ติดตามประชาธิปไตย (Thai)
พฤษภาคม 2556 : งบประมาณปี 57 ผ่านสภาวาระแรก

  • งบประมาณปี 57 ผ่านสภาวาระแรก
  • สภาพัฒน์ คาดจีดีพี ปี 56 ขยายตัวลดลง
  • กนง. ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25%
  • หนี้สาธารณะ ณ มี.ค. 2556 เพิ่มขึ้นอีก
  • ทุนสำรองประเทศเพิ่ม 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • อนุมัติ 167 ล้าน ซื้อที่ให้เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน
  • ยกเว้นภาษีน้ำมันดีเซลอีก 1 เดือน
  • ใช้หนี้ค่าจำนำข้าวให้ ธกส. งวดแรก 9 หมื่นล้านบาท
  • ป.ป.ช. เตือนโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านมีช่องโหว่
  • ศาล รธน. รับคำร้องวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. อภิสิทธิ์
  • กมธ. มีมติให้แก้ รธน. มาตรา 68
  • ศาลปกครองสั่งให้คืนตำแหน่งเลขาฯ สมช. ให้ “ถวิล เปลี่ยนสี”
  • พท. –ปชป. ส่งผู้สมัครลงเลือกซ่อม ส.ส.ดอนเมือง
  • 2 หมื่นชื่อร่วมค้านปาฐกถานายกฯ ที่มองโกเลีย
  • ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ก่อแก้ว
  • "ยิ่งลักษณ์" ติดอันดับที่ 31 สตรีผู้ทรงอิทธิพลโลก
  • เปิดเว็บไซด์ให้แสดงความคิดเห็นร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  • ไฟใต้เพิ่มจำนวนหญิงหม้าย-เด็กกำพร้าในชนบท

    งบปี 57 มูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท ผ่านสภาฯ วาระแรก

    เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 มูลค่า 2,525,000 ล้านบาท ที่เสนอเข้ามาพิจารณาในวาระแรกด้วยคะแนน 292 ต่อ 155 คน งดออกเสียง 27 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 4 คน หลังจากนั้นได้ตั้ง กมธ. วิสามัญฯ จำนวน 63 คน เพื่อแปรญัตติภายใน 30 วัน

    การจัดทำงบประมาณปี 2557 เป็นการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล กำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2,275,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกจำนวน 250,000 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นเป็นจำนวน 2,511,576,321,700 บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 13,423,678,300 บาท

    รายจ่าย 2,525,000 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,017,244 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 79.9 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 13,423.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุนจำนวน 441,510.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.5 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 52,821.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.1 ของวงเงินงบประมาณ

    ในส่วนภาครัฐมีรายจ่ายสำหรับค่าดำเนินการจำนวน 481,644.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.1 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น

    ในงบปี 2557 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,384,000 ล้านบาท ซึ่งจะจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 จำนวน 109,000 ล้านบาท

    คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,275,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

    ฐานะและนโยบายการเงินของประเทศในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์มั่นคง จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2556 มีจำนวน 178,374.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ทั้งนี้ ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 250,935.4 ล้านบาท

    สภาพัฒน์ฯ คาด GDP ปี 56 ขยายตัวลดลง

    คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2556 ลงเป็น 4.2-5.2% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 4.5-5.5% เนื่องจากในไตรมาสแรกของปีจีดีพี ขยายตัวที่ 5.3% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากการส่งออกขยายตัวช้ากว่าคาด รวมทั้งความเสี่ยงในครึ่งปีหลังยังอยู่ในเกณฑ์สูง ทั้งนี้ สศช. ประเมินว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ประมาณ 29 บาท/ดอลลาร์ในขณะนี้ ทำให้มูลค่าการส่งออกหายไปประมาณ 1.8 แสนล้านบาท

    กนง. ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25%

    เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน ได้มีมติเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% เหลือ 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

    ทั้งนี้ นายประสาร ยืนยันว่า การลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว หากลดมากไปอาจเกิดความเสี่ยง และตลาดเงินอาจตีความหมายผิดเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของไทย

    หนี้สาธารณะเพิ่มอีก 4.73 หมื่นล้าน

    สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 มีจำนวน 5.12 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 44.16% ของ GDP โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล 3.55 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1.06 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 4.94 แสนล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 5,561 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 4.73 หมื่นล้านบาท โดยหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) และหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 5.66 หมื่นล้านบาท และ 826 ล้านบาท ตามลำดับ

    ทุนสำรองประเทศเพิ่ม 1,300 ล้านเหรียญฯ

    เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2556 ว่า อยู่ที่ระดับ 1.757 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.271 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท หากคิดอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันที่ระดับ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 1.744 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.198 ล้านล้านบาท

    ใช้ 167 ล้านซื้อที่เยียวยาเกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน

    เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยาเบื้องต้นให้กับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นำงบประมาณจากโครงการบ้านมั่นคง จำนวน 167 ล้านบาท มาจัดซื้อที่ดิน 5 หมู่บ้านของจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ ในเนื้อที่ประมาณ 800 ไร่ ไปใช้ในการเยียวยาให้กับกลุ่มเกษตรกรในเบื้องต้น จนกว่าจะมีการจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินให้แล้วเสร็จ จากนั้นให้โอนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดคืนกลับไปให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในภายหลัง

    เว้นภาษีดีเซลต่ออีก 1 เดือน

    เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2556 เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ทั้งนี้ ในที่ประชุม ครม. นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้รายงานสถานะกองทุนน้ำมันล่าสุดว่าติดลบ 3,000 ล้านบาท โดยมีเงินไหลเข้ากองทุนเฉลี่ยวันละ 200 ล้านบาท ทำให้คาดว่าอีก 15 วันสถานะกองทุนจะเป็นบวก

    ใช้หนี้จำนำข้าวงวดแรกให้ ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้านบาท

    คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบปริมาณและการใช้เงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 แบบถัวเฉลี่ยทั้งปี โดยไม่มีการแยกเป็นฤดูกาลผลิตนาปี 2555/56 และนาปรัง 2556 ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารคล่องตัว แต่จะไม่มีการปรับเพิ่มปริมาณเป้าหมายรับจำนำที่กำหนดนาปี 15 ล้านตัน วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท และนาปรัง ปริมาณ 7 ล้านตัน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท พร้อมทั้งให้ ครม. เห็นชอบการคืนเงินจากการระบายข้าวให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 9 หมื่นล้านบาทก่อน ส่วนที่เหลืออีก 4.1 แสนล้านบาทจะทยอยส่งเงินคืนเพื่อชำระเงินกู้สถาบันการเงินต่อไป

    ทั้งนี้ ในการรับจำนำข้าวเปลือกรอบแรกที่สิ้นสุดแล้วมียอดจำนำ 14 ล้านตัน ส่วนรับจำนำรอบ 2 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการได้รับจำนำแล้ว 3 ล้านตัน จากคาดการณ์ 7 ล้านตัน

    ป.ป.ช. พบช่องโหว่งบน้ำ 3.5 แสนล้าน

    คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ส่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เนื่องจากมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก และมีหลายจุดสำคัญที่เสี่ยงอาจก่อให้เกิดความเสียหายและความไม่โปร่งใส ซึ่งรัฐบาลจะต้องแก้ไขปรับปรุง การดำเนินการดังกล่าวเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 19

    ศาล รธน. รับวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. "อภิสิทธิ์"

    ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 รับวินิจฉัยสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าจะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(5) ประกอบมาตรา 102(6) หรือไม่ หลังกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุน

    กมธ. มีมติเอกฉันท์แก้ รธน. มาตรา 68

    คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 68 และมาตรา 237 มีมติเป็นเอกฉันท์ 22 เสียงให้แก้ไขมาตรา 68 โดยกำหนดให้บุคคลผู้ทราบว่าจะมีบุคคลหรือพรรคการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ และเมื่ออัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นการกระทำต้องห้ามจริง ให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว

    ในลำดับต่อไปคณะกรรมาธิการจะเชิญผู้แปรญัตติ 203 คนเข้าให้ความเห็นต่อที่ประชุม โดยกำหนดวันนัดหมายผู้แปรญัตติวันที่ 5-7 มิถุนายน 2556 เวลา 09.00-17.00 น.

    ศาลปกครอง มีคำสั่งให้คืนตำแหน่งเลขาฯ สมช. ให้ “ถวิล เปลี่ยนสี”

    เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ( สมช.) ให้แก่นายถวิล เปลี่ยนศรี โดยเร็วที่สุด

    นายถวิล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ต่อศาลปกครองว่าทั้งคู่กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายในการโยกย้ายนายถวิลจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. อย่างไม่เป็นธรรมตามคำสั่งสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2554

    องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า กระบวนการโอนนายถวิล ดำเนินการอย่างเร่งรีบ ไม่เป็นไปตามขั้นตอน จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งสำนักนายกฯ ดังกล่าว และให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่นายถวิล ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องจะยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน

    พท. –ปชป. ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตดอนเมือง

    สืบเนื่องมาจากการที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายการุณ โหสกุล ส.ส. กทม. เขต 12 (ดอนเมือง) พรรคเพื่อไทย เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งใส่ร้ายนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขต 12 พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งซ่อมในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2556

    ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2556 ให้ส่งนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ลงสมัครเลือกตั้งซ่อมในเขตดอนเมือง ในขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ให้นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ส.ส.บัญชีรายชื่อลาออกเพื่อลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กทม. เขต 12 ดอนเมือง แข่งกับนายแทนคุณ

