ปุจฉา-วิสัชนา
สิ่งแวดล้อมอาเซียน : ความไม่สมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจ

สมชาติ เจศรีชัย

       เมื่อประกาศการยกระดับการพัฒนาของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อาเซียน”ไปสู่ประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Community (AC) คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีผู้คนรู้จักคำเรียกขานในภาคภาษาอังกฤษว่า AEC หรือ ASEAN Economy Community เพราะการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจหรือการรวมตัวกันเพื่อการพัฒนาในมิติของเศรษฐกิจดูเหมือนจะเป็นรูปธรรมมากที่สุด และได้กล่าวมาหลายตอนแล้วถึงสภาพทางด้านภูมิศาสตร์ที่ดินแดน “แหลมทอง”แห่งนี้มีความเหมาะสมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นที่สุด โดยในยุคที่มีการล่าอาณานิคม พื้นที่เหล่านี้เมื่อถูกต่างชาติเข้าปกครองก็ล้วนแต่มุ่งเข้ามากอบโกยเอาทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ในประเทศของตนเองทั้งสิ้น และผลผลิตหลายอย่างเกิดขึ้นตามธรรมชาติ อาทิ ป่าไม้ แร่ธาตุ ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ เมื่อมีการตัดฟันแปรรูปหรือขุดขึ้นมาใช้ก็ค่อยๆหมดไปพร้อมกับผืนดินที่ถูกทำลาย นอกจากนี้ ประชาชนในภูมิภาคเองก็ยังคงมีความรู้สึกว่า ทรัพยากรเหล่านั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ความรู้สึกเป็น “เจ้าของ” จะหวงแหน ปลูกขึ้นทดแทนหรือให้มีการนำมาใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไปกลับมีน้อยมาก จวบจนกระทั่งความรู้สึกว่าสิ่งที่เคยเอื้ออำนวยให้เกิดความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตเริ่มลดลงจนเหลือน้อยเต็มที่ สภาพสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายเริ่มเห็นผลชัดเจน จึงมีความสนใจและพิจารณาหาทางออกให้กับปัญหานี้กันอย่างเอาจริงเอาจัง

สภาพการณ์ปัจจุบัน
       สิ่งที่เกิดขึ้นกับการพัฒนาเศรษฐกิจยุคทุนนิยมเสรี คือ ลักษณะของการผลิตขนาดใหญ่ (Mass products) ที่ใช้ทรัพยากรมาก เมื่อทรัพยากรในแผ่นดินตนเองไม่เพียงพอก็แสวงหาจากดินแดนอื่น บางครั้งถึงกับมีการวางแผนล้ำลึกในการเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรด้วยสงครามก็มี ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน มีหลายประเทศที่ทำอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊ส อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน เมียนมาร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย ปัญหาที่ตามมาคือ สภาพอากาศที่เลวร้ายอันเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ และอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มาจากน้ำมันและแก๊ส เป็นหลักในการผลิตสินค้า การเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้กระแสไฟ จะเห็นได้จากการที่ลาวหันมาเน้นการผลิตไฟฟ้าเป็นสินค้าออกส่งขายให้นานาประเทศที่อยู่รายรอบ ทำให้ต้องมีการตัดไม้ขนาดใหญ่น้อยเป็นจำนวนมากออกจากพื้นที่ที่ต้องถูกน้ำท่วม เป็นต้น

       ในส่วนของภาพรวมทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยวัดจาก GDP : Growth Domestic Product หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จัดเก็บเมื่อปี 2013 ปรากฏว่า ลาว มีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 7.6 รองลงมาคือ กัมพูชา ร้อยละ 7.2 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 7.0 เมียนมาร์ ร้อยละ 6.5 อินโดนีเซีย ร้อยละ 5.7 เวียดนามร้อยละ 5.2 มาเลเซีย ร้อยละ 4.3 ไทยร้อยละ 3.8 สิงคโปร์ร้อยละ 2.6 และบรูไนร้อยละ 1.5 การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าประเทศใดมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่ากัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะมีความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน หมายความว่า เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา หากปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมมีเพิ่มมากขึ้น อันเกิดจากการขยายตัวภาคการอุตสาหกรรมที่ไปทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม ก็จะส่งผลให้แนวโน้มปัญหาความขัดแย้งด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังหาจุดลงตัวได้ยาก อันเนื่องมาจากการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่ขาดความรับผิดชอบ และต้องการการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำๆ ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้ก็เกิดขึ้นมาแล้วในหลายๆ ประเทศในอาเซียน

ปัญหาและสาเหตุความเสื่อมทรุดทางสิ่งแวดล้อม
       เมื่อมีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นและขาดการตรวจสอบ ควบคุมอย่างเข้มงวด ผลที่ตามมาก็จะทำให้มีการปล่อยมลพิษ กากของเสียจากอุตสาหกรรมมากขึ้น แม้ว่าในบางอุตสาหกรรม มลพิษที่ปล่อยออกมาจะมีระดับเป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมาย แต่ก็ทำให้ระดับมลพิษโดยรวมเพิ่มขึ้น กอปรกับมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่ปล่อยมลพิษหรือก๊าซเรือนกระจกสูงไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีกฎเกณฑ์และการบังคับใช้กฎหมายที่ย่อหย่อน จึงทำให้ประเทศในอาเซียนเป็นที่เฝ้าจับตามองขององค์กรระหว่างประเทศ อาทิ UNDP หรือองค์กรต่างประเทศ เช่น กลุ่มกรีนพีช เป็นต้น รวมทั้งความห่วงกังวลของภาคประชาสังคมในภูมิภาคที่มีต่อประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดมากขึ้นจากผลการขยายตัวของการลงทุนด้านอุตสาหกรรม กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ฯลฯ

ทางออกของปัญหา
       อย่างไรก็ดี การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนน่าจะเป็นทางออกหนึ่ง ภายใต้ความร่วมมือกันมากขึ้นของประเทศสมาชิกอาเซียนต่อการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน เช่น กรณีหมอกควัน กรณีลุ่มน้ำโขง กรณีความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ แม้ว่าการดำเนินงานหลายอย่างยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสำหรับผู้กำหนดนโยบายจากประเทศสมาชิกอาเซียน” ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2557 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อนำไปสู่การเจรจาเอเชียยุโรปในประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการเตรียมการสำหรับการประชุมที่จะเกิดขึ้นของการประชุมของภาคีที่จะจัดขึ้นในประเทศเปรูและประเทศฝรั่งเศสใน ปี 2557 และ 2558 (COP20 และ COP21) รวมทั้งประกาศ ข้อตกลงความร่วมมือต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ ประกาศข้อตกลง (DECLARATIONS AGREEMENT SACTION) กรุงเทพฯ แถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการประชุมครั้งที่สิบเอ็ดของการประชุมของภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (2012) การประชุมชี้แจงผู้นำเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศใน COP-17 ในประเด็นที่ UNFCCC และ CMP-7 ที่กล่าวถึงพิธีสารเกียวโต (เป็นการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19 เมื่อปี 2554) ก็ได้แต่หวังว่าทั้งผู้นำ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนในอาเซียนเองจะตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และมองเห็นว่าเป็นปัญหาร่วมของทั้งประชาคม คงไม่ปล่อยให้เป็นภาระของประเทศใดประเทศหนึ่งอย่างขาดสำนึกรับผิดชอบร่วมกันอีกต่อไป



From : http://www.fpps.or.th