ปุจฉา-วิสัชนา
การท่องเที่ยวไทยกับสิ่งแวดล้อม

สมชาติ เจศรีชัย

      ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะในโฆษณาไม่ถึงหนึ่งนาทีบอกเล่าถึงความมีน้ำใจของคนไทยในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างแดน และการที่นักท่องเที่ยวต่างประทับใจกับวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติทางทะเล และแน่นอนว่าเขาคงกลับมาเยี่ยมมิตรต่างแดนที่เป็นคนไทยอีกในอนาคต จะเห็นได้ว่า นโยบาย “ท่องเที่ยววิถีไทย” ที่เน้นความเป็นไทย ซึ่งเมื่อนำไปเทียบเคียงกับชาติสมาชิกอาเซียนแล้ว การจัดการการท่องเที่ยวที่เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าใดนัก หรือสถานที่ที่เป็นมรดกโลก อาทิ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร เมืองพระนคร (อังกอร์) อ่าวฮาลองและหมู่โบราณสถานเมืองเว้ มะละกาและจอร์จทาวน์ เมืองประวัติศาสตร์ช่องแคบมะละกา มหาสถูปบุโรพุทโธ กลุ่มวัดปรัมบานัน นครประวัติศาสตร์วีกันและนาขั้นบันไดแห่งเทือกเขาฟิลิปปินส์ พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) ร่างกุ้ง เมียนมาร์ เป็นต้น

สภาพการณ์ปัจจุบัน
      สิ่งที่น่าสนใจคือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมมีทั้งที่เป็นนามธรรม อาทิ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และที่เป็นรูปธรรม แยกเป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ดิน น้ำ อากาศ ทรัพยากร รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ชุมชนเมือง สิ่งก่อสร้างโบราณสถาน ศิลปกรรม ปัญหาความสมดุลของธรรมชาติกับมนุษย์เริ่มมีปัญหามากขึ้น เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติโดยการกระทำของมนุษย์ อันเกิดจากการตั้งถิ่นฐานและชุมชนของมนุษย์ การเกิดของแหล่งเสื่อมโทรม การท่องเที่ยวโดยชุมชนนี้กำลังเป็นจุดเปลี่ยนของโลกแห่งการท่องเที่ยว เป็นทางเลือกใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว ในเมืองไทยมีแหล่งชุมชนในแต่ละภาค ตัวอย่างเช่น ภาคเหนือ ชุมชนบ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน เชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า บ้านปังค่า ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง พะเยา หาดทนง อำเภอเมือง อุทัยธานี ชุมชนบ้านหนองแม่นา ตำบลหนองแม่นา อำเภอเขาค้อ เพชรบูรณ์ ชุมชนบ้านร่องกล้า ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย พิษณุโลก ภาคอีสาน บ้านกู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย ร้อยเอ็ด บ้านภู ตำบลบ้านเป้า อำเภอหนองสูง มุกดาหาร ชุมชนบ้านปะอาว ตำบลปะอาว อำเภอเมือง อุบลราชธานี ภาคใต้ ชุมชนเกาะยาวน้อย ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว พังงา ชุมชนตะโหมด ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด พัทลุง ภาคกลาง ชุมชนบางน้ำผึ้ง ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง สมุทรปราการ ชุมชนเขาสอยดาวใต้ ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน จันทบุรี การท่องเที่ยวที่มีชุมชนเป็นฐานจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลายจากการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวในอาเซียนยังเป็นการลงทุนกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติสูงมาก (ยกเว้นสิงคโปร์ที่อาศัยสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น) ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐว่า จะทำให้เกิดความสมดุลอย่างไรระหว่างการท่องเที่ยวกับสิ่งแวดล้อม

การจัดการทางสิ่งแวดล้อมกับการท่องเที่ยว
      สถานที่ท่องเที่ยวหลายๆ แห่ง ในอดีตเคยได้ชื่อว่างดงามด้วยธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์ ดึงดูดใจด้วยวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ซื่อใส แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปไม่กี่ปีแหล่งท่องเที่ยวที่เคยยอดฮิตกลับลดน่าสนใจลง เพราะการพัฒนาพื้นที่ที่ผิดที่ผิดทาง กล่าวคือ เมื่อนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางเข้าไปเที่ยวชม ก็มักจะมีการสร้างความสะดวกสบายในการเดินทางและการบริการ โดยไม่คำนึงถึงความแปลกแยก มีการสร้างที่พักแรมเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ในท่ามกลางธรรมชาติป่าเขา โดยขาดความผสมกลมกลืนส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของสถานที่ ธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีการทิ้งสิ่งของเครื่องใช้ไว้เป็นขยะจำนวนมากทั้งที่กำจัดได้ และที่กำจัดได้ยาก เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงขนมพลาสติกที่หล่นเกลื่อนกลาดปะปนอยู่กับสภาพทางธรรมชาติ ทั้งบนบกและในทะเล หลายประเทศจึงออกมาตรการบังคับให้มีการตรวจสอบสิ่งของที่นักท่องเที่ยวนำเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยว และตรวจสอบอีกครั้งเมื่อกลับออกมาก โดยไม่อนุญาตให้มีการทิ้งสิ่งของเหลือใช้ไว้ในแหล่งท่องเที่ยวเป็นอันขาดการจัดการทางสิ่งแวดล้อมอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็เพื่อให้เกิดความยั่งยืน กล่าวคือ ต้องรักษาความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้มทางธรรมชาติ สถานที่และการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมท้องถิ่น อีกมาตรการหนึ่งก็คือการปิดแหล่งท่องเที่ยวชั่วคราว เพื่อให้ธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นตัว เช่น ภูกระดึง เลย หรือ เขาคิชกูฏ จันทบุรี รวมทั้งปะการังใต้ทะเล เกาะแก่งต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ในการดูแลกำกับงานท่องเที่ยวจะต้องสร้างความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยว ฤดูกาลไหนที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว หรือฤดูกาลใดไม่เหมาะแก่การท่องเที่ยวในแล่งธรรมชาตินั้น หรือควรเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่มรดกโลกอย่างไร เพราะหลายแห่งที่ถูกการท่องเที่ยวมาทำลายอัตลักษณ์ คุณค่าและความงดงามจนยากแก่การเยียวยาเสียแล้ว การอนุรักษ์สภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ และวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น จึงเป็นรากฐานของจิตวิญญาณชุมชนอย่างแท้จริง

ส่งท้าย
      ถึงที่สุดแล้ว รัฐสมาชิกอาเซียนไม่เว้นแม้กระทั่งเมืองไทย การท่องเที่ยวยังคงเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยมีการเชื่อมโยงไปในธุรกิจหลายภาคส่วน ทั้งโรงแรม การขนส่ง ร้านขายของที่ระลึก นวดแผนแผนไทย ร้านอาหาร ที่พักในแหล่งชุมชน เสื่อผ้าและสิ่งทอ มัคคุเทศก์ ฯลฯ รัฐจึงจำเป็นต้องมีนโยบายการท่องเที่ยวที่ชัดเจน มียุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันทั้งวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม “คน”ในชุมชนท้องถิ่นก็ต้องเข้าใจถึงเป้าหมายของการท่องท่องเที่ยวที่มีการรักษาและดำรงอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นทั้งสองมิติไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะหากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรมถูกทำลาย จะเหลืออะไรไว้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินมาเที่ยวในประชาคมอาเซียนอีกเล่า

From : http://www.fpps.or.th