    2 หมื่นชื่อร่วมปฏิเสธปาฐกถานายกรัฐมนตรีที่มองโกเลีย

    เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ และอดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ พร้อมด้วยนายแก้วสรร อติโพธิ อดีต ส.ว. กทม. และอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) และนายขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับปรากฏการณ์ไทยสปริง (Thai spring) หรือ ดอกบัวแห่งการตื่นรู้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปฏิเสธการบริหารงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ดำเนินการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก แต่แต่งตัวเป็นประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากการปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ประเทศมองโกเลีย ที่เรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนการต่อสู้ของตนและครอบครัว

    โดยในวันที่ 19 พฤษภาคม 2556 มีประชาชนเข้าไปร่วมลงชื่อสนับสนุนเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อปฏิเสธปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้วเกือบ 2 หมื่นรายชื่อ

    ปล่อยตัวชั่วคราว ก่อแก้ว พิกุลทอง

    เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ ปนช. จำเลยที่ 5 คดีร่วมกันก่อการร้าย โดยตีหลักทรัพย์ประกันตัววงเงิน 600,000 บาท ซึ่งศาลจะออกหมายปล่อยตัวชั่วคราวไปยังเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ต่อไป

    "ยิ่งลักษณ์"ติดอันดับ 31 สตรีทรงอิทธิพลโลก

    นิตยสารฟอร์บส์ เปิดเผยผลการจัดอันดับสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก 100 คนประจำปี 2013 ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี มีชื่อติดอยู่ในลำดับที่ 1 ตามมาด้วยอันดับ 2 คือ ประธานาธิบดี ดิลิมา รุสเซฟ ของบราซิล อันดับ 3 มีลินดา เกตส์ ประธานร่วมมูลนิธิเกตส์ฟาวเดชัน อันดับ 4 มิเชล โอบามา สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ อันดับ 5 ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ อันดับ 6 เชอรี แซนเบิร์ก ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) ของเฟซบุ๊ค และอันดับ 7 ครินติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยมีชื่อติดอยู่ในลำดับที่ 31 ลดลงจากการจัดอันดับในปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 30 ส่วน นางอองซาน ซูจี แกนนำพรรคฝ่ายค้านของเมียนมาร์ อยู่ในอันดับที่ 29

    เปิดรับความเห็นร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3

    กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดการรับฟังความเห็นประชาชนต่อร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งดำเนินการทั้งหมด 10 ด้านต่อ 14 กลุ่มเป้าหมาย คือ
    1. ด้านสาธารณสุข 2. ด้านการศึกษา 3. ด้านวัฒนธรรม 4. ด้านเศรษฐกิจ 5. ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย 6. ด้านการสื่อสารและเทคโนโลยี 7. ด้านการขนส่ง 8. ด้านการเมืองการปกครอง 9. ด้านกระบวนการยุติธรรม 10. ด้านความมั่นคงทางสังคม

    สำหรับ 14 กลุ่มเป้าหมายที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ง่าย คือ 1. กลุ่มผู้ต้องหา/ผู้ต้องขัง 2. กลุ่มผู้พ้นโทษ 3. กลุ่มเหยื่อ/ผู้เสียหาย 4. กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี 5. กลุ่มผู้ใช้แรงงาน 6. กลุ่มคนจน 7. กลุ่มเกษตรกร 8. กลุ่มผู้สูงอายุ 9. กลุ่มเด็กและเยาวชน 10. กลุ่มสตรี 11. กลุ่มผู้พิการ 12. กลุ่มผู้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง 13. กลุ่มผู้ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือชาติพันธุ์ และ 14. กลุ่มความหลากหลายทางเพศ/อัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งทั้งหมดนี้จัดเป็นกลุ่มที่จะถูกล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยง่าย

    อย่างไรก็ตาม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยังได้เปิดช่องทางให้ผู้ที่สนใจร่วมกันวิพากษ์ เสนอความคิดเห็นหรือปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพื่อนำมาปรับแก้ในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ได้ที่เว็บไซต์กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ www.rlpd.moj.go.th โดยเลือกหัวข้อ “วิพากษ์ร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3

    ไฟใต้ทำยอดหญิงหม้าย-เด็กกำพร้าเพิ่ม

    น.ส.ปริญญา บุญฤทธิฤทัยกุล ผู้อำนวยการเอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (องค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการณ์รุนแรงในสี่จังหวัดภาคใต้ทำให้มีหญิงหม้ายและเด็กกำพร้ากระจายอยู่ในชนบทเพิ่มขึ้นถึง 3,000 และ 6,000 คนตามลำดับ และเป็นส่วนที่หน่วยงานรัฐยังเข้าไปไม่ถึง องค์การนิรโทษกรรมสากลมีสมาชิก 152 ประเทศทั่วโลก ทำหน้าที่รณรงค์เพื่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกเป็นประจำทุกปี

    From : http://www.fpps.or.th


  •