ติดตามประชาธิปไตย (Thai)
ตุลาคม 2557 : ยกฟ้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กรณีแผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

  • ศาล ปค. ยกฟ้อง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กรณีออกแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท
  • ห้าม ขรก. การเมือง-ผู้ช่วย รมต. นั่งกรรมการหรือที่ปรึกษาเอกชน ป้องกันมีผลประโยชน์ทับซ้อน
  • ได้ 20 กมธ. ร่างรัฐธรรมนูญ
  • สนช. เห็นชอบ กม. พัฒนาแรงงาน
  • ครม. ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง “บิ๊กตู่” ย้ำต้องถึงมือเกษตรกรโดยตรง มีประสิทธิภาพ
  • “ครม.” เห็นชอบงดส่งน้ำเพาะปลูกข้าวนาปรัง
  • ไทยทวงคืนแชมป์ส่งออกข้าวสำเร็จอีกครั้ง

    ศาล ปค. ยกฟ้อง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กรณีออกแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

          เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น พิพากษายกฟ้องสมาคมต่อต้านสภาวะโรคร้อนกับพวกรวม 45 คน ฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย กรณีการออกแผนแม่บทในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท 9 แผน โดยเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าว ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เนื่องจากยังเป็นเพียงแผนงานที่จะทำในอนาคต หลายโครงการยังเป็นเพียงกรอบความคิดที่ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่ประเด็นที่อ้างว่าการดำเนินโครงการของรัฐในเรื่องนี้ เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 และส่อทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 นั้น ศาลเห็นว่า เป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของศาล และไม่ได้มีการฟ้องตั้งแต่ในศาลชั้นต้น จึงไม่รับพิจารณาในประเด็นนี้

    ห้าม ขรก.การเมือง เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาเอกชน

          เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ โดยเห็นชอบหลักการที่ให้ข้าราชการการเมือง และกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ คือ 1. ต้องไม่ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ เว้นแต่การเป็นกรรมการของทางราชการ และ 2. ต้องไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีผลประโยชน์ใดๆ ขัดหรือแย้งกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติชอบ และการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในภาครัฐทุกระดับ ทั้งนี้ให้มีผลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ ครม. มีมติ

    ได้ 20 กรรมาธิการ ยกร่าง รธน.

          เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 นายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งทำหน้าที่ประธานเฉพาะคราว ได้แจ้งผลการตรวจนับคะแนนสมาชิก สปช. ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 20 คน ประกอบด้วย 1. นายมานิจ สุขสมจิตร สายสื่อมวลชน 2. นายประชา เตรัตน์ สปช.ชลบุรี 3. นางถวิลวดี บุรีกุล สายบริหารราชการแผ่นดิน 4. น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา สายสังคม 5. นายเชิดชัย วงษ์เสรี สปช.ภูเก็ต 6. พล.ท.นคร สุขประเสริฐ สปช.ร้อยเอ็ด 7. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สายพลังงาน 8. นายจุมพล สุขมั่น สปช.เชียงราย 9. นายวุฒิสาร ตันไชย สายการปกครองท้องถิ่น 10. นายคำนูณ สิทธิสมาน สายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

          11. นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สายการเมือง 12. นางทิชา ณ นคร สายการศึกษา 13. นางนรีวรรณ จินตกานนท์ สายเศรษฐกิจ 14. นายจรัส สุวรรณมาลา สายการปกครองท้องถิ่น 15. นายไพบูลย์ นิติตะวัน สายการเมือง 16. น.ส.สุภัทรา นาคะผิว สายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 17. นายบัญฑูร เศรษฐศิโรตม์ สายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 18. นายชูชัย ศุภวงศ์ สายการเมือง 19. พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ สายอื่นๆ 20. นายมีชัย วีระไวทยะ สายการศึกษา

