![]() การปฏิรูปการศึกษา : รัฐธรรมนูญ และ มาตรา 44
พลันที่ร่างรัฐธรรมนูญได้ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ 29 มีนาคม 2559 เพื่อให้ประชาชนได้อ่าน พินิจพิเคราะห์เสียงสะท้อนในการแสดงความคิดเห็นที่มีต่อร่างฯ ฉบับนี้ ก็มีหลายประเด็น และประเด็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญ ก็คือ เรื่องการศึกษา ซึ่งปรากฏในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 “รัฐ ต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน จนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย...” และ ในมาตราเดียวกันนี้ ได้บัญญัติให้เห็นถึงเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ “... การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ” สาระสำคัญดังที่กล่าวมานี้ ได้มีการถกเถียงในเรื่องระยะเวลาที่รัฐสนับสนุนการศึกษาตามร่างฯ ฉบับนี้ให้เริ่มก่อนวัยเรียน ซึ่งก็คือ เด็กเล็กในชั้นอนุบาล ซึ่งใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นั้น ได้เริ่มต้นที่ชั้นประถมศึกษาไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นระยะเวลา 12 ปี การพัฒนาเรื่องนี้มีความก้าวหน้ามากในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 13 มกราคม 2552 ให้ขยายฐานการศึกษาครอบคลุมถึงชั้นอนุบาลที่รัฐต้องให้การสนับสนุน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับร่างฯ ปัจจุบัน กำหนดเวลาไว้ 12 ปี และระบุให้รัฐอุดหนุนไปที่ระดับอนุบาล จึงไม่สามารถครอบคลุมชั้นมัธยมปลายได้ ทำให้โอกาสที่มีและดีอยู่แล้วแต่เดิมต้องหายไป การให้ความคิดเห็นและห่วงใยต่อการกำหนดกรอบอุดหนุนการศึกษาฟรีไว้ที่ 12 ปี ที่ขาดตกบกพร่อง จึงปรากฏต่อมาว่ารัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรา 44 ขยายฐานการศึกษาอย่างครบถ้วนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมปลายเป็นลำดับต่อมา จึงขอขอบคุณต่อรัฐบาลที่รีบแก้ปัญหาโดยทันท่วงที อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ก็นับว่าเป็นเรื่องดีที่มาถูกทาง แม้ว่าจะได้มาด้วยมาตรา 44 ก็ตาม ทั้งที่ กระทรวงศึกษาธิการควรจะทำหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาและผลักดันแนวคิดนี้มาแต่ต้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของความล้าหลังของการศึกษาไทยที่ยังไม่พัฒนาไปสู่คุณภาพถึงขนาดที่จะทำให้ผู้เรียนได้มีความสามารถและมีความสามารถที่รับผิดชอบต่อส่วนรวมทั้งในชุมชน สังคม และประเทศชาติได้ การจะไปถึงความสามารถและรับผิดชอบได้มากมายขนาดนี้ได้ ต้องดูคุณภาพของทั้งครูและสิ่งแวดล้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดเป็นรูปธรรมได้จริงนั้น ล้วนไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญหรือมาตรา 44 แต่หากมาจากวิธีคิดและการจัดการศึกษาที่ต้องแนบแน่นกับปรัชญาการศึกษาที่ส่งเสริมการพัฒนาสติปัญญา เพื่อผดุงคุณค่าของมนุษย์และเพื่อยืนหยัดการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุขและเป็นธรรม หาใช่การศึกษาที่พัฒนาคนด้วยความรู้ที่นำไปสู่ความเห็นแก่ตัวและเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ สุดท้ายก็กลายเป็นตัวบั่นทอนความก้าวหน้าของสังคม การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว แต่ที่ดีกว่านั้นคือ การศึกษาที่มีคุณภาพ จึงจะได้พลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งยังไม่เห็นเค้าลางการปฏิรูปในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา From : http://www.fpps.or.th |