![]() “ยกระดับคุณภาพเลือกตั้งไทย” ลงคะแนนเลือกตั้งแบบไหนดี
สมชาติ เจศรีชัย การลงคะแนน เป็นแค่คำเรียกขาน เหมือนเป็นการให้แต้มในการสอบหรือการทดสอบอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเอามาใช้เรียกในการเลือกตั้งคงเป็นการนับว่ามีผู้เลือกตั้งมาเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งเท่าใด จึงเป็นการใช้สิทธิทางการเมืองของประชน ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับพลเมืองของประเทศนั้นๆ วิธีการเลือกหรือการลงคะแนนในยุคก่อนๆ ก็มีทั้งการใช้เลือกข้างแล้วนับจำนวนคนในแต่ละข้าง เช่น กำหนดให้แต่ละมุมห้องเป็นที่หมายของผู้สมัครแต่ละคน ก็กำหนดว่ามุมไหนของห้องเป็นของผู้สมัครคนใด ผู้เลือกก็จะเดินเข้ามุมคนที่ตนต้องการเลือก วิธีแบบนี้เป็นวิธีการเปิดเผย แต่นั่นต้องมีคนน้อยทั้งผู้สมัคร และผู้เลือก วิธีการลงคะแนนเลือกตั้ง ๑. บัตรเลือกตั้งที่เป็นกระดาษ (Paper-based methods) วิธีใช้กระดาษเป็นวิธีการทั่วไปที่ประชาชนคุ้นเคยกับการลงคะแนนเลือกตั้งทำเครื่องหมายแสดงเจตนารมณ์เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนบนบัตรเลือกตั้งอาจทำเป็นเครื่องหมาย หรือเขียนข้อความ เช่น เขียนชื่อของผู้สมัครที่ต้องการเลือก ๒. เครื่องลงคะแนน (Machine voting) การใช้เครื่องลงคะแนน ซึ่งอาจจะใช้เครื่องกลทำด้วยตนเอง (เช่น คันโยกเครื่อง) หรืออิเล็กทรอนิกส์ ในบราซิล ผู้ลงคะแนนพิมพ์ชื่อผู้สมัครที่ประสงค์จะลงคะแนนให้ และยืนยันการออกคะแนนเสียงเมื่อมีภาพของผู้สมัครคนที่เลือกนั้นปรากฏบนจอภาพของเครื่องลงคะแนน ๓. การลงคะแนนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือ Online voting ในบางประเทศ กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถออกเสียงลงคะแนนในระบบออนไลน์ ซึ่งเอสโตเนียเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ใช้การลงคะแนนเลือกตั้งออนไลน์ โดยใช้เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งท้องถิ่น ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ (ค.ศ. 2005) ๔. ระบบไปรษณีย์ (Postal voting) หลายประเทศอนุญาตให้ลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้งแล้วส่งบัตรเลือกตั้งไปทางไปรษณีย์ เพื่อนับคะแนนเลือกตั้ง ๕. บัตรเลือกตั้งแบบเปิดเผย (Open ballot) เป็นวิธีการตรงกันข้ามกับการลงคะแนนลับ การออกเสียงโดยบัตรแบบเปิดเผยกระทำกันในที่สาธารณะ และมักทำโดยตนเอง ตัวอย่างคือ ระบบ Landsgemeinde ในสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งถูกใช้ในหน่วยการปกครองขนาดเล็ก (เรียกว่า cantons คล้ายๆ กับอำเภอ) ได้แก่ Appenzell Innerrhoden, Glarus, Grisons และ and Schwyz ๖. วิธีอื่น (Other methods) อาทิ ประเทศแกมเบีย การออกเสียงลงคะแนนจะดำเนินการโดยใช้ลูกหินอ่อน วิธีการนี้ถูกนำมาใช้ในปี ค.ศ. 1965 กับพื้นที่ที่มีปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (illiteracy) ที่หน่วยเลือกตั้งจะมีถังโลหะทาสีของพรรคการเมืองและตราสัญลักษณ์ พร้อมด้วยรูปถ่ายของผู้สมัครปิดอยู่ ผู้ลงคะแนนจะได้รับลูกหินอ่อนนำไปหย่อนลงในถังของผู้สมัครในความนิยมของเขา เมื่อหย่อนลงในถังแล้วการออกเสียงการลงลงคะแนนตามที่ได้มีการขึ้นทะเบียนไว้เป็นอันเสร็จสิ้น วิธีการลงคะแนนของไทย นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี ๒๔๗๖ เป็นต้นมา ประเทศไทยใช้บัตรเลือกตั้งที่เป็นกระดาษในการลงคะแนนเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้ง และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราชการ ๒๕๔๐ ก็ได้มีการเพิ่มสิทธิให้ประชาชนในต่างประเทศสามารถลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ จึงได้นำการลงคะแนนทางไปรษณีย์มาใช้ด้วย1 อย่างไรก็ดี คณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีการจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงการจัดทำบัตรเลือกตั้งเป็นเล่มแทนการแยกเป็นแต่ละฉบับ กับให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องพิมพ์ลายนิ้วมือลงบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้งด้วยเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนของผู้มาใช้สิทธินั่นเอง เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งต้องเสียสิทธิบางประการเป็นการลงโทษ ส่วนการทำเครื่องหมายเลือกผู้สมัครหรือไม่ต้องการลงคะแนนเลือกผู้สมัครคนใดเลย ยังคงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเครื่องหมายกากบาท ( x ) ซึ่งในต่างประเทศก็มีหลากหลายแบบในการทำเครื่องหมาย อาทิ (๑) / (๒) x (๓) o (ระบายเต็มวงรี หรือสี่เหลี่ยม) (๔) การเขียนตัวเลขในลักษณะเรียงลำดับที่ผู้สมัครที่ตนเลือก (๕) การเขียนชื่อผู้สมัครที่ตนเลือก เป็นต้น นอกจากนี้ในอดีตที่ผ่านมาของไทยยังมีการพิมพ์บัตรเลือกตั้งในส่วนของผู้สมัครแต่ละคนมีหลายแบบ เช่น พิมพ์บัตรสำเร็จรูปมีตัวเลขมีจุดเท่าตัวเลข พิมพ์เฉพาะตัวเลขประจำตัวผู้สมัคร (มีทั้งเท่าจำนวนผู้สมัครและมากกว่า โดยพิมพ์เผื่อไว้สำเร็จรูป) พิมพ์ทั้งตัวเลขชื่อสกุลผู้สมัครและเครื่องหมายพรรค เป็นต้น แต่การพิมพ์บัตรเลือกตั้งทั้งหมดที่ผ่านมาพิมพ์ที่ส่วนกลาง ไม่เคยมีการมอบหมายให้จังหวัดพิมพ์บัตรเอง (เป็นบัตรเฉพาะเขตเลือกตั้ง) วิธีการลงคะแนนในอนาคต การถาโถมเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลบวกกับภาระทางการเงินของประเทศที่ลงทุนกับการเลือกตั้งทั่วไปแต่ละครั้งไม่น้อยกว่าสามพันล้านบาทแล้ว การคิดและออกแบบการเลือกตั้งโดยใช้เวลาน้อย งบประมาณน้อย แต่ยังคงหลักการเลือกตั้งที่สำคัญคือ โดยตรงและลับ ไว้ จึงน่าจะต้องมีการพิจารณาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการลงคะแนนด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Voting Machine: EVM) เช่น บราซิล ระบบสัมผัสหน้าคอมพิวเตอร์ (touch a computer screen) เช่น สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี การเขียนกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องบัญญัติเรื่องนี้ไว้ด้วย มิฉะนั้น ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะจัดให้มีการลงคะแนนด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบอินเตอร์เน็ต หรือระบบสัมผัสหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือก้าวหน้าถึงขั้นการใช้แอพพลิเคชั่น(application)บนโทรศัพท์มือถือ (smart phone) ไม่ได้ แม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งของไทยจะได้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ โดยดำริของนายวีระชัย แนวบุญเนียร อดีตกรรมการการเลือกตั้งร่วมกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด จนได้เครื่องต้นแบบที่มีการนำไปทดลองใช้ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย แนวโน้มการนำระบบดิจิทัลมาใช้กับการลงคะแนนเลือกตั้งไทยในอนาคตคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักกฎหมายและประชาชนทั่วไปเชื่อถือ และมั่นใจว่าการลงคะแนนเลือกตั้งของตนมิได้ถูกเปลี่ยนแปลง การตัดสินใจนำระบบดิจิทัลมาใช้กับการเลือกตั้งนอกจากเป็นความกล้าหาญแล้ว ยังต้องการแรงสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองและนักวิชาการตลอดจนผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบดิจิทัลที่นำระบบนี้ไปใช้กับการบริการทางสังคม การศึกษา และเศรษฐกิจแล้วอย่างกว้างขวางนานนับสิบๆ ปีแล้ว บทส่งท้าย การทดลองนำเอาการลงคะแนนที่มิใช่บัตรเลือกตั้งกระดาษมาใช้ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะการเลือกใช้ผสมกันไปก่อนที่จะนำระบบดิจิทัลไปใช้ทั่วทั้งประเทศ ทั้งบัตรเลือกตั้งกระดาษ การลงคะแนนทางไปรษณีย์ ระบบสัมผัสหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ นั่นหมายถึงการต้องเตรียมความพร้อมทางด้านประชาชน นักการเมือง ตลอดจนผู้จัดการเลือกตั้ง และยังต้องเตรียมการทางด้านกฎหมายและงบประมาณอีกด้วย 1มาตรา ๘๔ ในประเทศใดมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งเกินห้าร้อยคนและอยู่ในพื้นที่ที่มีความสะดวกในการเดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งในประเทศนั้น แต่ถ้ามีจำนวนน้อยกว่าห้าร้อยคนหรือมีเหตุจำเป็นอื่น คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์หรือโดยวิธีอื่นใดที่มิใช่เป็นการจัดตั้งสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด From : http://www.fpps.or.th |