ปฏิรูปการเมือง
สถาบันนโยบายศึกษา ทบทวนผลงาน 2555 เพื่อวางแนวทางอนาคต

เป็นประเพณีประจำปีที่สถาบันนโยบายศึกษาจัดประชุม เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ร่วมงานทั้งในอดีตและปัจจุบันมาเพื่อรับทราบกิจกรรมในแต่ละปีที่ผ่าน ขอรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์เพื่อการทำงานในปีต่อๆ ไป ในปีนี้เราจัดประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2556 ที่ห้องอาหารนนทรี ถนนพหลโยธิน กรุงเทพ

นอกจากโครงการสนับสนุนการเรียนการสอนประชาธิปไตยในโรงเรียนซึ่งสถาบันได้ดำเนินการในช่วงปี 2553-2555 ไปเรียบร้อยแล้ว ในปี 2555 สถาบันฯ ยังได้จัดการประชุมสัมมนาในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะอีก 5 ประเด็น คือ


ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช
ประธานสถาบันนโยบายศึกษา
1. “ปรองดอง : เรื่องของประชาชนหรือนักการเมือง” เป็นเวทีขนาดไม่ใหญ่ที่ให้บุคคลที่มีความเห็นทางการเมือง-สังคมทุกฝ่ายได้มาแลกเปลี่ยนความคิด การเสวนาในวันนั้นแม้จะยังไม่มีข้อสรุป แต่ก็ได้ข้อเสนอที่หลากหลายทั้งที่สามารถปฏิบัติได้โดยภาคประชาชน ภาครัฐและนักการเมือง เช่น ภาคประชาชนต้องเริ่มต้นที่ตนเองก่อน เช่น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีความสม่ำเสมอในความคิดและการกระทำ หยุดหรือถอยหลัง ภาครัฐต้องให้การศึกษาแก่พลเมืองเพื่อให้คิดเป็น ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคยุติธรรม ออกกติกาหรือกฎหมายใหม่ถ้าจำเป็น สื่อทำความจริงให้ปรากฏ ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้มีกลไกที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบฝ่ายการเมือง เปลี่ยนค่านิยมบางเรื่อง เช่น ระบบอาวุโสและส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียม เป็นต้น

ในฝ่ายการเมืองนั้น ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติเพราะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง การกระจายอำนาจและงบประมาณออกจากส่วนกลางจะเป็นทางหนึ่งที่จะลดความขัดแย้งได้ เพราะเป็นการลดอำนาจการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลง

ขณะนี้เรามีทางเลือก 3 ประการ คือ หนึ่งเลือกว่าจะใช้กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในชาติอย่างปกติคือเปลี่ยนเองตามธรรมชาติอย่างช้างๆ โดยใช้หลักกฎหมาย หรือสอง ใช้กระบวนการนอกการเมืองนอกชาติ จะเปลี่ยนแบบรวดเร็วรุนแรง เช่น ทำปฏิวัติรัฐประหาร และสาม อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย ปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ

2. “แฉน้ำท่วมปี 54 : ผิดพลาดหรือตั้งใจ” เป็นอีกเวทีสาธารณะขนาดใหญ่ที่มีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก เนื่องจากวิทยากรรับเชิญล้วนเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ตรงในเรื่องน้ำทั้งสิ้น วัตถุประสงค์ที่จัดเพื่อร่วมแสวงหาทางออกในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน บทสรุปที่ได้จากการสัมมนาคือในการบริหารจัดการน้ำต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลวิชาการเฉพาะเรื่องเป็นอันดับแรก รองลงไปคือข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ ความรู้ทั้งสองด้านต้องบริหารจัดการควบคู่กันไป เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ วางแผน และปฏิบัติการ ทั้งในยามวิกฤติและเวลาปกติ

ในอดีตมีการจัดการน้ำเป็นอย่างดี เช่น การขุดคูคลองระบายน้ำทั้งหลายที่คำนึงถึงสภาพภูมิประเทศเป็นหลัก แต่เวลาผ่านไปพร้อมกับที่คนรุ่นหลังละเลยไม่บำรุงรักษา วิกฤติน้ำท่วมจึงเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งภาคประชาชน รัฐบาลกลางและองค์กรส่วนท้องถิ่นต้องรวมพลังช่วยกันจึงจะแก้ปัญหาวิกฤติน้ำท่วมได้ ที่ผ่านมาประชาชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริง จึงขาดการรับฟังและมีส่วนร่วม รัฐต้องให้มีการเรียนการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมและการป้องกันภัยพิบัติทั้งในและนอกสถานศึกษาอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมและป้องกันตนจากภัยพิบัติธรรมชาติ

3. “การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในองค์กรปกครองท้องถิ่น” เป็นเวทีสาธารณะขนาดย่อยที่เจาะกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในท้องถิ่นโดยตรง เพื่อร่วมกันหามาตรการที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมการเป็นพลเมืองของชาติและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งได้ผลดียิ่งเพราะมีการแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างออกรส สิ่งที่จะต้องกระทำต่อไปคือแต่ละฝ่ายจะต้องลงมือปฏิบัติจริงและมีการติดตามผล และเมื่อท้องถิ่นใดประสบความสำเร็จควรต้องมีการถอดบทเรียนและเผยแพร่ความรู้ให้กว้างขวางต่อไป ในส่วนของสถาบันนโยบายศึกษาจะทำหน้าที่ในการนำเสนอองค์ความรู้จากท้องถิ่นให้แพร่หลาย