          จากจำนวนบัตรที่ลงคะแนน 239 คน ไม่มีบัตรเสีย และไม่มีการงดออกเสียง

    สนช. เห็นชอบ กม.พัฒนาแรงงาน

          เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 189 ต่อ 1 คะแนน เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดการรับรองความรู้ความสามารถ โดยให้มีสมุดประจำตัวเพื่อรับรองความรู้ความสามารถของแรงงานในสาขาอาชีพที่มีลักษณะงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ นอกจากนี้ยังให้ผู้ประกอบกิจการซึ่งจ้างงานผู้ที่ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนดมีสิทธิที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นกรณีพิเศษสำหรับเงินได้ของผู้ประกอบกิจการเป็นจำนวนร้อยละของค่าจ้างผู้ที่ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ

    ครม. ไฟเขียวมาตรการช่วยชาวสวนยาง

          เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบมาตรการการช่วยเหลือชาวสวนยางพารา ตามมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เพื่อให้ทำสต๊อกนิ่งให้เป็นสต๊อกเคลื่อนไหว ให้มีการซื้อและระบายออกไปในปริมาณเท่ากัน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดวงเงินให้เกษตรกรกู้เงินได้รายละไม่เกิน 100,000 บาท รวมทั้งการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธสก.) ซึ่งรัฐบาลช่วยรับภาระร้อยละ 3 จากร้อยละ 5 ทั้งนี้ นายกฯ ได้เน้นย้ำให้มาตรการการช่วยเหลือต้องทำให้มีประสิทธิภาพและต้องถึงมือเกษตรกรโดยตรง

    “ครม.” เห็นชอบงดส่งน้ำเพาะปลูกข้าวนาปรัง

          เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการรายงานสถานการณ์น้ำและมีมติเห็นชอบในหลักการงดส่งน้ำเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำแม่กลอง โดยให้มีการออกประกาศของทางราชการแจ้งพื้นที่ที่จะงดการส่งน้ำรวม 26 จังหวัด พร้อมกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยในพื้นที่งดส่งน้ำและงดทำนาปรังจากรายงานแบ่งสถานการณ์น้ำเป็นในส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ มีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดหาพืชฤดูแล้งให้ปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เอาไว้ดังนี้ 1.เกษตรกรที่จะปลูกข้าวนาปรังจะไม่ได้รับการช่วยเหลือกรณีที่เกิดภัยพิบัติด้านการเกษตรเพราะมีการรายงานสถานการณ์น้ำให้ทราบแล้ว ขณะที่เกษตรกรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำแม่กลองทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานจะได้รับมาตรการช่วยเหลือเหมือนกันคือกรมชลประทานจะดำเนินการจ้างแรงงานพี่น้องที่เคยทำนาปรังเพื่อซ่อมคูคลองในฤดูแล้ง ซึ่งสามารถจ้างได้ 7.54 ล้านแรงหรือคนต่อวัน จะสามารถครอบคลุมเกษตรกรที่รับผลกระทบจากการปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 2 แสนราย นอกจากนั้นยังมีมาตรการเสริม อาทิ การอบรม สนับสนุนปัจจัยการผลิตทางประมง ปศุสัตว์ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกมาตรการช่วยเหลือได้ตามความสมัครใจของตัวเองเพียงมาตรการเดียว ทั้งหมดจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 – 30 เมษายน 2558

    ไทยแย่งอินเดียครองผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ของโลก

          นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้ประเทศไทยสามารถกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกแซงหน้าประเทศอินเดียและเวียดนามอีกครั้งอย่างเป็นทางการแล้ว โดยในช่วง 9 เดือน (มกราคม – กันยายน 2557) ยอดส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ 8.38 ล้านตันเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 70.1% รองลงมาเป็น อินเดีย 7.2 ล้านตัน และเวียดนาม 5.3 ล้านตัน ดังนั้นทั้งปีคาดว่าไทยจะส่งออกระดับ 10.5-11 ล้านตัน อินเดีย อยู่ในระดับ 9 ล้านตัน และ เวียดนาม 6.2-6.3 ล้านตันเนื่องจากราคาข้าวไทยกลับมาอยู่ใกล้เคียงกับราคาข้าวเวียดนามส่งผลให้ข้าวไทยกับมาแย่งส่วนแบ่งตลาดในบางส่วนที่ถูกเวียดนามแย่งไปกลับคืนมาได้

    From : http://www.fpps.or.th


  •