![]() การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับสังคมไทย
ภายใต้สภาพแวดล้อมของยุคที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีข้อมูลปริมาณมหาศาล (Big data) เกิดขึ้นในโลก และยุคที่ข้อมูลผนวกกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำหน้าที่ขับเคลื่อนโลกทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ประกอบกับประเทศไทยก็อยู่ในกระแสโลกเดียวกัน คือยุคที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งข้อมูลทั้งหลายนั้นมีข้อมูลส่วนบุคคลรวมอยู่ด้วย ความสำคัญจึงปรากฏชัดเมื่อมีประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ข้อมูลส่วนบุคคลจึงถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชน ทั้งนี้ เนื่องด้วยรัฐบาลให้ความสำคัญในการใช้ข้อมูลเพื่อก่อประโยชน์กับนโยบายและทิศทางของการบริหารราชการแผ่นดิน การพัฒนาด้านข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ข้อมูลทั้งของรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชน จึงเป็นการยกระดับความสำคัญเรื่องข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ในระดับองค์กรต่างๆ ให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลสถิติและสารสนเทศ เพื่อการตัดสินใจของประเทศในระดับนโยบาย ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลในระดับบุคคลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลก็เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญยิ่งยวด ตั้งแต่ฐานข้อมูลประชากร ที่มีรายละเอียดทั้งสถานภาพทางสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา รายได้ และพฤติกรรมความสนใจส่วนบุคคล ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจเรียกได้ว่า เป็น “สินทรัพย์ส่วนบุคคล” ในยุคที่ “ข้อมูลมีค่า” อย่างมาก และยิ่งมีค่ามากยิ่งขึ้นในยุคปัจจุบัน กระทั่งกลายเป็นสิ่งที่เหล่ามิจฉาชีพออนไลน์หมายปองเพื่อสร้างรายได้ และนอกจากนี้การรั่วไหลของข้อมูลยังกระจายไปวงกว้าง กระทบทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน “ราคา” ของข้อมูลส่วนตัวจึงมีผลต่อการวางแผนของทุกองค์กร รวมทั้งองค์กรทางการเมืองด้วย ความสำคัญของข้อมูลยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการเมืองการปกครองประเทศอีกด้วย เพราะผู้เป็นเจ้าของข้อมูลเองก็จะเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดรูปแบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ หรือกำหนดรูปแบบชีวิตใหม่ ด้วยเหตุที่ “การพยากรณ์พฤติกรรม” และการตัดสินใจของมนุษย์ที่แม่นยำจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และความก้าวหน้าในด้าน Information Technology สิ่งที่ต้องช่วยกันคิดก็คือ เราจะดูแลปกป้องข้อมูลส่วนตัวของเราได้มากน้อยเพียงใด และจะใช้ข้อมูลนี้อย่างไรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับความเป็นปัจเจกชน และความเป็นส่วนรวมที่ทุกคนเป็นเจ้าของด้วย สาระสำคัญในเรื่องนี้รวบรวมไว้ในหนังสือ “การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับสังคมไทย” ซึ่งจะเผยแพร่ต่อไป ทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการ สถาบันนโยบายศึกษา From : http://www.fpps.or.th |