอนุรักษ์ จุรีมาศ พ้นจากตำแหน่ง รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาเป็น รมว.วัฒนธรรม
- นายสรอรรถ กลิ่นประทุม พ้นจากตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ มาเป็น รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- นายโภคิน พลกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี
- นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็น รมช.พาณิชย์
- พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร เป็น รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี เป็น รมช.คมนาคม
- พล.ต.อ.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ เป็น รมช.สาธารณสุข
ส่วนรัฐมนตรีที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งโดยไม่ได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาอีกจำนวน 4 คน คือ
- นายกร ทัพพะรังสี พ้นจากตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี
- นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พ้นจากตำแหน่ง รมว.แรงงาน
- พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก พ้นจากตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข
- นายปองพล อดิเรกสาร พ้นจากตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ
อนึ่ง การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 7 ภายใต้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นับจากที่บริหารประเทศมาเป็นระยะเวลา 2 ปี 9 เดือน
สรรหา ป.ป.ช. ครบ 14 คน
คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้คัดเลือกผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช. จากจำนวน 52 คน เหลือ 14 คน เพื่อจะส่งเรื่องให้วุฒิสภาคัดเลือกให้เหลือเพียง 7 คน แทนตำแหน่งที่ว่างลงเนื่องจากครบวาระตามกฎหมาย ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 14 คนมีดังนี้
- พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
- นายวิเชียร วิริยะประสิทธิ์ อดีตอัยการสูงสุด
- นายเชาว์ อรรถมานะ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
- นายชิดชัย พานิชพัฒน์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
- นายยงยุทธ กปิลกาญจน์ อดีตรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
- พล.ต.ท.มงคล กมลบุตร อดีตหัวหน้าฝ่ายอำนวยการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- พล.อ.ชูชาติ สุขสงวน เจ้ากรมพระธรรมนูญทหาร
- นายประเสริฐ เขียนนิลศิริ ผู้พิพากษาศาลฎีกา
- นายจรูญ อินทจาร ผู้พิพากษาศาลฎีกา
- นายประดิษฐ์ ทรงฤกษ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา
- พล.อ.ชัยศึก เกตุทัต อดีตจเรทหารทั่วไป
- นายชัยรัตน์ มาประณีต อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์
- นายชาติชาตรี โยสีดา อดีตอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน
สรุปจำนวนผู้สมัครเป็น กทช.
คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้สรุปจำนวนผู้สมัครเป็นกรรมการ กทช. มีทั้งสิ้น 40 คน ซึ่งจะมีการลงคะแนนเลือกให้เหลือเพียง 21 คน แล้วจึงลงคะแนนอีกครั้งให้เหลือเพียง 14 คน เพื่อเสนอต่อวุฒิสภาเลือกเหลือ 7 คน
รัฐธรรมนูญมาตรา 40 กำหนดให้มีกรรมการ กทช. จำนวน 7 คน ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม ตลอดจนดูแลไม่ให้มีการผูกขาดการให้สัมปทานกิจการโทรคมนาคม เมื่อมกราคม 2545 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ขึ้นมาหนึ่งชุด และคณะกรรมการสรรหาได้ทำหน้าที่เลือกกรรมการ กทช. ขึ้นมาชุดหนึ่งจำนวน 14 คน เพื่อเสนอให้วุฒิสภาเลือกเหลือเพียง 7 แต่นายประมุท สูตะบุตร ผู้สมัครเป็นกรรมการ กทช. ได้ร้องต่อศาลปกครองว่ากระบวนการสรรหา กทช.ไม่มีความโปร่งใส ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่า การนำเสนอรายชื่อผู้สมัครทั้ง 14 คนนั้นเป็นโมฆะ จึงต้องเริ่มกระบวนการสรรหา กทช.กันใหม่ โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาใหม่ทั้งหมด
รับหลักการกฎหมายผ่า กทม. เป็น 2 ระดับ
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้มีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ กทม. ซึ่งจะตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้ประกาศใช้ทันการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในปี 2547 โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ แบ่งการบริหาร กทม.ออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับกรุงเทพมหานคร และ ระดับนคร
ระดับกรุงเทพฯ จะรับผิดชอบงานที่เป็นภาพรวม และประสานเชิงนโยบายกับระดับนคร มีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะให้กับประชาชนในเขตกรุงเทพฯ โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารสูงสุดเหมือนเดิม
ส่วนระดับนคร มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการส่วนท้องถิ่น รับผิดชอบงานในพื้นที่ในเขตนครนั้นๆ โดยสามารถบริหารภารกิจ งบประมาณ และบุคลากรของตนเอง ภายใต้การกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ในเขตนครนั้น ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของเทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีนายกนคร ที่มาจากการเสนอชื่อจากผู้ว่าฯ กทม. เสนอให้สภานครเห็นชอบ เป็นผู้บริหารสูงสุด
ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารายละเอียดก่อนส่งกลับเข้า ครม.พิจารณาอีกครั้ง และนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
|