4. “ศาลรัฐธรรมนูญกับสังคมเยอรมัน” เป็นการสัมมนาเพื่อเรียนรู้บทเรียนของเยอรมันที่ประสบความสำเร็จในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพราะมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในองค์กรที่รักษาและพัฒนาประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามการสัมมนามิได้พูดแต่เรื่องศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันแต่อย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องพัฒนาการของศาลรัฐธรรมนูญไทยควบคู่ไปด้วย

เอกสารประกอบซึ่งสามารถหาอ่านได้จากเว็บไซต์ www.fpps.or.th

คุณยศวดี บุณยเกียรติ
ผอ.ร่วม สถาบันนโยบายศึกษา

คุณพิพัฒน์ ปัญจนันท
นักวิชาการอิสระจากภาคธุรกิจ

ดร.วิชัย ตันศิริ นักวิชาการ
และที่ปรึกษาอธิการบดี ม.รังสิต



ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย
อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต

อาจารย์วรวัชร ศรัทธาวัฒนกุล
อาจารมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ

ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์
ประธานสภาพัฒนาการเมือง


5. “การเมืองเรื่องข้าว” เป็นนโยบายสาธารณะที่มีการวิพากษ์อย่างกว้างขวาง เวทีสาธารณะของสถาบันนโยบายศึกษาได้เชิญผู้สนใจและมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคือกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากหลายพื้นที่มาเข้าร่วม แม้เกษตรกรบางท่านจะบอกว่าไม่ได้ข้อมูลอะไรใหม่ แต่ความเห็นจากเกษตรกรคือข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ และการจัดงานวันนั้นก็ได้รวมความเห็นจากสามวิทยากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องเศรษฐศาสตร์การเกษตร ธุรกิจส่งออกข้าว และการเมืองภาคเกษตรกรรมมาให้ข้อคิดและข้อเสนอแนะที่สามารถจะนำไปปฏิบัติได้จริง

บทสรุปจากการสัมมนาคือ นโยบายรับจำนำข้าวไม่ใช่จะมีประโยชน์ทางการเมืองเพราะมีผลต่อคะแนนเสียงเท่านั้น แต่อาจมีประโยชน์ในเชิงธุรกิจด้วย ในระบอบประชาธิปไตยจึงอาจจะต้องใช้วิธีการประนีประนอมเนื่องจากมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายและมีจำนวนมาก

อนาคตของนโยบายข้าวที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันคงจะต้องเลิกในอนาคต แต่จะเป็นเมื่อไรและจะเกิดความเสียหายให้ชาติขนาดไหนเท่านั้น เราทุกคนจะปล่อยให้นโยบายนี้หยุดเอง หรือมีทางออกอื่น การสัมมนาในวันนั้นมีข้อเสนอแนะบ้างแล้ว ที่ต้องทำต่อไปคือการไปแลกเปลี่ยนความเห็นกันอีกหลายๆ ครั้ง

(คำถอดเทปทั้งหมดจากการสัมมนาอ่านได้ที่เว็บไซด์ www.fpps.or.th)

จากนั้นผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านได้ร่วมกันให้ความเห็นในผลงานของสถาบันฯ และให้ข้อเสนอแนะในเรื่องต่างๆ ที่ควรจะกำหนดเป็นประเด็นการจัดกิจกรรมในอนาคต เช่น
  • กำหนดให้ “สังคมใหม่” เป็นวาระของการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง
  • เผยแพร่ความรู้ต่อเนื่องในเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ
  • ประเด็นเรื่องของสัดส่วนระหว่าง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  • รณรงค์เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเมืองการปกครอง
  • ทำให้เอกสารวิชาการเรื่องประชาธิปไตยและการสร้างพลเมืองเป็นภาษาง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถอ่านได้
  • จัดกิจกรรมกับกลุ่มที่มีความเข้มแข็งในชนบท เช่น กลุ่มแม่บ้านหรือเยาวชน
  • รณรงค์ให้มีวุฒิสมาชิกแต่งตั้งจากพื้นที่โดยตรง
  • สนับสนุนเรื่องการปกครองตนเองในบางจังหวัดที่มีความพร้อม
  • ศึกษาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  • ติดตามนโยบายข้าว
  • ร่วมร่างยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในการศึกษานอกระบบ และรณรงค์ให้มีการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้
  • ฯลฯ

รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์
นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ

คุณสุพจน์ เวชมุข ผอ.สำนักกฎหมาย
สนง.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คุณวิลาส เตโช รองผู้อำนวยการ
สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน


คุณอุดร ตันติสุนทร นักการเมืองและประธานมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
คณบดี คณะนิติศาสตร์ นิด้า

(จากซ้าย) ดร.เชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการ สนง.ศาลรัฐธรรมนูญ และ
ศ.เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ นักวิชาการอิสระ

(จากซ้าย) คุณศริญญา แท่นแก้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์
คุณเคลาส์ เพเทอร์ ฮิลล์ ผู้แทน
มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และ
คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร
ผอ.ร่วม สถาบันนโยบายศึกษา

(จากซ้าย) ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ
สพฐ. และคุณทัศนวรรณ บรรจง
มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท

ทั้งหมดนี้คือเรื่องใหญ่ๆ ที่สถาบันนโยบายศึกษาน้อมรับไปพิจารณา และขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้สละเวลามาเพื่อให้ข้อคิดคำแนะนำเหล่านี้


From : http://www.fpps.or.th