จากสถาบันนโยบายศึกษา
สงบแต่ไม่สันติ

      ขณะนี้สังคมกำลังมองดูว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่นี้ จะมีลักษณะอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในราวต้นปี 2558 คือฉบับที่ 20 นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากปี 2475 เฉลี่ยเวลารัฐธรรมนูญคือ 4 ปีต่อ 1 ฉบับ

      ระหว่างเส้นทางนับจากที่มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติมาทำหน้าที่ในการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ดูเหมือนกรอบระยะเวลามีอยู่เพียงน้อยนิด ไม่ถึงขวบปี ความเร่งรีบในกรอบเวลาตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้จึงเป็นความกังวลจากหลายฝ่าย ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญภายหลังความขัดแย้งนี้มีช่องทางการนำเสนอความคิดเห็น ความห่วงใยไปสู่รัฐบาล และ สปช. ไม่พอเพียงกับความตื่นตัวของประชาชนที่ต้องการร่วมกำหนดและร่วมคิดในเวทีประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนี้

      แน่นอนว่า “เสรีภาพ” ในการแสดงออกและความคิดเห็นด้วยเหตุผลอย่างสร้างสรรค์ และด้วยความรับผิดชอบในยามวิกฤติ ภายใต้กฎอัยการศึกเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการนำเสนอทั้งการพูดและเขียน ในประเด็นเกี่ยวกับการเมือง แม้มีเจตนาบริสุทธิ์ ที่มีต่อบ้านเมือง ผู้แสดงบทบาทเช่นนี้จึงต้องเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ กล้ารับ และกล้าเผชิญกับผลที่จะตามมา ซึ่งขณะนี้มีทั้งนักวิชาการ และสื่อมวลชน กำลังแสดงท่าทีด้วยความห่วงใยต่อการทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ เพื่อหาจุดเชื่อมที่พอจะไปกันได้ในการพยายามทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ให้ไปสู่จุดหมายเดียวกันเพื่อการปฏิรูปประเทศ

      เสรีภาพไม่อาจถูกควบคุมด้วยความกลัว มีแต่ต้องทำให้เสรีภาพเกิดขึ้นควบคู่ไปกับจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือผู้ถูกปกครอง ซึ่งควรมีการใช้ท่าทีที่เปิดใจรับกันให้มากขึ้น มากกว่าการพยายามสร้างกรอบและกดดันจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกิดความรู้สึกปฏิเสธซึ่งกันและกัน

      เราต่างมีบทเรียนที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ จากการไม่รับฟังซึ่งกันและกัน จนเกิดความขัดแย้งและแตกแยกในสังคม และทั้งที่เราต่างอยู่ในพหุสังคมโลก ที่มีความหลากหลาย อยู่ในความเป็นธรรมชาติ และธรรมดาของความเป็นมนุษย์โดยแท้ เราจึงควรพยายามสื่อถึงกันด้วยท่าทีที่เข้าใจในแง่นี้ด้วย

      และควรเข้าใจด้วยว่า สังคมย่อมมีความขัดแย้งเป็นธรรมดา และเพราะความแตกต่างหลากหลายของความเป็นมนุษย์นี้ เป็นบ่อเกิดของกิจกรรมสร้างสรรค์ของสังคมที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นด้วยน้ำมือของตนเอง ตั้งแต่เรื่องวัฒนธรรม ไปจนถึงเรื่องเทคโนโลยี ผู้คนในสังคมจึงพึงเข้าใจและยอมรับความเป็นธรรมดาที่ไม่เหมือนกันของมนุษย์แต่ละคนด้วย ซึ่งการทำความเข้าใจลักษณะเช่นนี้ จึงจะสามารถรักษาคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไว้ได้ โดยที่ต่างฝ่ายมีข้อยุติที่จะไม่ไปละเมิดซึ่งกันและกัน อีกทั้งพฤติกรรมต่างๆ ที่แตกต่างกันต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน และด้วยการให้การยอมรับว่าความเห็นต่างนี้จะมีขึ้นและดำรงอยู่เพื่อการรักษาและปกป้องสังคมมนุษย์ที่พึงอยู่ด้วยกันอย่างมีความรับผิดชอบต่อกัน จึงจะสามารถนำไปสู่ความสงบสุขและสันติได้

      รูปธรรมในเรื่องนี้ จึงควรที่ผู้ปกครองประเทศจะได้เปิดใจ กว้างน้อมรับฟังความรู้สึกนึกคิดและเหตุผลจากทุกฝ่ายในหลายช่องทางไม่ใช่มีเพียงช่องทางเดียวที่ สปช. เท่านั้น ทั้งนี้ ควรที่ทุกฝ่ายควรได้ใช้ความพยายาม อดทน อดกลั้น ด้วยความเข้าใจต่อสถานะของแต่ละฝ่ายท่ามกลางความไม่ปกติระหว่างทางของการปฏิรูป โดยหลีกเลี่ยงการกดดันจนทำให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่มั่นคง และกระทั่งเกิดความหวาดกลัวในการทำหน้าที่ของตนด้วยความบริสุทธิ์ใจ

      การสร้างสิ่งแวดล้อมให้ทุกฝ่ายร่วมมือและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการปฏิรูปประเทศ จึงไม่ใช่การทำให้เกิดความสงบแบบจำยอม และกลายเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ในการสร้างความสุขให้คืนมาสู่สังคมไทยดังที่ทุกฝ่ายต้องการ อีกทั้งยังเป็นการละเมิดต่อหลักการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อันเป็นคุณค่าสากลอีกด้วย

      ความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า คือ พื้นฐานของความเป็นสันติภาพสถาพร


ทิพย์พาพร ตันติสุนทร
ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา



From : http://www.fpps.or.th