![]() เสรีภาพกับความมั่นคง
พลันที่รัฐบาลประกาศให้มีการลงประชามติ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้มีแนวทางเพื่อบอกว่าอะไรทำได้และทำไม่ได้ อีกทั้งมีช่องทางและเวทีเพื่อการสื่อสารความคิดเห็นไว้ให้ด้วยในช่วงระหว่างทางกว่าจะถึงวันลงประชามติ เพื่อสนับสนุนการลงประชามติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเช่นกัน นอกจากนี้ ก็มีเวทีของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อจะเดินสายออกไปอธิบาย ตอบข้อสงสัยให้กับประชาชนในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ โดยจะมีคณะทำงานทำหน้าที่ซึ่งผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี ให้เป็นครู ก. ครู ข. ไปช่วยทำหน้าที่อธิบายในกรอบที่วางไว้ ไม่ให้บิดเบี้ยวจากที่ กรธ. ต้องการจะสื่อสารให้ครบถ้วน โดยกำชับกันในทุกเวทีว่า ต้องไม่ครอบงำ ชี้นำประชาชน ต้องให้ประชาชนตัดสินใจด้วยตนเอง แต่ทั้ง กรธ. และ กกต. ก็เน้นย้ำที่จะไม่ให้สร้างวาทกรรมการยุยง แบบว่า ให้รับ หรือ ไม่รับ การตีความข้อห้าม อะไรที่ทำได้และทำไม่ได้ ในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ จึงอาจสร้างบรรยากาศที่อึดอัดให้กับทุกๆ กลุ่มที่อยากแสดงทัศนะของตน หรืออาจพูดง่ายๆ ว่า ต้องการที่จะมีส่วนร่วมใน “วันประวัติศาสตร์” ครั้งนี้ การใช้เสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่มีทั้งหมด 279 มาตรา จึงนับว่าเป็นเรื่องชอบธรรม แม้ในสถานการณ์ที่ฝ่ายความมั่นคงพิจารณาว่าไม่ปกติ จะว่าไปแล้ว เรื่องรัฐธรรมนูญไม่มีที่ไหนในโลกที่เป็นประชาธิปไตยเต็มร้อย และไม่มีทางที่ประชาธิปไตยในประเทศหนึ่งใดจะนำมาใช้ให้เหมือนกันในอีกพื้นที่หนึ่ง เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมา รวมถึงด้านวัฒนธรรมของคนในสังคมด้วย จึงไม่แปลกอะไรที่การออกแบบประชาธิปไตยในแต่ละพื้นที่ย่อมคำนึงถึงบริบททางสังคมนั้นๆ รวมอยู่ด้วย สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทยที่ผ่านมา ได้เปิดเผยให้เห็นถึงบทเรียนหลายประการ ซึ่งชาวไทยและสังคมไทยจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการปกครองประเทศของรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อช่วยกันสร้างความผาสุกของปวงชนให้เกิดขึ้น ได้มีคำกล่าวของนักปราชญ์ว่า มนุษย์ไม่มีเสรีภาพที่เกิดขึ้นจริง หากไม่มีชีวิตอยู่ในสังคมการเมือง หรือสังคมที่มีกฎหมายปกครอง สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์แม้จะเป็นสิทธิตามธรรมชาติ แต่จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากกฎหมาย นัยหนึ่ง คือ สิทธิเสรีภาพในสังคมการเมืองกำเนิดหรือดำรงอยู่ในกรอบหรือภายใต้กฎหมาย ไม่มีกฎหมายก็ไม่มีเสรีภาพ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีการใช้เสรีภาพโดยปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม สิทธิเสรีภาพ กับความมั่นคง จึงเป็นของคู่กัน การรักษาความมั่นคงให้แก่สังคม จึงเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกในสังคม รัฐธรรมนูญฉบับไหนๆ ก็มีทั้งจุดเด่นจุดด้อยอยู่แล้ว แต่แม้มีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ยอมรับกันมาก ก็มีจุดที่จะต้องแก้ไขและพัฒนาไปตามสภาพเงื่อนไขทางสังคม การไปวิพากษ์วิจารณ์แต่ตัวกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ โดยที่ลืมไปว่าพฤติกรรมมนุษย์เองคือตัวปัญหาของการเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ด้วย ปัญหามีอยู่ว่า จะสร้างความมั่นคงควบคู่ไปกับการพัฒนาสิทธิเสรีภาพได้อย่างไร เป็นการพัฒนาเพื่อความมั่นคงแห่งชาติที่ประชาชนเข้าใจร่วมกัน ซึ่งเป็นคนละแนวคิดกับความมั่นคงและสงบเรียบร้อยตามแบบทหาร และการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ก็จำเป็นที่จะคำนึงถึงความรับผิดชอบอย่างสูงยิ่งต่อสังคม ถอดอคติที่แต่ละคนมีต่อกัน แล้วใช้ปัญญาสร้างความมั่นคงให้เสรีภาพเกิดขึ้นโดยปราศจากความกลัว เพื่อเดินฟังเสียงต่างๆ ให้ถ้วนถี่ระหว่างทางไปสู่การทำประชามติ ทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา From : http://www.fpps.or.th |