![]() ยกระดับคุณภาพเลือกตั้งไทย : ข้อมูลส่วนบุคคลในการลงคะแนนเลือกตั้ง
สมชาติ เจศรีชัย ปุจฉา การไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งมีส่วนในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไรบ้าง และจะกระทบสิทธิประชาชนหรือไม่ อย่างไร? วิสัชนา การไปใช้สิทธิเลือกตั้งยังเป็นการบังคับ (Compulsory vote) ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 50 บัญญัติว่า “ บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ ..(7) ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ..” แต่การจะรู้ว่าใครจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการเลือกตั้งมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (eligible roll) ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร1 ซึ่งการกำหนดให้มีข้อมูลบุคคลที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มิได้ให้เปิดเผยข้อมูลบุคคลสำคัญคือ เลขประจำตัวประชาชน ที่มีจำนวน 13 หลัก อันเป็นการแสดงตัวตนของบุคคลที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งโดยการใช้บัตรประจำตัวประชาชนตามระเบียบฯข้อ 1352 ยกเว้นบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งชุดนายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นใช้แก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มชื่อ ถอนชื่อ หรือย้ายที่อยู่ และเก็บไว้เป็นหลักฐาน รวมทั้งชุดที่คณะกรรมการประจาหน่วยเลือกตั้งเก็บไว้ใช้สำหรับการตรวจสอบและหมายเหตุการออกเสียงลงคะแนนในวันออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งและในวันเลือกตั้งหนึ่งชุด และชุดสำรองในวันเลือกตั้ง การที่เอาเลขประจำตัวประชาชนทั้ง 13 ออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งชุดที่ปิดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ว่าการอำเภอ และศาลากลางจังหวัดออกทั้งหมด เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Information) การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยบุคคลผู้เป็นเจ้าของข้อมูลมิได้ยินยอม อาจมีการนำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ และจะมีผลกระทบโดยตรงถึงสิทธิส่วนบุคคลจนถึงขั้นละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว อาทิ การนำข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนเข้าไปค้นหาข้อมูลอื่นอันเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือนำไปใช้ในการประกอบอาชญากรรม เช่น เคยมีการนำบัตรประชาชนที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไปใช้ในการไปเปิดบัญชีธนาคาร 7 แห่ง 9 บัญชี จนได้รับความเดือดร้อน ต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวเข้าฝากขังยังเรือนจำ นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้เลขประจำตัวประชาชนไปใช้ในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย การกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก นอกจากเป็นการแสดงตัวตนของประชาชนว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่แล้ว ยังเป็นการแสดงความเป็นคนไทยที่มีสัญชาติไทยอันเป็นคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เพราะตัวเลขหลักที่ 1 เป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงความเป็นบุคคลประเภทต่างๆ ดังนี้ ประเภทที่ 1 คือ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทยและได้แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา (1 มกราคม 2527) ก็จะมีหมายเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 1 และก็ต่อด้วยเลขหลักอื่นๆ อีก 12 ตัว ประเภทที่ 2 คือ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทยได้แจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา (1 มกราคม 2527) เป็นการแจ้งเกิดที่อำเภอหรือเขตภายใน 15 วันตามกำหนด จะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 2 ประเภทที่ 3 คือ คนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในสมัยเริ่มแรก (คือตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม 2527) ก็จะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 3 ประเภทที่ 4 คือ คนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญคนต่างด้าว แต่แจ้งย้ายเข้าโดยยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชนในสมัยเริ่มแรก ก็จะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 4 ประเภทที่ 5 คือ คนไทยที่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อเข้าไปในทะเบียนบ้านในกรณีตกสำรวจหรือกรณีอื่น ๆ เช่น คนที่ถือ 2 สัญชาติ มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 5 ประเภทที่ 6 คือ ผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว กล่าวคือ คนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่ยังไม่ได้สัญชาติไทยเพราะทางการยังไม่รับรองทางกฎหมาย เช่น ชนกลุ่มน้อยตามชายแดนหรือชาวเขา มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 6 ประเภทที่ 7 คือ บุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย คนกลุ่มนี้ในทะเบียนประวัติจะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 7 ประเภทที่ 8 คือ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย คือ ผู้ที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือคนที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย และคนที่ได้รับการให้สัญชาติไทยตั้งแต่หลังวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 เป็นต้นไปจนปัจจุบัน มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 8 ประเภทที่ 9 คือ บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ไม่มีสัญชาติและยังไม่ได้รับการให้สัญชาติไทย เพียงได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 9 คนทั้งแปดประเภทนี้จะมีเพียงประเภทที่ 1-5 เท่านั้นที่จะมีบัตรประจำตัวประชาชนในฐานะผู้มีสัญชาติไทย ส่วนประเภทที่ 8 จะได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ และต้องได้สัญชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงจะมีสิทธิเลือกตั้ง บทสรุป ข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เพราะหากมีการนำเลขประจำตัวประชาชนไปใช้เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งในทางมิชอบ โดยเฉพาะการซื้อเสียงก็อาจมีการจดบันทึกเลขบัตรประจำตัวประชาชน รวมทั้งการตรวจสอบ ณ ที่เลือกตั้งว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ดังนั้น ข้อมูลดังกล่าวคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งต้องมีการเก็บรักษาไว้เพื่อความเป็นส่วนตัวของบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ---------------------------------------------------------------- 1 ข้อ 71 บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังนี้ (1) เลขประจำบ้าน (2) เลขประจำตัวประชาชน (3) ชื่อตัว – ชื่อสกุล (4) เพศ (5) หมายเหตุ ในการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อปิดประกาศ ณ ที่เลือกตั้ง ห้ามมิให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งตาม (2) เว้นแต่บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งชุดที่หนึ่งและสองตามข้อ 73 (1) (2) ให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ส.ส. 1/3) ให้มีชื่อตัว ชื่อสกุล ของผู้พิมพ์และผู้ทานที่สามารถตรวจสอบได้ 2ข้อ 135 หลักฐานในการแสดงตนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร From : http://www.fpps.or.th |