![]() ประชารัฐ
เวลาของ คสช. และรัฐบาลคือเวลาเดียวกัน การทำงานของทั้งสองส่วนเป็นไปตามเงื่อนเวลาหรือ Road Map เดียวกันไม่มีเปลี่ยนตั้งแต่เริ่มมีการยึดอำนาจและจัดตั้งคณะรัฐบาล การทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ได้ให้น้ำหนักไปที่สร้างความสงบ ลดการกระทบกระทั่งที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง พร้อมๆ ไปกับการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเงื่อนไขให้เกิดการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญชุดแรกจะถูกคว่ำไปแล้ว ก็ได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาร่างอีกครั้งในขณะนี้ ความพยายามในเรื่องสร้างบรรยากาศของประเทศเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนและการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กันไป เป็นเรื่องที่รัฐบาลแสดงความใส่ใจไม่แพ้เรื่องการเมือง นายกรัฐมนตรีได้กล่าวหลายครั้ง เพื่อเรียกร้องความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาของประเทศที่มีอยู่มากมาย แต่เงินของประเทศกลับมีจำกัดเมื่อเทียบกับปัญหา การสร้างความรู้สึกร่วมระหว่างรัฐบาลและประชาชนจึงเกิดขึ้นในวาทกรรม “ประชารัฐ” ซึ่งไม่เพียงนายกรัฐมนตรีจะได้เอ่ยถึงบ่อยครั้งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แม้ทีมเศรษฐกิจใหม่ที่นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้นำเอาคำสำคัญนี้มาเป็นธนูดอกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงรุกมากขึ้น ที่ไม่เพียงแต่มองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่หากยังมองไปที่ผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดกลางที่กระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมีหมุดหมายที่เศรษฐกิจชุมชนมากขึ้น “ประชารัฐ” ได้นำเสนอขึ้นแครั้งแรกโดย ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และเผยแพร่ในปี 2541 ซึ่งเป็นแนวคิดที่กอดเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์อย่างสมานฉันท์ของประชารัฐไทย ด้วยนิยามโดยผู้เขียนว่า “การที่ประชาชนกับรัฐร่วมกันทำงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” กระแส “ประชารัฐ” ได้ปรากฏชัดเจนในช่วงรณรงค์การปฏิรูปการเมืองทั่วทุกภูมิภาคของประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2539 – 2540 เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจากพลังประชาชนทุกชุมชนและรัฐร่วมมือร่วมใจทำงานเป็นสัมฤทธิ์ผล เป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศ ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 ประชารัฐ จึงนับเป็นการคิดใหม่ทั้งหมด ทั้งรัฐและประชาชนที่จะไม่ถือว่าต่างฝ่ายต่างเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน อีกทั้งยังเป็นกระบวนทัศน์ใหม่โดยเน้นเรื่องศักยภาพและพลังของพลเมืองและชุมชนที่มีส่วนสำคัญในการเป็นภาคีกับอำนาจรัฐ เพราะในพลัง และศักยภาพของพลเมืองและชุมชนของไทยนั้น มีพลังทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งเป็นทุนอยู่มาก ความเป็น “ประชารัฐ” จึงเน้นความแข็งแกร่งของภาคพลเมือง ชุมชน และรัฐ ในการร่วมใจกันเพื่อฝ่าด่านการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทั้งแรงและเร็ว ในศตวรรษใหม่ของโลกให้ประคองตัวกันอยู่ได้ หากจะให้ประชารัฐมีความหมายสอดคล้องกับความต้องการของสังคม และโลกที่เปลี่ยนแปลงแล้ว การรวมศูนย์ที่เคยตัวกับการใช้อำนาจก็จำเป็นต้องให้เวลากับการ “ฟัง” อย่างเข้าใจของ “เสียง” ที่แตกต่างจากประชาชนให้มากขึ้น แม้ว่าเขาจะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล แต่เขาคือเสียงสะท้อนของการเป็นหุ้นส่วนของประเทศนี้จริงๆ ทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา From : http://www.fpps.or.th |